เอเยนซี - สภาแห่งชาติจีนประกาศ "แผนการรับมือเหตุการณ์ฉุกเฉินทางนิวเคลียร์" ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม อย่างเป็นทางการแล้ว หลังชะงักแผน และระงับก่อสร้างมานานกว่า 2 ปี จากเหตุวิกฤตนิวเคลียร์-สึนามิ ฟุกุชิมะ
สื่อต่างประเทศ รายงาน (4 ก.ค.) ว่า สภาแห่งชาติจีนประกาศ "แผนการรับมือเหตุการณ์ฉุกเฉินทางนิวเคลียร์" ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม อย่างเป็นทางการแล้วเมื่อวันที่ 3 ก.ค. ที่ผ่านมา โดยมีเนื้อหาที่มีความสำคัญต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมผลิตพลังงานทางนิวเคลียร์
รายงานข่าวกล่าวว่า แม้ รัฐบาลจะไม่ได้เผยเนื้อหารายละเอียดของแผนฯ ทั้งหมด แต่บรรดาผู้เชี่ยวชาญ และสื่อมวลชนของรัฐ ที่ได้เข้าร่วมในการปรับร่างแผนการณ์ได้กล่าวว่า มีการปรับแก้ไขชนิดยกร่างใหม่ จากร่างเดิมเมื่อปี พ.ศ. 2549 โดยนำบทเรียนจาก โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ไดอิจิ ที่ฟุกุชิมะ เมื่อปี พ.ศ. 2554 มาเป็นกรณีศึกษาสำคัญ และแผนฯ ใหม่ล่าสุดนี้ ยังให้ความสำคัญกับการเปิดเผยข้อมูลอย่างโปร่งใส ร่วมมือกับนานาชาติ และพัฒนาขีดความสามารถในการรับมือกับอุบัติเหตุต่างๆ
ศาสตราจารย์ กู่ จ้งเหมา ที่ปรึกษาด้านวิทยาศาสตร์ของ บรรษัทนิวเคลียร์แห่งชาติจีน กล่าวว่า การพัฒนานิวเคลียร์ของจีนได้ชะงักไป หลังรัฐบาลจีน ได้ระงับแผนอนุมัติสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ หลังเหตุการณ์ฟุกุชิมะ ตลอด 2 ปีที่ผ่านมา เพื่อหาหนทางปรับปรุงและขจัดวิกฤติการณ์ที่อาจเกิดขึ้นในทุกกรณี ซึ่งผู้ประกอบการด้านกิจการนิวเคลียร์ทุกฝ่าย จะต้องพัฒนายกระดับขีดความสามารถทางเทคโนโลยีเพื่อป้องกันความสูญเสีย รวมทั้งการบริหารจัดการยามวิกฤติ เพราะมีแนวโน้มที่จีนจะกลายเป็นประเทศที่ใช้พลังงานนิวเคลียร์มากขึ้น ดังนั้น จำเป็นต้องมีมาตรการรักษาความปลอดภัยที่ดีที่สุด ซึ่งล่าสุดนี้ แผนการณ์นี้ก็ได้รับการแก้ไขจนเกือบเสร็จสมบูรณ์แล้ว
นายหม่า ซิงรุ่ย รองผู้อำนวยการ คณะกรรมการประสานงานด้านการรับมือเหตุการณ์ฉุกเฉินทางนิวเคลียร์ กล่าวว่า คณะรัฐมนตรีจีนได้แก้ไขเพิ่มเติมแผนรับมือเหตุการณ์ฉุกเฉินทางนิวเคลียร์ โดยกำหนดรายละเอียดต่างๆ เกี่ยวกับการรับมือกับเหตุการณ์ฉุกเฉินของจีน อาทิ ประสิทธิภาพในการควบคุมข้อผิดพลาดที่อาจเกิดขึ้นได้จากเหตุการณ์ต่างๆ และคลี่คลายปัญหาที่เกิดขึ้น เพื่อลดความสูญเสียทั้งต่อชีวิตผู้คน ทรัพย์สิน สิ่งแวดล้อม ตลอดจนความมั่นคงของสังคม
ทั้งนี้ จีนนับเป็นชาติหนึ่งที่มีความมุ่งมั่นในการพัฒนาพลังงานนิวเคลียร์ เพื่อทดแทนพลังงานถ่านหินที่เคยเป็นพลังงานหลักมาตลอด 50 ปีที่ผ่านมา ด้วยเล็งเห็นว่า จะเป็นพลังงานที่มีบทบาทสำคัญต่อการส่งเสริมการพัฒนาของเศรษฐกิจและสังคม ตลอดจนความก้าวหน้าด้านเทคโนโลยี โดยเมื่อปี พ.ศ. 2539 จีนได้ประกาศ โครงการรับมือเหตุการณ์ฉุกเฉินทางนิวเคลียร์ และแก้ไขเพิ่มเติมและกำหนดชื่อใหม่เป็น "แผนรับมือเหตุการณ์ฉุกเฉินทางนิวเคลียร์" ในปี จนถึงปี 2548 ขณะที่ แผนฉบับแก้ไขเพิ่มเติมที่ประกาศไปเมื่อวันที่ 3 ก.ค.ที่ผ่านมานี้ เน้นไปที่รายละเอียดของการรับมือกับเหตุการณ์ฉุกเฉิน ให้มีขั้นตอนที่เป็นรูปธรรมและชัดเจนมากยิ่งขึ้น
จากข้อมูลกิจการพลังงานนิวเคลียร์ ปัจจุบันนี้ จีนมีเตาปฏิกรณ์ปรมาณู 17 เครื่อง ที่ใช้งานอยู่ และยังมีอีก 28 เครื่อง ยังอยู่ระหว่างก่อสร้างฯ