xs
xsm
sm
md
lg

ข้อเสนอแนะประเทศไทย (1) : กรณีคอร์รัปชัน

เผยแพร่:   โดย: อภินันท์ สิริรัตนจิตต์

อภินันท์ สิริรัตนจิตต์
คณะศิลปศาสตร์และศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยหาดใหญ่

พระราชดำรัส พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชทานแก่คณะผู้ว่าราชการจังหวัด แบบบูรณาการในโอกาสเข้าเฝ้าถวายสัตย์ปฏิญาณเมื่อวันที่ 8 ตุลาคม 2546 ความว่า

“ถ้าทุจริตแม้แต่นิดเดียว ก็ขอแช่งให้มีอันเป็นไป พูดอย่างนี้หยาบคาย แต่ว่าขอให้มีอันเป็นไป แต่ถ้าไม่ทุจริตสุจริตและมีความตั้งใจมุ่งมั่น สร้างความเจริญก็ขอให้ต่ออายุได้ถึง 100 ปี ส่วนคนไหนที่มีอายุมากแล้ว ขอให้แข็งแรงความสุจริตจะทำให้ประเทศไทยรอดพ้นอันตราย…”

“…ภายใน 10 ปี เมืองไทยน่าจะเจริญ ข้อสำคัญคือต้องหยุดการทุจริตให้สำเร็จ และไม่ทุจริตเสียเอง…”
(ที่มา: www.bot.co.th)

ประเทศไทย ประสบปัญหาการทุจริตคอร์รัปชัน เรื้อรังมาเป็นเวลานาน โดยเฉพาะจากกลุ่มชนชั้นนำ ซึ่งถูกคาดหวังจากประชาชน ว่าจะเป็นแบบอย่างที่ดี เพราะมีโอกาสมากกว่าชนชั้นกลางหรือชนชั้นล่าง ในการเข้าสู่ระบบการเป็นตัวแทนประชาชน ในการบริหารประเทศให้มีความเจริญก้าวหน้าทุกด้าน ปัญหาทุจริตคอร์รัปชันดังกล่าว นอกจากสาเหตุเรื่องผลประโยชน์เป็นใหญ่แล้ว ยังมีปัจจัยอื่นส่งเสริมและสนับสนุนให้เกิดอีกด้วย ปัจจัยส่วนหนึ่งเกิดจากอุปนิสัยของคนไทยด้วย ซึ่ง วิรัช วิรัชนิภาวรรณ ได้ศึกษาวิเคราะห์อุปนิสัยของคนไทย ที่เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาประเทศ พบว่ามี 30 ประการ ได้แก่

1) เชื่อเรื่องเวรกรรม 2) ถ่อมตนและยอมรับระบบชนชั้น 3) ยึดถือระบบอุปถัมภ์ 4) ไม่ยอมรับคนอายุเท่ากันหรือต่ำกว่า 5) ติดนิสัยพึ่งพาผู้อื่น 6) ไม่รู้จักพอประมาณ 7) รักเสรีทำอะไรตามใจชอบ 8) ไม่ชอบค้าขาย 9) ชอบเอาตัวรอดและโยนความผิดให้ผู้อื่น 10) ไม่ชอบรวมกลุ่มและขาดความร่วมมือ 11) ขาดการวางแผน 12) ชอบการพนันเหล้าและความบันเทิง 13) มีนิสัยเกียจคร้าน 14) ไม่ชอบการเปลี่ยนแปลง 15) เห็นแก่ตัวและคิดเอาแต่ได้ 16) มีนิสัยลืมง่าย 17) ชอบสิทธิพิเศษ 18) มีนิสัยฟุ่มเฟือย 19) ไม่รู้แพ้ รู้ชนะ 20) ไม่ยกย่องผู้หญิง 21) มีจิตใจคับแคบ 22) ชอบสร้างอิทธิพล 23) มักประนีประนอม 24) ไม่ตรงต่อเวลา 25) ไม่รักษาสาธารณสมบัติ 26) ชอบพูดมากกว่ากระทำ 27) ยกย่องวัตถุ 28) ชอบของฟรี 29) สอดรู้สอดเห็น และ 30) ขาดจิตสำนึกและอุดมการณ์เพื่อประเทศชาติ

