xs
xsm
sm
md
lg

ฎีกายืนยกฟ้อง “สนธิ-สโรชา” ไม่หมิ่นฯ “พล.ต.อ.สันต์” - อัดความวุ่นวายในสภา "พวกเดรัจฉาน"

เผยแพร่:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม


ศาลฎีกายกฟ้องคดี “สันต์ ศรุตานนท์” อดีต ผบ.ตร.ฟ้อง “สนธิ-สโรชา” หมิ่นประมาท กรณีวิพากษ์วิจารณ์ไร้ประสิทธิภาพการปฏิบัติหน้าที่ ไม่เคารพองค์กรอิสระ ไม่สนใจไฟใต้ แต่งตั้งโยกย้ายไม่ถูกต้อง ผ่านรายการ “เมืองไทยรายสัปดาห์” ปี 47 ชี้เป็นสิทธิของสื่อมวลชนที่จะวิพากษ์วิจารณ์ พร้อมอัดเละ! ไม่ขอวิพากษ์วิจารณ์ความวุ่นวายในสภาวานนี้ ชี้ตนเป็นมนุษย์ไม่สามารถวิพากษ์วิจารณ์พวกเดรัจฉานได้



เมื่อเวลา 09.30 น.วันนี้ (21 ส.ค.)ที่ห้องพิจารณาคดี 703 ศาลอาญากรุงเทพใต้ ถ.เจริญกรุง ศาลออกนั่งบัลลังก์อ่านคำพิพากษาศาลฎีกาในคดีหมายเลขดำ อ.1469/2547 ที่ พล.ต.อ.สันต์ ศรุตานนท์ อดีตผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เป็นโจทก์ยื่นฟ้องนายสนธิ ลิ้มทองกุล ผู้ก่อตั้งหนังสือพิมพ์ผู้จัดการ และนางสาวสโรชา พรอุดมศักดิ์ อดีตผู้ดำเนินรายการเมืองไทยรายสัปดาห์ เป็นจำเลยที่ 1 และ 2 ฐานร่วมกันดูหมิ่นเจ้าพนักงานในการปฎิบัติหน้าที่และหมิ่นประมาทใส่ความโดยการแพร่ภาพ และการกระจายเสียงหรือป่าวประกาศ

คดีนี้ โจทก์ฟ้องเมื่อวันที่ 26 เมษายน พ.ศ.2547 โดยบรรยายฟ้องว่า โจทก์เป็นอดีตผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ปัจจุบัน ณ วันฟ้องโจทก์ปฎิบัติราชการสำนักนายกรัฐมนตรี โดยเมื่อวันที่ 19 มี.ค.2547 จำเลยทั้ง 2 ร่วมกันออกอากาศรายการเมืองไทยรายสัปดาห์ ถ่ายทอดสดทางสถานีโทรทัศน์ช่อง 9 อสมท กล่าวหาโจทก์ต่อหน้าประชาชนที่ชมรายการทั่วประเทศว่ายุคที่โจทก์เป็น ผบ.ตร.เป็นยุคที่ตำรวจละเมิดสิทธิมนุษยชนมากที่สุด โจทก์ไร้ประสิทธิภาพ แต่งตั้งตำรวจโดยไม่ถูกต้อง ทำให้ตำรวจที่ได้รับแต่งตั้งไร้ประสิทธิภาพ และว่าโจทก์ไม่ให้ความเคารพในองค์กรอิสระ คือ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนไม่เคารพกฎหมาย ละเลยเพิกเฉยต่อการดำเนินการตามขั้นตอนตามกระบวนการของกฎหมาย เกี่ยวข้องกับปัญหา 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ รวมทั้งเกี่ยวข้องกับการหายตัวไปของนายสมชาย นีละไพจิตร ทนายความมุสลิม

โดยศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษาให้ยกฟ้อง เนื่องจากพิเคราะห์แล้วเห็นว่าจำเลยในฐานะสื่อมวลชนได้ติชมการทำงานของโจทก์โดยชอบธรรม และอันเป็นวิสัยที่ประชาชนพึงกระทำ และเป็นการติชมโดยมุ่งไปที่การทำงานของโจทก์ โดยไม่ได้มุ่งไปที่เรื่องส่วนตัว ทั้งนี้ ในฐานะที่โจทก์ เป็นผู้บังคับบัญชาสูงสุดของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และเป็นข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ที่ได้รับมอบอำนาจอธิปไตยจากประชาชนเป็นส่วนใหญ่ ดังนั้น จำเลยในฐานะสื่อมวลชน และประชาชนส่วนใหญ่จึงมีสิทธิที่จะวิพากษ์วิจารณ์การทำงาน ซึ่งเมื่อพิจารณาการกระทำของจำเลยแล้วไม่มีความผิดตามฟ้อง จึงพิพากษายกฟ้อง โดยที่ศาลไม่จำเป็นต้องวินิจฉัยว่า จำเลยที่ 2 ได้ร่วมกระทำความผิดหรือไม่ อีกทั้งก็ไม่จำเป็นต้องวินิจฉัยว่าการนำข้อความในรายการไปลงในอินเทอร์เน็ตว่ามีความผิดหรือไม่เช่นกันต่อมาโจทก์ยื่นฎีกา

ซึ่งศาลฎีกาประชุมตรวจสำนวนปรึกษาแล้วเห็นว่า ขณะเกิดเหตุโจทก์ดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.)มีอำนาจกำกับดูแลสตช. ซึ่งมีหน้าที่ดูแลความเป็นอยู่ของประชาชนโดยตรง โจทก์จึงเป็นบุคคลที่ประชาชนและสื่อมวลชนให้ความสนใจ ดังนั้นการที่จำเลยทั้งสอง ในฐานะสื่อมวลชนมีหน้าที่เสนอข่าวสารที่เกิดขึ้นในบ้านเมืองให้ประชาชนทราบ ในการจัดรายการเมืองไทยรายสัปดาห์ ซึ่งถ่ายทอดผ่านสถานีโทรทัศน์ช่อง 9 อ.ส.ม.ท.นั้นเป็นการวิพากษ์วิจารณ์และติชมโจทก์ด้วยความเป็นธรรม ในฐานะที่ดำรงตำแหน่ง ผบ.ตร. อันเป็นวิสัยของประชาชนสามารถกระทำได้และแม้จะมีข้อความบางส่วนเป็นการหมิ่นประมาทอยู่บ้าง แต่จำเลยทั้ง2 ซึ่งเป็นสื่อมวลชนก็ได้รับการยกเว้นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 329(1) (3) จำเลยทั้งสองจึง ไม่มีความผิดฐานหมิ่นประมาทหรือดูหมิ่นเจ้าพนักงานตามฟ้อง ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้นที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้นศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยพิพากษายืน

