xs
xsm
sm
md
lg

ดีเอสไอลงหมู่บ้านชาวเลราไวย์หาหลักฐานเพิ่มสู้คดีที่ดิน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ศูนย์ข่าวภูเก็ต - ดีเอสไอ ลงพื้นที่ชุมชนชาวเลราไวย์ จ.ภูเก็ต เก็บหลักฐานเพิ่มให้ชาวบ้านใช้เป็นหลักฐานในการสู้คดี หลังถูกนายทุนอ้างสิทธิในที่ดินทยอยฟ้องขับไล่ออกจากพื้นที่ที่เคยอยู่อาศัยมายาวนานกว่า 300 ปี

วันนี้ (20 ส.ค.) พ.ต.ท.ประวุธ วงศ์สีนิล ผู้บัญชาการสำนักคดีคุ้มครองผู้บริโภค และสิ่งแวดล้อม กรมสอบสวนคดีพิเศษ นายเรวัต แสงโชติ เจ้าหน้าที่คดีพิเศษชำนาญการ ศูนย์ปฏิบัติการแผนที่ และภูมิสารสนเทศ สำนักคดีคุ้มครองผู้บริโภคฯ พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ สำนักศิลปากรที่ 15 ภูเก็ต และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ลงพื้นที่ชุมชนชาวเล ราไวย์ ต.ราไวย์ อ.เมือง จ.ภูเก็ต เพื่อเก็บพยานหลักฐานที่เกิดขึ้นก่อนปี 2497 โดยได้มีการสำรวจขุดหาโครงกระดูกของบรรพบุรุษในพื้นที่ชุมชน ซึ่งเป็นกิจกรรมสำคัญที่ชาวบ้านได้ทำกันมาในอดีต และรวมถึงการสอบสวนบุคคลที่อาศัยอยู่ในชุมชนแห่งนี้ก่อนปี 2497 ซึ่งยังมีชีวิตอยู่ ทั้งนี้ เพื่อให้ชาวบ้านใช้เป็นพยานหลักฐานในการสู้คดี หลังมีกรณีพิพาทระหว่างชาวบ้านในชุมชนกับนายทุนผู้อ้างกรรมสิทธิ์ในที่ดินมาตั้งแต่ปี 2508 และออกโฉนดที่ดินได้เมื่อปี 2514และมีการฟ้องขับไล่ให้ชาวบ้านออกจากพื้นที่ที่เคยอยู่อาศัยมายาวนานกว่า 300 ปี โดยที่ดินดังกล่าวในปัจจุบันมีชาวเลอาศัยอยู่ร่วมกันอย่างแออัดกว่า 200 ครัวเรือน

พ.ต.ท.ประวุธ กล่าวว่า จากการที่ชาวบ้านได้มาร้องเรียนต่อกระทรวงยุติธรรม ก็ได้ร่วมมือกับหลายหน่วยงาน มีทั้งกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ และทางสำนักศิลปากรที่ 15 ภูเก็ต เข้ามาดำเนินการสำรวจว่าในกิจกรรมที่อยู่บนพื้นที่ชุมชนราไวย์ มีกิจกรรมอะไรบ้างในอดีตที่เขาได้ทำกันมา เราก็ได้รับทราบข่าวจากชาวบ้านว่า มีเรื่องของการฝังศพ ซึ่งเขามักจะฝังศพใกล้กับบ้านเรือนของเขา เนื่องจากความรักความผูกพัน เลยมีการฝังศพไว้จำนวนมาก

