xs
xsm
sm
md
lg

เปิดผลสำรวจพบคนภูเก็ตจ่ายใต้โต๊ะให้ตำรวจ - ที่ดิน สูงสุด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ศูนย์ข่าวภูเก็ต - เครือข่ายต่อต้านการทุจริตในจังหวัดภูเก็ต เผยผลสำรวจความคิดเห็นประชาชน เคยจ่ายเงินสินบนให้หน่วยงานภาครัฐพบมีเกือบทุกหน่วยงาน ตำรวจมีสูงสุด เตรียมนำข้อมูลให้หน่วยต้นสังกัดตรวจสอบปรับปรุงแก้ไข ด้านประธานเครือข่ายประกาศพร้อมเดินหน้าต่อ เตรียมตั้งเครือข่ายตาสับปะรดเฝ้าติดตามการทุจริตของหน่วยงานราชการต่อไป

ดร.สุรินทร์ บำรุงผล ประธานเครือข่ายต่อต้านการทุจริตในภูเก็ต พร้อมด้วยนายจรัญ ธัญญอุดร ประธานเครือข่าย ป.ป.ช.ภาคประชาสังคมภูเก็ต นายพรสุข หลิมจานนท์ กรรมการศูนย์พัฒนาการเมืองภาคพลเมือง สภาบันพระปกเกล้าจังหวัดภูเก็ต พร้อมด้วยคณะอาจารย์จากมหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ต ร่วมกันแถลงผลสำรวจ “สถานการณ์และแนวโน้มการทุจริตคอร์รัปชันในจังหวัดภูเก็ต” ซึ่งมีการจัดทำแบบสอบถามและสำรวจระหว่างวันที่ 8 พ.ค.-6 ต.ค. ที่ผ่านมา ซึ่งเครือข่ายการต่อต้านการทุจริตในภูเก็ต จัดทำขึ้น โดยการทำแบบสอบถามไปยังกลุ่มเป้าหมายทั้งข้าราชการ ภาคเอกชน พนักงานรัฐวิสาหกิจ ประชาชนทั่วไป และนักศึกษารวมทั้งสื่อมวลชน

นายสุรินทร์ กล่าวว่า ปัจจุบันสถานการณ์ และความรุนแรงในการทุจริตคอร์รัปชันในจังหวัดภูเก็ตมีแนวโน้มที่จะรุนแรงขึ้น เนื่องจากความเจริญเติบโตของเมือง ทำให้เกิดปัญหาในหลายมิติภายในจังหวัด เช่นการเหลื่อมล้ำของผู้มีรายได้กับประชาชนทั่วไป ก่อให้เกิดการแตกแยกแบ่งชนชั้น และทัศนคติของคนรุ่นใหม่รับมอบวัฒนธรรมที่ผิดมาโดยคิดว่าการคอร์รัปชันเป็นเรือกปกติ ซึ่งเป็นการเข้าใจที่ผิด และถ้าปล่อยไว้จะส่งผลร้ายแรงต่อจังหวัดภูเก็ต ทางเครื่องข่ายต่อต้านการทุจริตในภูเก็ตจึงร่วมกับหลายภาคส่วนออกมาทำงานเกี่ยวกับเรื่องการต่อต้านการทุจริตขึ้น ซึ่งขณะนี้เครือข่ายมีสมาชิกแล้วจำนวน 23,000 คน โดยจัดให้มีกิจกรรมรณรงค์ให้ความรู้และประสานความร่วมมือไปยังเครือข่ายต่างๆ โดยเริ่มจากการทำแบบสอบถามเรื่อง “สถานการณ์และแนวโน้มการทุจริตคอร์รัปชันในจังหวัดภูเก็ต”

“โดยทำแบบสอบถามจำนวน 1,200 ชุด ได้รับผลตอบกลับมาจำนวน 611 ชุด คิดเป็นร้อยละ 50.92% ซึ่งแบบสอบถามดังกล่าวได้สอบถามไปยังกลุ่มต่างๆ ที่มีอายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไป ประกอบด้วย กลุ่มข้าราชการ เอกชน พนักงานรัฐวิสาหกิจ ประชาชนทั่วไป นักศึกษา และสื่อมวลชน ประเด็นในการสำรวจ ประกอบด้วย ความรุนแรงของปัญหาการทุจริตคอรัปชัน ปี 2555, 2556, 2557 ทัศนคติและจิตสำนึกต่อการทุจริตคอร์รัปชัน ประสิทธิภาพของการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชันของภาครัฐ เอกชนและสื่อมวลชน การมีส่วนร่วมของภาคประชาสังคม หน่วยงานภาครัฐที่ประพฤติทุจริตคอร์รัปชันในจังหวัดภูเก็ต”