จากอุปนิสัยคนไทย 30 ประการข้างต้นนั้น อุปนิสัยที่ส่อไปในทางเอื้อต่อการทุจริตคอร์รัปชัน ได้แก่ 2) การยอมรับระบบชนชั้น 3) ยึดถือระบบอุปถัมภ์ 17) ชอบสร้างอิทธิพลและ 30) ขาดจิตสำนึกและอุดมการณ์เพื่อประเทศชาติ ซึ่งเป็นเหตุปัจจัยหลัก เพราะพฤติการณ์เหล่านี้บ่งชี้ว่าเอื้อและเกื้อหนุนให้เกิดการทุจริตคอร์รัปชันได้สูง ในสังคมไทยที่ขาดการตรวจสอบอย่างเข้มข้น และใช้สามารถใช้เงินปิดปาก รวมทั้งการขมขู่หรือตัดตอนผู้ให้ข้อมูลที่เป็นลบต่อผู้เสียผลประโยชน์

ทุกครั้งที่มีการประกาศเจตนารมณ์ “ต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชัน” ทุกรูปแบบ (ในทุกยุคสมัย) ทำให้คิดมุมกลับ ได้ว่าสิ่งเหล่านั้นมีอยู่จริงและมีผลกระทบรุนแรง จึงต้องทำ “ให้มี” การแสดงจุดยืน เสมือนหนึ่งตั้งใจจะต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชัน อันแสดงถึงความโปร่งใสตามหลักธรรมาภิบาล ข้อสังเกตหนึ่งที่พบ คือนโยบายการต่อต้านทุจริตคอร์รัปชัน ส่วนใหญ่มุ่งไปในลักษณะการกำหนดเป็นตัวบทกฎหมาย และการใช้วาทกรรมสร้างกระแส มากกว่าความใส่ใจอย่างแท้จริงในการแก้ปัญหาอย่างยั่งยืนด้วยมาตรการสร้างค่านิยมแห่งชาติหรือคุณธรรมแห่งชาติ เพื่อสร้างอุปนิสัยระยะยาว รวมทั้งการบังคับใช้กฎหมายอย่างเด็ดขาดและศักดิ์สิทธิ์

ข้อมูลโดย กรุงเทพธุรกิจออนไลน์เมื่อปลายปี 2555 อ้างถึงองค์กรความโปร่งใสระหว่างประเทศ (ทีไอ) เผยแพร่ดัชนีจัดอันดับสถานการณ์การคอร์รัปชันประจำปี 2555 เป็นการจัดอันดับปัญหาการคอร์รัปชันใน 176 ประเทศ โดยให้คะแนนจาก 0-100 ซึ่งคะแนนยิ่งน้อยยิ่งสะท้อนให้เห็นว่า ประเทศนั้นๆ มีปัญหาการคอร์รัปชันมาก พบว่า เดนมาร์ก ฟินแลนด์และนิวซีแลนด์ อยู่ในอันดับ 1 ร่วมของประเทศ ที่มีความโปร่งใสมากที่สุดโดยมีคะแนนเท่ากันที่ 90 คะแนน ส่วนไทยรั้งอันดับ 88 ด้วยคะแนนความโปร่งใสเพียง 37 เต็ม 100 สะท้อนปัญหาการโกงกินในประเทศระดับสูง ต่างจากสิงคโปร์ซึ่งได้อันดับดีที่สุดในกลุ่มประเทศสมาชิกสมาคมประชาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน)

หลายเวทีและหลายภาคส่วนได้ร่วมนำเสนอแนวทางการแก้ไขปัญหาการทุจริตคอร์รัปชัน ซึ่งผู้เขียนขอประมวลไว้บางส่วนจากที่มานโยบายรัฐบาลด้านเศรษฐกิจ: การทับซ้อนของผลประโยชน์ทางธุรกิจ (Conflict of Interest) โดยวิทยากร เชียงกูล ว่า