นายสนธิ เปิดเผยภายหลังเดินทางมาฟังคำพิพากษา ว่า คดีนี้ศาลฎีกาพิพากษายืนให้ยกฟ้อง ในคดีหมิ่นประมาทที่ พล.ต.อ.สันต์ ฟ้องตนตั้งแต่ปี 2547 ซึ่งความจริงในคดีนี้ควรจบไปตั้งแต่ที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษาให้ยกฟ้องแล้ว แต่พล.ต.อ.สันต์ซึ่งสนิทสนมกับอัยการสูงสุดทำให้อัยการสูงสุดมีความเห็นให้สามารถยื่นฎีกาในคดีนี้ได้ อย่างไรก็ตามในคดีนี้ตนไม่รู้มาก่อนว่าศาลจะมีคำพิพากษาว่าอย่างไรหากศาลมีพิพากษาให้จำคุกตนก็พร้อมจะยอมรับ ไม่หนีเพราะตนเชื่อในหลักนิติรัฐซึ่งบ้านเมืองจะอยู่ได้ก็เพราะหลักนิติรัฐเท่านั้น ไม่ใช่ทำผิดแล้วออกกฎหมายเพื่อมาแก้ความผิดในภายหลัง ส่วนเรื่องที่จะฟ้องกลับพล.ต.อ.สันต์ หรือไม่นั้นขึ้นอยู่กับนาย สุวัตร อภัยภักดิ์ ทนายความของตนจะดำเนินการต่อไป

เมื่อถามถึงเหตุการความวุ่นวายในการประชุมสภาเมื่อวันที่ผ่านมา (20ส.ค) นายสนธิกล่าวว่า ตนเป็นมนุษย์จึงไม่สามารถให้ความความเห็นในเรื่องนี้ได้เพราะในสภาเป็นเรื่องของเดรัจฉาน จึงไม่สามารถวิจารณ์กรณีดังกล่าวได้

ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า ก่อนหน้านี้ได้มีคำพิพากษาศาลชั้ันต้น และศาลอุทธรณ์ พิพากษา คดีหมายเลขดำที่ 1469/2547 คดีหมายเลขแดง ที่ 3177/2548 ที่ พล.ต.อ.สันต์ ศรุตานนท์ อดีตผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เป็นโจทก์ยื่นฟ้องนายสนธิ ลิ้มทองกุล เป็นจำเลยทึ่ 1 และ น.ส.สโรชา พรอุดมศักดิ์ ที่ 2 จำเลย ในความผิดฐานหมิ่นประมาท เจ้าพนักงาน ที่ศาลอาญากรุงเทพใต้ ลงวันที่ 27 เดือนกรกฎาคม พุทธศักราช 2547

โดยโจทก์บรรยายฟ้องว่า เมื่อวันที่ 19 มีนาคม 2547 เวลากลางคืนหลังเที่ยง จำเลยทั้งสองร่วมกันใส่ความโจทก์โดยยืนยันข้อเท็จจริงในรายการเมืองไทยรายสัปดาห์ สถานีโทรทัศน์ ช่อง 9 องค์การสื่อสารมวลชนแห่งประเทศไทย ซึ่งมีข้อความอันแสดงให้เห็นว่าโจทก์ไร้ประสิทธิภาพ ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ไม่เคารพองค์กรอิสระ ละเมิดสิทธิมนุษยชน ไม่สนใจการแก้ปัญหา 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ชอบเดินทางท่องเที่ยว และเป็นคนไม่ดี นอกจากนี้ เจ้าพนักงานตำรวจที่ได้รับการแต่งตั้งในช่วงที่โจทก์เป็นผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติมีคุณภาพต่ำ โจทก์เลื่อนยศและแต่งตั้งตำแหน่งให้แก่เจ้าพนักงานตำรวจหลายคนโดยไม่ถูกต้อง และโจทก์ถูกปลดจากตำแหน่งผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ

ทั้งนี้ ในการดำเนินรายการดังกล่าวมีการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนโดยจำเลยทั้งสองบิดเบือนความจริงด้วยการใช้คำว่า “ปลดโจทก์” ทำให้ผู้ชมรายการเข้าใจผิด จากนั้นจำเลยทั้งสองนำข้อความที่กล่าวในรายการดังกล่าวลงโฆษณาทางอินเทอร์เน็ต ซึ่งข้อความดังกล่าวเป็นความเท็จทั้งสิ้น เพราะโจทก์ปฏิบัติหน้าที่ราชการด้วยความซื่อสัตย์ สุจริต ยึดถือและปฏิบัติตามระเบียบ ข้อบังคับ กฎหมาย และคุณธรรม ได้ทุ่มเทความรู้ความสามารถปฏิบัติหน้าที่ราชการอย่างมีประสิทธิภาพจนมีผลงานมากมาย โจทก์ไม่เคยใช้ตำแหน่งหน้าที่ละเมิดสิทธิมนุษยชน ไม่เคยมีความประพฤติหรือกระทำการตามที่จำเลยทั้งสองกล่าว ก่อนเกิดเหตุจำเลยทั้งสองไม่เคยสอบถามข้อเท็จจริงจากโจทก์แต่อย่างใด ทั้งจำเลยที่ 1 เคยมีสาเหตุโกรธเคืองกับโจทก์มาก่อน การกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นการหมิ่นประมาทโจทก์ด้วยการโฆษณา ทำให้โจทก์เสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น เกลียดชังจากผู้บังคับบัญชา ผู้ใต้บังคับบัญชา และประชาชนทั่วไป และเป็นการดูหมิ่นโจทก์ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานที่ได้กระทำตามหน้าที่หรือเพราะได้กระทำตามหน้าที่

เหตุเกิดทั่วราชอาณาจักร ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 136, 326, 328, 83 และให้จำเลยทั้งสองร่วมกันโฆษณาคำพิพากษาทั้งหมดในหนังสือพิมพ์รายวันไทยรัฐ เดลินิวส์ ผู้จัดการ มติชน ข่าวสด กรุงเทพธุรกิจ บ้านเมือง และแนวหน้า หน้าข่าวทั้งกรอบเช้าและกรอบบ่าย โดยใช้ขนาดตัวอักษรสูง 2 มิลลิเมตร กว้าง 1.5 มิลลิเมตร เป็นเวลา 15 วันติดต่อกัน กับให้จำเลยทั้งสองแสดงตนเพื่อเผยแพร่ออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์ ช่อง 3 ช่อง 7 ช่อง 9 และไอทีวี ในช่วงเวลาติดต่อหลังจากข่าวภาคค่ำ เป็นเวลา 7 วัน วันละครั้ง ครั้งละไม่น้อยกว่า 30 นาที เพื่อแสดงการขอโทษโจทก์ และโฆษณาคำพิพากษา ซึ่งข้อความการขอโทษ คำพิพากษา ภาพ และเสียง ต้องได้รับการพิจารณาเห็นชอบจากโจทก์ โดยให้จำเลยทั้งสองร่วมกันหรือแทนกันรับผิดชอบค่าโฆษณาหนังสือพิมพ์และค่าใช้จ่ายในการดำเนินการออกอากาศทั้งหมด

ศาลไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่าคดีมีมูล ให้ประทับฟ้อง จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ

ระหว่างพิจารณา จำเลยทั้งสองแถลงรับข้อเท็จจริงว่าได้กล่าวถ้อยคำถึงโจทก์ตามที่โจทก์กล่าวในฟ้องในการดำเนินรายการเมืองไทยรายสัปดาห์เมื่อวันที่ 19 มีนาคม 2547

องค์คณะตรวจสำนวนประชุมปรึกษาแล้ว ทางพิจารณาโจทก์นำสืบว่า ขณะเกิดเหตุโจทก์ดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เคยรับราชการและเป็นกรรมการในตำแหน่งต่างๆ เมื่อวันที่ 19 มีนาคม 2547 เวลาประมาณ 18 นาฬิกา รองนายกรัฐมนตรีรักษาราชการแทนนายกรัฐมนตรีมีคำสั่งให้โจทก์มาปฏิบัติราชการที่สำนักนายกรัฐมนตรี

ต่อมาในวันเดียวกัน จำเลยทั้งสองได้ออกอากาศแพร่ภาพและเสียงในรายการเมืองไทยรายสัปดาห์ สถานีโทรทัศน์ช่อง 9 องค์การสื่อสารมวลชนแห่งประเทศไทย โดยกล่าวถ้อยคำที่เป็นการดูหมิ่นและหมิ่นประมาทโจทก์ ซึ่งมีข้อความตามที่โจทก์บรรยายมาในฟ้อง อันแสดงให้เห็นว่าโจทก์ไร้ประสิทธิภาพ ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ไม่เคารพคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ไม่สนใจการแก้ปัญหา 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ชอบเดินทางท่องเที่ยวและเป็นคนไม่ดี นอกจากนี้ เจ้าพนักงานตำรวจที่ได้รับการแต่งตั้งในช่วงที่โจทก์เป็นผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติมีคุณภาพต่ำ โจทก์เลื่อนยศและแต่งตั้งตำแหน่งให้แก่เจ้าพนักงานตำรวจหลายคนโดยไม่ถูกต้อง และโจทก์ถูกปลดจากตำแหน่งผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ซึ่งมีการบันทึกการแพร่ภาพและเสียงของจำเลยทั้งสองไว้ในแผ่นซีดี และมีการถอดข้อความแล้วนำมาลงเผยแพร่ทางอินเตอร์เน็ต ความจริงแล้วโจทก์ไม่ได้มีพฤติกรรมตามที่จำเลยทั้งสองคนกล่าวแต่อย่างใด ทั้งก่อนเกิดเหตุจำเลยทั้งสองไม่เคยสอบถามข้อเท็จจริงใดๆ จากโจทก์ การกระทำของจำเลยทั้งสองทำให้โจทก์เสื่อมเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่นเกลียดชังจากบุคคลอื่น โจทก์ไม่ได้แจ้งความร้องทุกข์เพราะต้องการดำเนินคดีด้วยตนเอง

จำเลยทั้งสองนำสืบว่า จำเลยทั้งสองไม่ได้กระทำความผิดตามฟ้อง จำเลยที่ 1 มีข้อมูลหลายประการที่ทำให้เห็นว่าโจทก์ในฐานะผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติปฏิบัติหน้าที่ไม่เหมาะสม จึงกล่าวติชมโจทก์ในรายการเมืองไทยรายสัปดาห์ด้วยความเป็นธรรม ในฐานะที่โจทก์เป็นบุคคลสาธารณะ และจำเลยที่ 1 กล่าวถึงโจทก์เฉพาะการปฏิบัติหน้าที่ในการบริหารงานสำนักงานตำรวจแห่งชาติเท่านั้น ไม่ได้มุ่งไปถึงเรื่องส่วนตัวของโจทก์แต่อย่างใด เหตุที่จำเลยที่ 1 ใช้คำว่า “ปลด” เพราะเห็นว่าเป็นคำที่สื่อความหมายได้ถูกต้อง ทั้งสื่อมวลชนอื่นต่างก็ใช้คำดังกล่าว ส่วนที่จำเลยที่ 2 ตั้งคำถามกับจำเลยที่ 1 นั้นก็เป็นไปตามหลักวิชาการสื่อสารมวลชนโดยไม่มีการตกลงล่วงหน้าอย่างใดกับจำเลยที่ 1 จึงทำให้จำเลยที่ 2 ไม่อาจทราบได้ว่าจำเลยที่ 1 จะกล่าวถ้อยคำอย่างใด นอกจากนี้ จำเลยทั้งสองไม่มีส่วนเกี่ยวข้องและไม่ได้บิดเบือนผลการสำรวจความคิดเห็นของประชาชน อีกทั้งไม่มีส่วนในการนำข้อความในรายการเมืองไทยรายสัปดาห์ขณะเกิดเหตุไปเผยแพร่ทางอินเทอร์เน็ต

พิเคราะห์พยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบและจำเลยทั้งสองมิได้นำสืบหักล้างให้เห็นเป็นอย่างอื่น ข้อเท็จจริงในคดีฟังได้เบื้องต้นว่า โจทก์ดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ โดยเคยรับราชการและเป็นกรรมการในตำแหน่งต่างๆ ตามเอกสารหมาย จ.1 วันที่ 19 มีนาคม 2547 เวลาประมาณ 18 นาฬิกา รองนายกรัฐมนตรีรักษาราชการแทนนายกรัฐมนตรีมีคำสั่งให้โจทก์มาปฏิบัติราชการที่สำนักนายกรัฐมนตรี ตามเอกสารหมาย จ.2 และจำเลยทั้งสองออกอากาศแพร่ภาพและเสียงในรายการเมืองไทยรายสัปดาห์ สถานีโทรทัศน์ ช่อง 9 องค์การสื่อสารมวลชนแห่งประเทศไทย

