นครศรีธรรมราช - เปิดแถลงการณ์ม็อบชาวสวนยางและปาล์มจากสมรภูมิควนหนองหงษ์ ที่นครศรีฯ เผยให้ถือเป็นข้อเสนอผ่านสื่อยื่นให้รัฐบาล โดยไม่ต้องส่งคนมาเจรจาอีกรวม 5 ข้อ มีทั้งยอมรับภาคีเครือข่าย 16 จังหวัด และเรียกร้องให้มีมาตรการระยะยาวดันคารายางไปให้ถึง 100 บ./กก. และปาล์มกว่า 6 บ. รวมถึงไม่เอาผิดผู้ชุมนุม ส่วนที่ถูกจับไปแล้วต้องให้ประกันตัว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (20 ก.ย.) ได้มีการเผยแพร่แถลงการณ์อันเป็นข้อเรียกร้องต่อรัฐบาลของกลุ่มผู้ชุมนุมชาวสวนยางพาราและปาล์มน้ำมัน ณ บริเวณแยกควนหนองหงษ์ ต.ควนหนองหงษ์ อ.ชะอวด จ.นครศรีธรรมราช ซึ่งให้ถือเป็นข้อเรียกร้องที่เผยแพร่ผ่านสื่อไปสู่รัฐบาล โดยฝ่ายรัฐบาลไม่จำเป็นต้องส่งตัวแทนมาเจรจากับกลุ่มผู้ชุมนุมอีก มีจำนวนรวม 5 ข้อ ประกอบด้วย 1.มีมติรับรองชื่อกลุ่มภาคีเครือข่ายเกษตรกรชาวสวนยางพาราและปาล์มน้ำมัน 16 จังหวัดภาคใต้ บ้านควนหนองหงษ์ ตำบลควนหนองหงษ์ อ.ชะอวด จ.นครศรีธรรมราช
2.มีมติยืนยันข้อเรียกร้องที่สอดคล้องกับกลุ่มชาวสวนยางและสวนปาล์มอื่นๆ คือ ให้รัฐบาลเร่งหามาตรการระยะสั้น และระยะยาให้ชาวสวนยางขายยางพาราได้ที่กิโลกรัมละ 100 บาท และปาล์มน้ำมันไม่ต่ำกว่า 6 บาท โดยครอบคลุมเกษตรกรที่ไม่มีเอกสารสิทธิในพื้นที่เพาะปลูกด้วย 3.รัฐบาลต้องไม่ดำเนินคดีทั้งทางแพ่งทางอาญาต่อผู้ชุมนุม และผู้ประสานงาน 4.รัฐบาลต้องมีมาตรการเยียวยาแก่ผู้ได้รับผลกระทบจากการชุมนุมทุกฝ่าย และ 5.ขอให้รัฐบาลให้ประกันตัวผู้ชุมนุมคุมขัง เช่น นายชญานิน คงสง นอกจากนั้น ยังมีมติให้มีผู้ประสานงานเพิ่ม เพื่อการประสานงานข้อเรียกร้อง
ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า แถลงการณ์ของม็อบชาวสวนยางและปาล์มดังกล่าวนั้น เกิดขึ้นภายหลังมีการประชุมระดับแก่นแกนของผู้ชุมนุมตั้งแต่ช่วงค่ำวานนี้ แต่ไม่มีการนำออกเผยแพร่โดยทันที และเมื่อมีการนำออกมาเผยแพร่ก็เป็นลักษณะพิมพ์จากเครื่องคอมพิวเตอร์ และมีการอ้างชื่อ เทิด ท่าข้าม เป็นผู้ประสานงานชั่วคราว ซึ่งเชื่อกันว่าน่าจะเป็นนามแฝงนั่นเอง
ทั้งนี้ แถลงการณ์ดังกล่าวเป็นไปภายหลังจากที่มีการประสานงานกับตัวแทนภาคีเครือข่ายชาวสวนยางพาราและสวนปาล์มน้ำมัน 16 จังหวัดภาคใต้ โดยเฉพาะตัวแทนจากกลุ่ม 11 จังหวัด ที่ไม่ได้ร่วมลงนาม MOU กับ พล.ต.ต.ธวัช บุญเฟื่อง รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ที่วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร เมื่อวันที่ 14 ก.ย.ที่ผ่านมา ซึ่งชาวสวนใน ต.ควนหนองหงษ์ อ.ชะอวด ต่างไม่เห็นด้วยกับการยอมรับความช่วยเหลือค่าปัจจัยการผลิต แทนจะจะเป็นการประกันราคาขายผลผลิต จนนำไปสู่การรวมตัวกันออกมาชุมนุมเคลื่อนไหวระลอกล่าสุด และก็นำไปสู่การใช้กำลังสลายการชุมนุม และเกิดการปะทะกับตำรวจปราบจลาจลเมื่อวันที่ 16 ก.ย.นั่นเอง