ซึ่งจากการสำรวจพบว่าจากจำนวน 611 แบบสอบถาม พบว่ามี 15% ที่เคยจ่ายเงินสินบนเพื่อให้ได้งานกับหน่วยงานภาครัฐ สำหรับความรุนแรงของปัญหาการทุจริตพบว่ามี 81% ที่คิดว่าปัญหาการทุจริตปี 56 มีความรุนแรงเพิ่มขึ้นจากปี 55 ส่วนแนวโน้มปี 57 พบว่าคนส่วนใหญ่ประมาณ 80% จากจำนวน 611 คน เห็นว่ามีแนวโน้มรุนแรงเพิ่มขึ้นจากปี 56 และเป็นเรื่องที่น่ายินดีที่ผู้ตอบแบบสอบถาม 94% ที่เห็นว่าเรื่องการทุจริตเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับคนทุกคน มีคนเพียง 13% ที่เห็นด้วยและยอมรับได้กับการทุจริต และมีประมาณ 10% ที่เห็นด้วยกับการให้เงินสินบนแก่เจ้าหน้าที่รัฐในการติดต่องานราชการเพื่อแลกกับการอำนวยความสะดวก และรวดเร็ว

ส่วนประเด็นเรื่องของประสิทธิภาพ และความเชื่อมั่นของการต่อต้านของภาครัฐ เอกชนและสื่อมวลชน ซึ่งในด้านประสิทธิภาพนั้นผู้ตอบแบบสอบถามเห็นว่ารัฐมีความล้มเหลวถึง 40% ส่วนความเชื่อมั่นในรัฐมีเพียง 17% ด้านเอกชนพบว่าผู้ตอบแบบสอบถามมีความเชื่อมั่นในสมาคมธุรกิจการท่องเที่ยว 56% หอการค้า 53% ขณะที่สื่อมวลชนมีความเชื่อมั่น 57% ขณะที่ประเด็นการมีส่วนส่วนร่วมของประชาชนในการต่อต้านการทุจริตพบว่าต้องการมีส่วนร่วม 48% กลุ่มที่ยังไม่พร้อมแต่ต้องการมีส่วนร่วมมีจำนวน 39% ส่วนกลุ่มที่ไม่ต้องการเข้าร่วมมีจำนวน 13% เท่านั้น

ดร.สุรินทร์ กล่าวต่อไปว่า จากการตอบแบบสอบถามพบว่า หน่วยงานที่มีการจ่ายเงินสินบนเพื่อความสะดวกรวดเร็ว พบว่า หน่วยงานตำรวจ มีคนที่เคยจ่ายสินบนจำนวน 140 คน จากจำนวนคนตอบแบบสอบถาม 611 คน สำนักงานที่ดินภูเก็ตมี จำนวน 138 จากจำนวน 611 คน องค์การบริหารส่วนท้องถิ่น จำนวน 128 คน จากจำนวน 611 คน อำเภอถลาง จำนวน 77 คน จากจำนวน 611 คน อำเภอเมืองภูเก็ต จำนวน 70 คน จากจำนวน 611 คน ขนส่งจังหวัดภูเก็ต จำนวน 70 คน จากจำนวน 611 คน อำเภอกะทู้ จำนวน 65 คน จากจำนวน 611 คน ด่านตรวจคนเข้าเมืองภูเก็ต จำนวน 64 คน จากจำนวน 611 คน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จำนวน 57 คน จากจำนวน 611 คน ตำรวจท่องเที่ยว 56 คน จากจำนวน 611 คน โรงเรียนสตรีภูเก็ต 51 จากจำนวน 611 คน แขวงการทางภูเก็ต 49 คน จากจำนวน 611 คน โรงเรียนภูเก็ตวิทยาลัย 49 คน จากจำนวน 611 คน และยังมีหน่วยงานอื่นๆ อีกหลายหน่วยงาน อย่างไรก็ตาม หลังจากได้ข้อมูลมาแล้วจะส่งต่อให้แก่หน่วยงานแต่ละหน่วยงานเพื่อไปตรวจสอบและแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น

ส่วนโครงการต่อไปที่ทางเครือข่ายจะดำเนินการ คือ เรื่องของการจั้งตั้งเครือข่ายตาสับปะรดเพื่อเฝ้าติดตามตรวจสอบพฤติกรรมของหน่วยงานราชการที่มีการทุจริต ซึ่งอาจจะแฝงตัวไปอยู่ตามสำนักงานต่างๆ นอกจากนั้น จะมีการสำรวจความคิดเห็นในเชิงลึกของแต่ละกลุ่ม เพื่อให้ได้ข้อมูลที่ชัดเจน รวมทั้งการจ่ายสินบนว่ามีการจ่ายกันอย่างไร ซึ่งจะเริ่มดำเนินการในเร็วๆ นี้
 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น