xs
xsm
sm
md
lg

จีนเดินหน้าโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ หลังวิกฤตฟุกุชิมะ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

โรงไฟฟ้านิวเคลียร์บริเวณอ่าวฝังเฉิง ในเขตปกครองตนเองชนชาติจ้วง ก่วงซี กำลังเร่งก่อสร้าง เมื่อวันที่ 23 ต.ค. (ภาพเอเยนซี)
เซาท์ไชน่ามอร์นิ่งโพสท์/เอเยนซี--จีนยกเลิกการชะลอโครงการโรงไฟฟ้านิวเคลียร์อย่างเป็นทางการ หลังจากมีคำสั่งแช่แข็งการเดินหน้าโครงการฯนาน 19 เดือน จากอุบัติเหตุโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะ ไดอิจิของญี่ปุ่นเมื่อปีที่ผ่านมา (2554)

เวิน จยาเป่า นายกรัฐมนตรี เปิดประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 24 ต.ค. พร้อมตัดสินใจดำเนินมาตรการความปลอดภัย และละทิ้งข้อเสนอการก่อสร้างเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์ในเขตตอนในของประเทศเป็นเวลา 3 ปี (2555 - 2558)

เพียงไม่กี่สัปดาห์หลังจากอนุมัติแผนความปลอดภัยโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ระยะเวลา 5 ปี รัฐบาลจีนเปิดไฟเขียวแผนพัฒนาระยะยาวสำหรับโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ซึ่งจะดำเนินการในปี 2563 และส่งสัญญาณถึงความพร้อมสำหรับพลังงานปรมาณู

หยัง ฟู่เฉียง ที่ปรึกษาอาวุโสด้านพลังงาน สำนักงานป้องกันทรัพยากรธรรมชาติ กรุงปักกิ่ง เผยว่า “การมีมติเห็นชอบแผนความปลอดภัยและร่างแผนพัฒนาระยะยาวนี้ นำไปสู่การยกเลิกคำสั่งพักการดำเนินโครงการนิวเคลียร์ และเจ้าหน้าที่รัฐพร้อมที่จะอนุมัติให้กับโครงการใหม่ๆ อีกครั้ง”

หยัง และผู้เชี่ยวชาญท่านอื่นๆ ยังตั้งข้อสังเกตว่า เป้าหมายและหนทางการขยายนิวเคลียร์ของจีน จะถูกลดขนาดลงจากแผนเดิมที่กำหนดขึ้นก่อนการเกิดอุบัติเหตุโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะ โดยจะเห็นได้จากมติห้ามสร้างเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์บริเวณเขตตอนในของประเทศภายในปี 2558 และมาตรการความปลอดภัยที่เข้มงวดมากขึ้น

สำนักข่าวซินหวารายงาน ตามการตัดสินใจของคณะรัฐมนตรี เครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์ใหม่ทั้งหมดต้องผ่านมาตรฐานความปลอดภัยสำหรับเครื่องปฏิกรณ์รุ่นที่ 3 นอกจากนี้ คณะรัฐมนตรีกล่าวว่า “มีโครงการโรงไฟฟ้านิวเคลียร์บางแห่งเท่านั้นที่ผ่านการพิจารณาซึ่งจะได้รับอนุญาตให้สร้างในบริเวณพื้นที่ชายฝั่งทะเล และจะไม่มีโครงการนิวเคลียร์ในบริเวณพื้นที่ตอนในของประเทศในช่วงระยะเวลา 5ปี”

จีนประกาศผลักดันตัวเองเป็นผู้นำด้านพลังงานนิวเคลียร์ของโลกภายในปี 2563 โดยการสร้างเครื่องปฏิกรณ์เพิ่มขึ้น ทว่า เมื่อวันที่ 11 มี.ค. 2554 เกิดเหตุแผ่นดินไหวและสึนามิถล่มญี่ปุ่น จนก่อให้เกิดวิกฤตการณ์โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะ ทำให้แผนการทั้งหมดของจีนต้องเปลี่ยนแปลง

