xs
xsm
sm
md
lg

โฆษก กอ.รมน.ภ.4 ส่วนหน้า สะท้อนสื่อ “ข่าวร้ายลงฟรี ข่าวดีเสียตังค์”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สุดท้าย บีอาร์เอ็น ก็ประกาศยุติการก่อเหตุรุนแรงในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และ 4 อำเภอ จังหวัดสงขลา หลังจากยึกยักไม่ยอมประกาศ แต่อย่างไรก็ตาม การประกาศยุติการก่อเหตุดังกล่าวในช่วงเดือนรอมฎอน ส่งผลให้ประชาชนในพื้นที่มีความรู้สึกดีขึ้น และสามารถปฏิบัติศาสนกิจในเดือนแห่งความประเสริฐได้อย่างสบายใจ แต่ผู้รักษาความปลอดภัย ไม่นิ่งนอนใจ ต้องเตรียมพร้อมอยู่เสมอ
พ.อ.ปราโมทย์ พรหมอินทร์ โฆษก กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า
 
“ASTVผู้จัดการภาคใต้” : หากเกิดเหตุรุนแรงขึ้นมาอีกในช่วงเดือนรอมฎอนนี้ ได้มีมาตรการรองรับไว้อย่างไรบ้าง

พ.อ.ปราโมทย์ พรหมอินทร์ โฆษก กอ.รมน.ภ.4 สน. : เรามีแผนอยู่แล้ว ซึ่งตอนนี้เรามีการมุ่งเน้นในมาตรการเชิงรับ ก็คือการดูแลพื้นที่ดูแลประชาชน ส่วนเรื่องของอุบัติเหตุเราไม่สามารถปฏิเสธได้ เราไม่สามารถเชื่อมั่นได้ว่าเขาสามารถที่จะสั่งให้ยุติได้จริงหรือไม่ และจากสถิติข้อมูล 5 ปี ย้อนหลังในช่วงก่อนรอมฎอน ระหว่างรอมฎอน และหลังรอมฎอน เหตุการณ์จะสูงกว่าช่วงปกติประมาณ 2.5 เท่า คือ คนตายเพิ่มขึ้นประมาณจากวันละ 1 ก็เป็น 2 ในช่วงรอมฎอน

เขาต้องการสื่ออะไร สื่อให้สังคมคิดว่า ประชาชนรวมตัวกันติดป้ายผ้า จริงๆ แล้วมันเป็นวิธีการที่เขาทำขึ้นมาง่ายๆ เหมือนอย่างคราวที่แล้ว มาจากโรงงานเดียวกันเลย อีกคนเอาไป 10 ป้าย อีกคนเอาไป 5 ป้าย กระจายให้ครบทุกจังหวัด ทำให้ภาพมันดูใหญ่ จริงๆ ต้องไปถามชาวบ้าน บางครั้งผมมองว่า ข้อเรียกร้องของภาคประชาสังคม หรือใครก็ตามที่พยายามอ้างชาวบ้าน อ้างประชาชน มันเป็นตัวแทนของประชาชนจริงหรือเปล่า ในการทำอะไรก็ตาม ต่อให้จัด 1,000 เวที 10,000 เวที แต่ตัวแทนชาวบ้านที่ไป มันเป็นกลุ่มโจรไหม ครอบคลุมทุกกลุ่มเป้าหมายไหม ชาวบ้านเขารู้นะ เขาไม่ได้โง่ ไม่สามารถที่จะหลอกเขาได้ ในการทำอะไรก็ตามมันต้องเคารพในสิทธิของพี่น้องประชาชนที่เป็นตัวแทนของพี่น้องประชาชนอย่างแท้จริง เรามามองแค่คนเล่นไม่กี่คนแล้วมาบอกเป็นความต้องการของชาวบ้านไม่ได้ ถ้าทำถือว่าดูถูกชาวบ้าน