โดยกล่าวถ้อยคำถึงโจทก์ตามที่โจทก์กล่าวในฟ้อง ซึ่งมีการบันทึกไว้ในแผ่นซีดีและมีการถอดข้อความออกมา ตามแผ่นซีดีและบันทึกถอดข้อความ หมาย วจ.1 นอกจากนี้มีการถอดข้อความที่จำเลยทั้งสองกล่าวแล้ว นำมาลงเผยแพร่ทางอินเตอร์เน็ต ตามเอกสารหมาย จ.5 คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยประการแรกว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ โจทก์เบิกความว่า วันที่ 19 มีนาคม 2547 จำเลยทั้งสองได้ออกอากาศโดยแพร่ภาพและเสียงในรายการเมืองไทยรายสัปดาห์ ทางสถานีโทรทัศน์ ช่อง 9 องค์การสื่อสารมวลชนแห่งประเทศไทย โดยร่วมกันหมิ่นประมาทโจทก์หลายกรณีหลายเรื่องราว แต่โจทก์ไม่ได้แจ้งความ เพราะต้องการที่จะฟ้องด้วยตนเอง เห็นว่า สำหรับความผิดฐานหมิ่น ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 333 บัญญัติให้เป็นความผิดอันยอมความได้ ซึ่งผู้เสียหายจะต้องร้องทุกข์ภายในสามเดือนนับแต่วันที่รู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำผิด มิเช่นนั้นคดีจะขาดอายุความตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 96 แม้โจทก์จะไม่ได้นำสืบว่ารู้ถึงการดำเนินรายการของจำเลยทั้งสองอันเป็นเหตุให้โจทก์ฟ้องคดีนี้ในเวลาใดก็ตาม แต่เมื่อโจทก์ฟ้องคดีในวันที่ 23 เมษายน 2547 ซึ่งเป็นเวลาหลังจากวันเกิดเหตุเพียงเดือนเศษแล้ว กรณีจึงเป็นที่แน่ชัดว่าโจทก์รู้เรื่องความผิด และนำคดีมาฟ้องภายในสามเดือนนับแต่วันที่รู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิด คดีโจทก์ในส่วนนี้จึงไม่ขาดอายุความ

สำหรับความผิดฐานดูหมิ่นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 136 ซึ่งประมวลกฎหมายอาญาไม่ได้บัญญัติให้เป็นความผิดอันยอมความได้ และความผิดดังกล่าวเป็นความผิดต่อเจ้าพนักงาน อันเป็นความผิดต่อรัฐ ซึ่งรัฐและเจ้าหน้าที่ของรัฐนั้นที่เป็นผู้เสียหาย เมื่อจำเลยทั้งสองกล่าวถึงโจทก์ในฐานะที่เป็นผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติอันเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐโดยตรงในตำแหน่งดังกล่าว โจทก์จึงเป็นผู้เสียหายสามารถนำคดีมาฟ้องได้เอง โดยไม่จำเป็นต้องมีการสอบสวนในความผิดนี้เสียก่อน และเมื่อโจทก์ฟ้องคดีภายในห้าปีนับแต่วันที่อ้างว่าจำเลยทั้งสองกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 95 (4) คดีโจทก์ในส่วนนี้จึงไม่ขาดอายุความ โจทก์มีอำนาจฟ้องทั้งสองข้อหา และคดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยประการต่อไปว่าข้อความที่จำเลยที่ 1 กล่าวในการดำเนินรายการเมืองไทยรายสัปดาห์ตามที่โจทก์ฟ้องนั้นเป็นการหมิ่นประมาทและดูหมิ่นโจทก์ ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานหรือไม่ และจำเลยที่ 2 มีเจตนาร่วมกันกับจำเลยที่ 1 กระทำความผิดตามที่โจทก์ฟ้องหรือไม่ ในประมวลกฎหมายอาญาไม่ได้ให้คำนิยามของคำว่า “ใส่ความ” และ “ดูหมิ่น” ไว้ แต่พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2542 ให้ความหมายของคำว่า “ใส่ความ” ว่า พูดหรือเขียนให้ร้ายป้ายสี, กล่าวหาเรื่องร้ายให้ผู้อื่นได้รับความเสียหาย และคำว่า “ดูหมิ่น” ว่า ดูถูกเหยียดหยามผู้อื่น

การที่จะพิจารณาว่าข้อความที่จำเลยที่ 1 กล่าวเป็นข้อความหมิ่นประมาทโจทก์หรือไม่นั้น จำต้องพิจารณาข้อความทั้งหมดที่จำเลยที่ 1 กล่าวซึ่งมีการถอดข้อความมาตามเอกสารหมาย วจ. 1 คำเบิกความของพยานโจทก์และจำเลยทั้งสอง รวมทั้งเอกสารต่างๆ ที่ทั้งโจทก์และจำเลยทั้งสองอ้างประกอบกัน จึงจะสามารถบ่งชี้ให้เห็นเจตนาของจำเลยที่ 1 ได้ หาใช่พิจารณาจากข้อความเฉพาะตอนใดตอนหนึ่งแต่อย่างใดไม่ แต่เนื่องจากคำฟ้องและทางนำสืบของคดีนี้ มีบุคคลนอกคดีที่จะต้องนำมาชี้หรือวินิจฉัยถึงข้อเท็จจริงที่โจทก์ฟ้องและจำเลยทั้งสองให้การสู้ และมีความจำเป็นที่ศาลจะต้องวินิจฉัยในประเด็นเกี่ยวกับข้อเท็จจริงของบุคคลนอกคดีดังกล่าวซึ่งอาจมีข้อเท็จจริงที่ไปกระทบบุคคลนอกคดีดังกล่าวโดยไม่อาจที่จะหลีกเลี่ยงในคำวินิจฉัยได้ องค์คณะในการทำคำพิพากษาจึงมีความเห็นพ้องต้องกันว่าในคำพิพากษานี้จะไม่กล่าวถึงชื่อบุคคลนอกคดีในส่วนที่น่าจะทำให้เกิดความเข้าใจผิดกับบุคคลนอกคดี และเพื่อเป็นการคุ้มครองพยานที่ให้ข้อเท็จจริงบางประการอันจะทำให้พยานไม่มีข้อกังวลจากการมาเป็นพยานในด้านความปลอดภัย แต่จะกล่าวเฉพาะข้อเท็จจริงที่เกี่ยวข้องกับบุคคลนอกคดีและข้อเท็จจริงที่พยานเบิกความเท่านั้นเท่าที่พอจะทำให้ทั้งโจทก์และจำเลยทั้งสองได้เข้าใจว่าหมายถึงบุคคลชื่อหรือยศตำแหน่งใดหรือพยานคนใด เมื่อพิจารณาโดยตลอดแล้วเห็นสมควรวินิจฉัยปัญหาตามคำฟ้องของโจทก์แต่ละข้อไป สำหรับ สำหรับคำฟ้องข้อ 3.1 ที่ว่า “หลังจากผ่านเหตุการณ์มาหลายเหตุการณ์แล้ว เราสรุปได้ว่า ในยุคที่ท่านเป็นผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ สำนักงานตำรวจแห่งชาติเป็นสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ซึ่งไร้ประสิทธิภาพ และก็ไม่มีประสิทธิผลในการทำงาน และที่ร้ายกาจที่สุด ก็คือ เป็นยุคที่ท่านเป็นผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เป็นยุคซึ่งตำรวจละเมิดสิทธิมนุษยชนมากที่สุด” นั้น โจทก์เบิกความว่า โจทก์มีประวัติรับราชการที่ใสสะอาดและดำเนินการก้าวหน้าจนได้เป็นผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ถ้าโจทก์ไร้ประสิทธิภาพคงไม่มีการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้เป็นผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ส่วนการละเมิดสิทธิมนุษยชนนั้นไม่สามารถกระทำได้เพราะเป็นสิ่งผิดกฎหมาย

