xs
xsm
sm
md
lg

เปิดใจนักอนุรักษ์พัทลุง-สงขลา ไม่ง้อรัฐ สร้างบ้านให้ “โลมาอิรวดี” อยู่คู่ทะเลสาบชั่วลูกชั่วหลาน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


โดย...ไสว รุยันต์
 
กลุ่มชาวบ้านนักอนุรักษ์พัทลุง - สงขลา 2 จังหวัดรวมตัวในนาม “คณะกรรมการเครือข่ายโลมา พัทลุง - สงขลา” สร้างบ้านให้โลมา 100 หลัง เพื่อเป็นแหล่งอาหาร หวังเพียง “โลมาอิรวดี” จะอยู่คู่ทะเลสาบสืบชั่วลูกชั่วหลาน หลังหมดหวังกับหน่วยงานราชการไม่มีความจริงใจเป็นเพียงเสือกระดาษ

 
สถานการณ์โลมาอิรวดีกับถิ่นที่อยู่อาศัย คือทะเลสาบพัทลุง-สงขลา ปัจจุบันยังคงวิกฤติอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นยาฆ่าแมลงหรือสารเคมีจากต้นน้ำ-กลางน้ำ-ปลายน้ำ การชะล้างของดินตะกอนจนเกิดการทับถมและตื้นเขิน การผสมสายพันธ์เดียวกันจนเกิดสายเลือดชิด อวนปลาบึก เชื้อโรคที่ปนเปื้อนในน้ำ และสาเหตุที่น่าห่วงไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน คือ ความจริงใจของเจ้าหน้าที่รัฐในการแก้ปัญหา จนเกิดกลุ่มชาวบ้านนักอนุรักษ์ตัวจริงขึ้นมา โดยรวมตัวกัน 2 จังหวัด คือ พัทลุงและสงขลา ในนามคณะกรรมการเครือข่ายโลมา หวังสร้างและทำให้เห็นเป็นรูปธรรมในการอนุรักษ์โลมาอิรวดีอย่างจริงจัง
นายจำนง กลายเจริญ หัวหน้าเขตห้ามล่าสัตว์ป่าทะเลหลวง
 
นายจำนง กลายเจริญ หัวหน้าเขตห้ามล่าสัตว์ป่าทะเลหลวง กล่าวว่า โลมาอิรวดีอาศัยอยู่ในเขตห้ามล่าสัตว์ป่าทะเลหลวง ซึ่งมีพื้นที่ 600 ตารางกิโลเมตร รวม 375,000 ไร่ เป็นพื้นน้ำ 90 เปอร์เซ็นต์ ส่วนที่เหลือเป็นพื้นที่ป่าและเกาะ 10 เปอร์เซ็นต์ โดยหลังจากย้ายมาดำรงตำแหน่งได้ประมาณ 3-4 ปี ก็ได้ศึกษาอย่างจริงจัง จนในที่สุดได้ค้นพบกลุ่มจิตอาสาทั้งในฝั่งของจังหวัดพัทลุง และฝั่งจังหวัดสงขลา ทำงานไม่หวังเงินเป็นที่ตั้ง หวังเพียงว่าโลมาอิรวดีจะอยู่คู่ทะเลสาบสืบชั่วลูกชั่วหลาน ที่สำคัญขอทำงานให้เห็นเป็นรูปธรรม และทั้ง 2 กลุ่ม ทางตนในฐานะเจ้าของพื้นที่ได้จัดตั้งเป็น คณะทำงานในนามเครือข่ายโลมาพัทลุง-สงขลา

ล่าสุดกลุ่มจิตอาสามีแนวคิดจัดสร้างซั้ง เป็นบ้านโลมาอิรวดีขึ้น ซึ่งตนก็เห็นด้วยที่ต้องการสร้างแหล่งอาหาร แหล่งที่อยู่อาศัยที่อบอุ่น โดยได้กันอาณาเขตบริเวณลับสี่ประมาณ 10 ไร่ สร้างบ้านปลาให้โลมาจำนวน 100 หลัง ระยะห่างต่อหลังประมาณ 50 ม. และบริเวณดังกล่าวเป็นจุดน้ำลึกสุดประมาณ 2.5-3 ม. ซึ่งอยู่ระหว่างรอยต่อท้องที่ ม.10 ต.ลำปำ อ.เมือง จ.พัทลุง และท้องที่ ม.6 ต.เกาะใหญ่ อ.กระแสสินธุ์ จ.สงขลา คาดว่าจะดำเนินการให้แล้วเสร็จก่อนวันแม่ 12 สิงหาคม 2556 ที่จะถึงนี้ และความคืบหน้าล่าสุดได้ดำเนินการสร้างไปแล้วจำนวน 40 หลัง และเป็นนิมิตหมายอันดีในขณะจัดสร้างบ้านปลา ได้มีโลมาอิรวดีมาว่ายวนเวียนเล่นน้ำ บ้างก็หยอกล้อกัน บ้างก็ไล่จับลูกปลาเป็นอาหาร ซึ่งมาให้เห็นเป็นฝูงจำนวน 3 ตัวแล้ว

