เอเอฟพี – ญี่ปุ่นเริ่มการปิดเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ตัวสุดท้ายที่ยังเปิดใช้งานอยู่ในวันนี้ (15 ก.ย.) ตามมาตรการตรวจสอบความปลอดภัย โดยยังไม่มีการระบุวันเปิดใช้งานใหม่อีกครั้ง ขณะที่ประชาชนก็ยังไม่เชื่อมั่นในความปลอดภัย
การทำเช่นนี้จะทำให้ชาติเศรษฐกิจขนาดใหญ่อันดับสามของโลกแห่งนี้ไม่มีการผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานนิวเคลียร์เลยเป็นหนที่สอง นับแต่วิกฤตการณ์นิวเคลียร์ฟูกูชิมะอุบัติขึ้นเมื่อเดือนมีนาคม ปี 2011 ทั้งนี้ก่อนวิกฤตการณ์คราวนั้นไฟฟ้าที่ใช้กันในญี่ปุ่นถึงราว 1 ใน 3 ผลิตขึ้นจากพลังงานนิวเคลียร์
นายกรัฐมนตรีชินโซ อาเบะ ได้สนับสนุนการหวนกลับไปใช้พลังงานนิวเคลียร์อย่างเปิดเผย ทว่าประชาชนจำนวนมากก็ยังคงต่อต้านความคิดเช่นนี้ ด้วยกลัวว่าอาจเกิดอุบัติเหตุร้ายแรงตามมา
ในวันนี้ (15) บริษัทคันไซอิเล็กทริกพาวเวอร์เริ่มต้นกระบวนการค่อยๆ ปิดเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์หมายเลข 4 ของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์โออิ ในจังหวัดฟุกุอิ ทางภาคตะวันตกของญี่ปุ่น
แผนการปิดเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์แห่งนี้มีเริ่มขึ้นในเวลา 16.40 น.วันนี้ (15) ตามเวลาท้องถิ่น (ตรงกับ 14.40 น.เวลาเมืองไทย) โดยคาดว่าเตาปฏิกรณ์จะยุติการการทำงานโดยสมบูรณ์ในเช้าวันพรุ่งนี้ (16) บริษัทแห่งนี้ระบุ
ก่อนหน้านี้ ญี่ปุ่นเคยระงับการผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานนิวเคลียร์ทั้งหมดมาแล้ว เมื่อเดือนพฤษภาคม ปี 2012 ซึ่งเป็นเวลาที่เตาปฏิกรณ์เชิงพาณิชย์ของประเทศทั้ง 50 เครื่อง ถูกปิดเพื่อตรวจสอบภายหลังเกิดวิกฤตนิวเคลียร์ฟูกูชิมะ และหลังจากนั้นพวกบริษัทไฟฟ้าก็ไม่สามารถเปิดเดินเครื่องใหม่อีกครั้ง เนื่องจากมีประชาชนพากันออกมาต่อต้านคัดค้าน
เหตุการณ์คราวนั้นนับเป็นครั้งแรกในรอบกว่า 4 ทศวรรษที่ญี่ปุ่นไม่ได้ใช้พลังงานนิวเคลียร์ผลิตไฟฟ้า
อย่างไรก็ตาม บรรดาเจ้าหน้าที่ของรัฐบาล และบริษัทไฟฟ้าแดนอาทิตย์อุทัยต่างแสดงความกังวลเมื่อปี 2012 ว่าญี่ปุ่นอาจประสบกับปัญหาไฟฟ้าดับครั้งใหญ่ เพราะการไม่ใช้พลังงานนิวเคลียร์ โดยเฉพาะในภาคตะวันตกของประเทศที่พึ่งพาพลังงานนิวเคลียร์ในปริมาณมาก
ปรากฏว่าสิ่งที่หวั่นเกรงกันนั้นไม่ได้เกิดขึ้น แต่รัฐบาลญี่ปุ่นรีบอนุมัติให้บริษัทคันไฟอิเล็กทริกพาวเวอร์เปิดเดินเครื่องเตาปฏิกรณ์หมายเลข 3 และหมายเลข 4 ในโรงไฟฟ้าโออิขึ้นอีกครั้ง โดยให้เหตุผลว่า จำเป็นต้องผลิตไฟฟ้าไว้ให้เพียงพอกับความต้องการที่เพิ่มสูงขึ้นในช่วงฤดูหนาว
ด้วยเหตุนี้ เตาปฏิกรณ์ทั้งสองจึงเริ่มเปิดใช้งานอย่างเต็มรูปแบบในเดือนสิงหาคม ปี 2012 ขณะที่เตาอื่นๆ ยังคงปิดไว้นับแต่นั้นมา
ในสถานการณ์เช่นนั้น ประเทศญี่ปุ่นต้องหันมาผลิตไฟฟ้าโดยใช้เชื้อเพลิงจากซากฟอสซิล (น้ำมัน, ก๊าซ, ถ่านหิน) ที่มีราคา และบริษัทไฟฟ้าก็ได้ขึ้นค่าไฟ