จำเลยที่ 1 เบิกความว่า กรณีนี้เป็นการพูดถึงสำนักงานตำรวจแห่งชาติในช่วงที่โจทก์เป็นผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ซึ่งจำเลยที่ 1 ต้องการแสดงให้เห็นว่าในช่วงดังกล่าว สำนักงานตำรวจแห่งชาติมีปัญหาและได้สร้างปัญหาในสังคมขึ้นมาอย่างมากมาย ซึ่งจำเลยที่ 1 มีข้อมูลที่เจ้าพนักงานตำรวจได้กระทำผิดเป็นจำนวนมากในระหว่างปี พ.ศ.2544 ถึงเดือนมีนาคม พ.ศ.2547 ปรากฏตามเอกสารหมาย ล.2 แผ่นที่ 1 ถึง 73 เห็นว่า คำกล่าวของจำเลยที่ 1 ในข้อนี้เป็นหารกล่าวถึงการปฏิบัติหน้าที่ของโจทก์ในตำแหน่งผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ หาได้มุ่งไปถึงในเรื่องส่วนตัวของโจทก์ไม่ ทั้งโจทก์เองก็ขอให้ลงโทษจำเลยที่ 1 ในข้อหาดูหมิ่นเจ้าพนักงานด้วย แต่จะถือว่าคำกล่าวของจำเลยที่ 1 นี้มีเหตุอันควรกล่าวหรือไม่ จะต้องพิจารณาเหตุการณ์ตามคำฟ้องข้ออื่นๆ ซึ่งเกิดขึ้นหรือกล่าวอ้างว่าเกิดขึ้นในช่วงที่โจทก์เป็นผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติเสียก่อนว่าจำเลยที่ 1 กล่าวโดยมีข้อมูลหรือเหตุอันควรเชื่อได้ว่าเหตุตามี่พูดถึงจริงหรือไม่อย่างไร อีกทั้งในข้อนี้โจทก์ก็คงนำสืบเพียงว่าตนปฏิบัติหน้าที่ราชการโดยประสบความสำเร็จมาตลอดจนได้เป็นผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ แต่หาได้นำสืบว่าตนประสบความสำเร็จในการปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติอย่างไร การที่จะฟังคำกล่าวของจำเลยที่ 1 ว่าในช่วงที่โจทก์ดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาตินั้น สำนักงานตำรวจแห่งชาติไร้ประสิทธิภาพหรือไม่ก็ต้องพิจารณาจากคำฟ้องข้อต่อๆ ไปที่โจทก์กล่าวอ้าง

สำหรับคำฟ้องข้อ 3.2 ที่ว่า “ตัวผมกับตัวหนังสือพิมพ์ผู้จัดการ โดนท่านดำเนินคดีมาหลายเรื่อง โดยที่ท่านละเว้น และละเลยเพิกเฉยต่อการดำเนินการตามกระบวนการตามกฎหมาย ตามขั้นตอน หลายต่อหลายเรื่อง” นั้น โจทก์เบิกความว่า เมื่อโจทก์ได้รับการละเมิดก็ได้มอบอำนาจให้เลขานุการสำนักงานตำรวจแห่งชาติไปดำเนินคดีร้องทุกข์ โดยไม่เคยเรียกหรือติดต่อกับพนักงานสอบสวนและยังไม่ทราบว่าผลการสอบสวนเป็นอย่างไร ซึ่งมีการแจ้งความร้องทุกข์จำนวน 2 คดีกับหนังสือพิมพ์ผู้จัดการและผู้จัดกวน ส่วนจำเลยที่ 1มีนายตุลย์ ศิริกุลพิพัฒน์เบิกความว่า เป็นบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ผู้จัดการ เมื่อวันที่พยานถูกพนักงานสอบสวนรับตัวไปส่งพนักงานอัยการในคดีหมิ่นประมาทกรณีที่เป็นข่าวเรื่องบิ๊กขี้หลี มีการนำหมายจับในคดีอื่นมาจับ ซึ่งพยานได้บอกพนักงานสอบสวนว่าจะใช้หมายนี้ไม่ได้เพราะผู้เสียหายกับพยานตกลงกันได้แล้ว หากไม่เชื่อให้โทรศัพท์สอบถามผู้เสียหายหรือทนายความ แต่พนักงานสอบสวนไม่ได้ปฏิบัติและบอกว่าเจ้านายสั่งให้เอาตัวไปเป็นผู้ต้องหา

