หนึ่งสัปดาห์เต็มกับการเดินด้วยรัก...พิทักษ์สองฝั่งทะเล ของกลุ่มประชาชนที่ออกมาปกป้องทรัพยากรธรรมชาติ และบ้านเกิด เพื่อต่อต้านโครงการเมกะโปรเจกต์ แลนด์บริดจ์สงขลา-สตูล ซึ่งเป็นโครงการพัฒนาประเทศที่คนในพื้นที่ไม่ยอมรับเนื่องจากต้องทำลายทรัพยากรธรรมชาติ รวมถึงผลกระทบด้านสุขภาพของคนในพื้นที่ ด้วยใจมุ่งมั่นการเดินครั้งนี้ต้องฝ่าแดด ฝ่าฝน ด้วยระยะทาง 220 กม. เพียงเพื่อเป็นกระบอกเสียงเล็กๆ ที่จะปลุกให้คนในภาคใต้ตื่น ตื่นเพื่อมารวมพลังกันปกป้องท้องทะเลภาคใต้ อันดามัน-อ่าวไทย ที่เปรียบเสมือนอุตสาหกรรมผลิตอาหารเพื่อเลี้ยงคนไทย และคนทั้งโลก และแหล่งท่องเที่ยวที่อุดมไปด้วยทรัพยากรธรรมชาติที่สมบูรณ์ รักษาอุทยานแห่งชาติที่ล้ำค่าไว้ให้ลูกหลาน
กิจกรรม เดินด้วยรัก...พิทักษ์สองฝั่งทะเล คือการจุดประกายให้คนภาคใต้ และคนไทยทั้งประเทศลุกขึ้นมาสู้ ตลอดทั้ง 7 วัน ที่กลุ่มคนเล็กๆ กลุ่มนี้ได้ทำภารกิจ ถ่ายทอดข้อมูล นับเป็นก้าวที่ยิ่งใหญ่ จนสามารถรวมพลังผู้พิทักษ์ทะเล 3 จังหวัดพื้นที่วิกฤต คือ จ.นครศรีธรรมราช ซึ่งประชาชนต่อสู้เรื่องคัดค้านโรงไฟฟ้าถ่านหิน จ.สงขลา ผลกระทบจากท่าเรือน้ำลึกแห่งที่ 2 ซึ่งเชื่อมโยงโครงการแลนด์บริดจ์สงขลา-สตูล และ จ.สตูล คือ จังหวัดที่ถูกกำหนดให้เป็นเมืองอุตสาหกรรมแห่งใหม่ของประเทศไทย ทั้ง 3 จังหวัด จึงร่วมกันทำ “สัญญาทราย” คือสัญญาใจ ด้วยการนำทรายจาก 3 จังหวัดมาหลอมรวมเป็นหนึ่งเดียว และสัญญากันว่าจะร่วมกันปกป้องท้องทะเลภาคใต้ให้ถึงที่สุด
นายสมบูรณ์ คำแหง หรือบังแกน เครือข่ายประชาชนติดตามแผนพัฒนา จ.สตูล ซึ่งเป็นหนึ่งโต้โผใหญ่ที่ทำกิจกรรม เดินด้วยรัก...พิทักษ์สองฝั่งทะเล กล่าวกับ “ASTVผู้จัดการภาคใต้” ว่า หลังจากที่เราเดินทางมาถึงจุดหมายปลายทางแล้ว เราก็ได้ร่วมเสวนากับพี่น้องทั้งนครศรีธรรมราช จะนะ สตูล เพื่อหารือกันถึงการเคลื่อนไหว และเราจะก้าวเดินต่อไปอย่างไร ซึ่งอาจจะมี 2 ส่วน คือ 1.