ท่ามกลางความเคลือบแคลงถึงความปลอดภัยของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ และความกังวลเกี่ยวกับการขยายโรงไฟฟ้าฯ อย่างบ้าคลั่ง รัฐบาลจีนออกการประเมินนโยบายนิวเคลียร์และความปลอดภัยใหม่ พร้อมทั้งมีคำสั่งยกเลิกการอนุมัติโครงการใหม่

หยัง กล่าวอีกว่า “การเริ่มให้มีการอนุมัติโครงการใหม่ๆ ผมคิดว่าพวกเราคงจะไม่เห็นการขยายตัวอย่างบ้าคลั่งเหมือนเมื่อก่อนอีก เนื่องจากมีการยกเลิกเป็นระยะเวลานาน (19 เดือน) และหยุดสร้างเครื่องปฏิกรณ์ในพื้นที่ตอนในของประเทศ”

หนึ่งในสามของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่ถูกยกเลิก ตั้งอยู่ในพื้นที่ตอนในประเทศซึ่งมีวัตถุประสงค์ลดการพึ่งพิงถ่านหิน หลิน ปั๋วเฉียง ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยพลังงานและเศรษฐกิจ มหาวิทยาลัยเซี่ยเหมิน กล่าวว่า การตัดสินใจของรัฐบาลส่งสัญญาณหลายอย่างเกี่ยวกับอุตสาหกรรมนิวเคลียร์

“เรายังมองไม่เห็นถึงเป้าหมายที่ชัดเจนในการทบทวนจำนวนโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ภายในปี 2563 และข้อมูลสำคัญอื่นๆ แต่สิ่งสำคัญคือการลดขนาดการขยายลง” หลินกล่าว
แผนที่ตั้งของเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์ ซึ่งปัจจุบันกำลังเปิดใช้ 14 แห่ง และอีก 26 แห่งอยู่ในระหว่างการก่อสร้าง (ภาพเอเยนซี)
ปัจจุบัน จีนแผ่นดินใหญ่มีเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์ที่กำลังเปิดใช้ 14 แห่ง และอีก 26 แห่งกำลังอยู่ในระหว่างก่อสร้าง คณะกรรมาธิการการพัฒนาและการปฏิรูปแห่งชาติ (National Development and Reform Commission: NDRC) ระบุว่า เป้าหมายในการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานนิวเคลียร์เพิ่มจาก 1 เปอร์เซ็นต์เป็น 6 เปอร์เซ็นต์ ภายในปี 2563

เครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์ของจีนสามารถผลิตไฟฟ้าได้กว่า 11.3 กิกะวัตต์ และจะลดเป้าหมายการผลิตฯ จากที่เคยตั้งไว้ 86 กิกะวัตต์ มาเป็น 70-75 กิกะวัตต์ โดยวางเป้าหมายผลิตให้ได้ 40 กิกะวัตต์ ภายในปี 2563

ในระยะยาวจะสามารถผลิตได้ถึง 200 กิกะวัตต์ ภายในปี 2573 และ 400 กิกะวัตต์ ภายในปี 2593อย่างไรก็ดี การขยายนิวเคลียร์อย่างรวดเร็ว อาจส่งผลทำให้ขาดแคลนเชื้อเพลิง อุปกรณ์ แรงงานที่มีคุณภาพ และการตรวจสอบความปลอดภัยได้

จากอุบัติเหตุโรงไฟฟ้าฟุกุชิมะ ไดอิจิ ในญี่ปุ่น รัฐบาลจีนออกประกาศเมื่อวันที่ 16 มี.ค. 2554 ให้ยกเลิกการอนุมัติโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ทั้งหมด และตรวจสอบความปลอดภัยของเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์ที่มีอยู่ทั้งหมด เดือนเม.ย.2554 จีนยังเลื่อนการอนุมัติการสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในทะเลอีกด้วย สำนักข่าวไชน่าเดลี่รายงานว่าการตรวจสอบความปลอดภัยเสร็จสิ้นเมื่อเดือนต.ค.2554 (ข้อมูลจาก wikipedia.org)
กำลังโหลดความคิดเห็น