ศูนย์ข่าวภูเก็ต - มหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ต เตรียมผลักดันให้กลุ่มเพาะเห็ดบ้านลิพอนหัวหาร-บ่อแร่ เป็นหมู่บ้านนำร่องวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ในจังหวัดภูเก็ต เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจและผลักดันสู่ SME ในอนาคต
วันนี้ (2 ก.ย.) ผศ.ดร.ประภา กาหยี รักษาการอธิการบดี มหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ต กล่าวถึงการดำเนินการจัดตั้ง “หมู่บ้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี” ซึ่งทางมหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ต ได้ลงนามความร่วมมือกับกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จัดขึ้นว่า เป็นศูนย์เครือข่ายการถ่ายทอดเทคโนโลยี และองค์ความรู้ ทั้งที่เป็นงานวิจัยพื้นฐาน และงานวิจัยประยุกต์ที่เกิดจากการวิจัยของหน่วยงานต่างๆ ในมหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ต ตลอดจนภูมิปัญญาไทยระดับท้องถิ่น โดยร่วมกับหน่วยงานในสังกัดกะทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สถาบันการศึกษาที่เป็นเครือข่ายรวม 79 เครือข่าย มีเป้าหมายเพื่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดี และยกระดับความสามารถในการพึ่งตนเองของชุมชน ซึ่งการดำเนินงานของคลินิกเทคโนโลยี คือ การให้บริการข้อมูล และคำปรึกษา การเผยแพร่ความรู้ด้านการถ่ายทอดเทคโนโลยี และการวิจัยและพัฒนาต่อยอดให้แก่กลุ่มเป้าหมาย มีเกษตรกร กลุ่มแม่บ้าน สหกรณ์ ชุมชน วิสาหกิจชุมชน และอุตสาหกรรม SME
“การที่จะเป็นหมู่บ้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีได้นั้น ต้องมีองค์ประกอบของหมู่บ้าน คือ ชุมชนนำวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีไปใช้ประโยชน์ในการประกอบอาชีพ และชีวิตประจำวัน ชุมชนมีความรู้ และความเชี่ยวชาญในเทคโนโลยีจนสามารถถ่ายทอดได้ ชุมชนมีศูนย์เรียนรู้ มีอุปกรณ์เครื่องมือ และเอกสารที่มีความสมบูรณ์ครบถ้วนและทันสมัย ผู้นำชุมชนมีความตระหนักในความสำคัญของวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ให้การสนับสนุน และชุมชนมีส่วนร่วม และชุมชนมีการบริหารจัดการที่ดี เป็นชุมชนเข้มแข็ง” ผศ.ดร.กล่าว และว่า
อย่างไรก็ตาม ในปีงบประมาณ 2557 นี้ คลินิกเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ต พร้อมทั้งหน่วยงานราชการในจังหวัดภูเก็ต เช่น สำนักงานจังหวัดภูเก็ต ท้องถิ่นจังหวัดภูเก็ต และพลังงานจังหวัดภูเก็ต ได้มีการคัดเลือก และผลักดันให้กลุ่มเพาะเห็ดบ้านลิพอนหัวหาร-บ่อแร่ หมู่ที่ 8 ตำบลศรีสุนทร อำเภอถลาง จังหวัดภูเก็ต เป็นหมู่บ้านนำร่องวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในจังหวัดภูเก็ต ภายใต้การสนับสนุนงบประมาณจากกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และนอกจากนี้ คลินิกมหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ต ยังได้รับงบประมาณสนับสนุนจากจังหวัดภูเก็ต ในการดำเนินการโครงการครัวอันดามันให้แก่กลุ่มเพาะเลี้ยงเห็ดในพื้นที่ดังกล่าว ในด้านการถ่ายทอดองค์ความรู้ รูปแบบการจัดการโดยผ่านกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ และการสร้างเครือข่าย และการขยายช่องทางการถ่ายทอดองค์ความรู้ให้แก่กลุ่มเป้าหมายอื่นอีกด้วย
โดยได้ตั้งเป้ากลุ่มเป้าหมายไว้ดังนี้ คือ กลุ่มเพาะเลี้ยงเห็ดที่สนใจ กลุ่มเยาวชน และประชาชนที่สนใจทั้งในเขตพื้นที่จังหวัดภูเก็ต และในพื้นที่กลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอันดามัน (ระนอง พังงา ภูเก็ต กระบี่ ตรัง) หากมีผู้สนใจเข้าร่วมสามารถติดต่อมายังคลินิกเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ต ได้ ซึ่งโครงการดังกล่าวจะเป็นการดำเนินการขั้นเริ่มต้น เพื่อการเตรียมพร้อมเข้าสู่การเป็นหมู่บ้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ภายใต้การดูแล และดำเนินงานร่วมกับกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีต่อไป