ประเด็นของแต่ละพื้นที่จะเป็นโจทย์ของแต่ละพื้นที่ จะต้องเจอกันอยู่แล้ว เช่นที่ สตูล สงขลาฝั่งจะนะ และที่นครศรีธรรมราช หรือจะเป็นที่อื่นๆ ที่เป็นพรรคพวกของเรา เข้าใจว่าโจทย์ของพื้นที่ ใครที่อยู่พื้นที่ไหนก็ต้องทำอะไรให้มันมีประเด็นขึ้นมาเรื่อยๆ ให้รู้สึกว่าเราไม่ได้อยู่นิ่งเฉยกับสิ่งที่มันจะเกิดขึ้น ต้องติดตามสถานการณ์การเคลื่อนไหวอยู่ตลอดเวลา เราจะต้องสื่อสารกับสาธารณะให้มากขึ้นหลังจากนี้ การให้สังคมได้รับรู้ก็เป็นอีกช่องทางหนึ่งในการสื่อสารเพื่อให้คนได้เข้าใจกับสิ่งที่มันเป็นเรื่องราวของพวกเรา
ในส่วนประเด็นร่วม เข้าใจว่าหลังจากนี้มีแน่นอน แต่อาจจะไม่มีอะไรที่เป็นรูปธรรมอย่างชัดเจนแต่ว่าสิ่งที่คิดกันภาพรวมๆ อย่างเช่น มันจะต้องมีวาระของคนใต้สักครั้งหนึ่งหลังจากนี้ ซึ่งจะต้องคุยกับภาคีเครือข่ายจังหวัดอื่นๆ ด้วย เพราะว่าหลายเรื่องที่มันเกิดขึ้นที่ไม่น่าจะเป็นเรื่องคนละเรื่อง แต่มันเป็นเรื่องคนละเรื่องที่เป็นเรื่องเดียวกัน เพราะฉะนั้น การสร้างให้เป็นวาระของคนภาคใต้ เพื่อขยับ เพื่อมีการเคลื่อนไหวร่วมกัน คิดว่าน่าจะมีแนวโน้มที่จะเกิดขึ้นในอนาคต แต่ว่ารูปแบบรูปธรรมจะเป็นยังไง คิดว่าจะต้องมานั่งคุยรายละเอียดกันอีกที แต่ว่าน่าจะได้พันธสัญญาจากการหลอมทรายแล้ว คิดว่าหลังจากนี้เราสัญญากันว่า พื้นที่ไหนที่ต้องเรียกร้องขอความช่วยเหลือ เราก็จะใช่ทรายเป็นสัญลักษณ์ด้วย นี่คือสิ่งที่เราได้จากการคุยกันวันนี้
และผลทั้งหมดจากการเดิน ถือว่าเป็นความสมบูรณ์แบบพอสมควร อย่างน้อยที่สุดเราได้ทำสิ่งที่ดีที่สุดแล้ว ช่วงหนึ่งอาทิตย์ที่ผ่านมา เราก็ได้ช่องทางสื่อสารกับสาธารณะพอสมควร ไม่ว่าจะเป็นการสื่อสารผ่านสื่อออนไลน์ ผ่านเฟชบุ๊ก ผ่านอินเทอร์เน็ต หรือสื่ออะไรก็แล้วแต่ ส่วนหนึ่งก็มีพี่ๆ น้องๆ สื่อมวลชนที่มาทำเรื่องราวของพวกเรา เราคิดว่านี่คือช่องทางที่เราได้สื่อสารกับสาธารณะ แล้วเราก็ได้สื่อสารไปกับรัฐบาลด้วยว่า อยากให้รัฐบาลคิดให้มากในสิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้นในพื้นที่ภาคใต้ การบรรจุเรื่องโครงการต่างๆ บางโครงการลงในแผนเงินกู้ คงจะต้องทบทวน และต้องมานั่งคุยกับคนใต้ด้วยว่าจริงๆ แล้วพวกเราต้องการอะไร ให้คำนึงถึงสิ่งที่มันเป็นอยู่จริงตอนนี้ก็คือ ศักยภาพของภาคใต้ ทะเลทั้งสองฝั่งที่สวยงาม คิดว่าคุณจะต้องพัฒนาให้มันถูกทิศถูกทางหน่อย แล้วก็เอาต้นทุนที่เรามีมาทำให้มันเป็นรายได้ให้แก่คนภาคใต้ได้ดำรงอยู่ได้จริงๆ
