โดย...ศูนย์ข่าวหาดใหญ่
แม้การเมืองจะถูกทำให้ระอุเดือดอยู่ในกรุงเทพฯ แต่ได้สร้างความรู้สึกรุ่มร้อนให้แก่ผู้คนไปทั่วทั้งประเทศ เช่นเดียวกัน ไฟใต้ถูกทำให้คุโชนบนแผ่นดินด้ามขวาน แต่เปลวไฟก็ได้เผาผลาญหัวใจผู้คนไปทั้งชาติได้อย่างสาหัสสากรรจ์
ทั้งหมดทั้งปวง แม้จะเป็นฝีมือของบรรดาสมุนบริวารว่านเครือของระบอบทักษิณ แต่ก็สัมผัสได้ว่า ในเบื้องหลังมีเงาทะมึนของสัมภเวสีหนีคุกโหยหาแผ่นดินเกิดไว้ฝังกาย ซึ่งเวลานี้ควรเรียกขานกันให้เต็มปากเต็มคำ และเต็มยศว่า “นักโทษชาย (นช.) ทักษิณ ชินวัตร”
แม้ห้วงเวลาเดือนรอมฎอน หรือเดือนอันศักดิ์สิทธิ์ของผู้นับถือศาสนาอิสลาม จะพ้นไปหมาดๆ จากการประกาศของจุฬาราชมนตรี ให้วันที่ 8 ส.ค.ที่ผ่านมา เป็นวันอีฎิ้ลฟิตรี ประจำปีฮิจเราะห์ศักราช 1434 แต่ยังมีมุสลิมอีกจำนวนมากปฏิบัติศาสนกิจถือศีลอดต่อเนื่องไปอีกราวสัปดาห์ หรือสิบวัน จึงนับว่ายังไม่ผ่านช่วงเดือนอันศักดิ์สิทธิ์เสียทีเดียว เป็นที่คาดการณ์กันว่า ปฏิบัติการสร้างความรุนแรงเพื่อโหมไฟใต้ให้ปะทุคุโชนจึงยังจะดำเนินต่อเนื่องไป
สำหรับประชาชนบนแผ่นดินจังหวัดชายแดนภาคใต้ และต้องรวมถึงคนไทยทั่วทั้งประเทศด้วย ต่างมากมายความหวังว่าเดือนรอมฎอนปีนี้จะกลายเป็น “เดือนแห่งสันติภาพ” เนื่องจากรัฐบาลโดย พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ได้นำคณะไปเปิดเวทีพูดคุยสันติภาพกับกลุ่มที่อ้างตนเป็นตัวแทนขบวนการแบ่งแยกดินแดนในพื้นที่ที่มีนายฮัสซัน ตอยิบ แกนนำกลุ่มบีอาร์เอ็น โคออดิเนต เป็นหัวหน้าทีมไว้แล้ว โดยยินยอมให้ตัวแทนของประเทศมาเลเซียรับหน้าที่เป็นผู้ประสานงาน
อีกทั้งเป็นข่าวใหญ่มาตั้งแต่ก่อนเข้าสู่เดือนถือศีลอดมาแล้วว่า ทั้งฝ่ายรัฐไทย และบีอาร์เอ็นต่างได้ร่วมกันแสดงเจตนาไว้แล้ว จะร่วมมือกันทำให้เดือนรอมฎอนปีนี้ เป็นเดือนที่ปราศจากความรุนแรงในพื้นที่ชายแดนใต้เป็นเวลา 40 วัน หรือระหว่างวันที่ 10 ก.ค.-18 ส.ค.2556 โดยทั้งสองฝ่ายจะพยายามลดปฏิบัติการเชิงรุกต่อกัน เพื่อแดสงให้เห็นความจริงใจ พันธะผูกพัน และความจริงจังในการแสวงหาทางออกต่อปัญหาร่วมกันใน “เวทีการพูดคุยสันติภาพ” ที่ดำเนินมาตั้งแต่วันที่ 28 ก.พ.2556 และมีการตั้งโต๊ะเจรจากันอย่างเป็นทางการไปแล้วหลายหน