จากการตรวจสอบในภายหลัง หมายดังกล่าวเป็นหมายที่ส่งมาทางโทรสาร ส่วนหมายตัวจริงที่ศาลออกมาไม่ตรงกับโทรสารดังกล่าว การจับกุมดังกล่าวสืบเนื่องจากคดีบิ๊กขี้หลี ซึ่งโจทก์ตั้งทีมมาดำเนินคดีหมิ่นประมาทกับพยานเหมือนเป็นคดีอุกฉกรรจ์โดยตำรวจที่มาจับกุมพยานก็เป็นคณะทำงานในคดีบิ๊กขี้หลี พยานถูกกลั่นแกล้งจากโจทก์โดยโจทก์ใช้อำนาจเกินเหตุ เห็นว่า ในข้อนี้โจทก์นำสืบเพียงว่าตนได้รับความเสียหายจึงดำเนินคดีกับหนังสือพิมพ์ผู้จัดการ แต่จำเลยที่ 1 นำสืบว่าบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ผู้จัดการถูกโจทก์กลั่นแกล้ง ซึ่งเมื่อพิจารณาคำเบิกความของนายตุลย์ ประกอบเอกสารหมาย ล.2 แผ่นที่ 120 ถึง 132 และเอกสาร ล.5 แล้ว ตามบันทึกการจับกุม เอกสารหมาย ล.2 แผ่นที่ 122 เป็นการนำแบบพิมพ์บันทึกการจับกุมของสถานีตำรวจนครบาลมักกะสันมาแก้ไขเพื่อทำบันทึกการจับกุมนายตุลย์ตามหมายจับของศาลจังหวัดฉะเชิงเทราโดยได้ทำการจับกุมที่สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญากรุงเทพใต้ 4 ซึ่งอยู่ในเขตพระนคร กรุงเทพมหานคร ประกอบกับตามข้อนำสืบของจำเลยที่ 1 ก็ปรากฏว่าเจ้าพนักงานตำรวจผู้จับกุมนายตุลย์อยู่ในคณะทำงานในการสอบสวนคดีหมิ่นประมาทที่โจทก์ดำเนินคดีกับหนังสือพิมพ์ผู้จัดการ กรณีจึงมีเหตุให้จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นบรรณาธิการอำนวยการหนังสือพิมพ์ผู้จัดการตามเอกสารหมาย จ.6 สงสัยว่าเป็นการจับเพื่อไปดำเนินคดีตามหมายจับในคดีของศาลจังหวัดฉะเชิงเทราจริงหรือไม่

เหตุดังกล่าวจึงเป็นข้อเท็จจริงอย่างหนึ่งที่ปรากฏให้จำเลยที่ 1 เห็นว่ามีการละเลยต่อการดำเนินการตามกฎหมายของเจ้าพนักงานตำรวจซึ่งเป็นผู้ใต้บังคับบัญชาของโจทก์ การที่จำเลยที่ 1 กล่าวข้อความตมคำฟ้องข้อ 3.2 จึงเป็นการกล่าวโดยมีเหตุอันควรเชื่อว่ามีเหตุการณ์ที่โจทก์ละเว้นละเลยเพิกเฉยต่อการดำเนินการตามกฎหมายจริง ดังนี้ คำกล่าวของจำเลยที่ 1 ตามคำฟ้องข้อ 3.2 จึงเป็นแสดงความคิดเห็นโดยสุจริตเพื่อป้องกันส่วนได้เสียเกี่ยวกับตนตามคลองธรรมไม่เป็นการหมิ่นประมาทและดูหมิ่นโจทก์ ซึ่งเป็นเจ้าพนักงาน สำหรับคำฟ้องข้อ 3.3 ที่ว่า “ท่าน ผบ.ตร.คนนี้ ละเมิดสิทธิมนุษยชน อยู่ที่คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนตั้งไม่รู้ต่อกี่เรื่อง และสำคัญ เขาเคยไปให้การที่คณะกรรมการสิทธิมนุษยชน เขาเชิญท่านเกือบ 60 ครั้ง ท่านไม่ยอมไป ท่านไม่ให้ความเคารพในองค์กรอิสระ ไม่ให้ความเคารพในกฎหมาย และท่านมาเป็นผู้รักษากฎหมายได้ยังไง” นั้น โจทก์เบิกความว่า กรณีท่อก๊าซที่อำเภอหาดใหญ่ มีกลุ่มผู้ต่อต้านจะบุกเข้าโรงแรมที่มีการประชุมคณะรัฐมนตรีร่วมระหว่างไทยกับมาเลเซีย จึงเกิดเหตุปะทะกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติได้เชิญโจทก์ไปให้ถ้อยคำที่สภา ซึ่งโจทก์ได้ไป จากนั้นปรากฏว่าคดีได้ขึ้นสู่ศาล ต่อมามีการทำหนังสือเชิญอีก โจทก์จึงส่งหนังสือนั้นให้คณะกรรมการกฤษฎีกาตีความ ซึ่งคณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณาแล้วแจ้งให้โจทก์ทราบว่า เมื่อคดีขึ้นสู่การพิจารณาของศาลแล้ว ก็ไม่สมควรที่จะไปกล่าวเรื่องเดียวกันที่สภาอีก โจทก์จึงทำหนังสือรายงานต่อนายกรัฐมนตรี และได้แจ้งให้คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติคนหนึ่ง ซึ่งทำหน้าที่เป็นประธานอนุกรรมการเพื่อศึกษาและตรวจสอบกรณีเหตุการณ์รุนแรงอันเนื่องมาจากโครงการท่อก๊าซไทย มาเลเซียด้วย เบิกความว่า กรณีโครงการท่อก๊าซไทย มาเลเซียนั้น ในการตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชน มีการเชิญโจทก์มาให้ข้อเท็จจริง ในครั้งแรกโจทก์บอกว่า จำเป็นต้องไปคุมพื้นที่ไม่สามารถมาได้

ครั้งที่ 2 โจทก์อ้างว่า ต้องไปตรวจสอบสถานที่เช่นกัน ต่อมาโจทก์ทำหนังสือแจ้งว่า ตามเอกสารหมาย ล.2 แผ่นที่ 176 ถึง 210 และมีอดีตที่ปรึกษารองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง เบิกความสรุปได้ว่า มีการรายงานจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติต่อรัฐบาลว่าในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้มีแต่โจรห้าร้อย โจรกระจอก ขบวนการแบ่งแยกดินแดนเหลือเพียง 12 คน สมควรให้ทหารพ้นหน้าที่ดูแลรักษาความมั่นคงปลอดภัยในพื้นที่นั้น และให้ตำรวจเข้าไปปฏิบัติหน้าที่แทน ต่อมารัฐบาลจึงมีคำสั่งยุบ ศอ.บต. กับ พตท.43 และให้ทหารพ้นจากหน้าที่รักษาความปลอดภัยในพื้นที่ดังกล่าวและให้ตำรวจเข้าปฏิบัติแทน จากนั้นก็มีภยันตรายอันเกิดจากการละเมิดต่อกฎหมายแก่ชีวิตและร่างกายของบุคคลหลายฝ่าย หนักเข้าไปก็เกี่ยวข้องกับประชาชน ซึ่งสภาพสังคมที่นั่น ประชาชนทักเป็นญาติกันหมด ถ้ามีใครได้รับผลดังกล่าว ทั้งหมู่บ้านก็จะต่อต้านหมด เห็นว่า ปัญหาความรุนแรงทางภาคใต้นั้นมีเหตุรุนแรงมากขึ้นในสมัยที่โจทก์ดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ โดยมีเหตุจากการเปลี่ยนแปลงนโยบายของรัฐบาลเพราะได้รับรายการจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ โจทก์ซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาสูงสุดของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ จึงหาที่จะหลีกเลี่ยงความรับผิดชอบในเรื่องนี้ไปได้ไม่ และเมื่อพิจารณาเอกสารหมาย ล.2 แผ่นที่ 176 ถึง 210 ซึ่งเป็นเอกสารข่าวเกี่ยวกับเหตุการณ์ความรุนแรงในภาคใต้ในเรื่องต่างๆ แล้ว ข้อมูลดังกล่าวจึงเป็นข้อเท็จจริงที่ทำให้จำเลยที่ 1 มีเหตุอันควรเชื่อได้ว่า ถ้าโจทก์ตั้งใจปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติแล้วก็จะไม่เกิดปัญหาต่างๆเหล่านี้ ดังนี้