นายสมบูรณ์ กล่าวต่ออีกว่า ต้องบอกว่าเสียงของเราที่ร้องตะโกนกันอยู่ มีโอกาสน้อยมากที่ดังถึงรัฐบาล แต่เราก็พยายามสื่อสาร อยากให้รัฐบาลแยกแยะเรื่องทางการเมือง อยากให้รู้สึกว่ากลุ่มที่มาเคลื่อนไหวจำนวนหนึ่งก็เป็นกลุ่มที่เขาเป็นห่วงบ้านเกิดเมืองนอนตัวเองจริงๆ ถ้าเกิดมีการนั่งคุยคิดว่าก็พอนั่งคุยกันได้ แต่ว่าอย่าให้เราถึงขั้นคาดหวังว่ารัฐบาลจะฟังเราทั้งหมด อันนี้คิดว่าคงจะยาก แต่ว่าสิ่งที่เราได้สื่อสารกับสาธารณะเราคิดว่าคนทั้งประเทศหลังจากนี้ น่าจะช่วยเราพูดได้อีกทางหนึ่ง คงไม่ใช่แค่กลุ่มคนเล็กๆ ที่ร่วมเดินกันเพียงไม่กี่คน แต่ว่าตรงนี้ก็จะเป็นจุดเริ่มต้นที่จะจุดประกายให้แก่คนในพื้นที่อื่นๆ คนทั้งประเทศได้ช่วยกันพูด เรื่องการปกป้องทรัพยากรบ้านตัวเอง การปกป้องแหล่งท่องเที่ยว อุทยานแห่งชาติของบ้านตัวเอง คิดว่านี่เป็นสมบัติร่วมของคนทั้งประเทศ
ตอนนี้มันไม่ใช่แค่ของคนสตูล วันนี้ถ้าถามว่าจะถอนอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะเภตราจำนวนหนึ่งเพื่อไปสร้างท่าเรือ หรือการจะทำให้อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะตะรุเตาต้องได้รับผลกระทบจากกิจกรรมท่าเรือ หรืออุตสาหกรรม เรื่องนี้ต้องถามคนทั้งประเทศ วันนี้เราได้ทำหน้าที่สมบูรณ์แล้ว เราได้สื่อสารให้คนทั้งประเทศรู้แล้วว่า คนทั้งประเทศจะต้องร่วมตัดสินใจว่าคุณควรจะเอายังไงกับเรื่องพวกนี้ ซึ่งเราคิดว่าในหนึ่งอาทิตย์ที่ผ่านมา เราได้ทำหน้าที่ค่อนข้างสมบูรณ์แบบในเรื่องพวกนี้แล้ว ที่เหลือหลังจากนี้ก็จะเป็นเรื่องที่ หนึ่งก็คือ เราจะขยับต่อแน่นอน สองคือ เราก็จะสื่อสารกับสาธารณะให้เข้มขึ้น และคิดว่าน่าจะมีท่าทีของสาธารณะออกมาสื่อสารกับรัฐบาลมากขึ้นหลังจากนี้
