xs
xsm
sm
md
lg

การอ่านฉลากโภชนาการช่วยควบคุมเบาหวาน/ดร.ฉัตรภา หัตถโกศล

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สำหรับผู้ที่เป็นโรคเบาหวานการทำความเข้าใจและอ่านฉลากโภชนาการก่อนเลือกสินค้าบริโภคนั้น จะได้รับประโยชน์อย่างมาก ผู้ที่เป็นโรคเบาหวานมักคิดว่าไม่สามารถรับประทานของหวานหรือน้ำตาลได้เลยดังนั้นจึงพยายามอย่างยิ่งที่จะเลี่ยงของหวาน แต่แท้ที่จริงแล้วตัวที่ทำให้ค่าของน้ำตาลเปลี่ยนแปลงนั้นไม่ได้มาจากน้ำตาลเพียงอย่างเดียว สารหลักที่มีผลต่อระดับน้ำตาลในเลือด คือคาร์โบไฮเดรต ซึ่งกลุ่มอาหารที่ให้คาร์โบไฮเดรต ได้แก่ กลุ่มข้าว แป้ง น้ำตาล กลุ่มผลไม้ และกลุ่มนมและผลิตภัณฑ์ ดังนั้นหากสามารถอ่านฉลากโภชนาการและทำความเข้าใจก็จะสามารถช่วยให้ตัดสินใจเลือดอาหารที่ดีขึ้น ค่าที่ควรสังเกตบนฉลากโภชนาการได้แก่

ค่าคาร์โบไฮเดรตทั้งหมด ซึ่งเป็นค่ารวมของทั้ง แป้ง น้ำตาล และใยอาหารในหนึ่งหน่วยบริโภค เป็นค่าที่สำคัญที่สุดที่ผู้ที่เป็นโรคเบาหวานควรพิจารณา เมื่อเทียบอาหารในกลุ่มเดียวกันเช่นขนมปัง ควรเลือกชนิดที่มีค่าของคาร์โบไฮเดรตทั้งหมดต่ำ แต่หากเท่ากันก็ควรพิจารณาค่าอื่นประกอบ

ค่าของใยอาหารที่มีอยู่ในผลิตภัณฑ์นั้นๆ ยิ่งมีค่าของใยอาหารสูงก็ยิ่งดี เนื่องมาจากใยอาหารเป็นคาร์โบไฮเดรตชนิดที่ร่างกายไม่สามารถย่อยได้และไม่ส่งผลให้ระดับน้ำตาลเพิ่มขึ้น และยังมีส่วนช่วยชะลอการดูดซึมน้ำตาลเข้าสู่ร่างกาย จากการศึกษาพบว่าอาหารที่มีใยอาหารสูงช่วยควบคุมโรคเบาหวาน ช่วยลดการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด ช่วยลดการเกิดโรคมะเร็งที่บางอวัยวะ

ค่าของน้ำตาล ค่านี้บอกถึงปริมาณน้ำตาลที่มีอยู่ในผลิตภัณฑ์อาหาร ค่านี้คือของน้ำตาลที่มีอยู่ในธรรมชาติของอาหารเช่นน้ำตาลจากผลไม้ (ฟรุกโตส) และ น้ำตาลจากนม (แลกโตส) รวมกับค่าของน้ำตาลที่เพิ่มเติมลงไปในอาหารเพื่อเพิ่มรสชาติ
ค่าของไขมันอิ่มตัว หากผลิตภัณฑ์อาหารใดยิ่งมีค่าของไขมันอิ่มตัวมาก ผู้ที่เป็นโรคเบาหวานก็ควรที่จะหลีกเลี่ยง เพราะไขมันอิ่มตัวยิ่งทำให้เพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดในผู้ที่เป็นโรคเบาหวาน เลือกผลิตภัณฑ์ที่มีค่าของไขมันอิ่มตัวไม่เกิน 1-2 กรัมต่อหนึ่งหน่วยบริโภคจะดีที่สุด

ค่าของโซเดียม อาหารที่มีโซเดียมสูงจะส่งผลให้มีความเสี่ยงต่อโรคความดันโลหิตสูง และในผู้ที่มีภาวะของไตทำงานผิดปกติก็ควรอย่างยิ่งที่จะลดการบริโภคโซเดียม อาหารในกลุ่มของอาหารสำเร็จรูปและขนมขบเคี้ยวส่วนมากแล้วจะมีปริมาณของโซเดียมที่สูง ดังนั้นเพื่อสุขภาพที่ดีของผู้ที่เป็นโรคเบาหวานแล้วควรเลือกอาหารที่มีโซเดียมต่ำกว่า 400 มก.ต่อหนึ่งหน่วยบริโภคและวันหนึ่งไม่ควรเกิน 2,300 มก.และอย่าลืมว่าโซเดียมมากับอาหารอีกหลายอย่างที่ไม่มีฉลากบริโภค จึงควรลดปริมาณเกลือจากอาหารอื่นๆ ด้วย

