xs
xsm
sm
md
lg

ผ่าตัดกระเพาะ! รักษาโรคอ้วนอุ้ยอ้าย ไม่ง่ายอย่างที่คิด!?

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

By Lady Manager

คงเคยได้ยินกันมาบ้างถึงการผ่าตัดกระเพาะ ทว่ายังมีคนจำนวนไม่น้อยที่ยังเข้าใจผิด คิดว่าเป็นอีกวิธีเนรมิตหุ่นเป๊ะผอมสลิม

จริงๆ แล้ว จุดมุ่งหมายของการผ่าตัดลดขนาดกระเพาะคือ รักษาคนที่เป็นโรคอ้วน ถึงขั้นเดินเหินใช้ชีวิตประจำวันลำบาก บวกกับหลายโรคแทรกซ้อน

การผ่าตัดกระเพาะจึงเป็นอีกทางเลือกหนึ่งสำหรับผู้ป่วยโรคอ้วน เพราะนอกจากจะช่วยควบคุมโรคแทรกซ้อนจากโรคอ้วนแล้ว ยังควบคุมน้ำหนักในระยะยาวไม่ให้กลับมาอีกด้วย

แต่การผ่าตัดเพื่อให้คุณกินได้น้อยลงนี้ก็ไม่ชิลล์เลย ไม่ใช่ผ่าตัดเสร็จ..น้ำหนักลด..จบ หากยังมีอีกหลายประเด็นต้องระวังทำความเข้าใจ ไม่ว่าจะผลข้างเคียง และผลกระทบด้านจิตใจ?!?


ว่าไปแล้ว ในเมืองไทยเรามีไม่กี่โรงพยาบาลชั้นนำเปิดบริการผ่าตัดกระเพาะรักษาโรคอ้วน และแทบหาตัวหมอที่มีความรู้ความสามารถทำการผ่าตัดกระเพาะได้น้อยมาก ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ปรีดา สัมฤทธิ์ประดิษฐ์ ท่านเป็นศัลยแพทย์หนึ่งเดียวในโรงพยาบาลรามาธิบดี ที่มีความเชี่ยวชาญด้านการผ่าตัดลดขนาดกระเพาะค่ะ

“ไม่ได้ทำเพื่อความงาม แต่ทำเพื่อสุขภาพ เพราะโรคอ้วนเสี่ยงมีโรคอื่นเยอะ อายุก็สั้นลง” อ.หมอปรีดาเคลียร์ก่อน

คนที่เป็นโรคอ้วน นอกจากรูปร่างอุ้ยอ้าย ทำอะไรก็ไม่สะดวก รู้สึกอึดอัดอยู่ตลอดเวลาแล้ว ยังมักเป็นโรคอื่นๆ อีก อาทิ ความดันโลหิตสูง เบาหวาน โรคหัวใจ อัมพฤกษ์ อัมพาต ทำให้อายุสั้นกว่าคนทั่วไปเป็นสองเท่า

BMI ชี้โรคอ้วน ลดวิธีอื่นไม่ได้ผล

“ในทางการแพทย์แบ่งภาวะของการมีน้ำหนักเกินออกเป็นหลายระดับ ตั้งแต่ระดับเท่าไรถึงขึ้นเป็นโรคอ้วน ใช้วิธีวัดที่เรียกว่าเป็น BMI (Body Mass Index ดัชนีมวลกาย) โดยชั่งน้ำหนักและวัดส่วนสูง คิดง่ายๆ มีสูตร เอาน้ำหนักตั้งและหารด้วยส่วนสูงที่เป็นเมตรยกกำลังสอง ถ้าสูง 158 ซม. ก็เอา 1.58 ยกกำลังสองไปหาร

คนปกติทั่วไปที่ไม่อ้วนไม่ผอม BMI ประมาณ 20-24 ดังนั้นขึ้นไปถึง 35-40 เป็นโรคอ้วนแน่ คนไทยคนเอเชียแปซิฟิคเกิน 37 ถือเป็นโรคอ้วนแล้ว ฝรั่งก็ 40”

อ.หมอปรีดา เผยว่าส่วนใหญ่คนไข้ที่มีค่าดัชนีมวลกาย 35 ขึ้นมาไป มักมีโรคต่างๆ นานาติดตัวมาเยอะ อย่าง ความดันโลหิตสูง เบาหวาน ซึ่งมีความเสี่ยงเป็นโรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง และคนไข้เหล่านี้ก็มักใช้วิธีลดน้ำหนักอื่นๆ มาก่อนแต่ไมได้ผล