แนวทางการแก้ไขปัญหาการทุจริตคอร์รัปชัน จากข้อเสนอแนะของธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเชีย (ADB) เสนอว่า การป้องกันคอร์รัปชันในภาครัฐ อาจจะทำได้ด้วยมาตรการที่มุ่งกำจัดจุดอ่อนของระบบ และเสริมสร้างความเข้มแข็งและคุณธรรมของเจ้าหน้าที่รัฐ เช่น วิธีการคัดเลือกและการพัฒนาเจ้าหน้าที่รัฐ ต้องประกาศให้ทราบทั่วกัน ดำเนินการอย่างโปร่งใส และคัดคนตามความสามารถ การปรับเงินเดือนเจ้าหน้าที่รัฐให้สูงขึ้น เป็นวิธีเพิ่มแรงจูงใจให้คนเก่งเข้ามาสมัครและอยู่ในอาชีพนี้ได้อย่างพอเพียงโดยไม่ต้องคอร์รัปน การเลื่อนตำแหน่งเจ้าหน้าที่รัฐระดับสูง ต้องมีวิธีประเมินผล และตรวจสอบอย่างเป็นกลาง และมีประสิทธิภาพ เพื่อป้องกันการเล่นพรรคเล่นพวก

บางประเทศใช้วิธีออกกฎจรรยาบรรณ (Code of Conduct) ของเจ้าหน้าที่รัฐอย่างชัดเจน เช่น ห้ามรับของขวัญหรือการเลี้ยงดูจากคนอื่น ห้ามการรับสินบนและการใช้ทรัพย์สมบัติสาธารณะเพื่อประโยชน์ส่วนตัว รวมทั้งการออกกฎหมายห้ามเจ้าหน้าที่รัฐเข้าไปเกี่ยวข้องกับกิจกรรมทางเศรษฐกิจและการเมือง เพื่อป้องกันปัญหาผลประโยชน์ทับซ้อน และเพื่อป้องกันการที่เจ้าหน้าที่รัฐบางหน่วยงาน เช่น เจ้าหน้าที่ด้านภาษีและออกใบอนุญาตด้านธุรกิจใช้อำนาจตัดสินใจตามวิจารณญาณของตน บางประเทศใช้วิธีการรวมศูนย์การตัดสินใจไว้ที่ส่วนกลาง และใช้ระบบสารสนเทศ เช่น อินเทอร์เน็ตมาช่วย เพื่อให้เกิดความโปร่งใส และลดการคอร์รัปชัน มีกฎหมายป้องกันการฟอกเงินนอกจากแนวทางการป้องกันการคอร์รัปชันดังที่ได้กล่าวมาแล้ว สิ่งที่สำคัญคือ ต้องมีการปราบปรามการคอร์รัปชันอย่างเอาจริงเอาจัง เช่น จะต้องมีการอายัดและยึดทรัพย์สินของเจ้าหน้าที่รัฐที่ได้มาด้วย การคอร์รัปชันได้มีการออกกฎหมายให้ความคุ้มครองแก่พยานผู้ให้ข้อมูลเรื่องคอร์รัปชัน โดยเฉพาะเจ้าหน้าที่รัฐระดับรองลงมา
ซึ่งมีโอกาสรู้ข้อมูลแต่ไม่กล้าแจ้งสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามคอร์รัปชัน เพราะเกรงว่า ตนจะมีความผิดด้วย โดนหัวหน้างานกลั่นแกล้ง หรือทำอันตราย

ธนาคารโลกเสนอแนะว่า การบริหารประเทศอย่างโปร่งใส (Transparent) และมีธรรมาภิบาล หรือการบริหารจัดการที่ดี (Good Government) มีส่วนช่วยลดการคอร์รัปชัน เป็นเรื่องสำคัญที่จะช่วยให้เศรษฐกิจของประเทศพัฒนาได้ดีกว่า และเจริญเติบโตได้รวดเร็วกว่าประเทศที่ยังคงมีปัญหาการคอร์รัปชั่นในอัตราสูง ประเทศที่ต้องการแก้ปัญหาคอร์รัปชัน ควรทำในสิ่งต่อไปนี้