ในปัจจุบันมีฉลากโภชนาการอีกรูปแบบหนึ่ง เนื่องมาจากข้อมูลของสำนักนโยบายและยุทธศาสตร์กระทรวงสาธารณสุข สำนักงานโรคไม่ติดต่อในช่วงปี พ.ศ. 2543-2554 พบว่าอัตราการตายต่อประชากร 100,000 คน จะพบมากด้วยโรคกลุ่มโรคหัวใจและหลอดเลือด ซึ่งได้แก่โรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจขาดเลือด โรคหลอดเลือดสมองใหญ่ (อัมพฤกษ์ อัมพาต) และโรคเบาหวาน สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) จึงได้ออกประกาศกระทรวงสาธารณสุขการแสดงฉลากของอาหารสำเร็จรูปที่พร้อมบริโภคทันทีบางชนิด (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2554 ขึ้นมาใช้เพื่อบังคับให้ผู้ผลิตอาหารแสดงฉลากกำกับอาหารในรูปแบบใหม่เพื่อให้ผู้บริโภคเข้าใจและสามารถเลือกซื้อผลิตภัณฑ์อาหารได้ดีขึ้นโดยกำหนดให้ใช้กับผลิตภัณฑ์อาหาร 5 ชนิด ได้แก่ มันฝรั่งทอดกรอบ หรืออบกรอบ ข้าวโพดคั่ว หรืออบกรอบ ข้าวเกรียบ หรืออาหารขบเคี้ยวชนิดอบพอง ขนมปังกรอบหรือแครกเกอร์ หรือบิสกิต และเวเฟอร์สอดไส้ และอาจมีผลิตภัณฑ์เพิ่มเติมมากขึ้นในอนาคต โดย 5 ชนิดที่บังคับอยู่นี้ต้องแสดงฉลากโภชนาการ โดยบังคับให้แสดงค่าพลังงาน น้ำตาล ไขมัน และโซเดียม ในรูปแบบ GDA บนฉลากด้านหน้าบรรจุภัณฑ์ (Guideline Daily Amounts) หรือที่เรียกว่า “ฉลากหวาน มัน เค็ม” ซึ่งมีรูปทรงกระบอกหัวท้ายมนในแนวตั้งเรียงติดกันจำนวน 4 แท่ง และปริมาณร้อยละของปริมาณที่แนะนำให้บริโภคต่อวันในรูปแบบ GDA ไว้ที่ส่วนหน้าของฉลากโดย คุณค่าทางโภชนาการต่อ 1 หน่วยบรรจุภัณฑ์ เช่น 1 ถุง 1 ซอง 1 กล่อง ควรแบ่งกิน__ครั้งคือการแสดงจำนวนครั้งที่แนะนำให้กินสำหรับกรณีที่หนึ่งหน่วยบรรจุภัณฑ์มีมากกว่าหนึ่งหน่วยบริโภคหากเขียนว่า 2 ครั้งหมายความว่าควรแบ่งกิน 2 ครั้งหรือแบ่งกิน 2 คน พลังงาน พลังงานจะมีความแตกต่างกันในแต่ละบุคคลขึ้นอยู่กับหลากหลายปัจจัยเช่น อายุ เพศ กิจกรรมในแต่ละวัน ภาวะการเจ็บป่วย เป็นต้น พลังงานคิดเป็นกิโลแคลอรีโดยค่าสูงสุดอยู่ที่ 2,000 กิโลแคลอรี (100%) น้ำตาล คือน้ำตาลที่มีอยู่ในอาหารนั้นๆทั้งน้ำตาลธรรมชาติและน้ำตาลที่เติมเข้าไปในอาหาร/เครื่องดื่ม ปริมาณสูงสุดที่แนะนำในแต่ละวันคือ 65 กรัม (100%) ไขมัน คือไขมันทั้งหมดที่มีอยู่ในอาหารทั้งไขมันในอาหารเองตามธรรมชาติ และวิธีการปรุงประกอบที่ใช้ไขมัน/น้ำมันเพิ่มเข้าไป ปริมาณสูงสุดที่แนะนำในแต่ละวันคือ 65 กรัม (100%) โซเดียม คือปริมาณของสารที่มีโซเดียมเป็นส่วนประกอบทั้งหมดที่มีอยู่ในอาหาร/เครื่องดื่ม ซึ่งรวมถึงเกลือ ผงชูรส ผงฟู ซอสปรุงรสเป็นต้น ปริมาณสูงสุดที่แนะนำในแต่ละวันคือ 2,400 มิลลิกรัม แม้ว่าฉลากโภชนาการแบบ GDA หรือฉลากหวาน มัน เค็มจะช่วยให้เราเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ได้ง่ายขึ้นและเห็นปริมาณของน้ำตาล ไขมัน และโซเดียมแต่ก็ควรที่จะดูข้อมูลของคุณค่าทางโภชนาการโดยละเอียดโดยดูตารางข้อมูลโภชนาการบนฉลากด้านหลัง

ดังนั้นสำหรับผู้ที่เป็นเบาหวาน การอ่านฉลากโภชนาการที่มีระบุไว้ทั้งด้านหน้าและด้านหลังบรรจุภัณฑ์จะเป็นอีกหนึ่งตัวช่วยที่ช่วยให้การควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดดีขึ้น และเมื่อควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้ดีก็จะช่วยควบคุมการเกิดภาวะเรื้อรังที่มาจากเบาหวานภายหลังได้ เช่น โรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง โรคไต โรคระบบประสาท โรคตาเสื่อม และจะช่วยให้ผู้ที่เป็นเบาหวานสามารถรับประทานอาหารหรือเลือกซื้ออาหารรวมถึงขนมถุงต่างๆ ได้อย่างคนปกติ


กำลังโหลดความคิดเห็น