xs
xsm
sm
md
lg

อาหารกึ่งสำเร็จโซเดียมเพียบ กินมากเสี่ยงโรคเรื้อรัง ตั้งเป้า 10 ปีลดเค็ม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เครือข่ายลดเค็ม ตั้งเป้าลดกินเค็ม 30% ใน 10 ปี อ้างวิจัยนอกช่วยประหยัดค่ารักษาพยาบาลปีละหมื่นล้านบาท จากการเจ็บตายเพราะความดัน หัวใจ และไต เร่งดันฉลากโภชนาการในอาหารแช่แข็ง อาหารสำเร็จรูปเพิ่ม หลังพบเป็นอาหารกลุ่มเสี่ยงโซเดียมเพียบ

วันนี้ (24 ก.ค.) ที่อาคารเฉลิมพระบารมี 50 ปี ผศ.นพ.สุรศักดิ์ กันตชูเวสศิริ ประธานเครือข่ายลดบริโภคเค็ม กล่าวแถลงข่าว “ข้อเท็จจริงของผลิตภัณฑ์อาหารที่มีโซเดียมมาก และส่งผลกระทบต่อผู้บริโภคและความสำเร็จในการสร้างเครือข่ายผู้ผลิตผู้ประกอบการ เพื่อการปรับลดโซเดียมในผลิตภัณฑ์อาหาร” จัดโดยโครงการขับเคลื่อนรณรงค์เพื่อลดการบริโภคเกลือ (โซเดียม) ในประเทศไทย สนับสนุนโดยสำนักงานกองทุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ว่า องค์การอนามัยโลกกำหนดให้ภายใน 10 ปี ประเทศสมาชิกต้องลดการบริโภคเกลือลงร้อยละ 30 ซึ่งผลการศึกษาของฟินแลนด์ และสหรัฐอเมริกา พบว่า หากลดบริโภคเค็มลงจะช่วยประหยัดค่ารักษาพยาบาลลงปีละหลายหมื่นล้านบาท และลดจำนวนผู้เสียชีวิตจากโรคเรื้อรัง เช่น ความดัน เบาหวาน โรคไต โรคหัวใจ ลง ซึ่งคิดเป็นความสูญเสียทางเศรษฐกิจและสุขภาพลง

ปัจจุบันประชาชนออกกำลังกายน้อยลง ทำให้ปริมาณเกลือไม่ถูกขับออกจากร่างกาย เกิดการบวมน้ำในหลอดเลือด ซึ่งเป็นตัวก่อให้เกิดโรคเรื้อรังต่างๆ โดยการดำเนินการตามเป้าหมาย คือ ลดปริมาณการบริโภคเกลือร้อยละ 30 ตามที่องค์การอนามัยโลกตั้งเป้าไว้นั้น จำเป็นต้องรณรงค์ให้ความรู้ประชาชน ผู้ประกอบการ ผู้ประกอบอาหาร เพื่อปรับสูตรอาหารให้ลดโซเดียมลง และให้ประชาชนรู้จักเข้าใจเรื่องของฉลากอาหาร ซึ่งจำเป็นต้องผลักดันให้เกิดฉลากที่มีสัญลักษณ์คำเตือน และผลักดันให้เกิดตราสัญลักษณ์อาหารที่ดีต่อสุขภาพ” ผศ.นพ.สุรศักดิ์ กล่าว

นายอารยะ โรจนวณิชชาการ หัวหน้าโครงการรณรงค์ลดการบริโภคโซเดียมผ่านการอ่านฉลาก สำนักอาหาร สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กล่าวว่า ปัจจุบัน อย.ได้พัฒนาฉลากโภชนาการ (จีดีเอ) โดยบังคับให้แสดงในอาหารขบเคี้ยวไปแล้ว 5 ประเภท และช่วงปลายปีนี้ จะบังคับเพิ่มเติมในอาหารแช่แข็ง อาหารสำเร็จรูป และขนมขบเคี้ยวเพิ่มเติม นอกจากนี้ มีการบังคับใช้กฎหมายกับผลิตภัณฑ์ที่แสดงฉลากไม่ถูกต้องอย่างต่อเนื่องด้วย ทั้งนี้ จากการสำรวจการแสดงข้อมูลโภชนาการและปริมาณโซเดียมบนฉลากอาหารในผลิตภัณฑ์อาหารสำเร็จรูปที่พร้อมบริโภคทันทีที่จำหน่วยในห้างสรรพสินค้าและร้านสะดวกซื้อ 9 แห่งในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล ในช่วง พ.ค. 2555 จำนวนทั้งสิ้น 3,281 ผลิตภัณฑ์ พบแสดงฉลากอาหาร 2,250 ผลิตภัณฑ์ คิดเป็นร้อยละ 68.8 จำนวนนี้มีการแสดงข้อความกล่าวอ้างทางโภชนาการ 522 ผลิตภัณฑ์ และแสดงฉลากถูกต้องตามข้อกำหนดของกฎหมาย 416 ผลิตภัณฑ์ ส่วนใหญ่เป็นการแสดงควบคู่กับฉลากโภชนาการแบบเต็ม 335 ผลิตภัณฑ์

ผศ.นพ.สุรศักดิ์ กล่าวว่า สำหรับการแสดงปริมาณโซเดียมบนฉลากอาหาร พบว่า อาหารกึ่งสำเร็จรูปมีปริมาณโซเดียมมากที่สุด คือ โลโบ ซุปเต้าเจี้ยวแดงกึ่งสำเร็จรูป มีปริมาณโซเดียมมากถึง 7,450 มิลลิกรัมต่อหนึ่งหน่วยบริโภค รองลงมาคือ มาม่า ก๋วยเตี๋ยวเส้นเล็กต้มยำ ปริมาณโซเดียมมากถึง 2,220 มิลลิกรัมต่อหนึ่งหน่วยบริโภค อย่างไรก็ตาม ยังไม่พบกล่าวอ้างปริมาณโซเดียมในผลิตภัณฑ์อาหารสำเร็จรูปที่พร้อมบริโภคทันที แต่พบในผลิตภัณฑ์เครื่องปรุงรส จำนวน 15 ชนิด เช่น น้ำปลา ซีอิ๊ว และเกลือบริโภค โดยมีข้อความว่า “ลดโซเดียม 40%” และ “โซเดียมน้อย” สำหรับกลุ่มอาหารที่ต้องระวังโซเดียม เช่น ขนมขบเคี้ยว มันฝรั่ง ปลาเส้น อาหารสำเร็จรูป อาหารกึ่งสำเร็จรูป อาหารประเภทเบเกอรี่ เป็นต้น โดยอาหารกลุ่มนี้มักจะเป็นโซเดียมแฝงทำให้ประชาชนได้รับโซเดียมสูงแบบไม่รู้ตัว


กำลังโหลดความคิดเห็น