คำกล่าวของจำเลยที่ 1 ตามคำฟ้องข้อ 3.4 จึงเป็นการแสดงความคิดจากพื้นฐานของข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นจากสภาพความจริงของเหตุการณ์ในภาคใต้ ในขณะที่โจทก์ดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ จึงเป็นการแสดงความคิดเห็นโดยสุจริตเพื่อติชมโจทก์ด้วยความเป็นธรรมอันเป็นวิสัยของประชาชนย่อมกระทำ จึงไม่เป็นการหมิ่นประมาทและดูหมิ่นโจทก์ซึ่งเป็นเจ้าพนักงาน สำหรับคำฟ้องข้อ 3.5 ที่ว่า” ท่านไม่อยู่เมืองไทย ท่านท่องเที่ยวตลอดเวลา ท่านจะบินไปโน่น ท่านจะบินไปนี่นั้น โจทก์มี พ.ต.อ.นกุล กลกิจ เบิกความว่า ตรวจสอบแล้วพบว่าโจทก์เดินทางไปต่างประเทศ 12 ครั้ง โดยไปเกี่ยวกับราชการทั้งสิ้น ส่วนจำเลยที่ 1 เบิกความว่า ในการเดินทางไปดูงานในต่างประเทศโดยเฉพาะข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ จะมีส่วนผสมของการท่องเที่ยวด้วย ไม่ได้ไปประชุมตามกำหนดทุกประการ เห็นว่า ตามบันทึกเรื่องข้อมูลการเดินทางไปราชต่างประเทศ เอกสารหมาย จ.15 นั้น ในระหว่างวันที่ 1 ตุลาคม 2544 ถึงวันที่ 19 มีนาคม 2547 โจทก์เดินทางไปราชการต่างประเทศจำนวน 12 ครั้ง ซึ่งเป็นจำนวนมากเฉลี่ยแล้วโจทก์เดินทางเกือบทุก 3 เดือน ซึ่งเพียงพอที่จะทำให้จำเลยที่ 1 ในฐานะที่ทำงานสื่อมวลชนเข้าใจไปได้ว่า แม้ว่าในช่วงเวลาดังกล่าวจะมีปัญหาในด้านต่างๆ ซึ่งรวมทั้งปัญหาความรุนแรงทางภาคใต้ แต่โจทก์กลับเดินทางไปราชการที่ต่างประเทศหลายครั้ง โดยที่ไม่มีข้อเท็จจริงใดปรากฏให้เห็นว่าการเดินทางแต่ละครั้งจะมีส่วนช่วยแก้ไขปัญหาต่างๆ ภายในประเทศได้อย่างไร การกล่าวของจำเลยที่ 1 จึงเป็นการกล่าวโดยมีเหตุอันควรเชื่อได้ว่าโจทก์เดินทางไปท่องเที่ยวโดยไม่สนใจแก้ปัญหา ในเมื่อโจทก์อยู่ในฐานะตำแหน่งผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ซึ่งตามพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. 2547 มาตรา 6 และมาตรา 11 ได้กำหนดภารกิจของสำนักงานตำรวจแห่งชาติและผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติไว้หลายอย่างหลายประการ การที่โจทก์ไปต่างประเทศเฉพาะที่ปรากฏตามหลักฐานข้างต้นนั้น โจทก์ให้ความสำคัญกับภารกิจที่จะต้องปฏิบัติในประเทศในภาวะที่มีเหตุไม่ปกติเกิดขึ้นเกี่ยวกับความสงบหรือไม่อย่างไร ดังนั้น การที่จำเลยที่ 1 กล่าวความตามคำฟ้องข้อ 3.5 จึงเห็นได้ว่าเป็นการแสดงความคิดเห็นโดยสุจริตเพื่อติชมการปฏิบัติหน้าที่ของโจทก์ด้วยความเป็นธรรม อันเป็นวิสัยของประชาชนย่อมกระทำ จึงไม่เป็นการหมิ่นประมาทและดูหมิ่นโจทก์ ซึ่งเป็นเจ้าพนักงาน

สำหรับคำฟ้องข้อ 3.6 ที่ว่า ผมถึงบอกว่าท่านไปดีแล้ว ท่านไปตอนนี้ดีกว่าที่ให้ท่านเกษียณไปแล้ว คนจะสาปแช่งท่านทีหลัง...บรรดาผู้ซึ่งไม่ได้รับความยุติธรรมจากการทำงานของท่าน ครั้งนี้และครั้งก่อนๆ จะยุติการกระทำอะไรก็ตาม ที่ไม่เป็นผลดีต่อประเทศชาตินั้น โจทก์เบิกความว่า เป็นการใส่ความที่จะทำให้เกิดความเสียหายและทำให้ผู้ฟังผู้ชมเข้าใจผิด ส่วนจำเลยที่ 1 เบิกความว่า ไม่ได้เป็นการยืนยันข้อเท็จจริงใด โดยถือว่าเป็นเรื่องที่ประชาชนไม่ได้รับความยุติธรรมแล้ว ถ้าหากโจทก์แก้ไม่ได้ ถ้าไปเสียแต่ตอนนี้ก็ต้องถือว่าเป็นเรื่องที่ดีเห็นว่า คำกล่าวตามฟ้องข้อนี้เป็นการแสดงความเห็นของจำเลยที่ 1 โดยกล่าวถึงการที่โจทก์ได้รับคำสั่งให้มาปฏิบัติราชการที่สำนักนายกรัฐมนตรี ตามเอกสารหมาย จ.2 ว่าผู้ที่ไม่ได้รับความยุติธรรมจากการปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติของโจทก์จะยุติการกระทำที่ไม่เป็นผลดีต่อประเทศชาติ ซึ่งการที่จะพิจารณาว่ากรณีนี้จะเป็นการแสดงความเห็น โดยการติชมด้วยความเป็นธรรมหรือไม่นั้น จะต้องพิจารณาประกอบกับข้อเท็จจริงที่เกิดจากการกระทำของเจ้าพนักงานตำรวจตามที่จำเลยที่ 1 กล่าวในคำฟ้องข้ออื่นๆ ประกอบเสียก่อน