แต่ปรากฏว่า เข้าสู่เดือนรอมฏอนได้เพียงช่วง 3-4 วันเท่านั้น ที่ปรากฏสถานการณ์ความรุนแรงในพื้นที่ชายแดนใต้ดูจะมีความหวัง แต่หลังจากนั้นเป็นต้นมากลับกลายเป็นเกิดเหตุร้ายขึ้นต่อเนื่อง แถมดำเนินไปในลักษณะที่โน้มเอียงไปในทางที่ดูจะรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ ไม่ว่าจะเป็นการยิงรายวัน ลอบวางระเบิดแสวงเครื่อง มอเตอร์ไซค์บอมบ์ และคาร์บอมบ์ รวมถึงการวางเพลิงเผาย่านธุรกิจการค้า โรงงาน โรงเรียน และสถานที่ราชการ แถมยังมีการเหยียดหยามเยาะเย้ยทั้งติดป้ายผ้า หรือเขียนด่าทอรัฐไทยตามถนนหนทาง และสถานที่ต่างๆ
ล่าสุด ในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา เกิดเหตุสะเทือนขวัญคนไทยอีกครั้งคือ เหตุการณ์ยิงนายยะโก๊บ หร่ายมณี อิหม่ามประจำมัสยิดกลางปัตตานี โดยกลุ่มโจรใต้กระทำการอย่างอุกอาจใช้จักรยานยนต์เป็นพาหนะ มือสังหารชายฉกรรจ์ที่ซ้อนท้ายถือปืนแบบโชว์หราไปในตลาดนัดกลางเมืองปัตตานี ก่อนที่จะยิงเข้าใส่เหยื่ออย่างไม่ปรานี แถมไม่หนำใจลงไปจ่อยิงซ้ำจนเสียชีวิตคาที่ เมื่อช่วงเย็นของวันที่ 5 ส.ค.ที่ผ่านมา ขณะที่เขา และภรรยากำลังจับจ่ายซื้อของเพื่อไปเตรียมอาหารสำหรับออกบวชช่วงค่ำ
สำหรับนายยะโก๊บ ไม่ใช่เป็นที่ยอมรับในแวดวงราชการและมุสลิมเท่านั้น แต่ยังเป็นบุคคลสำคัญทางศาสนา เป็นผู้ที่มีผลงานดีเด่น และมีรางวัลการันตีมากมาย เป็นครูบาอาจารย์ และผู้ทรงคุณวุฒิทางการศึกษา ที่สำคัญ เป็นตัวแทนประเทศไทยในการสร้างความเข้าใจกับสถานการณ์ความไม่สงบแก่คณะองค์กรมุสลิมโลก (OIC) องค์กรสันนิบาตโลกมุสลิม (รอบิเฏาะห์) รวมถึงองค์กรมุสลิมประเทศออสเตรเลีย, ตุรกี, สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และสภาคองเกรส สหรัฐอเมริกา เป็นต้น จึงไม่แปลกที่จะกลายเป็นข่าวครึกโครม และนักข่าวต่างประเทศสำนักใหญ่ๆ ของโลกต่างหยิบเรื่องนี้ไปนำเสนอกันถ้วนหน้า
นอกจากนี้ ในรอบสัปดาห์ก่อนมีอีกประเด็นข่าวใหญ่ ซึ่งกลายเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์กันขรมไปทั้งบ้านทั้งเมือง อันเป็นผลสืบเนื่องจากกรณีความหวังของผู้คนที่จะได้เห็นสันติภาพในเดือนรอม ฎอน แต่ความหวังดังกล่าวกลับถูกทำให้ริบหรี่ลง แถมสิ่งที่วาดกันไว้ในอนาคตว่า เร็ววันนี้น่าจะได้เห็นสันติสุขบนแผ่นดินปลายด้ามขวานอันเกิดจากรัฐไทยไปขอให้มาเลเซียช่วยตั้งโต๊ะพูดคุยสันติภาพกับบีอาร์เอ็น เป็นเวลากว่าครึ่งปีมาแล้ว กลับกลายเป็นว่าตลอดช่วงเดือนรอมฎอนปีนี้แทบไม่มีแสงสันติภาพส่องสว่างให้เห็นแม้ที่ปลายอุโมงค์ เพราะโต๊ะเจรจาสันติภาพดังกล่าวกำลังถูกทำให้ล้มครืนลง
