xs
xsm
sm
md
lg

“ประสาร” ชำแหละ ศก.ไทยมีปัญหาโครงสร้าง-นโยบาย “การเงิน-การคลัง” มีข้อจำกัดไม่เพียงพอยกระดับ ศก.ได้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

แฟ้มภาพ
ผู้ว่า ธปท. ยอมรับการใช้นโยบายการเงิน และการคลังยังมีข้อจำกัดไม่เพียงพอยกระดับ ศก.ได้ ขณะที่ระดับรายได้ประชากรอยู่ที่ 15-20% สะท้อนมาตรฐานการครองชีพที่ไม่เคยได้รับการพัฒนา ระบุชัดปัญหาหลักของ ศก.ไทยเกิดจากความไม่มั่นคงทางการเมือง การทุจริตคอร์รัปชัน และความไม่พร้อมทางเทคโนโลยี-การศึกษา แถมมีปัญหาขีดความสามารถในการแข่งขัน โดนฟิลิปปินส์-อินโดฯ แซงหน้า เพราะหลงตัวเองว่าเป็นศูนย์กลางอาเซียน แนะยกรับดับโครงสร้างพื้นฐานแม้การเปลี่ยนแปลงจะมีผู้ได้และเสียประโยชน์

นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยในงานสัมมนาวิชาการของธนาคารแห่งประเทศไทย ประจำปี 2556 หัวข้อ “วางรากฐานการเติบโตอย่างยั่งยืนของเศรษฐกิจไทย” โดยระบุว่า ปัญหาที่น่าเป็นห่วงขณะนี้คือ โครงสร้างพื้นฐานของเศรษฐกิจที่จะทำให้เศรษฐกิจขยายตัวอย่างยั่งยืน อยู่ในภาวะเสี่ยง และเห็นสัญญาณที่ไม่น่าไว้ใจ หลังจากการขยายตัวของเศรษฐกิจเริ่มชะลอตัวลง จากเคยขยายตัวร้อยละ 9 ก่อนช่วงเกิดวิกฤตเศรษฐกิจในปี 2540 และลดลงเหลือร้อยละ 4 ในปัจจุบัน

ขณะที่รายได้ประชากรต่อหัวอยู่ที่ร้อยละ 15-20 แสดงถึงมาตรฐานการครองชีพไม่ได้พัฒนาเท่าที่ควรเมื่อเทียบกับประเทศอื่น ทั้งมาเลเซีย เกาหลีใต้ และไต้หวัน ซึ่งปัญหาเกิดจากกระจายรายได้มีความเหลื่อมล้ำ ส่วนขีดความสามารถในการแข่งขันของไทยมีปัญหาเช่นกัน เห็นได้จากผลสำรวจของเวิลด์ อีโคโนมิก ฟอรัม ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ไทยตกลงมาอยู่อันดับ 37 จากอันดับ 28 ขณะที่อินโดนิเชีย ปรับขึ้นจาก 54 มาอยู่อันดับ 38 และฟิลิปปินส์ขึ้นมาถึง 12 อันดับ

สำหรับปัญหาหลักของเศรษฐกิจไทยมาจากความไม่มั่นคงทางการเมือง การทุจริตคอร์รัปชัน รวมถึงความไม่พร้อมทางเทคโนโลยี และการศึกษา ขณะที่การใช้นโยบายการเงิน และการคลังยังมีข้อจำกัด และไม่เพียงพอที่จะยกระดับเศรษฐกิจไทยได้ ทั้งนี้ หากต้องการให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวเพิ่มขึ้นรัฐบาลต้องปรับปรุงศักยภาพการผลิตเพื่อเพิ่มการขยายตัว และเพิ่มความสามารถในการรองรับปัจจัยลบ และความผันผวน รวมถึงแรงกระแทกต่างๆ ที่เข้ามากระทบเป็นระยะๆ ได้ดีมากขึ้น ซึ่งถือเป็นการยกระดับเศรษฐกิจไทยให้มีศักยภาพมากขึ้นได้

ผู้ว่าฯ ธปท. ระบุว่า ไทยเคยมองตัวเองเป็นศูนย์กลางของอาเซียนเพราะเป็นฐานการผลิตของอุตสาหกรรมที่สำคัญ และมีคู่ค้าที่ดี แต่ที่ผ่านมา ยังไม่สามารถใช้ประโยชน์จากสิ่งที่มีอยู่ได้ดีนัก โดยเฉพาะการต่อยอดทางเศรษฐกิจ

ดังนั้น ไทยต้องปรับเปลี่ยนโดยเฉพาะภาคธุรกิจจะต้องพร้อมต่อการเพิ่มศักยภาพการผลิต ด้านแรงงานไทยจะต้องปรับตัวเข้ากับระบบการผลิตใหม่ๆ และภาครัฐเป็นตัวสนับสนุนที่ดี ขณะที่ประชาชนโดยรวมต้องเปิดกว้างยอมรับทัศนคติที่หลากหลาย ปลูกฝังค่านิยมในการต้องการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชัน และธรรมาภิบาลที่ดี

อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่าระหว่างการปรับเปลี่ยนยกระดับโครงสร้างทางเศรษฐกิจไทยนั้นจะต้องมีผู้ที่ได้ และเสียในการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ แต่ยืนยันหากทำได้จะก่อให้เกิดการยอมรับ และการกระจายการได้อย่างทั่วถึง และเท่าเทียม
กำลังโหลดความคิดเห็น