 
:ทำไมคนร้ายถึงก่อเหตุได้ ทั้งๆ ที่มีเจ้าหน้าที่ ดูแลรักษาความปลอดภัยอยู่ตลอด

: คือต้องยอมรับนะว่า พื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ 37 อำเภอ 290 ตำบล 1,970 หมู่บ้าน ถ้าคิดเป็นตารางกิโลเมตร มันเยอะมาก กำลังเจ้าหน้าที่มีแค่ 60,000 กว่าคน ทหาร 30,000 กว่า ตร. 10,000 กว่า อส. 10,000 มันไม่สามารถดูแลได้ตลอด 24 ชม. ถ้าทุกคนไม่ช่วยกันดูแลด้วย ต้องเห็นใจชาวบ้านบางครั้ง เหมือนเป็นตัวกลาง ตัวประกัน อยู่ตรงกลางระหว่าง 2 ฝ่าย เขาก็ไม่กล้าที่จะแจ้ง เพราะว่าเขาอาจจะกลัว เพราะฉะนั้น ในส่วนนี้ถามว่าทำไมก่อเหตุได้ เขาใช้เวลาแค่นิดเดียวในห้วงเวลาสั้นๆ ชาวบ้านก็ไม่กล้าแจ้ง ไม่กล้าบอก ใครเป็นคนทำ ที่ผ่านมาก็จับได้ตลอดจากหลักฐานของดีเอ็นเอ คือโทษมันไม่เยอะโทษมันนิดเดียว ไม่ได้ส่งผลกระทบอะไรมากมาย ทุกคนต้องเข้าใจในระบบของปัญหา

อย่างกรณีแขวนป้ายป่วน หลายๆ คน โทร.มาถามว่า แล้วมันมีกี่ป้าย มันมีสาระตรงไหน ถ้าเรามัวมาแย่งกันนำเสนอข่าวว่ากี่ป้ายๆ เท่ากับไปเชิดชูเขา เขาจะใช้เครื่องมือของเราในการสื่อความหมายไปสู่การรับรู้ซ้ำแล้วซ้ำอีก เมื่อคนฟังซ้ำๆ โดยเฉพาะคนที่ไม่ได้อยู่ในพื้นที่ เขาเชื่อ เช่น ทหารใช้ความรุนแรง รัฐใช้ความรุนแรง รัฐกลับกลอก รัฐใส่ร้าย รัฐอะไรก็ตาม คนข้างนอกเขาเชื่อ ถ้าเราช่วยกันนำเสนอในเชิงวิเคราะห์ ว่าเขาทำแบบนี้ทำไม มันเกิดผลดีผลเสียยังไง ถ้าทุกคนช่วยกันผมเชื่อว่า ขบวนการเขาก็ไปไม่ได้ ที่เขาเข้าไปได้เกิดจากการทำสิ่งชั่วร้าย แล้วใช้เครื่องมือก็คือ “สื่อมวลชน” หรือใครก็ตามในการช่วยกันโฆษณาให้เขา โดยที่เขาลงทุนแค่ทำความชั่ว แล้วก็ได้สิ่งที่เขาต้องการ ขณะที่เจ้าหน้าที่เรามุ่งทำแต่ความดีไม่เป็นที่สนใจ ข่าวร้ายลงฟรี ข่าวดีเสียตังค์