ด้าน นายไกรวุฒิ ชูสกุล หนึ่งในผู้ร่วมเดินเท้าพิชิต 220 กิโลเมตร จากฝั่งทะเลอันดามันสู่อ่าวไทย พร้อมกับลูกชายวัย 6 ขวบ ที่ผู้คนตลอดทางได้รู้จัก และชื่นชมในความมุ่งมั่นของ “น้องกีกี้” กล่าวว่า ความรู้สึกตลอดการเดินทางตั้งแต่เริ่มเดินจากฝั่งทะเลอันดามัน มันมีความภาคภูมิใจ คนเราเกิดมาครั้งหนึ่งของชีวิต ถึงจะไม้ได้ทำอะไรที่ยิ่งใหญ่ให้แก่สังคมมาก แต่สิ่งที่เราทำมันเป็นการเริ่มต้นร่วมมือกันปกป้องสิ่งที่จะเกิดขึ้น ผลกระทบที่จะเกิดขึ้นมันสร้างความสูญเสียต่อตัวเรา และต่อสังคมโดยรวมที่ต้องเรียนรู้ซึ่งกันและกัน
สิ่งที่น่าเป็นห่วงมากก็คือ สิ่งมีชีวิตใต้ท้องทะเลทั้งสองฝั่ง ทั้งอ่าวไทยแลอันดามัน ที่ไม่สามารถพูด หรือเรียกร้องอะไรได้ มันคือทรัพยากร แต่เราคือสิ่งมีชีวิตที่อยู่บนผืนแผ่นดินเดียวกัน ที่ต้องพึ่งพากัน เมื่อก่อนทรัพยากรอยู่ได้โดยไม่มีเรา วันนี้และอนาคตข้างหน้าเราจะต้องอยู่โดยไม่มีทรัพยากร พวกเราจึงก้าวออกมาเพื่อปกป้องเพื่อคนทั้งโลก ทั้งประเทศ
ในท้องทะเลอันกว้างใหญ่นี้ มันเป็นอุตสาหกรรมทางธรรมชาติที่ผลิตเป็นห่วงโซ่อาหารหมุนเวียนเป็นระบบนิเวศ ที่สามารถเลี้ยงคนทั้งโลกได้ จึงไม่จำเป็นที่จะต้องเอาแผนพัฒนา หรืออุตสาหกรรมขนาดใหญ่เข้ามาในพื้นที่อุทยานฯ แล้วมีการถอนอุทยานแห่งชาติออกไป เช่น มีการถอนอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะเภตรา แล้วจะมีผลกระทบต่อหมู่เกาะตะรุเตา ซึ่งเป็นสมบัติของชาติที่สวยงาม และยิ่งใหญ่ทางทะเล
นายไกรวุฒิ กล่าวต่อว่า ในฐานะที่ผมเป็นคนสตูลก้าวที่ผมเดิน และตั้งใจมาจากปากบาราด้วยใจที่มุ่งมั่น เป็นแรงศรัทธาในตัวเอง คือ เราอยากให้อุทยานอยู่ เราอยากปกป้องชุมชน เราอยากปกป้องคนมากมายตลอดเส้นทางแลนด์บริดจ์สงขลา-สตูล ก้าวที่เดินมันมีน้ำใจของผู้คนตลอดเส้นทางที่หยิบยื่นให้ เราก็เดินกันจนถึง 2 ทุ่ม แล้วก็หยุดพัก ในทุกๆ วันเราก็เดินตากแดดตากฝน ผ่านอุปสรรคมามากมาย เพื่อนที่ร่วมเดินเท้ามา ผมก็ไม่ทราบว่ามาจากที่ไหนบ้าง ระยะ 200 กว่ากิโลเมตร ผมได้เรียนรู้อะไรมากมาย เช่น ขณะที่ผมเดินเท้ามาแล้วได้หยุดพักตามที่ต่างๆ ก็นั่งคุยให้คำแนะนำแก่ชาวบ้านเกี่ยวกับแผนพัฒนานี้ ที่ทราบคือไม่มีใครเอาเลย