ข่าวที่สะพัดอยู่หลายวันระบุว่า จะด้วยการถูกบีบหรือตัดสินใจเองก็ตาม นายฮัสซัน ได้ทำหนังสือถึงตัวแทนฝ่ายมาเลเซียในฐานะผู้ประสานงานการเจรจาสันติภาพ เพื่อขอยุติบทบาทหัวหน้าทีมเจรจาของบีอาร์เอ็นกับฝ่ายไทย โดยให้เหตุผลไม่สามารถทำตามข้อตกลงเรื่องการยุติการก่อเหตุในพื้นที่ชายแดนใต้ของไทยช่วงเดือนรอมฎอนได้ ซึ่งเมื่อว่าที่ 5 ส.ค.ที่ผ่านมา ก็ได้ปรากฏเป็นข่าวตามหน้าสื่อต่างๆ ในไทย
พร้อมกันนั้น ข่าวยังระบุด้วยว่า พล.ท.ภราดร ทราบเรื่องแล้ว แต่ตามขั้นตอนต้องรอให้ฝ่ายมาเลเซียทำหนังสือแจ้งมาให้ฝ่ายไทยก่อน ส่วนที่ทีมเจรจาฝ่ายไทย รวมถึงคนในรัฐบาลที่ยังไม่ออกมาเปิดเผยเรื่องนี้โดยทันที เพราะเกรงจะกระทบต่อกระบวนการเจรจาสันติภาพที่กำลังเดินการอยู่ โดยเฉพาะกลัวจะกระทบภาพลักษณ์ความเชื่อมั่นของรัฐบาล
ไม่เพียงเท่านั้น ยังมีการตอกลิ่มจากคลิปวิดีโอที่ถูกโพสต์ในยูทิวบ์ชื่อ Pengistiharan keputusan Majlis Thura BRN แปลได้ว่า ประกาศประกาศมติสภาชูรอ (ที่ปรึกษา) BRN ระบุชื่อผู้โพสต์คือ Angkatan Bersenjata-BRN แปลได้ว่า ฝ่ายทหาร-บีอาร์เอ็น ความยาว 1 นาที 40 วินาที เผยแพร่เมื่อวันที่ 6 ส.ค. ภาพในคลิปวิดีโอเป็นบรรยากาศมืดทะมึน ประกอบด้วยชายฉกรรจ์ 3 คน คนหนึ่งนั่งโต๊ะอ่านแถลงการณ์เป็นภาษามลายู อีก 2 คนยืนถือปืนยาวขนาบซ้าย-ขวา ทั้งหมดสวมหมวกไหมพรมปิดคลุมใบหน้า แต่งชุดลายพรางทหาร และใช้ผ้าใบลายพรางทำเป็นฉากหลัง
เนื้อหาในคลิปดังกล่าวสรุปได้ว่า BRN คือขบวนการหนึ่งที่ต้องการปลดปล่อยชาวปาตานีจากการกดขี่ของนักล่าอาณานิคมสยาม มีเป้าหมายที่จะสถาปนาความยุติธรรม สันติภาพ และความสงบสุขแก่ชาวปาตานีในความหมายที่ว่า แผ่นดินที่ดี และได้รับความโปรดปรานจากพระเจ้า
“เมื่อพิจารณาข้อเสนอ 5 ข้อแรก และเงื่อนไข 7 ข้อหลัง เพื่อบรรลุข้อตกลง 30 วันเดือนรอมฎอน และ 10 วันเดือนเซาวาล พบว่า นักล่าอาณานิคมสยามมิได้ปฏิบัติตามเลยแม้แต่ข้อเดียว ในทางกลับกันนักล่าอาณานิคมสยามทำการบ่อนทำลาย โกหก และยังคงเผยแผ่การใส่ร้ายแก่ชาวปาตานี” ตอนหนึ่งของแถลงการณ์ในคลิประบุก่อนจะตามด้วย