1. ให้มีการเปิดเผยต่อสาธารณะ ทรัพย์สินและรายได้ของผู้สมัครเพื่อดำรงตำแหน่งทางการการเมืองและเจ้าหน้าที่รัฐ ไม่ว่าจะเป็นนักการเมือง ข้าราชการ รวมทั้งทหารและตำรวจ อัยการ ผู้พิพากษา รวมทั้งคู่ครองและลูกด้วย

2. ให้มีการเปิดเผยต่อสาธารณะ จำนวนเงินบริจาคพรรคการเมือง โดยปัจเจกชนและบริษัท รวมทั้งยอดค่าใช้จ่ายในการหาเสียงเลือกตั้งแต่ละครั้ง

3. ให้มีการเผยแพร่ต่อสาธารณะ การออกเสียงลงมติการร่างกฎหมาย และการอภิปรายของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทุกครั้ง

4. มีการออกและดูแลบังคับใช้ให้กฎหมายป้องกันผลประโยชน์ทับซ้อนมีผลในทางปฏิบัติอย่างมีประสิทธิภาพ แยกธุรกิจการเมือง การออกกฎหมาย และการบริหารของรัฐออกจากกัน และออกกฎหมายเพื่อควบคุมการวิ่งเต้น (Lobbying) เจ้าหน้าที่รัฐ

5. เปิดเผยรายชื่อต้องห้ามบริษัทที่เคยมีประวัติติดสินบนในการยื่นประมูลรับเหมาจากทางราชการ และเปิดเผยค่าสัมปทานที่บริษัทข้ามชาติเข้ามาทำธุรกิจด้านขุดเจาะน้ำมัน แก๊ส ทำเหมืองแร่ และสกัดทรัพยากรสาธารณะต่างๆ ให้ประชาชนทราบ

6. ออกและทำให้กฎหมายมีเสรีภาพในเรื่องข้อมูลข่าวสารมีผลบังคับใช้จริงจัง และสาธารณชนสามารถเข้าถึงข้อมูลข่าวสารของรัฐบาลทุกอย่างได้อย่างสะดวกง่ายดาย

7. ให้สื่อมวลชนรวมทั้งอินเทอร์เน็ต มีเสรีภาพ

8. ด้านการคลังและงบประมาณของทั้งส่วนกลางและส่วนท้องถิ่น ต้องเปิดเผยและโปร่งใส และมีการจัดประชุมสาธารณะให้ประชาชนมีส่วนร่วม

9. เปิดเผยโครงสร้างและสัดส่วนการถือหุ้น และฐานะทางการเงินของธนาคารพาณิชย์

10. การเปิดประมูลรับเหมาของทางราชการ ต้องเปิดเผยโปร่งใส ประชาชนสามารถเข้าถึงข้อมูลได้ง่าย เช่น เข้าไปดูทางเครือข่ายอินเทอร์เน็ตได้

11. มีการสำรวจประเมินผลหรือสำรวจทัศนคติของประชาชนต่อผลการใช้จ่ายงบประมาณของรัฐ ระดับการบริหารจัดการที่ดี และปัญหาการคอร์รัปชัน

12. ส่งเสริมโครงการเพิ่มความโปร่งใสในระบบบริหารจัดการในระดับเมือง จังหวัดต่างๆ รวมทั้งการเปิดเผยงบประมาณ โครงการต่างๆ และการจัดการประชุมสาธารณะให้ประชาชนมีส่วนร่วม (B.E.D.DE Speville *The Experience Of Hong Kong, China in Combating Corruption 5 Daniel Kaufmann. FINANCE AND DEVELOPMENT, September 2005, V.42 NO. 3.)