สิ่งที่ผมภูมิใจมากที่สุดในการเดินครั้งนี้ก็คือ เราเดินมาได้พบผู้คนที่มีน้ำใจเกือบตลอดเส้นทาง เว้นแต่ในพื้นที่สังคมเมือง หรือที่ที่มีผู้คนที่เขาเจริญแล้ว เขาก็รู้สึกนิ่งเฉยกับเรื่องเหล่านี้ มันแตกต่างกับสังคมในท้องถิ่นที่เต็มไปด้วยน้ำใจ เรื่องน้ำใจเป็นพื้นฐานที่สำคัญมากในสังคมปัจจุบัน ประเทศชาติจะเจริญไปได้น้ำใจเป็นสิ่งสำคัญ
ก้าวที่เราเดินนั้น เพื่อคนทั้งโลกปกป้องทรัพยากรที่มีให้เราใช้อย่างจำกัด อุทยานแห่งชาติก็มีอย่างจำกัด ถ้าขอได้ขอให้รัฐมองเห็นความสำคัญของสิ่งนี้ด้วย ประเทศของเราไม่ได้เติบโตในรูปแบบของเศรษฐกิจ แต่จะเติบโตด้วยทรัพยากรทางทะเลที่สามารถเลี้ยงคนได้ทั้งโลก ถ้า 20 ปี 30 ปีข้างหน้าไม่มีทรัพยากรพวกนี้ เราจะทำอย่างไร
“ผมมีความหวัง ไม่มีที่ใดไม่มีหวังในสิ่งที่เราทำ การเริ่มต้นก้าวแรกต้องเริ่มมาจากหัวใจ มันคือความยิ่งใหญ่ นักต่อสู้ หรือนักอนุรักษ์ทุกๆ ชีวิตจะไม่อยู่ยืนยาว ต้องมีการล่มสลายไป แต่สิ่งที่ได้ทำมันคือ ความยิ่งใหญ่ วันนี้ที่เราลุกขึ้นมา เพื่อปกป้องทรัพยากรและช่วยกันอนุรักษ์อุทยานแห่งชาติให้คงอยู่ต่อไป ให้เป็นสมบัติของคนทั้งโลก สมบัติที่ทุกคนต้องลุกขึ้นมาปกป้อง ผมหวังลึกๆ ว่า โลกสังคมสื่อ จะช่วยเราได้ ช่วยเผยแพร่การกระทำ และเจตนาที่พวกเราได้ทำให้คนทั้งประเทศได้เห็นว่า ถึงเวลาแล้วที่คนไทยต้องลุกขึ้นมาประกาศ และจับมือกันปกป้องรักษาทรัพยากรธรรมชาติ ปกป้องทรัพย์สมบัติที่มีอยู่ให้จนถึงรุ่นลูกรุ่นหลาน” นายไกรวุฒิ กล่าวปิดท้าย
สำหรับ นายดนรอนี ระหมันยะ เครือข่ายรักษ์ทะเลจะนะ ในฐานนะที่เป็นเจ้าบ้าน รอตอนรับขบวนเดินด้วยรัก...พิทักษ์สองฝั่งทะเล ที่เส้นชัยหาดบ้านสวนกง ต.นาทับ อ.จะนะ ซึ่งเป็นจุดที่จะมีการก่อสร้างท่าเทียบเรือน้ำลึกสงขลาแห่งที่ 2 กล่าวว่า จริงๆ แล้วก็ได้ร่วมเดินด้วยในวันแรกวันที่ 22 ต.ค. ที่ อ.ละงู จ.สตูล ร่วมเดินกับขบวนประมาณ 5 กิโลเมตร ก็กลับบ้าน แล้วกลับมาเดินอีกครั้งในวันที่ 4 ของการเดิน ที่ควนลัง อ.หาดใหญ่ จากที่ร่วมเดินขบวนมา รู้สึกว่าชาวหาดใหญ่ เขายังไม่ค่อยรู้ และสงสัยว่า คนปากบารา คนสตูลมาเดินขบวนทำไม แต่คนที่ร่วมเดินขบวนก็พยายามบอกว่า ที่เดินขบวนมาครั้งนี้เพื่อจะให้ข้อมูลแก่ประชาชนชาวหาดใหญ่ และประชาชนระหว่างทางที่ขบวนได้เดินผ่านมา 142 กิโลเมตร ซึ่งจะมีการสร้างรถไฟรางคู่ 8 อำเภอ 22 ตำบล ที่จะโดนเวนคืนที่ดินข้างละ 80 เมตร
