โดย...ปรัชญเกียรติ ว่าโร๊ะ
นักโบราณคดีเชื่อว่าประมาณ 2,500 ปีก่อนคริสตกาล ชนเผ่าบาบิโลเนียน (Babylonian) เป็นชนเผ่าแรกที่มีการใช้น้ามันเป็นเชื้อเพลิงแทนไม้ และเมื่อประมาณ 1,000 ปีก่อนคริสตกาล ชาวจีนเป็นชาติแรกที่มีการทำเหมือง ‘ถ่านหิน’ และขุดเจาะบ่อก๊าซธรรมชาติลึกเป็นระยะร้อยเมตรได้ [1]
Robert Allen นักเศรษฐศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัยออกซฟอร์ด วิเคราะห์ใน The British Industrial Revolution in Global Perspective (New Approaches to Economic and Social History) ว่า อังกฤษไม่ใช่ประเทศแรกที่ค้นคว้ากลจักรไอน้ำ ทว่า อิตาลี และเยอรมนีต่างหากที่ค้นคว้าเรื่องนี้มาก่อน ความเป็นทุนนิยมของอังกฤษก็สู้ฝรั่งเศสไม่ได้ ฮอลันดาในเวลานั้นก็มีความเป็นสังคมเมืองที่ทันสมัยมากกว่าอังกฤษ
อังกฤษจึงไม่ได้เปรียบประเทศอื่นๆ ในยุโรปอย่างโดดเด่นเลยแม้แต่ด้านเดียว แต่ท่ามกลางวิกฤติการณ์ค่าแรงงานที่แพงมากเมื่อเทียบกับประเทศอื่นในยุโรป อังกฤษกลับมีค่าพลังงานที่ถูกมาก ด้วยความที่อังกฤษมีแหล่งถ่านหินอยู่เยอะ จึงนำถ่านหินมาใช้เป็นเชื้อเพลิงพัฒนาอุตสาหกรรม [2]
การปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 1
การปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 1 ค.ศ.1760-1880 เริ่มต้นในอังกฤษ ตามมาด้วยฝรั่งเศส เบลเยียม เยอรมนี สหรัฐอเมริกา รัสเซีย และญี่ปุ่น เป็นการผลิตที่นำเครื่องจักรมาใช้แทนแรงงานมนุษย์และสัตว์ เกิดการผลิตด้วยระบบโรงงาน มีการผลิตโดยเครื่องจักรซึ่งผลิตได้ครั้งละจำนวนมาก ราคาสินค้าถูกลง ทำให้เกิดความต้องการวัตถุดิบมาป้อนเครื่องจักร และต้องการตลาดเพื่อส่งผลิตภัณฑ์ไปขาย
การปฏิวัติอุตสาหกรรมจึงส่งผลให้เกิดการขยายตัวทางการค้า การแสวงหาดินแดนเพื่อเป็นแหล่งวัตถุดิบ และตลาด และการเข้ายึดครองดินแดนนั้นๆ จากเจ้าของชาวพื้นเมืองเดิมเพื่อควบคุมจัดการกับทรัพยากรธรรมชาติได้อย่างเต็มที่ อันเป็นที่มาของการล่าอาณานิคม การขยายตัวของการปฏิวัติอุตสาหกรรมจึงไปพร้อมกับการขยายตัวทางเศรษฐกิจ วิทยาศาสตร์เทคโนโลยี การพัฒนาอาวุธ และกองทัพ การล่าอาณานิคม รวมทั้งมีการแข่งขันกันเองในกลุ่มชาติที่ปฏิวัติอุตสาหกรรมแล้ว