สอดคล้องกับความคิดเห็นของอดีตนายกรัฐมนตรี 2 สมัย “ท่านอานันท์ ปันยารชุน” ยอมรับสารภาพด้วยความจริงใจ บริสุทธิ์และไร้อคติว่า อายุ 80 ปี ยังมีความห่วงใยเรื่องคอร์รัปชันในเมืองไทยมากที่สุดตั้งแต่เกิดมาในอดีต ด้วยการคอร์รัปชันเป็นเรื่องการให้..ค่าน้ำชา..ค่าสินบน..การให้ของชำร่วย..ช่วยเหลือในด้านต่างๆ ระหว่างบุคคลกับบุคคล หรือกลุ่มกับกลุ่มเท่านั้น แต่ปัจจุบัน คอร์รัปชันมีความลึกลับมาก ไม่ใช่แค่ค่าน้ำชา สินบน แต่มีการวางยุทธศาสตร์ วางแผนการ สำคัญที่สุดคือมีการ “บูรณาการ” กันอย่างพร้อมเพรียง ไม่ใช่เรื่องของคนต่อคน หรือกลุ่มต่อกลุ่มอีกต่อไป ขณะนี้เป็นเครือข่ายกันหมด ครอบคลุมถึง..นักการเมือง...ข้าราชการ...พ่อค้า...นักธุรกิจ...สื่อ...องค์กรต่างๆ ทั้งรัฐวิสาหกิจ หรือแม้แต่องค์กรอิสระที่รัฐธรรมนูญสร้างขึ้น สุดท้ายสิ่งเหล่านี้นำไปสู่การยึดครองพื้นที่ของประเทศทั้งหมด ทุกพื้นที่ ทุกกิจกรรม ทุกส่วน และท่านย้ำว่า สมัยนี้จึงไม่ใช่เรื่องการโกงกิน ทุจริตฉ้อราษฎร์บังหลวง แต่เป็นการ “กินเมือง” อะไรขวางซื้อหมด อำนาจเงินกลายเป็นอำนาจสูงสุด คนไม่มีค่า นโยบายปัจจุบันจะนำความหายนะมาสู่ประเทศ ซึ่งเป็นเรื่องน่าเศร้าที่ว่าคนดีๆ มีความรู้ก็ตกหลุมติดกับอยู่กับนโยบายเหล่านี้ ดังนั้น สิ่งที่อยากฝากก็คือ “คอร์รัปชัน” มีความหมายมากกว่าทุจริต “ฉ้อราษฎร์บังหลวง” และ “คอร์รัปชัน” ไม่ใช่ความหมายเฉพาะเรื่อง “เงิน”

อนึ่ง “การโกหกประชาชนก็เป็นหนึ่งของการคอร์รัปชัน ตราบใดที่เรายังเห็นคนที่มีอำนาจมีความรับผิดชอบออกมาหลอกประชาชนทุกวัน วันละ 3 มื้อ อย่าหวังว่าจะแก้ปัญหาคอร์รัปชันในประเทศไทยได้ การที่จะแก้ปัญหาในประเทศไทยได้นั้น จะต้องทำให้คนไทยรู้สึกว่าเงินที่โกงกินเป็นเงินของเรา เรามีส่วนเป็นเจ้าของ อีกทั้งกลุ่มที่ทำงานเรื่องการต่อต้านคอร์รัปชันต้องบูรณาการกระทำของคนทุกกลุ่มร่วมกันจึงจะมีประสิทธิภาพมากขึ้น”


ในวาระเดียวกัน คณะกรรมาธิการ (กมธ.) ศึกษา ตรวจสอบเรื่องการทุจริตและการเสริมสร้างธรรมาภิบาล วุฒิสภา ร่วมกับสำนักงานปฏิรูป (สปร.) เพื่อสังคมที่เป็นธรรม ได้จัดการสัมมนาเพื่อรับฟังความคิดเห็น ข้อเสนอเชิงนโยบาย เพื่อการปฏิรูปแก้ปัญหาคอร์รัปชัน คณะกรรมาธิการ (กมธ.) ศึกษา ตรวจสอบเรื่องการทุจริตและการเสริมสร้างธรรมาภิบาล วุฒิสภา ร่วมกับสำนักงานปฏิรูป (สปร.) เพื่อสังคมที่เป็นธรรม ได้จัดการสัมมนาเพื่อรับฟังความคิดเห็น ได้ข้อเสนอเชิงนโยบาย เพื่อการปฏิรูปแก้ปัญหาคอร์รัปชัน 7 วิธี เพื่อสร้างพลังสังคมเข้มแข็ง ยกระดับต้านคอร์รัปชันสู่สากล ว่า

