คอลัมน์ : ฝ่าเกลียวคลื่น
โดย...บรรจง นะแส
“ปัจจัยหลักสำคัญในการดำรงชีวิตของมนุษย์คือ อาหาร จาการศึกษาพบว่า แหล่งของอาหารที่สำคัญที่สุดของโลกก็คือ ทะเล และมหาสมุทร จากการประมาณการพบว่า ทะเล และมหาสมุทรมีเนื้อที่ประมาณ 362,600,000 ตารางกิโลเมตร มนุษย์สามารถหาผลผลิตจากแหล่งน้ำนี้ได้โดยเฉลี่ยปีละประมาณ 5 ตันต่อตารางกิโลเมตร เราพบว่าสิ่งมีชีวิตที่อาศัยอยู่ในแหล่งน้ำดังกล่าวมีความสัมพันธ์กันในรูปของโซ่อาหาร (food chain) และสายใยอาหาร l (food wab) ที่มีความซับซ้อน และเกิดความสมดุลธรรมชาติ ความสัมพันธ์ดังกล่าวเกิดขึ้นระหว่างผู้ผลิตกับผู้บริโภคที่อยู่ร่วมกันในระบบนิเวศนั่นเอง”
วันนี้ทะเลไทย แหล่งอาหารโปรตีนตามธรรมชาติที่สำคัญกำลังวิกฤต วันนี้จึงอยากนำเสนอความพยายามของชุมชนที่จะฟื้นแหล่งอาหารของพวกเขากลับมาอีกครั้ง ภายใต้รูปแบบกิจกรรมเล็กๆ แต่สำคัญที่ชื่อว่า “ธนาคารปูม้า”
ปูม้า เป็นสัตว์น้ำที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจที่นิยมบริโภคทั่วไปของคนในประเทศ นอกจากนี้ยังเป็นวัตถุดิบที่ต้องการของโรงงานผลิตอาหารกระป๋องเพื่อส่งออก 20 กว่าปีที่ผ่านมา กล่าวคือ ในปีปี 2530 มีข้อมูลปริมาณปูม้าที่จับได้ทั่วประเทศประมาณ 34,707 ตัน คิดเป็นมูลค่าถึง 744.7 ล้านบาท หลังจากนั้นข้อมูลผลผลิตจากปูม้าก็เริ่มลดลงเรื่อยๆ จนไม่มีนัยทางเศรษฐกิจส่งออก สาเหตุหนึ่งที่สำคัญก็เพราะว่า ในช่วงเวลาที่ผ่านมา ปูม้าถูกจับจากทะเลขึ้นมาใช้ประโยชน์อย่างมากมายจนเกินกำลังการผลิตของธรรมชาติ มีการใช้เครื่องมือทำการประมงหลายชนิดที่ทำลายพันธุ์ปูม้าวัยอ่อน ไม่ว่าเรืออวนรุน อวนลาก หรือเครื่องมือจับปูม้าเฉพาะที่เรียกว่าไซดักปู ที่สามารถจับลูกปูตัวเล็กๆ ที่โตไม่ได้ขนาดขึ้นมาบริโภคกันมากขึ้น เพราะเนื้อปูม้ามีราคาแพงและสามารถนำมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ เช่นเดียวกับเนื้อวัว เนื้อหมู หรือเนื้อไก่
ราคาเนื้อปูม้าในปัจจุบันมีการแยกเกรดออกขายในราคาที่ค่อนข้างสูง เช่น เนื้อก้อนจะขายในถึงกิโลกรัมละ 800 บาท เนื้อขาวกิโลกรัมละ 600 บาท เนื้อขากิโลกรัมละ 600 บาท และเนื้อก้ามกิโลกรัมละ 300 บาท เป็นต้น
