xs
xsm
sm
md
lg

“ชัชชาติ” ตอกฝาโลงทางด่วน 3 หนุนโมโนเรล รฟม.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“ชัชชาติ” เบรก กทพ.ขอสร้างทางด่วนขั้น 3 สายเหนือช่วง N 2, 3 ชี้เหตุยกเลิกไม่ใช่เพราะ ม.เกษตรฯ ต้าน แต่สภาพปัญหาจราจรปัจจุบันต้องแก้ด้วยระบบรถไฟฟ้าที่ยังขาดช่วงเหมาะสมกว่าทางด่วน หวั่นทำให้รถมากระจุกตัวที่ ม.เกษตรฯ มากขึ้น “ผอ.สนข.” หนุน รฟม.เดินหน้าศีกษาออกแบบโมโนเรลสีน้ำตาล (แคราย-ลำสาลี)

นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ยังยืนยันนโยบายชะลอโครงการก่อสร้างทางด่วนขั้นที่ 3 สายเหนือ ช่วง N1, 2, 3 ไม่มีการเปลี่ยนแปลง ส่วนกรณีทางคณะกรรมการ (บอร์ด) การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) มีแนวคิดจะเสนอขอดำเนินการก่อสร้างในช่วง N2, 3 เพื่อระบายการจราจรที่หนาแน่นตั้งแต่แยกเกษตร-ถนนเกษตร-นวมินทร์ ตัดผ่านถนนเสรีไทย และถนนรามคำแหง สิ้นสุดโครงการที่ถนนกรุงเทพ-ชลบุรีสายใหม่ และไม่เกี่ยวกับช่วง N1 ที่มีปัญหาถูกต่อต้านการเวนคืนจากมหาวิทยาลักเกษตรศาสตร์นั้นคงไม่ได้ เพราะการชะลอหรือจะยกเลิกทางด่วนขั้น 3 ไม่ได้พิจารณาหรือกลัวที่ ม.เกษตรฯ ออกมาต่อต้าน แต่มองจากภาพรวมซึ่งจากโครงข่ายรถไฟฟ้า 10 สายในแผนแม่บทยังขาดช่วงแนวของทางด่วนขั้นที่ 3 ซึ่งจะเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าได้หลายสายตั้งแต่สายสีม่วง บางใหญ่-บางซื่อ บริเวณแคราย, สายสีแดงช่วงตัดถนนวิภาวดี, สายสีเขียวช่วง ม.เกษตรศาสตร์ และสายสีส้ม ช่วงรามคำแหงและต่อกับสายสีชมพูได้ ดังนั้นควรต่อโครงข่ายให้สมบูรณ์

“การยกเลิกทางด่วนขั้นที่ 3 สายเหนือ (N1, 2, 3) ไม่ได้มีตัวแปรจาก ม.เกษตรฯ ประเด็นที่พิจารณาคือ ทางด่วนคิดวางแผนกันมา 20 ปีแล้ว เมื่อดูสภาพจราจรในปัจจุบันถ้าทำแค่ N2, 3 จะกลายเป็นการเอารถมากระจุกตัวที่ ม.เกษตรฯ แทนแล้วไม่มีที่ระบายรถต่อยิ่งหนักกว่าอีก ระบบรถไฟฟ้าเหมาะกว่าทางด่วน สาเหตุที่ทำให้มีปริมาณรถมากเพราะตอนนี้ไม่มีทางเลือกการเดินทางให้ประชาชนแต่ถ้ามีรถไฟฟ้าจะช่วยได้แน่ ส่วน กทพ.ควรคิดแนวทางด่วนใหม่โดยขยับขึ้นไปเหนือรังสิต ซึ่งเท่ากับขีดวงระบบทางด่วนให้กว้างขึ้น แต่เป็นการรองรับปริมาณรถให้กระจายไปรอบนอกจะเหมาะสมกว่า” นายชัชชาติกล่าว

ทั้งนี้ จากที่กระทรวงคมนาคมมีนโยบายให้สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ศึกษาความเป็นไปได้ในการก่อสร้างรถไฟฟ้าขนาดเบา (Light Rail) แทนทางด่วนขั้นที่ 3 สายเหนือโดยใช้เสาตอม่อที่มี ซึ่งนอกจากจะลดการเวนคืนแล้วยังใช้เงินลงทุนประมาณ 61,752 ล้านบาท ต่ำกว่าทางด่วนขั้นที่ 3 ที่มีวงเงินลงทุนรวม 101,367 ล้านบาท แบ่งเป็นค่าเวนคืนถึง 41,428 ล้านบาท และค่าก่อสร้าง 59,939 ล้านบาท และล่าสุดที่ประชุมบอร์ด รฟม.เมื่อวันที่ 21 สิงหาคมที่ผ่านมาบอร์ดการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เห็นชอบให้ รฟม.ดำเนินโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีน้ำตาลช่วงแคราย-ลำสาลี ระยะทาง 21.9 กิโลเมตร โดยใช้ระบบรถไฟฟ้ารางเดียว (Mono Rail) วงเงินประมาณ 45,000 ล้านบาท ซึ่งมีแนวเส้นทางเดียวกับแนวทางด่วนขั้นที่ 3 และ Light Rail ของ สนข. โดยแนวช่วงปลายเส้นทางจะต่างจากที่ สนข.ศึกษาไว้เล็กน้อย โดยโมโนเรลสีน้ำตาลจะแยกวิ่งไปตามถนนเพื่อลดการเวนคืนให้มากที่สุด

ด้านนายจุฬา สุขมานพ ผู้อำนวยการ สนข.และกรรมการบอร์ด รฟม.กล่าวว่า แนวเส้นทางโมโนเรลสีน้ำตาลของ รฟม.ช่วงแคราย-มีนบุรี ส่วนใหญ่ทับซ้อนกับแนวของ สนข.ซึ่งวางระบบเพื่อทดแทนทางด่วนขั้นที่ 3 ซึ่ง รฟม.ได้ศึกษาเบื้องต้นไว้ดีมีรายละเอียดโครงการมากกว่าการศีกษาของ สนข. ซึ่งในปี 57 สนข.ไม่ได้รับงบประมาณศึกษาเพิ่มเติม

จึงเห็นว่า รฟม.ควรเดินหน้าศีกษารายละเอียดในขั้นตอนการรับฟังความเห็นของประชาชน รวมถึงการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม ส่วนช่วงปลายสายทางก่อนบรรจบกับถนนกรุงเทพ-ชลบุรีสายใหม่ รฟม.จะแยกไปทางลำสาลี ส่วนแนวของ สนข.จะไปทางมีนบุรีนั้นไม่น่ามีปัญหา เพราะที่แยกลำสาลีมีแนวโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มที่มีปลายทางอยู่ที่มีนบุรี สามารถใช้เดินทางเชื่อมต่อกันได้
กำลังโหลดความคิดเห็น