ที่ผ่านมา ก็จะมีตัวอย่างที่หูแร่ พอทราบข่าวก็เป็นลม ตกใจมาก เพราะไม่เคยรู้มาก่อนว่าจะมีโครงการขนาดใหญ่แบบนี้เกิดขึ้น นั้นคือสิ่งที่ผมได้พบ และที่ อ.จะนะ จะพูดว่าเป็นแหล่งผลิตอาหารเลยก็ว่าได้ เพราะที่นี่พวกเราเครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่น พวกเราเครือข่ายจะนะรักษ์ทะเล พยายามฟื้นฟู และอนุรักษ์ทะเลนี้มาตั้งแต่ปี 2536 มาถึงวันนี้ก็ประมาณ 18-19 ปีแล้ว แต่ก่อนทะเลที่นี่ได้รับความเสียหายจากการประมงพาณิชย์ พวกเราก็ฟื้นฟูเรื่อยมาจนทะเลของเราสมบูรณ์ สามารถเป็นแหล่งผลิตอาหารของคนที่นี่ และของคนทั้งจังหวัด และทั้งประเทศ และเรายังสามารถส่งออกไปยังต่างประเทศ คือ มาเลเซีย สิงคโปร์ ญี่ปุ่น
นายดนรอนี กล่าวต่อว่า คือเรื่องนี้มันพูดยากที่จะทำให้ประชาชนมันสะเทือน มันก็จะสะเทือนถึงแม้จะเล็กๆ น้อยๆ มันก็พอเขย่าได้ แต่ถ้าจะพูดว่ารัฐบาลจะทบทวนเรื่องนี้ใหม่หรือไม่ อันนี้มันก็เชื่อมโยงถึง 2.2 ล้านล้านบาท เพราะว่าก่อนที่รัฐบาลจะทำ พ.ร.บ.เงินกู้ รัฐก็จะเอาแลนด์บริดจ์สงขลา-สตูล ใส่ไว้ใน พ.ร.บ.นี้ ถ้ารัฐบาลจะถอนแลนด์บริดจ์นี้ออกจาก พ.รบ.เงินกู้ ก็จะทำให้เงินอนุมัติไม่ได้ อย่างนี้แสดงว่าเรื่องที่เขาจะทำแลนด์บริดจ์ครั้งนี้ ก็ผ่านไปแล้ว แต่ที่จริงแล้วมันยังไม่ผ่าน ผมก็งง เพราะว่าตอนนี้เขาก็กำลังทำ EHIA แต่ก่อนเขาทำ EIA มันไม่ผ่าน แต่ตอนนี้เขาก็มาเพิ่มตัวเอส คือ สุขภาพเข้าไปอีก ก็น่าจะผ่าน
“คือสิ่งที่พวกเราทำอยู่ คือ เมื่อก่อนบรรพบุรุษของเราได้เสียหยาดเหงื่อ เท่ากับว่าบรรพบุรุษของเราได้แบกรับภาระที่จะอนุรักษ์ทะเลนี้ไว้จนถึงรุ่นเรา ถ้ารุ่นของเราปล่อยให้ทะเลนี้ไปกับอุตสาหกรรมโดยที่พวกเราก็รู้ว่าทะเลแห่งนี้เป็นแหล่งผลิตอาหารที่จะเลี้ยงคนในประเทศและต่างประเทศได้ ถ้าพวกเราเอาแหล่งผลิตอาหารนี้ไปแลกกับอุตสาหกรรมถามว่ามันจะคุ้มกันไหม”