พัทลุง - เขตห้ามล่าสัตว์ป่าทะเลหลวง ตั้ง ฉก.ชุดปฏิบัติการอารักขา “หมู่บ้านโลมาอิรวดี” กลางทะเลสาบสงขลาที่คาดว่าจะเหลือเพียง 28 ตัว หลังเผชิญวิกฤตถูกชาวประมงรุกล้ำเข้าไปจับปลาจนแตกตื่นเตลิดหนี
นายจำนง กลายเจริญ หัวหน้าเขตห้ามล่าสัตว์ป่าทะเลหลวง เปิดเผยว่า เขตห้ามล่าสัตว์ป่าทะเลหลวง มีภารกิจดูแลทะเลสาบสงขลา 370,000 กว่าไร่ ครอบคลุมพื้นที่ระหว่าง จ.พัทลุงและ จ.สงขลา โดยเฉพาะขณะนี้ได้สร้างบ้านโลมาอิรวดีไว้ จำนวน 100 หลัง เพื่อให้เป็นที่อยู่อาศัย และป้องกันการติดอวนปลาบึก ซึ่งแต่ละปีทำให้โลมาเสียชีวิตเป็นจำนวนมากจนเกิดภาวะวิกฤต โดยเฉพาะเมื่อปีที่แล้วเสียชีวิตจำนวนถึง 11 ตัว และครึ่งปีมานี้เสียชีวิตแล้วประมาณ 5-6 ตัว ตอนนี้คงยังเหลืออยู่ 3 ฝูง แต่ละฝูงมี 12-13 ตัว และอีกฝูง จำนวน 3 ตัว รวมแล้วประมาณ 28 ตัว
ปรากฏว่าจากการสร้างบ้านโลมาอิรวดีแต่ละหลัง ขนาด 4 x 4 เมตร กลางน้ำลึก 2.5 เมตร ด้วยความอุดมสมบูรณ์มีปลาจำนวนมากได้เข้าไปอาศัย เช่น ปลาขี้ตัง ปลากด ปลามิหลัง ปลาสวายทะเล ปลาบึก เป็นต้น แล้วทำให้ชาวประมงรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ไปหาปลายังบริเวณหมู่บ้านโลมาอิรวดี ทำให้ที่อยู่ภายในหมู่บ้านแตกตื่นตกใจหายออกจากบ้านไป แล้วหวั่นว่าจะติดไปอวนปลาบึกเข้าอีก จะทำให้เสียชีวิตซ้ำซากอีก
ทางหน่วยจึงได้จัดตั้งหน่วยปฏิบัติการพิเศษหมู่บ้านโลมาอิรวดี เป็นชุดปฏิบัติการเฝ้าระวัง มีกองกำลัง จำนวน 50 นาย ภารกิจปฏิบัติการป้องกันดูแลหมู่บ้านโลมาอิรวดีกลางทะเลลึก โดยมีแพถาวรเป็นฐานที่มั่นปฏิบัติการกลางทะเล
“บริเวณหมู่บ้านโลมาอิรวดีกลายเป็นพื้นที่ชุมนุมอาศัยของสัตว์น้ำที่อุดมสมบูรณ์ ปลาขี้ตัง ปลากด ปลาสวาย ปลาบึก เป็นที่ต้องการตลาดมาก ปลาขี้ตังราคาถึง 300 บาท/กก. ปลาบึก 100 บาท/กก. ปลาบึกโดยเฉลี่ยแต่ละตัวประมาณ 30 กก. ตกตัวละ 3,000 บาท จึงเป็นมูลเหตุที่ดึงดูด โดยเฉพาะกลุ่มประมงปลาบึกมีประมาณ 25 ราย มีเครื่องมือหาปลาถึง 300 หัว ความยาว 80 กม. เราจึงจำเป็นต้องมีชุดปฏิบัติการเฝ้าระวังขึ้น โดยเริ่มปฏิบัติการตั้งแต่วันที่ 14 ก.ย.นี้ เพื่อทำการอนุรักษ์โลมาอิรวดี”
หัวหน้าเขตห้ามล่าสัตว์ป่าทะเลหลวง กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับภาวการณ์ตื้นเขิน และน้ำเสียของทะเลสาบสงขลาที่กำลังขยายตัวเพิ่มขึ้นทุกขณะ จนเกิดภาวะวิกฤตของสัตว์น้ำ สาเหตุสำคัญที่สุดคือ การกัดเซาะทลายของดินภูเขา ตลิ่งลำคลองสายต่างๆ ดินทรายร่วนแล้วถูกน้ำน้ำชักลากลงสู่ลำคลอง แล้วลงสู่ทะเลสาบในที่สุด พร้อมกับน้ำที่ถูกสารเคมี สารปนเปื้อน โดยเฉพาะยาฆ่าหญ้า เป็นต้น
“ดินทรายลงสู่ทะเลสาบมากที่สุด จนทำให้ทะเลตื้นเขินทุกขณะ เพราะมีการทำลายป่าตามภูเขาต่างๆ และการทำเหมืองทราย บ่อทราย ดูดทราย ตามบริเวณสายลำคลอง แล้วน้ำก็ชักลากลงสู่ทะเลสาบในที่สุด นี่คือสาเหตุสำคัญของการตื้นเขินของทะเลสาบสงขลา” นายจำนงกล่าว