แม้ในปัจจุบัน ปูม้ายังเป็นที่ต้องการของตลาดในประเทศ และต่างประเทศ ซึ่งตลาดในประเทศ ประกอบด้วย ตลาดท้องที่ และตลาดท้องถิ่น โดยตลาดท้องที่จะรวบรวมปูจากสะพานปลาและฟาร์มต่างๆ ในท้องที่เพื่อนำไปส่งขายให้แก่ตลาดท้องถิ่น หรือคนกลาง เพื่อส่งไปขายยังตลาดปลายทางอีกทอดหนึ่ง ส่วนตลาดท้องถิ่นจะเป็นตลาดที่อยู่ในเขตการค้าของจังหวัดต่างๆ ที่นำปูจากท้องที่จำหน่ายให้แก่ผู้บริโภคในท้องถิ่นในรูปของปูสด ปูสดแช่น้ำแข็ง ปูสดแช่เย็น ปูเป็น ปูนิ่ม ปูดอง และเนื้อปูแกะ สำหรับปูม้าไทยที่ส่งไปจำหน่ายต่างประเทศนั้น นอกจากจะเป็นเนื้อปูบรรจุกระป๋องแล้ว ยังมีเนื้อปูแช่เย็นที่บรรจุในภาชนะปรุงแต่ง เช่น เนื้อปูแช่น้ำเกลือ เนื้อปูสุก เนื้อปูที่บรรจุในภาชนะสุญญากาศ เป็นต้น
“ธนาคารปูม้า” จึงเป็นนวัตกรรมที่เกิดขึ้นในชุมชน ด้วยภูมิปัญญาของผู้คนในชุมชนที่อาศัย และใช้ชีวิตสัมพันธ์อยู่กับฐานทรัพยากรธรรมชาติ คือ ทะเล และชายฝั่ง คุณลุงจาง ฟุ้งเฟื่อง ชุมชนเกาะเตียบ ต.ปากคลองอ.ปะทิว จ.ชุมพร น่าจะเป็นท่านแรกที่ทำกิจกรรมที่ถูกขนานนามว่า “ธนาคารปูม้า” ให้ขยายออกไปอย่างกว้างขวาง เพราะท่านได้เริ่มทำกิจกรรมอนุรักษ์พันธุ์ปูม้าไข่นอกกระดองมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2545 ท่านเคยให้สัมภาษณ์ผ่านสื่อต่างๆ ว่า ความคิดนี้ของท่านเกิดขึ้นเพราะท่านสังเกตได้ว่า สัตว์น้ำทะเลเริ่มมีจำนวนลดน้อยลงทุกวัน ซึ่งก็รวมถึงปูม้าด้วย เพราะในอดีตปูม้าถือว่าเป็นสัตว์น้ำเศรษฐกิจอีกตัวหนึ่งในชุมชนของท่าน
ท่านพูดตอกย้ำเสมอๆ ว่า “หากชาวประมงมีแต่จับ และจำหน่ายเพื่อผลประโยชน์ของตนเอง โดยไม่ส่งกลับคืนสู่ทะเล สักวันคงจะไม่มีปูม้าให้จับเป็นแน่”
ปัจจุบัน “ธนาคารปูม้า” ที่คุณลุงจาง ฟุ้งเฟื่อง จัดตั้งขึ้นมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2545 และเรียกชื่อกลุ่มของท่านว่า “กลุ่มฟื้นฟูทรัพยากรปูม้าชุมชนเกาะเตียบ” ต.ปากคลอง อ.ปะทิว จึงเป็นแหล่งเรียนรู้ที่สำคัญของชุมชนประมงชายฝั่งอื่นๆ จนกิจกรรมธนาคารปูม้าขยายไปในหลายพื้นที่ หลายจังหวัดที่มีพื้นที่เป็นชุมชนประมงชายฝั่งของประเทศ หลักการง่ายๆ ของท่านคือ
- สร้างกระชังรับฝากแม่ปูที่มีไข่นอกกระดองที่ชาวประมงจับได้
- ทำการรับปูม้าที่มีไข่นอกกระดองมาทำการเลี้ยงในกระชัง
- ให้อาหารเป็นปลาสดสับละเอียดวันละหนึ่งครั้งในตอนเช้า
- ขังแม่ปูม้าในกระชังประมาณ 7 วัน แม่ปูก็จะปล่อยไข่
- ไข่ของปูม้าจะฟักตัวเป็นลูกปู
- นำลูกปูที่ได้ปล่อยออกสู่ท้องทะเล
- ส่วนแม่ปูที่ปล่อยไข่ออกจากท้องหมดแล้ว ก็จะนำไปจำหน่าย แล้วนำเงินที่ได้ฝากเข้า กองทุนธนาคารปูต่อไป