การปฏิวัติอุตสาหกรรมเป็นระดับพัฒนาการในระบบทุนนิยม จากทุนนิยมการค้าสู่ทุนนิยมอุตสาหกรรม องค์ประกอบที่สำคัญของทุนนิยมอุตสาหกรรม คือ กรรมสิทธิ์ของเอกชนที่มีชนชั้นกลางเป็นเจ้าของปัจจัยการผลิต กรรมกรรับจ้างในฐานะพื้นฐานของกระบวนการผลิต และกำไรซึ่งในระยะยาวจะเป็นการสะสมทุนที่เป็นตัวผลักดันกระบวนการผลิตให้ขยายตัวเพิ่มขึ้น การปรับความคิด และสถาบันองค์กรเพื่อให้ระบบทุนนิยมอุตสาหกรรมดำเนินไปได้นั้น ได้เกิดความเปลี่ยนแปลงหลายด้านไปพร้อม ๆ กันทั้งทางด้านเศรษฐกิจ การเมือง และสังคม
ทางด้านเศรษฐกิจใช้หลักการเสรีนิยมของอดัม สมิธ ทางด้านการเมืองใช้แนวคิดประชาธิปไตย ของจอห์น สจ๊วต มิลส์ จอห์น ล็อค และรุสโซ ซึ่งกลายเป็นแนวโน้มสำคัญของเศรษฐกิจแบบทุนนิยม และแนวคิดอัตถประโยชน์นิยม ปรัชญาของนักสังคมนิยมที่เห็นปัญหาความทุกข์ยากของชนชั้นกรรมาชีพ และต้องการสร้างความเป็นธรรมในสังคมเป็นสำคัญ
ทางด้านสังคมนั้น วิทยาศาสตร์มีความสำคัญเหนือศาสนาในทัศนะของคนส่วนใหญ่ เนื่องจากความเจริญก้าวหน้าของวิทยาศาสตร์มีความสัมพันธ์กับการพัฒนาเทคโนโลยีในระบบอุตสาหกรรม และอาวุธสงคราม การให้ความสำคัญกับวิทยาศาสตร์ส่งผลให้ศาสตร์อื่นๆ มีการปรับองค์ความรู้ในสาขาของตน โดยยึดกระบวนการแสวงหาความรู้แบบวิทยาศาสตร์เป็นหลัก ซึ่งส่งผลอย่างลึกซึ้งต่อวิธีคิดของคน และทัศนะในการมองโลกมองชีวิต รวมทั้งระบบการศึกษาซึ่งเป็นกระบวนการถ่ายทอดความรู้ของสังคม
ความซับซ้อนของระบบอุตสาหกรรมที่ขยายตัวก่อให้เกิดสถาบัน และองค์กรหลากหลายมารองรับ ส่วนใหญ่เป็นสถาบันที่เกี่ยวกับการเงิน ธุรกิจการธนาคาร การประกันภัย มีการจัดองค์กรบริหารในหน่วยราชการ และบริษัทเครือข่ายการคมนาคมต่างๆ ขยายตัวออกไปมาก ที่สำคัญนอกจากทางน้ำ คือ เส้นทางรถไฟ [3]
การปฏิวัติอุตสาหกรรมของอังกฤษ
การผลิตถ่านหินของอังกฤษเพิ่มขึ้นช้าๆ ในศตวรรษที่ 18 และเพิ่มขึ้นรวดเร็วในศตวรรษที่ 19 อังกฤษมีอุตสาหกรรมถ่านหิน และทำการผลิตมากกว่าทุกประเทศในยุโรป โดยเฉพาะในช่วง ค.ศ.1830-1865 จากประมาณ 22 ล้านตันต่อปีใน ค.ศ.1825 เป็น 110 ล้านตันต่อปีใน ค.ศ.1870
แหล่งถ่านหินของอังกฤษ (สหราชอาณาจักร) อยู่ระหว่างเอดินเบิร์ก กับกลาสโกว์ เขตสกอตแลนด์ สวอนซี เขตเวลส์ นิวคาสเซิล เชฟฟิลด์ แมนเชสเตอร์ และเบอร์มิงแฮม เขตอังกฤษ แหล่งถ่านหินอยู่ในที่ดินของเจ้าที่ดิน และเป็นของเจ้าที่ดิน เจ้าที่ดิน ส่งเสริมการขุดถ่านหิน การสร้างคลองเพื่อขนส่งถ่านหินไปยังเมืองอุตสาหกรรม เมื่อเกิดการปฏิวัติอุตสาหกรรมช่วงกลางทศวรรษที่ 19