“ส่วนใหญ่พยายามวิธีอื่นมาแล้ว คนไข้ที่นี่มีทางเลือกเยอะ เรามีโภชนศาสตร์ที่ดูแลเกี่ยวกับการลดน้ำหนัก อ.ทางโภชนศาสตร์ดูแลให้ก่อน ถ้าไม่สำเร็จและคนไข้เลือกที่จะผ่า เค้าก็จะส่งมา”

ทว่าแพทย์จะไม่ผ่าให้ง่ายๆ

“ถึงจะเป็นคนไข้ที่พุ่งตรงมาหา ผมก็จะแนะนำให้ไปลดวิธีอื่นก่อน ทั้งๆ ที่รู้ว่ารายนี้มีโอกาสลดน้ำหนักยากมากถ้าไม่ผ่า ผมไม่ผ่าทุกรายที่ walk in เข้ามา เพราะจะประเมินก่อนว่าเค้าจะไหวไหม เค้าเข้าใจการผ่าตัดนี้มากน้อยแค่ไหน รู้มั้ยว่าจะเจออะไร”

ไม่ผอมทันที กินจิ๊บๆทั้งชีวิต

นั่นสิ เจออะไร? อ.หมอปรีดาแจง

“ถ้าจะผ่า ต้องตั้งใจมา เพราะการผ่านี้ไม่ใช่เล่นๆ

การผ่าตัดเพื่อรักษาโรคอ้วนมันมีผลข้างเคียง หวังผลสำเร็จได้ระดับหนึ่ง ไม่ใช่ว่าทำแล้วจะสะโอดสะอง สวย เหมือนนางแบบ ไม่ใช่อย่างนั้น มันลดได้ในระดับหนึ่งเท่านั้น จะค่อยเป็นค่อยไป เพราะทำเพื่อสุขภาพ ถ้าผอมลงเร็วเกินไป ก็จะโทรม ตีคร่าวๆ อาทิตย์ละ 1 กิโลกรัม สมมติตั้งเป้าว่าจะลดให้ได้ 50 กิโลกรัม ก็ต้องใช้เวลา 1 ปี

ที่สำคัญ หลังผ่าตัดเสร็จ จะกินได้น้อยลง จากกินเป็นชามๆ จะกินได้แค่ 3-4 ช้อน กินต่อไม่ได้แล้ว มันจะมีผลกระทบต่อจิตใจและร่างกายเยอะ

คนไข้บางท่านบอกอยากเซอร์ไพรส์ บางคนหนีลูกมาผ่า ก็ต้องเรียนคนไข้ว่าไม่ควร บอกเลยว่าก่อนผ่าตัดต้องผ่านความเห้นชอบจากครอบครัวจากที่บ้านก่อน เพราะของพวกนี้เวลาทำเสร็จมีผลกระทบเยอะ ถ้าเกิดผลไม่เป็นอย่างที่คิดล่ะ ผ่าเสร็จป่วย กินไม่ได้ แล้วเครียด กลายเป็นโรคซึมเศร้า หรืออาจลดไม่ได้ดีเหมือนที่หวังล่ะ

ผมต้องคุยกับคนไข้ก่อนผ่าตัดเยอะ เคสหนึ่งอย่างต่ำครึ่งชั่วโมง ต้องแจ้งให้ทราบอย่างนี้ๆ นะ เพราะข้อมูลการผ่าตัดเรื่องนี้ไม่ค่อยมี คนไข้หาข้อมูลไม่ค่อยได้ และไม่รู้ว่าต้องเผชิญอะไรบ้าง

ผมจะคุยข้อดีข้อเสีย คุณหวังผลอะไรได้บ้างจากการผ่า และจะดำเนินการยังไง หมายความว่า หลังจากนี้จะอีกนานไหมกว่าน้ำหนักจะลง พอผ่าตัดเสร็จแล้วคุณต้องเตรียมตัวอย่างไรบ้าง และคุณจะหวังผลได้เท่าไร”

หลังผ่าฯ หมั่นหาหมอ ปรับการกิน

ไม่ใช่ขึ้นเขียงแล้วจบ อ.หมอปรีดาเผยพฤติกรรมหลังผ่าตัดสำคัญสุด คือ หลังผ่าตัดต่างหาก

“ปัญหาคือว่า คนไข้มาจากทั่วประเทศ มาแล้วผ่าแล้วและไม่กลับมาหาเราอีก คนไข้ผมประมาณ 1 ใน 5 หายไป ไม่มา ผมไม่ทราบว่าท่านเป็นไง ไม่มาอีกเลยและติดต่อไม่ได้ ซึ่งอันนี้น่ากลัว เพราะหลังผ่าตัดเกิดภาวะแทรกซ้อนได้ ตั้งแต่น้ำหนักไม่ลง หรือว่าน้ำหนักลงมากจนขาดอาหารไปเลย หรือกินแล้วกินไม่ได้ เดี๋ยวก็อาเจียน หรืออาการบางอย่างที่เกิดจากอาหารบางอย่างที่เกิดจากการผ่าตัดบายพาส กลืนแล้วทุกข์ทรมาน หรือบางคนเป็นโรคซึมเศร้า กินไม่ได้เลย