คุณลุงจาง ฟุ้งเฟื่อง สรุปสั้นๆ ว่า “ธนาคารปูม้านั้น ก็คล้ายๆ กับการฝากเงิน-ถอนเงินของธนาคารพาณิชย์ เพียงแต่เปลี่ยนมาเป็นการรับฝากแม่ปูแทน ส่วนดอกเบี้ยก็คือ ลูกปูที่ปล่อยลงทะเล เพื่อให้เติบใหญ่แล้วจับขึ้นมาขายเป็นรายได้ของชาวประมงต่อไป” ซึ่งก็สอดคล้องกับการศึกษาของนักวิชาการประมง (วารินทร์ และคณะ (2547) ที่พบว่า ปูม้าที่มีไข่สีเทาอมดำจะปล่อยตัวอ่อนภายใน 1-2 วัน แม่ปูไข่นอกกระดอง 1 ตัว จะปล่อยตัวอ่อนประมาณ 250,000-2,000,000 ล้านตัวต่อครั้ง ขึ้นอยู่กับน้ำหนักของไข่ที่แม่ปูแต่ละตัวมีอยู่ ไข่ปูม้า 1 กรัม มีปริมาณไข่ประมาณ 22,030 ฟอง
ดร.สุภาภรณ์ อนุชีราชีวะ นักวิชาการทางการประมง เคยคำนวณผลประโยชน์ที่จะได้รับจากธนาคารปูเอาไว้ว่า “ถ้าอัตราการรอดของลูกปูที่ถูกปล่อยลงทะเลอยู่ที่ร้อยละ 1 เราก็จะได้ปริมาณปูในทะเลเพิ่มขึ้นอีกประมาณ 2,500-10,000 ตัวต่อแม่ปู 1 ตัว ถ้าธนาคารปู 1 แห่ง มีแม่ปูไข่นอกกระดอง 30 ตัวต่อเดือน หรือ 360 ตัวต่อปี จะพบว่าธนาคารปูนั้นๆ สามารถเพิ่มประชากรปูให้แก่ท้องทะเลได้ปีละ 900,000-7,200,200 ตัว และถ้าชาวประมงจับปูม้าเพื่อขายอยู่ที่ 6 ตัวต่อ 1 กิโลกรัม และกิโลกรัมละ 200 บาท ชาวประมงจะมีรายได้จากปูม้าที่เพิ่มขึ้นนี้ประมาณ 30-240 ล้านบาทต่อปี”
แหล่งอาหารโปรตีนในธรรมชาติของสังคมไทยถูกรุกรานให้เหลือพื้นที่น้อยลงทุกวันๆ จนอยู่ในขั้นวิกฤต ผู้คนในสังคมต้องอาศัย และขึ้นต่ออาหารโปรตีนจากบริษัทเอกชน ที่รุกคืบเข้ายึดกุมอาหาร ซึ่งเป็นปัจจัยที่สำคัญที่สุดของชีวิตของผู้คน ทั้งๆ ที่ประเทศของเรามีพื้นที่ที่เป็นแม่น้ำ แหล่งน้ำ ลำคลองอยู่ในพื้นที่ทุกภาคของประเทศ มีทะเลสาบ มีทะเลทั้งสองฝั่ง ที่มีข้อมูลยืนยันตรงกันทั่วโลกว่า “แหล่งของอาหารที่สำคัญที่สุดของโลกก็คือ ทะเล และมหาสมุทร”
การเริ่มต้นจาก “ธนาคารปูม้า” ของชุมชนเล็กๆ ตามชายฝั่งได้ตอกย้ำความเชื่อมั่นว่า ถ้าชุมชนร่วมมือกันดูแลรักษา อนุรักษ์ และฟื้นฟูทรัพยากรในชุมชนของเขา ความอุดมสมบูรณ์ของแหล่งอาหารก็จะกลับคืนมาสู่ชุมชนของเขาได้ ผมเลยมีความเชื่อมั่นว่า ถ้าผู้คนในสังคมไทยเห็นความสำคัญของแหล่งน้ำ ทะเล มองแหล่งน้ำที่มากไปกว่าน้ำ มองทะเลให้เห็นถึงสิ่งที่อยู่ในทะเลที่มากไปกว่าน้ำเค็ม หรือชายหาดสวยๆ เราก็จะพบว่า แหล่งน้ำ หรือทะเล คือ แหล่งอาหารที่สำคัญที่ไม่มีบริษัทไหนๆ จะผลิตอาหารที่ดีที่สุดให้แก่เราได้ดีเท่ากับทะเล.