: เจ้าหน้าที่ที่นับถืออิสลาม จะอำนวยความสะดวกให้เขาอย่างไรบ้างในช่วงเดือนรอมฎอน

: ข้าราชการใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ทุกหน่วยทั้งทหาร ตำรวจ พลเรือน อันแรกคือ มติ ครม. ที่มีมาแล้วก่อนหน้านี้ให้หยุดวันฮารีรายอ 5 วัน 7 วัน ส่วนของการประกอบศาสนกิจของข้าราชการที่เป็นมุสลิมที่ผ่านมา โดยเฉพาะที่อยู่ในกรอบ กอ.รมน. พอตอนเย็นเวลาแก้บวชเขาก็ไปตามมัสยิดตลอดอยู่แล้ว เป็นนโยบายที่ส่งเสริมกิจกรรมอยู่แล้ว โดยเฉพาะผู้นับถือศาสนาอิสลาม แต่เราไม่สามารถที่จะให้หยุดงานได้ มันเป็นสิ่งที่ต้องปฏิบัติ แต่ในห้วงของการไปประกอบศาสนกิจก็ทำไป ซึ่งในปีนี้ จากข้อแนะนำของท่านจุฬาราชมนตรี ถือเป็นสิ่งที่ปฏิบัติอยู่แล้ว เรื่องของการให้เจ้าหน้าที่ไปประกอบศาสนกิจ เป็นสิ่งที่เราทำตลอด เขาแจกจ่ายซากาต ก็นำไปใช้ในการละศีลอด มาตรการต่างๆ ที่เป็นข้อเสนอข้อแนะนำของท่านจุฬาราชมนตรี เป็นสิ่งที่กระทำอยู่แล้ว

“ปัจจุบัน ข่าวสารต่างๆ จากพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ กระทบต่อความรู้สึกของสังคม เป็นเรื่องที่สังคมเข้าใจมากยิ่งขึ้น เช่นเหตุการณ์ปะทะที่ อ.บาเจาะ สื่อก็แห่กันไปสัมภาษณ์ภรรยาของ มะรอโซล จันทรวดี สัมภาษณ์ญาติ พ่อแม่ พี่น้อง ของคนที่เสียชีวิต ภาพที่สะท้อนออกมาก็คือ เขาเป็นคนดี เขาคือ วีรบุรุษ เขาต้องมาเป็นโจรเพราะรัฐ ไปจับเขาที่ตากใบ ซึ่งมันเป็นการนำเสนอแค่บางช่วงบางตอน ซึ่งจริงๆ แล้วในการเสนอข่าวที่ดีมันต้องมาถามเจ้าหน้าที่ด้วยว่า มันเกิดอะไรขึ้น ถ้าเราไปถามผู้สูญเสียไม่มีใครหรอกที่จะมายอมรับว่า สามี ลูก มีญาติ ที่ไม่ดีเป็นคนที่ไม่ดี ทุกคนคิดว่าดีหมด ล่าสุด ที่ไปเยี่ยมผู้ต้องขังที่กรุงเทพฯ พอไปถามญาติ ไปถามผู้ต้องขัง เขาบอกว่าเขาถูกกลั่นแกล้ง เขาเป็นผู้บริสุทธิ์ ตรงนี้มันเป็นเรื่องที่ต้องระวังในการนำเสนอ”

มันต้องนำเสนอให้รอบด้าน ครั้งก่อนมีรายการหนึ่ง เขามาสอบถามผู้ที่เคยถูกควบคุมตัวแล้วศาลยกฟ้อง แล้วก็ไปสอบถามมูลนิธิทนายความมุสลิม แล้วก็สรุปออกมาเป็นเรื่องต่างๆ ที่ให้สังคมเขาเห็นว่า เจ้าหน้าที่เขาละเมิดบ้าง จับแพะบ้าง จริงๆ แล้วเขาควรจะมาถามเจ้าหน้าที่ด้วยว่า จริงๆ แล้วเหตุการณ์นี้เป็นยังไง เช่น สมมติคุณถูกจับแล้วอยู่ๆ คุณก็ไปพูดโดยที่ผมไม่มีโอกาสแก้ตัวเลย มันก็ไม่ได้ การเสนอข่าวมันต้องรอบด้าน
(แฟ้มภาพ) เหตุการณ์กลุ่มคนร้ายบุกโจมตีฐานนาวิกโยธิน
 
