xs
xsm
sm
md
lg

ดีเอสไอลงชุมชนชาวเลราไวย์เก็บหลักฐานพิสูจน์สู้คดีถูกขับไล่

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ศูนย์ข่าวภูเก็ต - ดีเอสไอ ลงพื้นที่ชุมชนชาวเลราไวย์ จ.ภูเก็ต หาข้อเท็จจริงการเข้าใช้ประโยชน์ในพื้นที่ หลังถูกนายทุนอ้างสิทธิในที่ดินทยอยฟ้องขับไล่ออกจากพื้นที่ที่เคยอยู่อาศัยมายาวนานกว่า 300 ปี

เมื่อเวลา 13.00 น. วันนี้ (5 เม.ย.) พ.ต.ท.ประวุธ วงศ์สีนิล ผู้บัญชาการสำนักคดีคุ้มครองผู้บริโภค และสิ่งแวดล้อม กรมสอบสวนคดีพิเศษ นายเรวัต แสงโชติ เจ้าหน้าที่คดีพิเศษชำนาญการ ศูนย์ปฏิบัติการแผนที่ และภูมิสารสนเทศ สำนักคดีคุ้มครองผู้บริโภคฯ พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่ชุมชนชาวเล ต.ราไวย์ อ.เมือง จ.ภูเก็ต เพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงการเข้าทำประโยชน์ในพื้นที่ของชาวเล หลังจากมีกรณีพิพาทระหว่างชาวบ้านในชุมชนกับนายทุนผู้อ้างกรรมสิทธิ์ในที่ดินมาตั้งแต่ปี 2508 และออกโฉนดที่ดินได้เมื่อปี 2514 และมีการฟ้องขับไล่ให้ออกจากพื้นที่ที่เคยอยู่อาศัยมายาวนานกว่า 300 ปี

โดยที่ดินดังกล่าวในปัจจุบันมีชาวเลอาศัยอยู่ร่วมกันอย่างแออัดกว่า 200 ครัวเรือน จากการลงพื้นที่ในครั้งนี้ เบื้องต้นเจ้าหน้าที่ได้มีการเก็บพยานหลักฐานจากบ่อน้ำสาธารณะ จำนวนหลายบ่อ และโครงกระดูกมนุษย์ที่มีการขุดพบในชุมชนเมื่อวันที่ 21 มีนาคมที่ผ่านมา เพื่อนำไปตรวจสอบหาข้อเท็จจริงการเข้ามาอาศัยของชาวเล

พ.ต.ท.ประวุธ กล่าวถึงการลงพื้นที่ชุมชนชาวเลราไวย์ในวันนี้ว่า สืบเนื่องจากกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ ได้เข้ามาดูปัญหาของชุมชนชาวเลราไวย์ ต.ราไวย์ ที่มีการฟ้องร้องสู้คดีกันอยู่ หลังจากชาวบ้านได้มีการร้องขอให้ทางกรมสอบสวนคดีพิเศษมาช่วยดูเรื่องพยานหลักฐาน ซึ่งจากการที่ได้ศึกษาในการต่อสู้คดีของชาวบ้าน พบข้อบกพร่องหลายอย่าง ทั้งในเรื่องของพยานหลักฐานที่ไม่สามารถพิสูจน์ความเก่าได้ เพราะฉะนั้นในเรื่องของพยานหลักฐานจึงเป็นสิที่จะต้องค้นหาความจริงว่า พื้นที่ตรงนี้เป็นพื้นที่ที่ชุมชนมาอยู่ก่อนเจ้าของที่ดินคนแรกที่มีหลักฐานตาม ส.ค.1 หรือไม่

“จุดนี้คือความยากที่จะต้องค้นหาความจริง และมีหลายๆ อย่างที่จะต้องดู เช่น เรื่องภาพถ่ายทางอากาศที่เรามีอยู่ ตอนนี้เราก็ได้ถึงปี 2493 แล้วก็ไล่เรียงมาตั้งแต่ปี 2510, 2519, 2538 จนถึงปัจจุบัน พบว่า ชุมชนเคยอยู่มาตั้งแต่ปี 2510 แต่ว่าข้อมูลปี 2493 เรากำลังจะได้มา ก็จะได้ความชัดเจนมากขึ้น ว่าเคยมีการเข้าอยู่ของคนชุมชนนี้ก่อนที่จะมีการออก ส.ค.1 หรือไม่” พ.ต.ท.ประวุธ กล่าวและว่า

การลงพื้นที่ในวันนี้ จะดูในเรื่องตำแหน่งของสิ่งปลูกสร้างที่เกิดขึ้นในอดีตว่ามีปรากฏอยู่ในภาพหรือไม่ โดยเฉพาะภาพถ่ายทางอากาศปี 2493 กล่าวคือ ถ้ามีก็แสดงให้เห็นถึงการใช้ประโยชน์ของชุมชนบริเวณนี้ อย่างเช่น เรื่องของบ่อน้ำสาธารณะ ซึ่งเป็นจุดสำคัญที่ชุมชนได้ใช้ร่วมกัน เราก็จะสามารถจับพิกัด ตำแหน่งเหล่านี้ในภาพ แล้วให้ผู้เชี่ยวชาญดูว่าตำแหน่งนั้นๆ เคยมีบ่อน้ำตามที่ชาวบ้านอ้างไว้หรือไม่

อีกเรื่องคือ เรื่องโครงกระดูกมนุษย์ที่ขุดพบล่าสุด ถ้าตรวจสอบได้ว่าความเก่าของโครงกระดูกที่พบมีความเก่าขนาดไหน ก็อาจจะเป็นพยานหลักฐานที่บ่งบอกถึงการคงอยู่ หรือการเข้าอยู่ในพื้นที่ตรงนี้ ก็คงจะต้องเอาไปคุยกับทางผู้เชี่ยวชาญ ทางด้านนิติวิทยาศาสตร์ และผู้เชี่ยวชาญด้านโบราณคดีที่จะมาดูถึงสิ่งที่จะเกิดขึ้นต่อไปว่า จะหาหลักฐานที่จะพิสูจน์ความเก่าได้หรือไม่

พ.ต.ท.ประวุธ กล่าวต่อไปว่า สิ่งที่เราทำเป็นการค้นหาความจริง ไม่ใช่ไปสร้างพยานหลักฐาน เป็นการค้นหาความจริงที่เกิดขึ้น เพราะฉะนั้น การเก็บหลักฐานทุกชิ้นต้องเก็บโดยเจ้าหน้าที่ผู้มีความเชี่ยวชาญ เพื่อให้การได้พยานหลักฐาน มีที่มาที่ชัดเจน ซึ่งตอนนี้เราก็มีพยานหลักฐานหลายชิ้นที่มีประโยชน์อย่างมาก ที่เรารวบรวมไว้ ก็คิดว่าคงจะใช้อีกเวลาประมาณ 2-3 เดือน ในการรวบรวมพยานหลักฐานจากชุมชนแห่งนี้
 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น