xs
xsm
sm
md
lg

เปิดแปลงอนุรักษ์กล้วยไม้ป่าใหญ่ที่สุดในภาคใต้ “รองเท้านารีคางกบใต้” ไม้ป่าหายากกำลังใกล้สูญพันธุ์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


 
นักเลงกล้วยไม้ โดยเฉพาะกล้วยไม้ป่า ต่างรู้จักกล้วยไม้สายพันธุ์รองเท้านารีเป็นอย่างดี ซึ่งในประเทศไทยมีหลากหลายสายพันธุ์ ส่วนใหญ่เป็นกล้วยไม้ป่าธรรมชาติ สำหรับ “กล้วยไม้รองเท้านารีคางกบใต้” เป็นสายพันธุ์ที่พบได้ในพื้นที่ป่าบนเขาสูง ตอนนี้กำลังที่จะหมดไปจากป่าเนื่องจากน้ำมือของมนุษย์ ในขณะเดียวกันที่อุทยานแห่งชาติน้ำตกโยง อำเภอทุ่งสง จังหวัดนครศรีธรรมราช กำลังเร่งอนุรักษ์รองเท้านารีสายพันธุ์นี้ และเป็นแหล่งที่ฟื้นฟูอนุรักษ์พันธุกรรมรองเท้านารีคางกบใต้ที่ใหญ่ที่สุดในภาคใต้ก็ว่าได้


 
บรรยากาศที่ร่มรื่น อากาศเย็นสบาย ธารน้ำตกโยงไหลลงมาจากเทือกเขาหลวง ภายในที่ทำการอุทยานแห่งชาติน้ำตกโยง อำเภอทุ่งสง จังหวัดนครศรีธรรมราช เป็นแหล่งท่องเที่ยวพักผ่อนของชาวนครศรีธรรมราช และใกล้เคียงมาช้านาน แต่น้อยคนที่จะรู้ว่ามีมุมเงียบสงบมุมหนึ่งในพื้นที่อุทยานแห่งชาติน้ำตกโยงแห่งนี้ถูกดัดแปลงเป็นแหล่งเพาะเลี้ยงเพื่อการอนุรักษ์ และรักษาพันธุกรรมกล้วยไม้ป่าหายากชื่อว่า “รองเท้านารีคางกบใต้” จำนวนนับพันต้น โดยถูกเพาะเลี้ยงอย่างทะนุถนอมจากเจ้าหน้าที่


 
เทอดไท ขวัญทอง หัวหน้าอุทยานแห่งชาติน้ำตกโยง กล่าวว่า “รองเท้านารีคางกบใต้” เป็นกล้วยไม้ป่าประจำถิ่นในพื้นที่ป่าดิบชื้นทางภาคใต้ของประเทศไทย พบเพียงในอุทยานแห่งชาติเขาหลวง เขานัน อุทยานแห่งชาติน้ำตกโยง และอุทยานแห่งชาติเขาพนมเบญจา โดยจะอยู่ในระดับความสูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 500-700 เมตร หรือมากกว่านั้น ด้วยลักษณะฟอร์มดอกที่สวยงามแปลกตา ใบมีลายเขียวสลับขาว ปลายใบเรียวแหลม นักเล่นกล้วยไม้ป่าต่างนิยม ซึ่งเป็นการวัดทั้งฝีมือในการเลี้ยง และบารมีของผู้เลี้ยงด้วย เป็นเหตุผลสำคัญที่กล้วยไม้ป่าชนิดนี้ถูกลักลอบเก็บออกไปจากป่าเป็นจำนวนมากจนแทบจะไม่พบในธรรมชาติแล้ว เนื่องจากมีราคาแพง ยิ่งกอใหญ่ใบสวยงามจะยิ่งแพงมากขึ้นถึงหลายพันบาทต่อ 1 กอ เมื่อลักลอบนำออกจากป่าไปได้จึงมีค่าตอบแทนที่สูงตามไปด้วย


 
“ทั้งแปลงนี้มีเฉพาะกล้วยไม้รองเท้านารี หากคิดเป็นมูลค่าในตลาดเป็นเงิน 6 หลักปลายๆ ก็ว่าได้ แต่ไม่ง่ายเลยสำหรับการเลี้ยงกล้วยไม้ชนิดนี้ ต้องดูแลเป็นพิเศษ เนื่องจากเปราะบางต่อการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ โรคเชื้อรา รวมทั้งฝน โรงเรือนจึงถูกปิดกั้นป้องกันฝนเป็นอย่างดี จะต้องถูกให้ปุ๋ยทุก 3 เดือน หมั่นคอยเล็มใบแห้ง และช่อดอกที่แห้งออกทิ้งเพื่อไม่ให้เป็นแหล่งขยายพันธุ์ของเชื้อรา ที่สำคัญมีการผสมเกสรจากดอกในโรงเรือนด้วยมือของเจ้าหน้าที่ จากนั้นนำเอาฝักกล้วยไม้ที่ได้ซึ่งต้องรอคอยเวลา 7-9 เดือนจึงได้ที่ แล้วถูกนำไปเพาะเลี้ยงในห้องแล็บเพื่ออนุรักษ์พันธุกรรม เมื่อแข็งแรงแล้วจึงนำไปสู่ขั้นตอนการคืนสู่ธรรมชาติ” หัวหน้าอุทยานแห่งชาติน้ำตกโยงอธิบาย
 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น