1. สร้างพลังทางสังคมที่เข้มแข็งในการป้องกันและสนับสนุนการปราบปรามการทุจริต โดยขอให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ร่วมกับเครือข่ายภาคประชาชน และเอกชน จัดตั้งคณะกรรมการร่วมระหว่างภาครัฐ-เอกชนด้านการป้องกันและปราบปรามการทุจริต (กรอ.ปปช.) เพื่อขับเคลื่อนยุทธศาสตร์อย่างเป็นรูปธรรม

2. ปรับเปลี่ยนเจตคติทางสังคมให้เอื้อต่อการเอาชนะปัญหาทุจริต ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรี (ครม.) ต้องประกาศเจตจำนงทางการเมืองที่แน่วแน่ ในการเป็นต้นแบบการทำงานด้วยความซื่อสัตย์สุจริต ปราศจากผลประโยชน์ทับซ้อน และควรกำหนดนิยามคำว่าการทุจริต-คอร์รัปชันใหม่ เพื่อให้ครอบคลุมถึงพฤติกรรมการกระทำผิดทางคุณธรรมจริยธรรม ขอให้เครือข่ายภาคประชาชนต่างๆ ทำงานร่วมกับองค์กรวิชาชีพด้านสื่อมวลชนทุกแขนง สถาบันการศึกษาในชุมชนท้องถิ่น ในการบ่มเพาะอบรมเยาวชน นักเรียน นักศึกษา ให้เข้าร่วมรณรงค์ปรับเจตคติของคนไทยทุกหมู่เหล่าที่จะไม่ยอมรับ ยอมจำนน ให้รังเกียจและต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชันทุกรูปแบบ

3. สร้างบรรทัดฐานสำหรับผู้บริหารประเทศให้เป็นแบบอย่างในด้านการประกอบอาชีพสุจริต และเสียภาษีรายได้แก่รัฐ อาทิ ให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญและกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ให้ผู้ที่เข้าดำรงตำแหน่งทางการเมืองและเจ้าหน้าที่ระดับสูงของรัฐ ต้องถูกตรวจสอบประเมินภาษีและเปิดเผยแบบแสดงรายการภาษีเงินได้ต่อสาธารณะย้อนหลังเป็นเวลาไม่เกิน 10 ปี และให้กำหนดคุณสมบัติของผู้ที่จะดำรงตำแหน่งทางการเมืองทุกระดับ ทุกตำแหน่ง ต้องเป็นบุคคลที่ประกอบอาชีพสุจริต และเสียภาษีเงินได้แก่รัฐติดต่อกันมาไม่น้อยกว่า 10 ปี

4. สร้างความโปร่งใสในกระบวนการจัดซื้อจัดจ้าง และการใช้จ่ายงบประมาณสาธารณะของหน่วยงานราชการและรัฐวิสาหกิจ โดยรัฐบาลต้องกำหนดให้กระทรวง ทบวง กรม และสำนักเทียบเท่าทุกหน่วยงานต้องเปิดเผยข้อสัญญาการจัดซื้อจัดจ้างในเว็บไซต์ที่สาธารณะสามารถตรวจสอบได้ พร้อมนำมาตรฐานธรรมาภิบาล (Corporate Governance: CG) ที่ใช้กับบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์) มาใช้เป็นเกณฑ์ในการประเมินองค์กร

5. ส่งเสริมกระบวนการผู้ชี้เบาะแสและคุ้มครองพยานในการปราบปรามการทุจริต อาทิ ออกมาตรการรูปธรรมในการคุ้มครองดูแลความปลอดภัยและรับผิดชอบค่าใช้จ่ายยังชีพขั้นพื้นฐานสำหรับผู้กล่าวหา ผู้เสียหาย ผู้ทำคำร้อง หรือผู้ชี้เบาะแส หรือพยานในคดีทุจริตทุกคดีอย่างเหมาะสม

6. เพิ่มประสิทธิภาพและประสิทธิผลในการบริหารจัดการคดีทุจริตที่สะสมอยู่เป็นจำนวนมาก โดย ป.ป.ช.ต้องกำหนดแผนปฏิบัติการในการจัดคดีคั่งค้างให้อยู่ในระดับที่ควบคุมได้ภายใน 5 ปี และต้องปรับปรุงระเบียบภายในไม่ให้เป็นราชการจนเกินไป รวมไปถึงต้องเปิดกว้างในกระบวนการสรรหาและแต่งตั้งเลขาธิการ ป.ป.ช.ให้มากขึ้นและ

