กรมการค้าต่างประเทศสนับสนุนเงินทุนให้ ม.เกษตรฯ ตั้งห้องแล็บตรวจดีเอ็นเอข้าวหอมมะลิส่งออก เชื่อทำให้การส่งออกสะดวกขึ้น และได้รับการยอมรับจากผู้ซื้อมากขึ้น
นางปราณี ศิริพันธ์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยว่า กรมฯ ได้ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือโครงการจัดตั้งห้องปฏิบัติการวิเคราะห์เอกลักษณ์ดีเอ็นเอข้าวไทยเพื่อการส่งออกกับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เมื่อวันที่ 17 ก.ย.ที่ผ่านมา โดยกรมฯ เป็นผู้สนับสนุนเงินทุนในการจัดตั้งห้องปฏิบัติการวิเคราะห์ข้างต้นและมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์เป็นผู้ดำเนินการจัดตั้งและพัฒนาห้องปฏิบัติการซึ่งตั้งขึ้นในพื้นที่ของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โดยจะดำเนินการให้แล้วเสร็จและสามารถตรวจวิเคราะห์ตัวอย่างข้าวได้ภายใน 180 วัน
การจัดตั้งห้องปฏิบัติการดังกล่าวมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อตรวจสอบดีเอ็นเอข้าวหอมมะลิไทยที่ส่งออกว่ามีคุณภาพและสายพันธุ์ถูกต้องตามมาตรฐานหรือไม่ เพราะที่ผ่านมา กรมฯ ได้จัดส่งตัวอย่างข้าวหอมมะลิให้ห้องปฏิบัติการดีเอ็นเอเทคโนโลยีตรวจวิเคราะห์ แต่เนื่องจากห้องปฏิบัติการดีเอ็นเอเทคโนโลยีมีภารกิจตรวจวิเคราะห์ให้บริการหลายอย่าง ทั้งดีเอ็นเอคน สัตว์ พืช และ GMO ต่างๆ ห้องปฏิบัติการข้างต้น จึงมีศักยภาพตรวจวิเคราะห์ได้ไม่เกินวันละ 25 ตัวอย่าง
ทั้งนี้ กรณีการตรวจวิเคราะห์ข้าวหอมมะลิไทยจากกรมฯ จะใช้เวลาตรวจวิเคราะห์ 1 วันทำการ ถ้าเป็นของเอกชนจะใช้เวลา 3 วันทำการ ซึ่งล่าช้าเป็นอุปสรรคต่อการส่งออก หากจัดตั้งห้องปฏิบัติข้างต้นเสร็จเรียบร้อยจะสามารถตรวจวิเคราะห์ตัวอย่างได้วันละไม่น้อยกว่า 100 ตัวอย่าง ทำให้การส่งออกดำเนินการได้รวดเร็วขึ้น ไม่ต้องรอผลการตรวจวิเคราะห์ก่อนการส่งออก ประกอบกับรัฐบาลมีนโยบายที่จะให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการค้าข้าวของอาเซียน ซึ่งจะทำให้สามารถใช้ประโยชน์จากห้องปฏิบัติการดังกล่าวในการตรวจวิเคราะห์ดีเอ็นเอ และสารตกค้าง ขณะเดียวกันสามารถตรวจสอบได้ว่าข้าวส่งออกของไทยมีการปนเปื้อนจากสายพันธุ์ข้าวของประเทศอื่นใดหรือไม่
“มีความจำเป็นที่จะต้องจัดตั้งห้องปฏิบัติการตรวจวิเคราะห์เฉพาะสินค้าข้าวที่มีประสิทธิภาพ แม่นยำ เชื่อถือได้ เพื่อใช้เป็นข้อมูลอ้างอิง รวมทั้งเป็นการอำนวยความสะดวกและเพิ่มทางเลือกให้กับผู้ที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนเป็นการยกระดับคุณภาพ ภาพลักษณ์และการแข่งขันของข้าวไทยในตลาดโลก” นางปราณีกล่าว