คือ ต้อง follow มาหาหมอตามนัด 2-3 เดือนแรก เจอกันบ่อย 2-3 อาทิตย์เจอกันที เพราะช่วงนี้เป็นช่วงเปลี่ยนผ่าน ทำอะไรแทบไม่ได้เลยต้องค่อยๆ ให้ผ่าน กินอาหารที่มีคุณค่ามากขึ้น บางคนกินอะไรไม่ได้ ก็ไปซัดน้ำหวาน ซึ่งไม่มีประโยชน์ หมอจะคอยแนะนำ มียาให้ บางเคสก็ให้ส่งจิตแพทย์ดูแล”

อ.หมอปรีดาบอกว่า คนไข้หลังผ่าตัดต้องเน้นกินโปรตีน

“เมื่อกินได้น้อยลง ต้องกินของที่มีประโยชน์ จะแนะนำให้กินโปรตีนมากหน่อย กินคาร์โบไฮเดรตที่เป็นไฟเบอร์มากๆ อย่าง พวกผัก เนื่องจากดูดซึมยากกว่า

กินไขมันน้อยหน่อย หลีกเลี่ยงคาร์โบไฮเดรตที่ดูดซึมง่ายๆ อย่าง พวกข้าวแป้งน้ำตาล อาหารเส้นทั้งหลาย ไม่กินได้เลยยิ่งดี”

ทั้งนี้ก็มีคนไข้จำนวนไม่น้อยไม่ชนะใจตัวเอง ลงทุนพาตัวเองไปผ่าตัดเป็นแสน แต่ยังคงกินมากๆ เหมือนเดิม

“เคสนั้น 230 กิโลกรัม ถือว่าล้มเหลว เพราะคนไข้กลับไปแล้วหยุดตัวเองไม่ได้ กินโดนัทวันละ 8 ชิ้น กินตามใจปาก ทั้งที่ขนาดกระเพาะเปลี่ยนแล้ว เค้ามีวิธีกินของเค้า ธรรมชาติเป็นสิ่งมหัศจรรย์”

และธรรมชาติก็สามารถทำให้กระเพาะที่ถูกผ่าตัดไปแล้วกลับมาเด้งใหญ่เหมือนเดิม

“ต้องบอกว่า-มี ไม่เกี่ยวกับน้ำหนักขึ้นหรือลง ผ่าแล้วคนไข้กลับมา น้ำหนักไม่ลงตามสูตร ก็ต้องดูว่ามีภาวะแทรกซ้อน มันขยายไหม หรือที่บายพาสแล้ว คนไข้บายพาสตัวเองกลับไปแล้ว บางทีเนื้อมันกลับไปเชื่อมกันเองได้ ไอ้ที่บายพาสไว้ก็ไม่มีผลแล้ว

ขณะเดียวกันก็มีเคสน้ำหนักขึ้น ไม่เกี่ยวกับที่ผ่าตัดไว้ ดูก็เหมือนเดิมทุกอย่าง แต่พอซักถาม ก็ได้ความว่าคนไข้กลับไปกิน"

ไม่อยากแบกนน.หลายสิบโลฯ ต้องยืนด้วยตัวเอง

“ในความเห็นผม การผ่าตัดกระเพาะเป็นเพียงเครื่องมืออันหนึ่งเท่านั้นเองที่จะช่วยให้คนไข้ยืนบนขาตัวเองได้ แต่ถ้าเค้ายังตั้งหน้าตั้งตาที่จะดิ่งลงเหว ไม่ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ผ่ายังไงก็ไม่มีประโยชน์

ต้อง manage เรื่องการกิน ผมเห็นคนไข้ที่ประสบความสำเร็จเค้ามีความสุขขึ้นมาก เพราะว่าเค้าไม่ต้องแบกน้ำหนัก 40-50 โลฯ

คนที่เป็นโรคอ้วน สมมติน้ำหนักที่เกิน 40 โลฯ ถ้าลดได้สักครึ่ง 20 โลฯ สบายแล้ว ถือว่าลดได้ครึ่งหนึ่งของน้ำหนักที่เกิน คิดดูซิครับว่าถ้าคุณต้องแบกเป้หนัก 10 โลฯ ทุกวัน ไปไหนก็แบกเป้นี้ไปด้วย ติดตัวอยู่ตลอด จะเป็นยังไง