กระทั่ง อับราฮัม ดาร์บี ค้นพบว่า หากนำถ่านหินทำเป็นถ่านโค้กจะให้ความร้อนรุนแรงได้ดีกว่าถ่านหินธรรมดา ถ่านโค้กจึงถูกนำมาใช้อย่างแพร่หลายในเวลาต่อมา
การปฏิวัติอุตสาหกรรมของฝรั่งเศส
ในช่วงปี ค.ศ.1840-1895 เกิดการพัฒนาอุตสาหกรรมในฝรั่งเศส โดยใช้ถ่านหินอย่างแพร่หลาย ฝรั่งเศสมีเหมืองถ่านหินแถบเมืองแซงต์เอเตียน บนแม่น้ำลัวร์ และไรน์ใกล้เมืองลียง แถบเมือง Blanzy Epinac และ Le Creusot ในมณฑล Sao neet - Loire และแถบเมืองวาล็องเซียน ในมณฑล Nord ในเครื่องจักรไอน้ำ และเครื่องจักรอุตสาหกรรม
ในปี ค.ศ.1846 มีการค้นพบแหล่งถ่านหินที่ใหญ่ที่สุดของฝรั่งเศส คือ ที่มณฑล Pas-de-Calois มีการผลิตถ่านหินเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วจนกลายเป็นแหล่งอุตสาหกรรมที่สำคัญของฝรั่งเศส ผลผลิตถ่านหินทั้งหมดของฝรั่งเศสเพิ่มจาก 4.4 ล้านตันต่อปี ในช่วงปี 1845-1849 เป็น 15.4 ล้านตัน ต่อปีในช่วง ค.ศ.1870-1874
การปฏิวัติอุตสาหกรรมของเยอรมนี
พัฒนาการทางอุตสาหกรรมของในช่วงปี ค.ศ.1800-1895 โดยในปี ค.ศ.1838 ได้มีการพบถ่านหินในเขตรัวร์ ทางตะวันออกของเมืองเอสเสน และต่อมา ขยายการผลิตถ่านหินอย่างรวดเร็วตอนเหนือของเขตไซลีเซีย ที่เมืองโบคุ่ม และใน ค.ศ.1848 ก็มีการพบถ่านหิน และเหล็กด้วยกัน ใกล้เมืองดอร์ทมุนด์ ในเขตซาร์
ค.ศ.1850 เขตรัวร์ สามารถผลิตถ่านหินได้ 1,666,000 ตัน เขตไซลีเซียตอนบน 703,000 ตัน เขตซาร์ ผลิตถ่านหินได้ 631,000 ตัน รัฐปรัสเซีย (เยอรมนี) สามารถผลิตถ่านหินรวมกันได้ถึง 3 ล้านตัน จนรัฐปรัสเซีย ได้ซื้อทางรถไฟของไซลีเซียเป็นของรัฐ
ต่อมา เมื่อก่อตั้งสหภาพศุลกากรแล้ว เหมืองถ่านหินทั้ง 3 ของรัฐปรัสเซีย (เยอรมนี) ประกอบด้วย เขตรัวร์ เขตไซลีเซียตอนบน และเขตซาร์ ที่ พร้อมกับฟืนเริ่มร่อยหรอลง ทำให้ความต้องการถ่านหินเพิ่มขึ้นมากเพื่อใช้ถลุงเหล็ก นำมาซึ่งการสร้างทางรถไฟมาถึงแหล่งแร่ โดยเฉพาะสายโคโลญจน์-มันเดนเบิก-มาค
ในทศวรรษ 1860 มีการใช้เครื่องจักรไอน้ำในการขุดถ่านหิน ส่วนเหมืองถ่านหินใกล้เมืองดอร์ทมุนด์ ในเขตซาร์ซึ่งอยู่ที่ชายแดนตะวันตกเฉียงใต้ติดพรมแดนฝรั่งเศส สามารถผลิตถ่านหินได้ 2.4 ล้านตัน เมื่อรวมกับเขตรัวร์ และเขตไซลีเซียตอนบนแล้ว เยอรมนีสามารถผลิตถ่านหินได้ 12.3 ล้านตัน ทำให้เยอรมนีซื้อกิจการรถไฟใน 3 เขต มาเป็นของรัฐหมด และใน ค.ศ.1871 เยอรมนีสามารถผลิตถ่านหินเพิ่มขึ้นเป็น 30 ล้านตัน มากเป็นที่ 2 ในโลกรองจากอังกฤษ
