xs
xsm
sm
md
lg

ชาวสงขลา-พัทลุง ร่วมหารือแก้ปัญหาโลมาอิรวดีหลังลดจำนวนต่อเนื่อง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


พัทลุง - ชาวสงขลา-พัทลุง ร่วมสัมมนาหาทางออกแก้ปัญหาวิกฤตโลมาอิรวดีในทะเลสาบ หลังลดจำนวนลงอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นผลกระทบมาจากสารเคมีที่ไหลสู่ทะเล การชะล้างของดินตะกอนจนลุ่มน้ำตื้นเขิน รวมทั้งการติดอวนปลาบึกของชาวประมง

วันนี้ (13 ส.ค.) ที่ห้องประชุมโรงแรมอิระวดี อ.เมือง จ.พัทลุง นายสุพจน์ เพริศพริ้ง ผู้อำนวยการ สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 6 สงขลา ร่วมกับนายจำนง กลายเจริญ หัวหน้าเขตห้ามล่าสัตว์ป่าทะเลหลวงพัทลุง และตัวแทนสมาพันธ์คนรักลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา จำนวน 60 คน ได้ร่วมกันสัมมนาทางออกในการอนุรักษ์โลมาอิรวดี ในทะเลสาบสงขลา

สำหรับสถานการณ์โลมาอิรวดี ซึ่งมีถิ่นที่อยู่อาศัยในทะเลสาบพัทลุง-สงขลา ปัจจุบันยังคงวิกฤตอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นผลกระทบจากยาฆ่าแมลง หรือสารเคมีจากต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ การชะล้างของดินตะกอนจนเกิดการทับถม และตื้นเขิน การผสมสายพันธุ์เดียวกันจนเกิดสายเลือดชิด รวมทั้งอวนปลาบึก และเชื้อโรคที่ปนเปื้อนในน้ำที่ส่งผลทำให้จำนวนโลมาอิรวดีลดลงอย่างต่อเนื่อง

อย่างไรก็ตาม สาเหตุที่น่าห่วงไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน คือ ความจริงใจของเจ้าหน้าที่รัฐในการแก้ปัญหา จนเกิดกลุ่มชาวบ้านนักอนุรักษ์ตัวจริงขึ้นมา โดยรวมตัวกัน 2 จังหวัด คือ จ.พัทลุง และ จ.สงขลา ในนามคณะกรรมการเครือข่ายโลมา หวังสร้าง และอนุรักษ์โลมาอิรวดีให้เห็นเป็นรูปธรรมอย่างจริงจัง

นายจำนง กลายเจริญ หัวหน้าเขตห้ามล่าสัตว์ป่าทะเลหลวง กล่าวว่า โลมาอิรวดีอาศัยอยู่ในเขตห้ามล่าสัตว์ป่าทะเลหลวง ซึ่งมีพื้นที่ 600 ตารางกิโลเมตร รวม 375,000 ไร่ เป็นพื้นน้ำ 90 เปอร์เซ็นต์ ส่วนที่เหลือเป็นพื้นที่ป่า และเกาะ 10 เปอร์เซ็นต์ โดยหลังจากตนย้ายมาดำรงตำแหน่งได้ประมาณ 3-4 ปี ก็ได้ศึกษาอย่างจริงจัง จนในที่สุดได้ค้นพบกลุ่มจิตอาสาทั้งในฝั่งของ จ.พัทลุง และฝั่ง จ.สงขลา ทำงานไม่หวังเงินเป็นที่ตั้ง หวังเพียงว่าโลมาอิรวดีจะอยู่คู่ทะเลสาบสืบชั่วลูกชั่วหลาน ที่สำคัญขอทำงานให้เห็นเป็นรูปธรรม ทางตนในฐานะเจ้าของพื้นที่จึงได้จัดตั้งทั้ง 2 กลุ่มเป็นคณะทำงานในนามเครือข่ายโลมาพัทลุง-สงขลา

โลมาอิรวดี หรือที่ชาวบ้านเรียกจนติดปากว่า “โลมาหัวบาตร” หรือ “โลมาหัวหมอน” อาศัยอยู่ในน้ำจืด ในโลกพบโลมาอิรวดีอยู่เพียง 5 แห่งเท่านั้น คือ แม่น้ำอิรวดี สาธารณรัฐแห่งสหภาพพม่า, แม่น้ำโขง ในส่วนที่เป็นของสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว และประเทศกัมพูชา, แม่น้ำมะหะขาม ประเทศอินโดนีเซีย, ทะเลสาบชิลิก้า ประเทศอินเดีย และทะเลสาบพัทลุง-สงขลา ประเทศไทย

จากการประชุมอนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศ เกี่ยวกับชนิดสัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้จะสูญพันธุ์ ครั้งที่ 13 เมื่อปี พ.ศ.2546 ประเทศไทยได้เสนอให้โลมาอิรวดีเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองบัญชีที่ 1 อันมีผลทำให้โลมาอิรวดีได้รับความคุ้มครองในระดับนานาชาติ ซึ่งจัดอยู่ในบัญชี Red Data List โดยจัดให้อยู่ในสถานะสิ่งมีชีวิตที่มีความเสี่ยงขั้นวิกฤตต่อการสูญพันธุ์ ที่สำคัญสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงมีพระราชประสงค์ให้กรมป่าไม้จังหวัดพัทลุง และประชาชนทั่วไป ช่วยกันจัดทำโครงการอนุรักษ์โลมาอิรวดีในทะเลสาบสงขลา โดยทรงรับไว้เป็นโครงการในพระบรมราชินูปถัมภ์ (ตามประกาศจังหวัดพัทลุง ณ วันที่ 3 ต.ค.2544 ) ด้วย

 
 




กำลังโหลดความคิดเห็น