เอเอฟพี – ชาวญี่ปุ่นหลายล้านคนที่มีภูมิลำเนาอยู่ในกรุงโตเกียว จะได้ใช้สิทธิ์เลือกผู้ว่าการเมืองหลวงคนใหม่ในเดือนกุมภาพันธ์ปีหน้า หลังผู้ว่าฯ คนก่อนตกเป็นข่าวอื้อฉาวเรื่องรับเงินสินบน และยื่นหนังสือลาออกเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว
การเลือกตั้งผู้ว่าการกรุงโตเกียวมีกำหนดจัดขึ้นในวันที่ 9 กุมภาพันธ์ ซึ่งตรงกับวันอาทิตย์ โดยจะมีการนับคะแนนให้เสร็จสิ้นภายในวันเดียวกัน
ผู้ที่สนใจชิงตำแหน่งจะต้องยื่นใบสมัครต่อคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำกรุงโตเกียว ก่อนวันที่ 23 มกราคม ในวันและเวลาราชการ
แม้จะยังไม่มีผู้ใดประกาศชิงเก้าอี้ผู้ว่ามหานครที่มีพลเมืองถึง 13 ล้านคน แต่สื่อท้องถิ่นก็คาดเดาตัวบุคคลที่อาจเป็นไปได้ เช่น ฮิเดโอะ ฮิกาชิโกกุบารุ อดีตนักแสดงตลกที่ผันตัวมาเล่นการเมือง และเพิ่งจะลาออกจากตำแหน่ง ส.ส.มาหมาดๆ ในเดือนนี้ ส่วนอีกคนก็คือ ฮากุบุน ชิโมมุระ รัฐมนตรีกระทรวงการศึกษา, วัฒนธรรม, กีฬา, วิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี
อดีตนายกรัฐมนตรี จุนิชิโร โคอิซุมิ ออกมาประกาศชัดเจนว่า จะไม่ลงแข่งขันในสนามเลือกตั้งผู้ว่าฯโตเกียว หลังจากที่พรรค Your Party ซึ่งเป็นฝ่ายค้านมาขอร้องให้เขาลงสมัครด้วย หนังสือพิมพ์รายวันไมนิจิชิมบุน รายงาน
โคอิซุมิ ซึ่งดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนที่ 87 ของญี่ปุ่นระหว่างปี 2001-2006 เป็นบุคคลผู้มีชื่อเสียงอีกคนหนึ่งที่แสดงจุดยืนต่อต้านพลังงานนิวเคลียร์ แม้รัฐบาลของเขาจะเคยสนับสนุนการใช้ประโยชน์จากพลังงานชนิดนี้ก็ตาม
โคอิซูมิ ยังเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรี ชินโซ อาเบะ ทำให้ญี่ปุ่นเป็นประเทศปลอดนิวเคลียร์
อดีตผู้ว่าการกรุงโตเกียว นาโอกิ อิโนเสะ วัย 67 ปี ถือเป็นกำลังสำคัญในการผลักดันให้เมืองหลวงของญี่ปุ่นคว้าโอกาสเป็นเจ้าภาพกีฬาโอลิมปิกปี 2020 ทว่าเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว เขาได้ตัดสินใจยื่นใบลาออก หลังถูกเปิดโปงว่ารับเงิน 500,000 ดอลลาร์สหรัฐฯจากมหาเศรษฐีเจ้าของโรงพยาบาลแห่งหนึ่ง ก่อนที่จะได้รับเลือกตั้งเข้ามาเมื่อ 1 ปีก่อนด้วยคะแนนเสียงล้นหลาม 4.34 ล้านเสียง
สมาชิกพรรครัฐบาลแอลดีพีหลายคนออกมากดดันให้ อิโนเสะ แสดงความรับผิดชอบ รวมถึงมาซาฮิโกะ โคมุระ รองประธานพรรคแอลดีพี ซึ่งอ้างอิงถึงอำนาจหน้าที่ของผู้ว่าการกรุงโตเกียวที่จะอนุมัติให้เปิดโรงพยาบาลได้
“ความจริงที่ว่า (อิโนเสะ) รับเงินก้อนโตจากบุคคลคนหนึ่งซึ่งทำธุรกิจ และอาจจะอาศัยอำนาจของเขาเอื้อประโยชน์ต่อธุรกิจของตนได้ เป็นเหตุผลเพียงพอแล้วที่เขาจะลาออก”
ผู้ว่าการกรุงโตเกียวมีหน้าที่จัดสรรงบประมาณรายปีสูงถึง 60,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพื่อใช้ในการบริหารเมืองหลวงที่มีมูลค่าจีดีพีสูงยิ่งกว่าอินโดนีเซียทั้งประเทศเสียอีก