การปฏิวัติอุตสาหกรรมของรัสเซีย
ในศตวรรษที่ 18 จนถึงครึ่งแรกของศตวรรษที่ 19 ในช่วงปี ค.ศ.1682-1725 ตรงกับรัชสมัยพระเจ้าปีเตอร์มหาราช อุตสาหกรรมถูกบังคับให้เกิดขึ้น โดยรัฐเป็นผู้จัดตั้งโรงงานเองเป็นครั้งแรกเพื่อผลิตอาวุธ และอุปกรณ์สงคราม มีโรงงานผลิตผ้าขนสัตว์ทำเครื่องแบบทหาร และกิจการเหมืองแร่ โดยใช้ทรัพยากรของรัฐเองทำให้เกิดแหล่งเหมืองแร่ และโลหะขึ้นที่แถบภูเขายูราล ทำให้การผลิตสิ่งทอรอบๆ มอสโกเข้มแข็งขึ้น และสร้างเมืองเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก เป็นเมืองท่าและเมืองอุตสาหกรรม โดยเฉพาะอุตสาหกรรมยุทโธปกรณ์ เมื่อสิ้นสุดรัชกาลพระเจ้าปีเตอร์มหาราช กิจการอุตสาหกรรมในรัสเซียก็ซบเซาลง
ปลายรัชกาลของพระเจ้าอเล็กซานเดอร์ที่ 3 (ค.ศ.1881-1894) ต่อต้นรัชกาลพระเจ้าซาร์นิโคลัสที่ 2 (ค.ศ.1894-1917) ภายใต้การนำของเสนาบดีเซอร์ไกวิต รัฐลงทุนสร้างทางรถไฟและส่งเสริมให้เอกชนทำอุตสาหกรรมหนักในช่วง 10 ปีแรกจาก ค.ศ.1890 ถึง 1900 การพัฒนากิจการรถไฟทำให้อุตสาหกรรมหนักทางภาคใต้ของรัสเซียขยายตัวสูงในทศวรรษ1890 แถบแอ่งถ่านหิน Donetz ในยูเครน
ค.ศ.1900 แอ่งถ่านหิน Donetz ในยูเครน สามารถผลิตถ่านหินได้ 70 เปอร์เซ็นต์ของรัสเซีย ทั้งแหล่งแร่เหล็กที่ Krivoy Rog ซึ่งอยู่ริมขอบด้านตะวันตกของแอ่งถ่านหิน Donetz ผลิตแร่เหล็กได้ถึง 57 เปอร์เซ็นต์ของรัสเซีย อุตสาหกรรมหนักเกิดขึ้นรอบเมืองคาร์คอฟ ใน ค.ศ.1900 รัสเซียผลิตเหล็กหลอมได้ 2.88 ล้านตัน มากเป็นที่ 4 ของโลก
การปฏิวัติอุตสาหกรรมของสหรัฐอเมริกา
จากสงครามกลางเมือง ถึงสงครามโลกครั้งที่ 1 ระหว่าง ค.ศ.1864-1914 เศรษฐกิจสหรัฐอเมริกาพัฒนาอย่างรวดเร็ว ก่อนสงครามกลางเมือง เศรษฐกิจเน้นการเกษตรกรรม แต่หลังสงครามกลางเมืองกลายเป็นเศรษฐกิจอุตสาหกรรม
ใน ค.ศ.1894 สหรัฐอเมริกา ได้ขึ้นเป็นประเทศอุตสาหกรรมอันดับที่ 2 ของโลก ปัจจัยส่วนหนึ่งมาจากการมีทรัพยากรมาก เช่น ถ่านหิน แร่เหล็ก ทองแดง สังกะสี ทองคำ เงิน น้ำมันปิโตรเลียม ที่ดินที่อุดมสมบูรณ์ อากาศดีฤดูเพาะปลูกยาวนาน มีป่าไม้หนาแน่นหลายท้องที่
ในช่วงทศวรรษ 1870 สามารถผลิตเครื่องจักรไอน้ำได้มีประสิทธิภาพ และมีการเปิดเหมืองถ่านหินใหม่ๆ ในมลรัฐโอไฮโอ อิลลินอยส์ และอินเดียนา โดยนำถ่านหินใช้ในการถลุงเหล็กและขับเคลื่อนรถจักร ใน ค.ศ.1899 สหรัฐอเมริกา ผลิตถ่านหินมากที่สุดในโลก ผลผลิตถ่านหินของสหรัฐอเมริกา คิดเป็น 32 เปอร์เซ็นต์ของโลก
