xs
xsm
sm
md
lg

สมาคมผู้บริโภคสงขลาสำรวจขนมหน้าโรงเรียนพบ “ฉลากลวง” กว่า 83%

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ - ผลสำรวจฉลากขนมหน้าโรงเรียน 7 แห่ง ในหาดใหญ่ พบ “ฉลากลวง” เพียบ เด็กซื้อกินโดยไม่รู้ว่ามีอันตราย ร้านหน้าโรงเรียนไม่ตระหนัก ครูและผู้ปกครองรู้ปัญหาแต่จัดการไม่ได้ ขณะที่ สคบ.ยื่นหนังสือถึงผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัด ตั้งคณะทำงานตรวจสอบการจำหน่ายสินค้าหน้าโรงเรียน เพื่อคุ้มครองสุขภาพของเยาวชน

สมาคมผู้บริโภคสงขลา จัดเวทีความร่วมมือพัฒนาคุณภาพอาหารปลอดภัยในเทศบาลนครหาดใหญ่ เปิดเผยผลการสำรวจฉลากขนมเด็กที่จำหน่ายบริเวณหน้าโรงเรียน ในเขตเทศบาลนครหาดใหญ่ โดยดำเนินการสุ่มตรวจขนมหน้าโรงเรียนที่เป็นขนมซอง เพื่อสำรวจดูความเสี่ยงของข้อมูลฉลากขนม ในเขตเทศบาลนครหาดใหญ่ จำนวน 7 โรงเรียน ได้แก่ โรงเรียนเทศบาล 1, โรงเรียนเทศบาล 2, โรงเรียนเทศบาล 3, โรงเรียนเทศบาล 4, โรงเรียนเทศบาล 5, โรงเรียนพลวิทยา และโรงเรียนสหศาสตร์วิทยาคาร

พบว่า ไม่มีเลข อย. 27% และไม่พบเลขในสารบบ อย. 83% โดยขนมซองจำนวนมากอยู่ในสภาพไม่เหมาะสมที่จะให้เด็กรับประทาน หลายชนิดมีของเล่น และสติกเกอร์ปะปนอยู่กับตัวขนม นอกจากนี้ ฉลากขนมมีเลขสารบบ อย.ไม่เป็นจริง ตัวหนังสือขนาดเล็ก อ่านยาก ฉลากเป็นภาษาต่างประเทศ เช่น ภาษาอังกฤษ จีน มาเลเซีย อาหรับ หลายลักษณะ ซึ่งจัดได้ว่าเป็นข้อความลวง ทั้งมาตรฐานฮาลาล GMP และการใส่สัญลักษณ์มาตรฐานที่ไม่เป็นความจริง ซึ่งโดยรวมเรียกว่า “ฉลากลวง”

ทั้งนี้ ที่ผ่านมาเครือข่ายผู้บริโภค และภาคีเครือข่ายได้รณรงค์เรื่องการจัดการฉลากขนม ทั้งเรื่องวันผลิต วันหมดอายุ ที่ต้องระบุให้เห็นชัดเจน กำหนดขนาดตัวอักษรที่อ่านได้ง่าย ขนมนำเข้าต้องมีฉลากภาษาไทยกำกับ และรณรงค์ให้โรงเรียนบังคับใช้ฉลากขนมในลักษณะสัญญาณไฟจราจร เขียว เหลือง แดง ซึ่งนักโภชนาการ นายสง่า ดามาพงษ์ ที่ปรึกษากรมอนามัย ได้เสนอว่า นอกจากออกมาตรการควบคุมร้านค้าหน้าโรงเรียนแล้ว ต้องติดอาวุธทางปัญญาให้นักเรียนตระหนักถึงอาหาร และอาหารว่างที่ดีมีประโยชน์ด้วยโดยเสนอการให้เกรดขนมเป็นระดับเอ บี ซี