 
ขณะเดียวกันชาวบ้านรอบริมทะเลสาบ ใน 5 อำเภอของจังหวัดพัทลุง อาทิ ควนขนุน เมือง เขาชัยสน บางแก้ว ปากพะยูน และอำเภอกระแสสินธุ์ จ.สงขลา ต่างบ่นเป็นเสียงเดียวกัน และเบื่อหน่ายกับส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง 10 ปีที่ผ่านมามีแต่การประชุม อบรม สัมมนา ในห้องแอร์ตามโรงแรมต่างๆ แต่ไม่เห็นคิดหรือทำอะไรให้เป็นชิ้นเป็นอัน และที่สำคัญเป็นได้เพียงแค่เสือกระดาษ แม้ว่าสมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถ ทรงมีพระราชประสงค์ ให้กรมป่าไม้จังหวัดพัทลุง และประชาชนทั่วไปช่วยกันจัดทำโครงการอนุรักษ์โลมาอิรวดีในทะเลสาบสงขลา โดยทรงรับไว้เป็นโครงการในพระบรมราชินูปถัมภ์ (ตามประกาศจังหวัดพัทลุง ณ วันที่ 3 ต.ค. 2544 ) แล้วก็ตาม แต่ยังมีการเสียชีวิตของโลมาอย่างต่อเนื่อง

จากสถิติตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2549 ถึงเดือนมกราคม 2554 พบโลมาเสียชีวิตแล้วถึง 43 ตัว เป็นเพศผู้ 13 ตัว เพศเมีย 29 ตัวและไม่ทราบเพศเนื่องจากซากเน่าเปื่อย 1 ตัว และในปี 2555 พบโลมาเสียชีวิต จำนวน 11 ตัว ส่วนปี 2556 พบโลมาอิรวดีเสียชีวิตแล้วจำนวน 5 ตัว ล่าสุดตัวที่ 5 ชาวประมงพบซากลูกโลมาอิรวดี ประมาณกลางเดือนมิถุนายน 2556 ที่ผ่านมา ไม่ทราบเพศ ยาวประมาณ 1 ม.น้ำหนัก 15 กก. ลอยอยู่กลางทะเลบริเวณหน้าอำเภอกระแสสินธ์ุ จ.สงขลา ด้วยคลื่นลมแรงจึงไม่สามารถนำซากโลมาเข้าฝั่งได้ และชาวบ้านคาดว่ามีโลมาตัวเป็นๆ เหลืออยู่ในทะเลสาบพัทลุง-สงขลา เพียง 20-30 ตัวเท่านั้น

 
ด้วยสถานการณ์ข้างต้น ชาวบ้านกลับกลายเป็นเครื่องมือ ประกอบกับจังหวัดพัทลุงและจังหวัดสงขลา มีทุนเดิมทางด้านทรัพยากรธรรมชาติมากมาย เพื่อเบิกจ่ายงบประมาณของโครงการและทำให้ผ่านพ้นอย่างไม่เห็นอะไรเป็นรูปธรรม ล่าสุดชาวบ้านสุดทนจับมือเป็นพันธมิตร 2 จังหวัด แก้วิกฤติโลมาตามลำพังด้วยความรู้แบบภูมิปัญญาชาวบ้าน และประสบการณ์จริง หวังให้โลมาอิรวดีกับชาวประมงอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข และอนุรักษ์ให้ชนรุ่นหลังสืบไป
นายสมใจ รักษ์ดำ อายุ 65 ปี ประธานเครือข่ายโลมาจังหวัดพัทลุง
 
นายสมใจ รักษ์ดำ อายุ 65 ปี ประธานเครือข่ายโลมาจังหวัดพัทลุง อยู่บ้านเลขที่ 135/1 ม.4 ต.พนางตุง อ.ควนขนุน จ.พัทลุง กล่าวว่า ตนเดินสายประชุมกับส่วนราชการเพื่อต่อสู้เรื่องโลมาอิรวดีมากว่า 4 ปี แต่สุดท้ายเป็นได้เพียงเสือกระดาษ ชาวบ้านเอาจริงแต่ส่วนราชการกลับทำแบบขอไปที เลยเกิดความเบื่อหน่าย และวันนี้ได้มาเจอคนจริงที่ต้องการทำงานให้เห็นเป็นรูปธรรม อย่างเขตห้ามล่าสัตว์ป่าทะเลหลวง จึงขอลุกขึ้นสู้อีกครั้ง โดยการทำซั้งบ้านปลาด้วยภูมิปัญญาชาวบ้าน ตนมั่นใจว่าซั้งบ้านปลาสามารถเป็นแหล่งอาหารอย่าง กุ้ง หอย ปู ปลา ให้แก่โลมาได้ และเมื่อโลมามีแหล่งอาหารที่สมบูรณ์ก็ไม่ต้องเดินทางออกไกลเพื่อหาอาหารอีกแล้ว ที่สำคัญการเดินทางไกลจะเสี่ยงต่อการติดอวนปลาบึกเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะช่วงน้ำหลาก พฤศจิกายน-กุมภาพันธ์ของทุกปี จะเกิดการเสียชีวิตของโลมาอย่างต่อเนื่อง

