ตรัง - ชาวตรังวิจารณ์แซด หลัง “ธีระยุทธ เอี่ยมตระกูล” ยื่นใบลาออกจากผู้ว่าฯ ยอมไม่ไปเป็นผู้ตรวจฯ ระบุการเมืองระดับชาติล้วงลูก ทำให้การพัฒนาจังหวัดสะดุด แฉ! 10 ปี มีผู้ว่าฯ แล้วถึง 7 คน
วันนี้ (26 ก.ย.) ผู้สื่อข่าวรายงานจากจังหวัดตรัง ว่า หลังจากที่ นายธีระยุทธ เอี่ยมตระกูล ผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง ออกมาประกาศลาออกจากตำแหน่ง หลังจากที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้มีมติเมื่อวันที่ 20 ส.ค. ที่ผ่านมา ให้ย้ายเข้ากรุไปเป็นผู้ตรวจราชการกระทรวงมหาดไทย ทั้งๆ ที่ยังเหลืออายุราชการอีกเพียงแค่ปีเดียวนั้น
ได้ก่อให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ของประชาชนชาวตรังเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะตามร้านน้ำชากาแฟต่างๆ ซึ่งถือเป็นเวทีสำคัญสำหรับการพูดคุยในท้องถิ่น ซึ่งต่างมองว่าเป็นเรื่องของการเมืองระดับชาติที่เข้ามาล้วงลูก ทั้งๆ ที่ตลอดระยะเวลาในการดำรงตำแหน่งของ นายธีระยุทธ ช่วง 1 ปี 6 เดือนที่ผ่านมา ไม่มีสิ่งใดที่บกพร่องเสียหาย
นายชัยพร จันทร์หอม แกนนำกลุ่ม 7 ภาคีร่วมสร้างตรัง เมืองแห่งความสุข หนึ่งในองค์กรที่เคยออกมาเคลื่อนไหวเพื่อให้ นายธีระยุทธ เป็นผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง ต่อไป กล่าวว่า การตัดสินใจลาออกโดยไม่ยอมไปรับตำแหน่งผู้ตรวจราชการกระทรวงมหาดไทย นับเป็นความกล้าหาญของ นายธีระยุทธ ที่น่ายกย่องเป็นอย่างยิ่ง เพื่อแสดงให้เห็นถึงการเป็นนักปกครองระดับมืออาชีพ ที่ไม่ยอมอ่อนข้อให้แก่การเมือง และมิใช่จะมาสั่งให้ซ้ายหัน หรือขวาหันกันได้ตามอำเภอใจ มิเช่นนั้นต่อไปข้าราชการที่ดี มีความรู้ ความสามารถก็จะไม่มีที่ยืน เพราะประชาธิปไตยไม่ใช่เรื่องของการเมือง แต่เป็นเรื่องของความชอบธรรม
ดังนั้น วันนี้จึงถึงเวลาแล้วที่ประชาชนชาวตรังทั้งหมด ควรจะลุกขึ้นออกมาเคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องในสิ่งที่ถูกต้อง มิใช่ปล่อยให้การเมืองเข้ามาล้วงลูกเพื่อทำอะไรก็ได้ โดยดูได้จากการจัดทำงบประมาณพัฒนาจังหวัด ประจำปี 2557 ปรากฏว่า จังหวัดตรังได้มาแค่ 125 ล้านบาท ขณะที่จังหวัดขนาดกลางๆ ที่มีประชากรใกล้เคียงกัน เช่น น่าน แพร่ พะเยา กลับได้งบประมาณปีละ 150-170 ล้านบาท ซึ่งยังไม่นับรวมงบประมาณกลุ่มจังหวัดที่จังหวัดตรังได้รับในแต่ละปีน้อยมากเช่นกัน จนส่งผลต่อการนำมาพัฒนาพื้นที่อย่างไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วย และถ้าปล่อยไว้เช่นนี้ต่อไปอีกหลายปีข้างหน้าอะไรจะเกิดขึ้นกับจังหวัดตรัง
“อีกทั้งจากข้อมูลย้อนหลังไปในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาพบว่า จังหวัดตรัง มีผู้ว่าฯ มาแล้วถึง 7 คน หรือเฉลี่ยคนละ 1 ปีเศษๆ และกำลังมีคนที่ 8 ในวันที่ 1 ตุลาคมนี้ ซึ่งก็ยังไม่รู้ว่าจะดำรงตำแหน่งได้กี่เดือนกี่ปี ขณะที่จังหวัดสุพรรณบุรี ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา มีผู้ว่าฯ มาเพียงแค่ 3 คน หรือเฉลี่ยคนละ 3-4 ปี จึงมีเวลาในการบริหารงานได้อย่างเต็มที่ จนเกิดความเจริญก้าวหน้าในระดับประเทศ ยิ่งผู้บังคับบัญชา หรือกระทรวงมหาดไทย ให้ความสำคัญด้วย ข้าราชการเหล่านั้นก็พร้อมทุ่มเทเต็มที่สำหรับการพัฒนาจังหวัด แต่ในทางตรงกับข้าม หากอยู่อย่างไม่มีศักดิ์ศรี และถูกการเมืองแทรกแซง ผู้ว่าฯ ก็หมดความหมาย”
นายแพทย์สมชัย เจียรนัยศิลป์ รองประธานหอการค้าจังหวัดตรัง และประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวจังหวัดตรัง กล่าวว่า ในช่วงหลังมามีการเปลี่ยนผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง ค่อนข้างบ่อย ซึ่งกว่าที่คนใหม่จะมาเรียนรู้งานก็เสียเวลาหลายเดือน และบางครั้งอยู่ได้ไม่เท่าไหร่ก็ถูกย้ายไปอีก ทั้งๆ ที่หากผู้ว่าราชการจังหวัดอยู่ในตำแหน่งได้นานอย่างน้อย 2 ปี จะมีเวลาในการบริหารและพัฒนาบ้านเมืองอย่างเต็มที่ เพราะถือเป็นบุคคลที่มีความสำคัญอันดับ 1 ของจังหวัด อย่างไรก็ตาม ภาคเอกชนไม่ได้ยึดติดในส่วนนี้อยู่แล้ว เนื่องจากปกติก็ต้องช่วยเหลือตัวเองมาโดยตลอด และไม่ได้คาดหวังอะไรจากผู้ว่าราชการจังหวัดมากนัก
กำลังโหลดความคิดเห็น