พอน้ำหนักลดลง จะรู้สึกว่าเหนื่อยน้อยลง ไม่ต้องแบกน้ำหนักวันละ 20-30 โลฯ หัวใจทำงานลดลง อะไรที่มันจุกตรงคอ ก็จะหายใจโล่งขึ้น หลับสบายขึ้น”

*รูปแบบการผ่าตัดกระเพาะที่ได้รับความนิยมในปัจจุบัน*

ศาสตร์วิชาการผ่าตัดกระเพาะมีมา 60-70 ปีแล้ว หลากหลายรูปแบบทีเดียว ทว่าแต่ปัจจุบันมีไม่กี่สไตล์ที่ได้รับความนิยม

“หลักการคือ ทำให้กระเพาะรับอาหารได้น้อยลง อาจจะเย็บให้เล็กลง อาจจะตัดออกบางส่วน หรือว่าทำเป็นบายพาส” อ.หมอปรีดา ให้ข้อมูลคร่าวๆ เข้าใจง่ายดังนี้

ใส่เข็ดขัดรัดกระเพาะ ดังมากเมื่อ 8-9 ปีก่อน ไปรัดกระเพาะอาหารตอนบน ทำให้กระเพาะอาหารมีขนาดเล็กลง พออาหารลงมาก็ติดอยู่ตรงนี้ สักพักคนไข้ก็จะรู้สึกอิ่ม และอาหารจะค่อยๆ ผ่านมาตรงรูเล็กๆ

อีกวิธีเรียก ทำบายพาสกระเพาะ (Gastric Bypass) ตัดกระเพาะส่วนต้นให้เหลือเล็กลง คือ กระเพาะจะเหลือลูกเล็กๆ ส่วนกระเพาะใหญ่ๆ ยังอยู่นะ แต่ไม่ทำงาน มันจะอยู่ข้างล่าง แบ่งมันออกไป

ยุคหลังๆ มี ทำสลีฟ (Sleeve Gastrectomy) คล้ายๆ เจียนกระเพาะให้เล็กลง ตัดบางส่วนออกไป เหลือกระเพาะที่เป็นท่อเล็กๆ กินแล้วจะอิ่มเร็ว ไม่ค่อยหิว มีผลที่เกี่ยวกับฮอร์โมนในลำไส้”

ข้อดีเด่นของสองวิธีหลังคือ ทำบายพาสกระเพาะเหมาะกับคนไข้ที่ชอบบริโภคของหวานหรือแป้งมากๆ เป็นโรคเบาหวานอยู่แล้ว ส่วนทำสลีฟก็ง่าย เร็ว สะดวก

“การทำบายพาสจะช่วยเบาหวานได้แต่ต้นๆ เลย ร่ายกายเกิดการเปลี่ยนแปลง ทำให้เบาหวานดีขึ้นมากเลย มันเป็นกลไกของเค้าเอง ทางการแพทย์ตอบชัดเจนไม่ได้ว่าทำไม แต่เรารู้ว่าผลมันเป็นอย่างนี้ มีผลต่อการดูดซึมน้ำตาล และอื่นๆ ที่ยังไม่รู้ แต่สุดท้ายเบาหวานจะดีขึ้น

กรณีคนไข้ไม่มีเบาหวานรุนแรง หรือไม่มีประวัติว่าชอบดื่ม หรือทานอาหารที่มีแป้งและน้ำตาลมากๆ ก็ทำสลีฟ เพราะง่ายและเร็ว”

และด้วยวิทยาการสมัยใหม่ที่สะดวกและปลอดภัยกว่า บรรดาหมอๆ ชอบผ่าตัดด้วยการส่องกล้องมากกว่าเปิดหน้าท้อง

“ถ้าเลือกได้จะใช้วิธีส่องกล้อง ตัวแผลจะเล็กกว่า มันจะเป็นแผลเล็กๆ หลายๆ แผล ประมาณ 4-6 แผล คนไข้จะฟื้นตัวเร็วกว่าเยอะ ยิ่งคนอ้วนถ้าผ่าเปิดหน้าท้อง แผลจะใหญ่มากๆ เลย และคนพวกนี้โดยพื้นฐานไม่แข็งแรงเลย มีโรคซ่อนเต็มไปหมด ไตจะวาย ติดเชื้อ ปอดบวม อะไรเต็มไปหมด”


>>
อัพเดตข่าวในแวดวงสังคม ก็อซซิป แฟชั่น ความงาม และเที่ยว กิน ดื่ม เพิ่มเติมได้ที่ 
 http://www.celeb-online.net
 
กำลังโหลดความคิดเห็น