ศูนย์ข่าวภูเก็ต - อธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ ลงพื้นที่รับฟังปัญหาชุมชนราไวย์ จังหวัดภูเก็ต กรณีพิพาทเรื่องที่ดินกับนายทุน และการฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวเลตามมติ ครม. เมื่อ 2 มิ.ย.2553
วันนี้ (15 มี.ค.) ที่บริเวณหมู่ที่ 2 ชุมชนชาวไทยใหม่ราไวย์ ต.ราไวย์ อ.เมือง จ.ภูเก็ต พ.ต.อ.ณรัชต์ เศวตนันทน์ อธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ พร้อมคณะ ได้ลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริง และรับฟังปัญหากรณีราษฎรชุมชนชาวหาดเลราไวย์ โดยมี นางนงภรณ์ รุ่งเพ็ชรวงศ์ ผู้อำนวยการกองพิทักษ์สิทธิและเสรีภาพ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนชาวไทยใหม่ชุมชนราไวย์ ร่วมรับฟังกว่า 300 คน
พ.ต.อ. ณรัชต์ กล่าวว่า การลงพื้นที่ในวันนี้ เพื่อรับฟังปัญหาของชาวเลชุมชนราไวย์ และปัญหาข้อร้องเรียนของประชาชนกรณีที่ทางชุมชนชาวเลราไวย์ หมู่ที่ 2 ต.ราไวย์ ที่เกี่ยวกับการพิพาทเรื่องสิทธิในที่ดินกับนายทุน และแนวนโยบายการฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวเลตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 2553 โดยในวันนี้ ทางคณะได้เดินทางเพื่อจะประชุมร่วมพี่น้องประชาชนชาวเลหาดราไวย์ ซึ่งมีคดีฟ้องร้องว่า บุกรุก และถูกไล่ออกจากที่อยู่ซึ่งอยู่มาตั้งแต่บรรพบุรุษ นอกจากนั้น วิถีชีวิตชาวเลมีการหากิน การจับปลาทำการประมงพื้นบ้านเล็กๆ น้อยๆ ซึ่งถูกทางหน่วยราชการปฏิบัติตามหน้าที่ คือ กรมอุทยานฯ ที่ดูแลบริเวณหมู่เกาะสิมิลันทำการจับกุม อันนี้กรมคุ้มครองสิทธิก็จะเป็นหน่วยงานกลางของกระทรวงยุติธรรม เพื่อที่จะได้ดูแลให้พี่น้องประชาชนชาวเลกลุ่มนี้ได้รับความเป็นธรรม แล้วก็มีช่องทางต่อสู้ในเรื่องของการถูกจับกุม การถูกฟ้องไล่ที่ต่างๆ
และในเวลา 14.00 น. ของวันเดียวกัน ที่ห้องประชุมศาลากลางจังหวัดภูเก็ต พ.ต.อ.ณรัชต์ เศวตนันทน์ อธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ พร้อมคณะ ได้ประชุมที่ศาลากลาง ประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหลายหน่วย ทั้งตำรวจ อัยการ กรมที่ดิน กรมอุทยานฯ และภาคประชาชนด้วย
พ.ต.อ.ณรัชต์ กล่าวว่า สิ่งที่เป็นรูปธรรมที่พี่น้องถูกจับกุมดำเนินคดีที่หมู่เกาะสิมิลันหลายราย ทางกรมฯ ก็ได้ใช้เงินกองทุนจากยุติธรรมวางเป็นหลักประกันในการร้องขอศาลให้มีการปล่อยตัวชั่วคราว โดยใช้เงินไปเป็นแสนบาทเพราะมีหลายราย ในส่วนของเรื่องพิพาทที่ดินทางกรมฯ ก็เป็นตัวกลางเชิญเจ้าหน้าที่จากกรมที่ดิน จากกระทรวงมหาดไทย เจ้าหน้าที่ดีเอสไอ และสำนักงานตำรวจแห่งชาติมาช่วยกันประชุมชี้แจง แล้วก็หาแนวทางในการต่อสู้คดี รวมทั้งเราก็ได้ใช้เงินจากกองทุนยุติธรรมเช่นเดียวกันว่าจ้างทนายความให้ทำหน้าที่เป็นทนายแก้ต่างให้กลุ่มพี่น้องประมาณ 10 กว่ารายที่ถูกฟ้องขับไล่ และขณะนี้ ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาให้ออกจากที่อยู่อาศัย
นางนงภรณ์ รุ่งเพ็ชรวงศ์ ผู้อำนวยการกองพิทักษ์สิทธิและเสรีภาพ กล่าวว่า สำหรับกรณีชาวบ้านถูกฟ้องไล่ที่ ทางกรมฯ ได้ใช้เงินจากกองยุติธรรมจ้างทนายต่อสู้คดีให้ และถ้าหากเป็นคดีถูกจับกุมในการทำประมง ซึ่งกรมฯ ก็ใช้เงินจากกองทุนยุติธรรมเป็นหลักในการปล่อยตัวชั่วคราว สำหรับที่เป็นรูปธรรมก็คงจะอยู่ในลักษณะนี้ รวมทั้งทางกรมฯ จะเป็นหน่วยงานกลางในการประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อหาทางช่วย และต่อสู้คดีต่อไป
พ.ต.อ.ณรัชต์ ยังกล่าวอีกว่า จากการที่ดูแผนที่ รวมทั้งฟังจากการเล่าของชาวเลหาดราไวย์ และจากหลักฐานภาพต่างๆ อีกทั้งภาพถ่ายทางอากาศ พบว่า ชาวเลหาดราไวย์เหล่านี้เข้ามาอยู่นานแล้ว เพียงแต่ว่าจะอยู่นานกว่าที่เจ้าของที่ดินแจ้งการครอบครองไว้หรือไม่ ตรงนี้เป็นสิ่งที่เราจะต้องไปหาข้อมูลเพิ่มเติม และอีกส่วนหนึ่งคือ เรื่องของการเข้าอยู่เป็นระยะเวลานานๆ ซึ่งอาจจะเป็นเรื่องที่เจ้าของที่ดินไม่ได้เข้ามาดูแลที่ดิน จนทำให้ชาวบ้านมาอยู่กันเป็นระยะเวลาที่เหมือนกับลักษณะการครอบครองมาอย่างต่อเนื่อง นานเกินกว่า 10 ปี ก็อาจจะเป็นช่องทางทางกฎหมายอย่างหนึ่งที่ชาวบ้านอาจจะร้องเรื่องการครอบครองปรปักษ์
พ.ต.อ.ณรัชต์ กล่าวทิ้งท้ายว่า สำหรับวันนี้น่าจะมีความชัดเจนมากขึ้น เรื่องของแนวทาง ข้อจำกัด เรื่องของปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นปัญหาเรื่องการเข้าถึงพยานหลักฐาน ซึ่งก็เชื่อว่าชาวบ้านเองคงจะหาทางยากที่จะเข้าถึงพยานหลักฐาน ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในภาครัฐแล้วข้อมูลเหล่านี้นอกจากใช้ภาครัฐแล้ว ยังต้องใช้ผู้เชี่ยวชาญพิเศษในการวิเคราะห์ ซึ่งเป็นความยากลำบากในการด้อยโอกาสของชาวบ้านที่จะเข้าถึงตรงนี้ เมื่อทางกรมมีข้อมูลมานำเสนอทางชาวบ้านรู้สึกพอใจหลักฐานเหล่านั้น แล้วก็น่าจะมีแนวทางในการที่จะหาหนทางในการป้องกันสิทธิของตนเองได้เท่าที่มีอยู่ต่อไป