xs
xsm
sm
md
lg

ดีเอสไอบูรณาการ 3 หน่วยงานขุดศพพิสูจน์สิทธิในที่ดินช่วยเหลือชาวเลราไวย์

เผยแพร่:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม

นายชัยเกษม นิติสิริ รมว.ยุติธรรม (แฟ้มภาพ)
DSI บูรณาการ 3 หน่วยงานขุดศพพิสูจน์สิทธิในที่ดินช่วยเหลือชาวเลราไวย์ กรณีชาวบ้านชุมชนราไวย์ หมู่ที่ 2 ต.ราไวย์ อ.เมือง จ.ภูเก็ต ร้องเรียนถูกกลุ่มนายทุนออกเอกสารสิทธิทับที่ดินทำกินเนื้อที่ประมาณ 30 ไร่ ริมชายทะเลหาดราไวย์ ซึ่งมีมูลค่าไม่ต่ำกว่า 20 ล้านบาท/ไร่ หรือเป็นเงิน 600 ล้านบาท

เมื่อเวลา 9.30. วันที่ 21 ส.ค. ที่กระทรวงยุติธรรม นายชัยเกษม นิติสิริ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม พร้อมด้วยนายสุชน ชาลีเครือ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม นายปิติพงศ์ เต็มเจริญ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม นายกิตติพงษ์ กิตยารักษ์ ปลัดกระทรวงยุติธรรม นายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) และคณะผู้บริหารกระทรวงยุติธรรม เปิดเผยถึงกรณีที่ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (ขปส.) ได้ยื่นข้อเรียกร้องต่อนายกรัฐมนตรีให้แก้ไขปัญหาความเดือดร้อนด้านคดีความ กรณีชุมชนราไวย์ หมู่ที่ 2 ต.ราไวย์ อ.เมือง จ.ภูเก็ต ถูกกลุ่มนายทุนออกเอกสารสิทธิทับที่ดินทำกินเนื้อที่ประมาณ 30 ไร่ ริมชายทะเลหาดราไวย์ ซึ่งมีมูลค่าไม่ต่ำกว่า 20 ล้านบาท/ไร่ หรือเป็นเงิน 600 ล้านบาท

สืบเนื่องจากที่ผ่านมาชาวเลราไวย์ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ดังกล่าวตั้งแต่สมัยบรรพบุรุษในช่วงรัชกาลที่ 5 และไม่เคยคิดอยากจะมีเอกสารสิทธิแต่กลับถูกนายทุนมาแย่งสิทธิจนได้รับความเดือดร้อน 247ครัวเรือน จำนวน 2,067 คน ซึ่งบุคคลเหล่านี้กำลังจะกลายเป็นคนไร้ที่อยู่อาศัย โดยผู้ที่มีชื่อในโฉนดที่ดินได้ฟ้องขับไล่ชาวบ้านออกจากพื้นที่ เนื่องจากความไม่รู้กฎหมายและไม่มีความรู้ด้านการรวบรวมพยานหลักฐาน จึงทำให้ไม่สามารถต่อสู้สิทธิในที่ดินแปลงนี้ได้ ในเบื้องต้นศาลได้มีคำพิพากษาให้ชาวบ้านออกจากพื้นที่ ขณะนี้คดีอยู่ระหว่างอุทธรณ์

นายธาริต กล่าวว่า ต่อมาดีเอสไอได้ร่วมกับกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ และ สำนักศิลปากรที่ 15 ภูเก็ต ในการให้ความช่วยเหลือในการค้นหาพยานหลักฐานที่จะพิสูจน์สิทธิได้ว่าการแจ้งหลักฐานทับที่ดินของชาวบ้านเป็นการแจ้งข้อความอันเป็นเท็จรวมถึงการออกเอกสารสิทธิโดยมิชอบหรือไม่ และพบว่ากิจกรรมที่ชาวเลราไวย์ได้กระทำในอดีตในยุคสงครามโลกครั้งที่ 2 คือ ประเพณีการฝังศพไว้ใกล้บ้านในพื้นที่พิพาท ซึ่งชาวเลราไวย์มีความผูกพันกับผู้เสียชีวิตที่เป็นญาติของตน จึงได้ฝังศพไว้ใกล้บ้าน อย่างไรก็ตามปัจจุบันเมื่อประชากรในชุมชนเพิ่มมากขึ้น จึงมีการปลูกบ้านพักอาศัยทับพื้นที่ฝังศพดังกล่าว ซึ่งคณะทำงานพิจารณาเห็นว่าหากมีการฝังศพจำนวนมากอยู่จริง ก็น่าจะเป็นพยานหลักฐานชิ้นหนึ่งที่จะประกอบพยานหลักฐานในส่วนอื่นๆ ในการพิสูจน์สิทธิที่ดินได้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องระยะเวลาการฝัง อายุโครงกระดูก และความสัมพันธ์ระหว่างโครงกระดูกกับคนในชุมชนที่จะต้องตรวจหา DNA ของคนที่ยังมีชีวิตอยู่เทียบเคียงกับผู้ที่เสียชีวิต โดยได้รับการสนับสนุนจากกองทุนยุติธรรม จำนวน 800,000 บาท เพื่อเป็นค่าจ่ายในการตรวจพิสูจน์DNA ของโครงกระดูกดังกล่าว ทั้งนี้คณะทำงานดังกล่าวข้างต้นจึงได้ร่วมกันวางแผนงานในการปฏิบัติการ ในครั้งนี้ โดยได้เริ่มดำเนินการขุดศพของบรรพบุรุษของชาวเลเมื่อวันอังคารที่ 20 ส.ค.ที่ผ่านมา เวลา 9.00 น. เป็นต้นไป จากนั้นก็จะให้ สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ และ สำนักศิลปากรที่ 15 ภูเก็ต ไปทำการตรวจพิสูจน์ต่อไป

อธิบดีดีเอสไอ กล่าวต่อว่า นอกจากพยานหลักฐานดังกล่าวแล้ว คณะทำงานดีเอสไอ นำโดย พ.ต.ท.ประวุธ วงศ์สีนิล ผู้บัญชาการสำนักคดีคุ้มครองผู้บริโภคและสิ่งแวดล้อม และคณะ ยังได้รวบรวมพยานหลักฐานจากแหล่งต่างๆ ที่สามารถนำไปสู่การพิสูจน์สิทธิที่ดินให้กับชาวเลราไวย์ ซึ่งจะต้องใช้ผู้เชี่ยวชาญหลายด้าน อาทิ ผู้เชี่ยวชาญด้านแผนที่และรูปถ่ายทางอากาศ ผู้เชี่ยวชาญด้านการอ่าน แปล วิเคราะห์ภาพถ่ายทางอากาศ ผู้เชี่ยวชาญด้านโบราณคดี และ ผู้เชี่ยวชาญด้านนิติวิทยาศาสตร์ โดยดีเอสไอเชื่อว่าพยานหลักฐานที่ได้จะใช้เป็นพยานหลักฐานที่สำคัญในการต่อสู้คดีให้เกิดความเป็นธรรมต่อไป
(แฟ้มภาพ)นายธาริรต เพ็งดิษฐ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ
กำลังโหลดความคิดเห็น