xs
xsm
sm
md
lg

และแล้ว...ปูก็กลับมา...(ไม่เกี่ยวกับปูยิ่งลักษณ์)

เผยแพร่:   โดย: บรรจง นะแส


“ปัจจัยหลักสำคัญในการดำรงชีวิตของมนุษย์คือ อาหาร จากการศึกษาพบว่า แหล่งของอาหารที่สำคัญที่สุดของโลกก็คือ ทะเลและมหาสมุทร จากการประมาณการพบว่า ทะเลและมหาสมุทรมีเนื้อที่ประมาณ 362,600,000 ตารางกิโลเมตร มนุษย์สามารถหาผลผลิตจากแหล่งน้ำนี้ได้โดยเฉลี่ยปีละประมาณ 5 ตันต่อตารางกิโลเมตร เราพบว่าสิ่งมีชีวิตที่อาศัยอยู่ในแหล่งน้ำดังกล่าวมีความสัมพันธ์กันในรูปของโซ่อาหาร (food chain) และสายใยอาหาร (food wab) ที่มีความซับซ้อน และเกิดความสมดุลธรรมชาติ ความสัมพันธ์ดังกล่าวเกิดขึ้นระหว่างผู้ผลิตกับผู้บริโภคที่อยู่ร่วมกันในระบบนิเวศนั่นเอง” วันนี้ทะเลไทยแหล่งอาหารโปรตีนตามธรรมชาติที่สำคัญกำลังวิกฤต วันนี้จึงอยากนำเสนอความพยายามของชุมชนที่จะฟื้นแหล่งอาหารของพวกเขากลับมาอีกครั้งภายใต้รูปแบบกิจกรรมเล็กๆ แต่สำคัญที่ชื่อว่า “ธนาคารปูม้า”

ปูม้าเป็นสัตว์น้ำที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจที่นิยมบริโภคทั่วไปของคนในประเทศ นอกจากนี้ยังเป็นวัตถุดิบที่ต้องการของโรงงานผลิตอาหารกระป๋องเพื่อส่งออก 20 กว่าปีที่ผ่านมา กล่าวคือในปี 2530 (มีข้อมูลปริมาณปูม้าที่จับได้ทั่วประเทศ ประมาณ 34,707 ตัน คิดเป็นมูลค่าถึง 744.7 ล้านบาท หลังจากนั้นข้อมูลผลผลิตจากปูม้าก็เริ่มลดลงเรื่อยๆ จนไม่มีนัยทางเศรษฐกิจส่งออก) สาเหตุหนึ่งที่สำคัญก็เพราะว่าในช่วงเวลาที่ผ่านมาปูม้าถูกจับจากทะเลขึ้นมาใช้ประโยชน์อย่างมากมายจนเกินกำลังการผลิตของธรรมชาติ มีการใช้เครื่องมือทำการประมงหลายชนิดที่ทำลายพันธุ์ปูม้าวัยอ่อน ไม่ว่าเรืออวนรุนอวนลากหรือเครื่องมือจับปูม้าเฉพาะที่เรียกว่าไซดักปู ที่สามารถจับลูกปูตัวเล็กๆ ที่โตไม่ได้ขนาดขึ้นมาบริโภคกันมากขึ้น เพราะเนื้อปูม้ามีราคาแพงและสามารถนำมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ เช่นเดียวกับเนื้อวัว เนื้อหมู หรือเนื้อไก่

ราคาเนื้อปูม้าในปัจจุบันมีการแยกเกรดออกขายในราคาที่ค่อนข้างสูงเช่นเนื้อก้อนจะขายถึงกิโลกรัมละ 800 บาท เนื้อขาวกิโลกรัมละ 600 บาท เนื้อขากิโลกรัมละ 600 บาท และเนื้อก้ามกิโลกรัมละ 300 บาท เป็นต้น แม้ในปัจจุบันปูม้ายังเป็นที่ต้องการของตลาดในประเทศและต่างประเทศ ซึ่งตลาดในประเทศประกอบด้วยตลาดท้องที่และตลาดท้องถิ่น โดยตลาดท้องที่จะรวบรวมปูจากสะพานปลาและฟาร์มต่างๆ ในท้องที่เพื่อนำไปส่งขายให้แก่ตลาดท้องถิ่นหรือคนกลาง เพื่อส่งไปขายยังตลาดปลายทางอีกทอดหนึ่ง ส่วนตลาดท้องถิ่นจะเป็นตลาดที่อยู่ในเขตการค้าของจังหวัดต่างๆ ที่นำปูจากท้องที่จำหน่ายให้แก่ผู้บริโภคในท้องถิ่นในรูปของปูสด ปูสดแช่น้ำแข็ง ปูสดแช่เย็น ปูเป็น ปูนิ่ม ปูดอง และเนื้อปูแกะ สำหรับปูม้าไทยที่ส่งไปจำหน่ายต่างประเทศนั้น นอกจากจะเป็นเนื้อปูบรรจุกระป๋องแล้ว ยังมีเนื้อปูแช่เย็นที่บรรจุในภาชนะปรุงแต่ง เช่น เนื้อปูแช่น้ำเกลือ เนื้อปูสุก เนื้อปูที่บรรจุในภาชนะสุญญากาศ เป็นต้น