จากนั้นเราก็มาสำรวจว่า พื้นที่บ้านหลังไหนที่คิดว่าน่าจะมีศพฝังอยู่ ซึ่งประเพณีการฝังศพนั้นจะมีการนำเอาสิ่งของเครื่องใช้ รวมถึงเงินในอดีตฝังรวมอยู่ด้วย ถ้าเราเจอหลักฐานประเภทต่างๆ ก็สามารถตรวจสอบเรื่องอายุ ระยะเวลาต่างๆ ที่ใช้ในการฝัง และอายุโครงกระดูกศพเหล่านั้นได้ ซึ่งระยะเวลาการฝังจะสามารถนำมาโต้แย้งสิทธิกับผู้ที่อ้างสิทธิในการครอบครองได้ ส่วนหนึ่งคือเรื่องการตรวจดีเอ็นเอ ซึ่งเรามองว่าถ้ามีศพฝังอยู่ก็ควรตรวจดีเอ็นเอเปรียบเทียบกับคนที่ยังอยู่ ซึ่งน่าจะสามารถที่จะบ่งบอกถึงความสัมพันธ์ระหว่างคนตายกับคนที่ยังมีชีวิตอยู่ ว่าสิ่งที่เขามาใช้ชีวิตอยู่ที่ตรงนี้มันมีความเป็นมายังไง ก็น่าจะเป็นหลักฐานได้ดีส่วนหนึ่ง

“อย่างไรก็ตาม ในช่วงปี 2512 มีการเสด็จพระราชดำเนินของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มาเยี่ยมชุมชน ซึ่งเราเห็นในภาพยนตร์ที่เป็นพื้นที่ของชาวบ้าน มีหมู่บ้านอยู่ใต้ต้นมะพร้าวจำนวนมาก ซึ่งมองว่าในปี 2508 ที่มีการเอา ส.ค.1 มาออกเป็นโฉนดนั้น ถ้าชาวบ้านอยู่กันเต็มพื้นที่อย่างนี้ ทำไมชาวบ้านถึงไม่คัดค้านในการที่จะไปออกโฉนด เพราะการออกโฉนดนั้นต้องมีเจ้าหน้าที่มารังวัด ในขณะนั้นมีการรังวัดจริงหรือไม่ ถ้ามีการรังวัดจริง ทำไมชาวบ้านไม่คัดค้าน นี่เป็นประเด็นหนึ่งที่เราจะต้องมาสอบคนที่อยู่ในภาพยนตร์ มีคนที่ยังมีชีวิตอยู่ส่วนหนึ่ง อีกส่วนหนึ่งก็คือ เรื่องของโรงเรียน ซึ่งอยู่ใกล้พื้นที่ตรงนี้ คือ โรงเรียนวัดสว่างอารมณ์ ทางผู้อำนวยการโรงเรียนฯ ก็ได้แจ้งรายชื่อนักเรียน จำนวนประมาณ 30 คน ที่ได้เข้ามาเรียนในช่วง ปี 2400 กว่าๆ แล้วก็เรียนจบการศึกษาก่อนปี 2497 แล้วบางคนก็ยังมีชีวิตอยู่ เราก็มาสอบสวนว่าในขณะที่เขาเรียนอยู่นั้นมีหลักฐานอะไรที่บ่งบอกว่าเขาได้มาใช้ชีวิตอะไรในพื้นที่ที่เป็นข้อพิพาทอยู่ ก็เป็นหลายๆ ส่วนงานที่เราเข้ามาสอบสวนในครั้งนี้”

พ.ต.ท.ประวุธ กล่าวอีกว่า อย่างไรก็ตาม หลังจากรวบรวมข้อมูลส่วนต่างๆ ได้มากพอสมควรแล้ว เราก็จะมาสรุปประเด็นเกี่ยวกับพยานหลักฐานทั้งหมดที่มีอยู่ แล้วก็นำเสนอกับผู้บังคับบัญชาว่าเราจะใช้หลักฐานตรงนี้ในการที่จะมอบให้แก่ชาวบ้านเพื่อใช้ในการไปต่อสู้คดีได้อย่างไรบ้าง โดยในส่วนที่เป็นพยานหลักฐานหลังปี 2497 เรามีค่อนข้างพอสมควรแล้ว ส่วนวันนี้คือการหาพยานหลักฐานก่อนปี 2497 และตอนนี้เราพอมีหลักฐานแล้วบางส่วน แต่ยังไม่สมบูรณ์ทีเดียวนัก ก็คงต้องใช้ความละเอียดในการค้นหาต่อไป ก็คงจะไม่นานนัก
 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น