ในขณะที่สถานการณ์น้ำในทะเลสาบตอนนี้วิกฤติเป็นอย่างหนัก มีการทำนาบริเวณริมทะเลสาบปีละ 3 ครั้ง มีการใช้สารเคมีชนิดต่างๆ จำนวนมาก โดยเฉพาะยาฆ่าหอยเชอรี่ ล่าสุดบริเวณริมทะเลสาบข้างบ้านตน กุ้ง หอย ปู ปลา ได้หายไปหมดแล้ว ส่วนเพื่อนร่วมอาชีพชาวประมง ที่วางอวนปลาบึก จำนวน 14 รายในจังหวัดพัทลุง ทางตนได้ออกหน้าแทนส่วนราชการ โดยการขอร้องและยกมือไหว้ขอให้หยุด ซึ่งก็ได้รับความมือเป็นอย่างดี แต่ที่ทางส่วนราชการรับปากไว้ว่า จะชดเชยค่าอวนปลาบึกหมอนใหม่หมอนละ 800 บาท อวนเก่าหมอนละ 400 บาท ก็ยังไม่เห็นทำอะไร ชาวบ้านยังไม่ได้รับค่าชดเชยดังกล่าวด้วย
นายอุทัย ยอดจันทร์ อายุ 59 ปี ประธานเครือข่ายโลมาจังหวัดสงขลา
 
ส่วนด้าน นายอุทัย ยอดจันทร์ อายุ 59 ปี ประธานเครือข่ายโลมาจังหวัดสงขลา อยู่บ้านเลขที่ 42 ม.6 ต.เกาะใหญ่ อ.กระแสสินธุ์ จ.สงขลา กล่าวว่า ตนอาศัยคลุกคลีอยู่กับทะเลและโลมา มาตั้งแต่อายุ 15 ปี ซึ่งรู้พฤติกรรมโลมาอิรวดีเป็นอย่างดี และเป็นคนที่พบโลมาบ่อยที่สุด ถึงขนาดบอกได้ว่าวันนี้ออกทะเลไปจะได้พบโลมาหรือไม่ สำหรับการทำซั้งบ้านปลาครั้งนี้ตนเชื่อ 100 เปอร์เซ็นต์ ว่าสามารถแก้ปัญหาโลมาได้อย่างแน่นอน เพราะซั้งบ้านปลาเป็นความหวังของโลมาที่จะมีถิ่นที่อยู่อาศัยอย่างปลอดภัยและอบอุ่น ในเขตน่านน้ำพิเศษ แต่เป็นห่วงเพียงว่าซั้งบ้านปลาสามารถต้านแรงลมได้หรือไม่ในช่วง ฤดูมรสุม อย่างไรก็ตามก็มีความภูมิใจที่ได้ทำอะไรให้โลมาอย่างเป็นรูปธรรมแล้วในวันนี้
โลมาอิรวดี หรือที่ชาวบ้านเรียกจนติดปากว่า โลมาหัวบาตร หรือโลมาหัวหมอน อาศัยอยู่ในน้ำจืด ในโลกพบโลมาอิรวดี อยู่เพียง 5แห่ง เท่านั้น คือ แม่น้ำอิรวดี สาธารณรัฐแห่งสหภาพพม่า, แม่น้ำโขง ในส่วนที่เป็นของสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว และประเทศกัมพูชา, แม่น้ำมะหะขาม ประเทศอินโดนีเซีย, ทะเลสาบชิลิก้า ประเทศอินเดีย และเลสาบพัทลุง-สงขลา ประเทศไทย จากการประชุมอนุสัญญา ว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศ ซึ่งชนิดสัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้จะสูญพันธุ์ ครั้งที่ 13 เมื่อปี พ.ศ. 2546 ประเทศไทยได้เสนอให้ โลมาอิรวดี เป็นสัตว์ป่าคุ้มครองบัญชีที่ 1 อันมีผลทำให้ โลมาอิรวดี ได้รับความคุ้มครองในระดับนานาชาติ ซึ่งจัดอยู่ในบัญชี Red Data List โดยจัดให้อยู่ในสถานะสิ่งมีชีวิตที่มีความเสี่ยงขั้นวิกฤติต่อการสูญพันธ์ ที่สำคัญสมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถ ทรงมีพระราชประสงค์ ให้กรมป่าไม้จังหวัดพัทลุง และประชาชนทั่วไปช่วยกันจัดทำโครงการอนุรักษ์โลมาอิรวดีในทะเลสาบสงขลา โดยทรงรับไว้เป็นโครงการในพระบรมราชินูปถัมภ์ (ตามประกาศจังหวัดพัทลุง ณ วันที่ 3 ต.ค. 2544 )

 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น