นอกจากนี้ จากการร่วมแลกเปลี่ยนประเด็นปัญหาขนมหน้าโรงเรียนกับภาคีเครือข่าย โรงเรียน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พบว่า มีปัญหาอันตรายรถเข็นกินทางฟุตปาธ เด็กต้องลงเดินบนถนน การจัดวางขนมของร้านค้ารถเข็นซึ่งเจตนาตั้งขนมให้เด็กเล็กเห็นเพื่อกระตุ้นการอยากซื้อ หลายโรงเรียนอยู่ใกล้ตลาดนัดทำให้ดูแลลำบาก ต้องการให้หน่วยงานรัฐสอดส่อง ครูเองก็กระทบกระทั่งกับร้านค้า และรถเข็นบ่อยครั้ง ผู้ปกครองกังวลตำหนิโรงเรียนแต่ก็เข้าใจสภาพคุณครู ปัญหาด้านสุขลักษณะอนามัยจะพบการใช้น้ำแข็งธรรมดา ปัญหาเรื่องน้ำส้มเทียม ปรุงผงชูรส ปัญหาทางโภชนาการ หวาน มัน เค็ม และปัญหาการปนเปื้อน ปนปลอมสารอันตราย

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ สคบ. ส่วนกลางได้ทำหนังสือส่งให้ผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัด ตั้งคณะทำงานตรวจสอบการจำหน่ายสินค้า และบริการบริเวณหน้าโรงเรียน โดยคณะทำงานชุดนี้ต้องจัดทีมออกสุ่มตรวจสินค้าที่ต้องสงสัยว่าจะเป็นอันตรายต่อเด็กนักเรียน เช่น ของเล่นอันตรายไม่มีคุณภาพ อาหาร และขนมขบเคี้ยว รวมถึงสินค้าต้องห้ามที่ สคบ.ได้ประกาศห้ามจำหน่ายไปก่อนหน้านี้ เพราะที่ผ่านมา ได้รับการร้องเรียนจากผู้ปกครองหลายรายว่าเห็นสินค้าดังกล่าวถูกลักลอบจำหน่ายอยู่เป็นจำนวนมาก ดังนั้น หากพบว่ามีจำหน่ายจริงผู้ค้าต้องถูกดำเนินคดีตามกฎหมายอย่างเด็ดขาดทันที

ซึ่งได้ออกกฎหมายฉบับใหม่ ระบุโทษที่รุนแรงขึ้นอีก 1 เท่าตัว คือ จากเดิมหากพบผู้กระทำความผิดลักลอบจำหน่ายสินค้าต้องห้าม มีโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน ปรับไม่เกิน 50,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ เพิ่มเป็นจำคุกไม่เกิน 5 ปี ปรับไม่เกิน 500,000 บาท ขณะผู้ที่ผลิต หรือนำเข้าสินค้าจากเดิมมีโทษเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่า คือ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ เพิ่มเป็นจำคุกไม่เกิน 10 ปี ปรับไม่เกิน 1 ล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ซึ่งปัญหาเหล่านี้ถ้ามีความผิดชัดเจนจะมีมาตรการทางกฎหมายที่ชัดเจน ก็จะแยกตามปัญหาหนักเบา โดย สคบ.จะร่วมกับตำรวจดำเนินการตรวจค้น และจับปรับถ้ามีข้อมูลการร้องเรียน

ทั้งนี้ ผู้เข้าร่วมหารือทั้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ครู ผู้ปกครอง และอาสาสมัครผู้บริโภค ต่างเห็นพ้องกันว่า ควรมีทั้งงานเชิงรับ และรุกอย่างต่อเนื่อง ควรมีการจัดทำข้อเสนอฉลากขนมที่เป็นมิตร และควรดำเนินการเพื่อติดตามและจัดวงพูดคุยร่วมกันในลักษณะงานเชิงบวก เนื่องจากปัญหาขนมมีความซับซ้อนในมิติสังคม จึงลำดับปัญหาหนักเบา เร่งด่วน ทำอะไรก่อน เบื้องต้นจะมีการจัดกิจกรรมรณรงค์เรื่องฉลากที่เป็นมิตรในโรงเรียน ในรูปแบบละครเร่ และการจัดกิจกรมหน้าโรงเรียน ซึ่งจะทำความเข้าใจในวงกว้าง และมีปฏิบัติการเฝ้าระวังอย่างเข้มข้นต่อไป

 
 



กำลังโหลดความคิดเห็น