7. เพิ่มประสิทธิภาพในการกลั่นกรองคนดีเข้าสู่อำนาจ ในการบริหารประเทศ โดยให้ กกต.ทบทวนและปรับปรุงกระบวนการการเลือกตั้ง เพื่อกลั่นกรองบุคคลให้เข้ามาใช้อำนาจรัฐตั้งแต่ระดับต้นน้ำ อาทิ ให้ผู้สมัคร ส.ส. และ ส.ว.และผู้บริหารท้องถิ่น ต้องแสดงบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินต่อ กกต.ทั้งก่อนและหลังการเลือกตั้ง เป็นต้น


จากข้อเสนอเกี่ยวกับการป้องกันและแก้ไขปัญหาการทุจริตคอร์รัปชันข้างต้น ซึ่งยังมีอีกมาก ได้สะท้อนให้เห็นว่า การทุจริตคอร์รัปชันว่าเป็นโรคระบาด เป็นอันตรายต่อการพัฒนาพลเมืองและประเทศชาติ หากจะมีข้อเสนอแนะ ผู้เขียนขอเสนอเพิ่มเติม ว่า

1. ให้ทุกภาคส่วนมีกลยุทธ์ระยะสั้นและระยะยาวด้านการสร้างและปลูกฝังค่านิยมแห่งชาติ หรือคุณธรรมแห่งชาติ โดยนำหลักธรรมพื้นฐานทางศาสนา ผ่านสื่อสารมวลชนสีขาวเพื่อนำเสนอเรื่องราวที่ดีงามสีขาวร่วมสร้างสังคมอุดมความสุจริต ประหนึ่งยุทธศาสตร์สังคมสีขาว (White Social)

2. การกำหนดคุณสมบัติและลักษณะของผู้นำประเทศเป็นผู้นำสีขาว (white Leaders) ด้านค่านิยมหรือคุณธรรมที่ต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชันและต้องมีผลงานเป็นรูปธรรมเพื่อเป็นต้นแบบแห่งสังคมสีขาว

3. เลิกใช้ระบบธรรมาภิบาลในกระดาษ แต่หันมาใช้ระบบการประเมินมาตรฐานความสุจริตของผู้บริหารหรือผู้นำทุกภาค ที่มีส่วนได้เสียและใช้ภาษีของประชาชนผ่านการยืนยันความสุจริตของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียตามสัดส่วนที่เหมาะสมแบบ 361 องศา (360 โดยผู้อื่น ส่วน 1 องศา คือตนเอง) และให้บังคับใช้กฎหมายอย่างเด็ดขาด (ไม่เลือกปฏิบัติ) ต่อผู้ทุจริตคอร์รัปชัน

บทสรุปข้อเสนอแนะประเทศไทย (1) : กรณีคอร์รัปชันนี้จะไม่กลายเป็นวาทกรรมเฉกเช่นวาทกรรมทางการเมืองอื่นๆ หากประชาชน โดยเฉพาะปัญญาชนคนชั้นกลางและผู้หาเช้ากินค่ำลุกขึ้นมาปกป้องรักษาสิทธิประโยชน์จากการทำหน้าที่อันบริสุทธิ์สุจริตของตนเอง แล้วรวมพลังเป็นกลุ่มบุคคลหรือเครือข่าย โดยประณามและร่วมตรวจสอบหรือเปิดเผยบุคคลผู้ทุจริตคอร์รัปชันทำลายประเทศชาติ พร้อมไปกับการสร้างสังคมสีขาวเพื่อร่วมพัฒนาประเทศไทยไปด้วยกัน เพราะผู้เขียนเชื่อมั่นว่า นิยามของคำว่า อำนาจนั้น มาจากฐานความดีและฐานความรู้ ที่บริสุทธิ์ ซึ่งประชาชนเป็นผู้มีอำนาจอันชอบธรรมนี้
กำลังโหลดความคิดเห็น