ซึ่งจะได้นำไปรวมวินิจฉัยในตอนสุดท้ายกับคำฟ้องข้อ 3.12 สำหรับคำฟ้องข้อ 3.7 ที่ว่า นายตำรวจที่มีการแต่งตั้งในยุคท่าน ผบ.ตร.คนนี้ คุณภาพนายตำรวจต่ำมาก คำฟ้องข้อ 3.8 ที่ว่า ผมรู้จักผู้บัญชาการตำรวจภาคหลายคน อย่าให้ผมพูดเลยว่าใคร ผมเจอหน้าบ่นกับผม คุณสนธิ รู้ไหมว่าตำรวจที่ตั้งระดับผู้กำกับ ระดับรองผู้กำกับ ระดับรองผู้การ สมมติว่า มีตำแหน่งอยู่ 6 ตำแหน่ง ผมมีสิทธิ์เลือกตำแหน่งเดียว นอกนั้น จากหน่วยเหนือจากหน่วยกลาง กรุงเทพฯ ส่งมาหมด ระบุมาเสร็จเลยว่า จะให้คนนี้ให้คนนั้น จะให้คนโน้น ให้คนนี้ ผมก็ถามว่า แล้วทำไมไม่ขวางเขาละ บอกว่า ถ้าขวางไม่ได้ เพราะถ้าขวางเขาบอกว่า เขายึดโควตาคืนหมด และคำฟ้องข้อ 3.11 ที่ว่า รองผู้บังคับการคนหนึ่ง ท่านก็ถูก พล.ต.อ.สันต์ ศรุตานนท์ แต่งตั้งให้มาเป็นผู้บังคับการตำรวจ จังหวัดนราธิวาส ตั้งมาในขณะนั้น ด้วยยศ พ.ต.อ.พิเศษ รองผู้บังคับการ หลักเกณฑ์ไม่ถึงจำนวนปีที่กำหนดเอาไว้ ท่าน ผบ.ตร.ท่านน่ารักมาก พล.ต.อ.สันต์ ศรุตานนท์ ท่านบอกว่า เนื่องจากคนคนนี้มีความรู้ทางภาคใต้มาก อยากจะให้ยกเว้นไม่ต้องตามหลักเกณฑ์ ให้เป็นกรณีพิเศษ เพื่อให้ลงมือทำงาน นั้น โจทก์เบิกความสรุปได้ว่า การแต่งตั้งข้าราชการตำรวจเป็นไปตามพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. 2547 โจทก์คนเดียวไม่สามารถแต่งตั้งได้เองตามอำเภอใจ แต่จะต้องมีคณะกรรมการกลั่นกรองตามลำดับชั้นมาเสนอต่อคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ ส่วนการแต่งตั้งรองผู้บังคับการคนดังกล่าวนั้น เป็นการแต่งตั้งโดยระบบพิเศษเพราะมีคุณสมบัติที่เหมาะสมกว่าคนอื่น และก็ไม่ผิดกฎเกณฑ์ข้อบังคับของคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ และมีรองผู้บังคับการคนดังกล่าวเบิกความว่า ได้แสดงวิสัยทัศน์ที่จะขอดำรงตำแหน่งผู้บังคับการที่จังหวัดนราธิวาสเพียงจุดเดียว ซึ่งหากผู้บังคับบัญชาเห็นว่าเหมาะสมก็อาจแต่งตั้งได้

ส่วนจำเลยที่ 1 เบิกความว่า ตามคำฟ้องข้อ 3.7 นั้น บัญชีรายชื่อทั้งหมดในการแต่งตั้งโยกย้ายจะถูกส่งมาที่โจทก์ โดยโจทก์จะแก้เพิ่มเติมหรือลดตำแหน่งผู้ใดก็เป็นสิทธิของโจทก์ ในฐานะผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ทั้งการแต่งตั้งใครก็ไม่จำเป็นต้องมีการบันทึกไว้เป็นลายลักษณ์อักษร โดยอาจโทรศัพท์ไปบอกก็ได้ ส่วนตามคำฟ้องข้อ 3.8 นั้น จำเลยที่ 1 ได้รับฟังมาจากผู้บัญชาการตำรวจภาค โดยไม่ได้ยืนยันข้อเท็จจริงใด ส่วนตามคำฟ้องข้อ 3.11 นั้น มีการแต่งตั้งรองผู้บังคับการคนหนึ่งผิดกฎเกณฑ์ที่เคยตั้งไว้ เพราะอายุราชการยังไม่ถึงแต่โจทก์อ้างว่ามีความเชี่ยวชาญพิเศษ เพื่อสร้างข้อยกเว้น แต่รองผู้บังคับการคนดังกล่าวมาอยู่ที่ภาคใต้เพียง 4 เดือน ก็ย้ายไปอยู่ที่จังหวัดตราด และอีกไม่กี่เดือนก็ย้ายไปเป็นผู้บังคับการตำรวจ 191 ในกรุงเทพมหานคร และเหตุการณ์ที่ภาคใต้ก็ยังไม่สงบ เห็นว่า ที่จำเลยที่ 1 กล่าวตามคำฟ้องข้อ 3.7 เป็นการแสดงความคิดเห็นโดยจำเลยที่ 1 วิเคราะห์จากข้อมูลต่างๆ ที่ตนมีอยู่และเป็นข้อมูลที่มีอยู่จริง ส่วนที่จำเลยที่ 1 กล่าวตามคำฟ้องข้อ 3.8 นั้นเป็นการกล่าวโดยอาศัยข้อมูลที่จำเลยที่ 1 ได้ทราบมาจากข้าราชการตำรวจคนอื่น ซึ่งจำเลยที่ 1 ไม่ได้เจาะจงเฉพาะผู้ใด และเป็นกรณีที่จำเลยที่ 1 กล่าวโดยมีความเห็นว่าวิธีการดังกล่าวเป็นวิธีการที่ไม่ถูกต้อง เพราะการแต่งตั้งข้าราชการตำรวจนั้นจะต้องแต่งตั้งผู้ที่มีความรู้ความสามารถเหมาะสมกับตำแหน่งตามหลักเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนด






กำลังโหลดความคิดเห็น