: ที่ผ่านมาดูเหมือนว่า กลุ่มผู้ก่อเหตุเขาแค่ต้องการสื่อว่า เขากำลังทำงานอย่างต่อเนื่อง ทั้งๆ ที่หลายๆ เหตุการณ์ไม่ได้หวังผลว่าต้องมีผู้เสียชีวิตหรือบาดเจ็บ

: มีใครเคยประณามผู้ก่อเหตุไหม ไม่เคยมี เพราะว่าโดยหน้าที่ของสื่อต้องนำเสนอด้วยความเป็นกลาง สื่อมีพื้นฐานในการมองปัญหาในพื้นที่เหมือนกับปัญหาปกติ เหมือนอาชญากรรมปกติ แล้วก็เสนอด้วยความเป็นกลางเท่ากันทั้ง 2 ด้าน ตรงนี้ก็ค่อนข้างเสี่ยงเหมือนกัน เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว เราไปเสวนาเรื่องบทบาทของสื่อกับการแก้ปัญหาชายแดนใต้ จริงๆ แล้วสิ่งที่สื่อเขาช่วยนำเสนอก็น่าสนใจ ในการนำเสนอความเสียหายของเหตุการณ์ แทนที่เราจะไปนำเสนอความเสียหายของเหตุการณ์ เราต้องไปนำเสนอปัญหาความเดือดร้อนของชาวบ้าน เช่น เขาไประเบิดรางรถไฟ เราก็ไปถามชาวบ้านที่เขาเดือดร้อนจากการที่เขาไม่ได้นั่งรถไฟ หรือว่าการระเบิดในเขตพื้นที่เมือง แทนที่เราจะเสนอความเสียหายของซากปรักหักพัง เราก็ต้องไปถามพ่อค้า คนที่ได้รับความเดือดร้อน ว่าเขาเดือดร้อนยังไง มันต้องเป็นลักษณะแบบนี้

แต่ผมมองว่า สื่อในพื้นที่เขาค่อนข้างเข้าใจมากขึ้น อาจจะมีแค่สื่อสวนกลางบางคนที่เขาไม่เคยลงมาในพื้นที่ แล้วก็บริโภคจากข่าวที่ถูกเสนอไปเชื่อในสิ่งที่เห็น เชื่อที่ฟังมา โดยที่ไม่ได้ลงมาดูพื้นที่เลยว่าในพื้นที่มันมีอะไรบ้าง

: มีความคิดเห็นอย่างไร? ถ้าเกิดเหตุรุนแรงขึ้น แล้วสื่อไม่ได้นำเสนอข่าว

: ก็ให้นำเสนอไปอีกมุมหนึ่ง ไม่ได้บังคับว่าต้องไม่นำเสนอข่าว คือ ข่าวก็เสนอเป็นปกติอยู่แล้ว แต่ว่าเราน่าจะสะท้อนไปอีกมุมหนึ่ง เช่น เจ้าหน้าที่โดนระเบิดเสียชีวิต 8 คน ไม่เห็นมีสื่อสักคนที่ไปถามความรู้สึกของครอบครัว ของลูกเมียเขา ว่าเขาจะรู้สึกยังไง แต่พอโจรถูกยิงตาย 4-5 คน 10 คน สื่อทุกชนิดลงมาทุกสารทิศ เพื่อถามความรู้สึกของครอบครัวผู้ก่อเหตุ ทั้งๆ ที่กลุ่มคนเหล่านี้ได้สร้างความเดือดร้อนให้แก่สังคมอย่างมหาศาล เหมือนอย่าง มะรอโซ เขาก็มีตั้ง 35 คดี คนตายเป็น 100 ไม่รวมที่บาดเจ็บ ไม่มีสังคมคนไหนออกมาประณามเขาเลย มิหนำซ้ำยังจัดกิจกรรมเชิดชูกันอีก เหมือนวีรบุรุษซะอีก ซึ่งผมว่าสังคมมันเปลี่ยนไปแล้ว

ข่าวที่เกี่ยวข้อง หน้าที่ของทหาร กับ รอมฎอน ?!!
 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น