“ดังนั้น เมื่อพิจารณาตามมติสภาชูรอ (ที่ปรึกษา) BRN ตราบใดที่นักล่าอาณานิคมสยามยังมีจุดยืนดังกล่าว นักล่าอาณานิคมสยามไม่มีสิทธิที่สานต่อการสานเสวนาสันติภาพ และไม่มีสิทธิอยู่ในพื้นแผ่นดินปาตานี และจะไม่มีตัวแทน BRN ในการสานเสวนาสันติภาพกับตัวแทนนักล่าอาณานิคมสยามตลอดไป”
ในช่วงท้าย ผู้อ่านแถลงการณ์ได้กล่าวคำว่า “สุขสันต์วันตรุษอีฎิ้ลฟิตรี” ก่อนที่จะเปล่งเสียงคำว่า “เอกราช เอกราช เอกราช”
อย่างไรก็ดี ในช่วงเวลาเดียวกัน นายฮัสซัน ก็ได้ให้สัมภาษณ์ข้ามประเทศจากมาเลเซียเป็นภาษามลายู แล้วสื่อในชายแดนใต้ของไทยหยิบมานำเสนอต่อ โดยแปลความได้ใน 3 ประเด็นคือ
ประเด็นแรก นายฮัสซัน ยืนยันว่า ยังสนับสนุนการพูดคุยสันติภาพ และพร้อมจะเดินหน้าต่อไป เนื่องจากขบวนการบีอาร์เอ็นมีความเชื่อมั่นว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นในชายแดนใต้ต้องจบลงบนโต๊ะเจรจา นอกจากนี้ รัฐบาลไทย และมาเลเซียจะต้องมีความจริงใจต่อกระบวนการพูดคุยสันติภาพด้วย
ประเด็นที่สอง นายฮัสซัน ยืนยันว่า บีอาร์เอ็นจะปฏิบัติการต่อบุคคลที่ถืออาวุธเท่านั้น หรือเป้าเข้มแข็ง เช่น ตำรวจ ทหาร อาสาสมัครรักษาดินแดน เป็นต้น บีอาร์เอ็นจะไม่ปฏิบัติการต่อเป้าอ่อนแอ เช่น โต๊ะอิหม่าม ครู ครูตาดีกา และสถานที่ทางเศรษฐกิจในพื้นที่ เป็นต้น ทั้งนี้ บีอาร์เอ็นคิดว่าจะต้องมีการสืบสวนต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับเป้าหมายอ่อนแอด้วย
นอกจากนี้ ทางบีอาร์เอ็นขอแสดงความเสียใจต่อการเสียชีวิตของ นายยะโก๊บ อิหม่ามประจำมัสยิดกลางปัตตานี ที่ถูกคนร้ายยิงเสียชีวิตเมื่อวันที่ 5 ส.ค.ที่ผ่านมา
ประเด็นที่สาม บีอาร์เอ็นมีความเชื่อมั่นในความหลากหลายการปกครองที่ยุติธรรม และยอมรับการเคารพผู้ที่นับถือศาสนาอื่น และอัตลักษณ์ในพื้นที่ ดังนั้น หากบีอาร์เอ็นได้อำนาจการปกครองจากรัฐบาลไทย ก็จะปกครองโดยให้ความสำคัญต่อความหลากหลายทางศาสนา และวัฒนธรรมด้วยความยุติธรรม ความเคารพในความหลากหลายเหล่านั้น
“เราจะปกครองเหมือนกับครอบครัวของเรา เพราะฉะนั้น คนไทยพุทธ และคนจีนในพื้นที่อย่าได้กังวลต่อขบวนการบีอาร์เอ็น ดังตัวอย่างประเทศมาเลเซียที่สามารถปกครองประชาชนของเขาที่มีความหลากหลายได้อย่างลงตัว” นี่คือคำยืนยันของแกนนำ และหัวหน้าทีมเจรจาของบีอาร์เอ็น