เมื่อสงครามโลกครั้งที่ 1 สิ้นสุดลง พลังงานเชื้อเพลิงที่ใช้ในสหรัฐอเมริกามาจากถ่านหินถึง 80 เปอร์เซ็นต์ ส่วนการใช้ไฟฟ้าเพื่อให้แสงสว่าง และเป็นแหล่งกำเนิดพลังงานเริ่มในทศวรรษ 1880 เมื่อถึงปลายศตวรรษที่ 19 ได้มีการใช้ไฟฟ้าให้ความสว่าง และใช้เดินรถรางในเมือง ขับเคลื่อนลิฟต์ ในตึกสูง และหมุนเครื่องจักรในโรงงาน
การปฏิวัติอุตสาหกรรมของญี่ปุ่น
เป็นการพัฒนาภายใต้ระบบทุนนิยม เป็นการพัฒนาโดยวิสาหกิจเอกชน อุตสาหกรรมสาขาที่ใหญ่ที่สุด และเจริญรุดหน้าในระยะแรกของญี่ปุ่น คือ อุตสาหกรรมสิ่งทอ โดยเฉพาะการปั่นไหม การปั่นฝ้าย และทอผ้า รัฐบาลญี่ปุ่นมีบทบาทช่วยพัฒนาอุตสาหกรรมด้วยการจัดตั้งให้ และรับภาระความเสี่ยงเองโดยเฉพาะอุตสาหกรรมหนัก เช่น โรงงานปูนซีเมนต์ โรงงานเครื่องจักรเกษตร เหมืองแร่ อู่ต่อเรือ แม้ในอุตสาหกรรมสิ่งทอรัฐบาลก็ได้จัดตั้งโรงงานปั่นด้าย และปั่นไหมให้
ในปี ค.ศ.1902 รัฐบาลตั้งธนาคารอุตสาหกรรมแห่งญี่ปุ่นให้เงินกู้ระยะยาวแก่ธุรกิจเอกชน สำหรับกิจกรรมขั้นพื้นฐาน เช่น รถไฟ และการเดินเรือทะเล รัฐบาลก็จัดทำให้เมื่อญี่ปุ่นเริ่มนโยบายจักรวรรดินิยมขยายอำนาจไปในแผ่นดินใหญ่แมนจูเรีย และจีน รัฐบาลมีความต้องการยุทธภัณฑ์ในสงครามมากทำให้อุตสาหกรรมอาวุธทั้งของรัฐบาล และเอกชนขยายตัว จึงทำให้ญี่ปุ่นมีการลงทุนในอุตสาหกรรมหนักจำพวกเหล็ก เคมี ถ่านหิน และเครื่องจักรมากขึ้น [4]
---------------------------------------------------------------------
อ้างอิง
[1] กระทรวงพลังงาน มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, เชื้อเพลิงเพื่อการคมนาคมขนส่ง หน้า 2-4, (เข้าถึง 22 สิงหาคม 2556)
[2] นรินทร์ โอฬารกิจอนันต์ 18 พฤษภาคม 2554 , ทำไมการปฏิวัติอุตสาหกรรมเกิดที่อังกฤษ, กรุงเทพธุรกิจ, (เข้าถึง 22 สิงหาคม 2556)
[3] นฤมล ธีรวัฒน, ความเป็นมาของโลกสมัยใหม่, มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, (เข้าถึง 22 สิงหาคม 2556)
[4] มหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง: 19 มกราคม 2550, การปฏิวัติอุตสาหกรรม, ห้องสมุดกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมกรรม, (เข้าถึง 22 สิงหาคม 2556)