เป็นที่น่าสังเกตว่า ตลอดช่วงสัปดาห์มานี้ หรือห้วงเวลาก่อนจะสิ้นสุดเดือนรอมฎอน ไฟใต้ยังคงโชนเปลว เสียงกัมปนาทของระเบิด เสียงกึกก้องของกระสุนปืนยังมีขึ้นต่อเนื่อง และนั่นก็เป็นสิ่งยืนยันได้ชัดเจนว่า แท้จริงแล้วบีอาร์เอ็นไม่สามารถสั่งการกลุ่มเคลื่อนไหวในชายแดนใต้ให้หยุดปฏิบัติการในช่วงเดือนอันศักดิ์สิทธิ์ได้ ขณะเดียวกัน ก็มีสิ่งพิสูจน์ชัดแล้วว่า กลุ่มขบวนการแบ่งแยกดินแดนในพื้นที่ก็หาได้มีเอกภาพไม่ แต่กลับมากมายไปด้วยความเห็นต่าง และความขัดแย้ง
ดังนี้แล้ว “กลุ่มนักรบปาตานี” ที่เคลื่อนไหวปฏิบัติการอยู่ในชายแดนเวลานี้ ซึ่งแสดงตัวตนว่าไม่ได้ขึ้นตรง แถมยังเห็นแย้งกับบีอาร์เอ็นมาตลอดนั้น คลิปล่าสุดที่ออกมาในนามสภาซูรอ หรือที่ปรึกษาบีอาร์เอ็น กลุ่มคนเหล่านี้ได้แสดงศักยภาพให้เห็นแล้วว่า พวกเขาต้องการ “หักขาโต๊ะเจรจาสันติภาพ” กับรัฐไทยให้ล้มครืน
เช่นเดียวกัน แม้บีอาร์เอ็นจะพยายามรักษาภาพการเป็น “พี่เบิ้ม” ของกลุ่มแบ่งแยกดินแดนที่มีอยู่กลุ่มในภาคใต้ของไทย และมุ่มมั่นที่จะเดินหน้าเป็นตัวแทนพุดคุยเจรจาสันติภาพกับรัฐไทย แต่เมื่อสบโอกาสพวกเขาก็ไม่ยอมลดละที่จะแสดงอาการ “ตบหัวรัฐไทย” ด้วยข้อเสนอ หรือเงื่อนไขที่ได้เปรียบอยู่ตลอดเวลา
แต่นั่นยังไม่น่าขบคิดเท่าผู้แทนทีมเจรจาฝ่ายไทย โดยเฉพาะหัวหน้าคณะอย่าง พล.ท.ภราดร ที่มักจะให้การ “ปกป้อง” หรือ “แก้ต่าง” ให้แก่ฝ่ายบีอาร์เอ็นได้อย่างสม่ำเสมอตลอดมา และพร้อมๆ ที่จะทำทุกอย่างเพื่อรักษาไว้ซึ่ง “โต๊ะเจรจาสันติภาพ” ที่ถูกจัดตั้งขึ้นจากฝีมือของ นช.ทักษิณ ที่บงการรัฐบาลไทยอยู่นอกประเทศ
ล่าสุด มีสิ่งตอกย้ำได้เป็นอย่างดีคือ คำสัมภาษณ์แก่ผู้สื่อข่าวเมื่อวันที่ 7 ส.ค.ของ พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง ซึ่งเอ่ยถึงกรณีข่าวการถอนตัวของหัวหน้าคณะเจรจาฝ่ายบีอาร์เอ็นว่า ตนขอยืนยันว่า นายฮัสซัน ยังเป็นตัวแทนในการพูดคุย ส่วนจะมีการเปลี่ยนกลุ่มในการเจรจาหรือไม่นั้น ยังไม่มีการพูดคุยกัน ขณะที่ผู้อำนวยความสะดวกก็ยังคงเป็นตัวแทนของประเทศมาเลเซียเช่นเดิม
ท่าทีเยี่ยงนี้เท่ากับเป็นการตอกย้ำจากฟากฝ่ายรัฐบาลไทยว่า ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น ไม่ว่านักรบปาตานีจะแสดงศักยภาพอย่างไร ไม่ว่าบีอาร์เอ็นจะกระทำย่ำยีศักดิ์ศรีคนไทยอะไรบ้าง รัฐบาลไทยจะยังเดินหน้าตั้งโต๊ะขอเจรจาสันติภาพต่อไป.