“ธนาคารปูม้า” จึงเป็นนวัตกรรมที่เกิดขึ้นในชุมชน ด้วยภูมิปัญญาของผู้คนในชุมชนที่อาศัยและใช้ชีวิตสัมพันธ์อยู่กับฐานทรัพยากรธรรมชาติคือทะเลและชายฝั่ง คุณลุงจาง ฟุ้งเฟื่อง ชุมชนเกาะเตียบ ต.ปากคลองอ.ปะทิว จ.ชุมพร น่าจะเป็นท่านแรกที่ทำกิจกรรมที่ถูกขนานนามว่า “ธนาคารปูม้า” ให้ขยายออกไปอย่างกว้างขวาง เพราะท่านได้เริ่มทำกิจกรรมอนุรักษ์พันธุ์ปูม้าไข่นอกกระดองมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2545 ท่านเคยให้สัมภาษณ์ผ่านสื่อต่างๆ ว่าความคิดนี้ของท่านเกิดขึ้นเพราะท่านสังเกตได้ว่า สัตว์น้ำทะเลเริ่มมีจำนวนลดน้อยลงทุกวัน ซึ่งก็รวมถึงปูม้าด้วย เพราะในอดีตปูม้าถือว่าเป็นสัตว์น้ำเศรษฐกิจอีกตัวหนึ่งในชุมชนของท่าน ท่านพูดตอกย้ำเสมอๆ “ว่าหากชาวประมงมีแต่จับและจำหน่ายเพื่อผลประโยชน์ของตนเอง โดยไม่ส่งกลับคืนสู่ทะเลสักวันคงจะไม่มีปูม้าให้จับเป็นแน่”  

  ปัจจุบัน “ธนาคารปูม้า” ที่คุณลุงจาง ฟุ้งเฟื่อง จัดตั้งขึ้นมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2545 และเรียกชื่อกลุ่มของท่านว่า “กลุ่มฟื้นฟูทรัพยากรปูม้าชุมชนเกาะเตียบ” ต.ปากคลอง อ.ปะทิว จึงเป็นแหล่งเรียนรู้ที่สำคัญของชุมชนประมงชายฝั่งอื่นๆ จนกิจกรรมธนาคารปูม้าขยายไปในหลายพื้นที่ หลายจังหวัดที่มีพื้นที่เป็นชุมชนประมงชายฝั่งของประเทศ หลักการง่ายๆ ของท่านคือ

- สร้างกระชังรับฝากแม่ปูที่มีไข่นอกกระดองที่ชาวประมงจับได้

- ทำการรับปูม้าที่มีไข่นอกกระดองมาทำการเลี้ยงในกระชัง

- ให้อาหารเป็นปลาสดสับละเอียดวันละหนึ่งครั้งในตอนเช้า

- ขังแม่ปูม้าในกระชังประมาณ 7 วันแม่ปูก็จะปล่อยไข่ 

- ไข่ของปูม้าจะฟักตัวเป็นลูกปู

- นำลูกปูที่ได้ปล่อยออกสู่ท้องทะเล 

- ส่วนแม่ปูที่ปล่อยไข่ออกจากท้องหมดแล้ว ก็จะนำไปจำหน่ายแล้วนำเงินที่ได้ฝากเข้ากองทุนธนาคารปูต่อไป คุณลุงจาง ฟุ้งเฟื่อง สรุปสั้นๆ ว่า “ธนาคารปูม้านั้น ก็คล้ายๆ กับการฝากเงิน - ถอนเงินของธนาคารพาณิชย์ เพียงแต่เปลี่ยนมาเป็นการรับฝากแม่ปูแทน ส่วนดอกเบี้ยก็คือลูกปูที่ปล่อยลงทะเลเพื่อให้เติบใหญ่แล้วจับขึ้นมาขายเป็นรายได้ของชาวประมงต่อไป” ซึ่งก็สอดคล้องกับการศึกษาของนักวิชาการประมง (วารินทร์และคณะ (2547) ที่พบว่าปูม้าที่มีไข่สีเทาอมดำจะปล่อยตัวอ่อนภายใน 1-2 วัน แม่ปูไข่นอกกระดอง 1 ตัว จะปล่อยตัวอ่อนประมาณ 250,000-2,000,000 ล้านตัวต่อครั้ง ขึ้นอยู่กับน้ำหนักของไข่ที่แม่ปูแต่ละตัวมีอยู่ ไข่ปูม้า 1 กรัมมีปริมาณไข่ประมาณ 22,030 ฟอง       

        ดร.สุภาภรณ์ อนุชีราชีวะ นักวิชาการทางการประมงเคยคำนวณผลประโยชน์ที่จะได้รับจากธนาคารปูเอาไว้ว่า “ถ้าอัตราการรอดของลูกปูที่ถูกปล่อยลงทะเลอยู่ที่ร้อยละ 1 เราก็จะได้ปริมาณปูในทะเลเพิ่มขึ้นอีกประมาณ 2,500 - 10,000 ตัวต่อแม่ปู 1 ตัว ถ้าธนาคารปู 1 แห่งมีแม่ปูไข่นอกกระดอง 30 ตัวต่อเดือน หรือ 360 ตัวต่อปี จะพบว่าธนาคารปูนั้นๆ สามารถเพิ่มประชากรปูให้กับท้องทะเลได้ปีละ 900,000 - 7,200,200 ตัว และถ้าชาวประมงจับปูม้าเพื่อขายอยู่ที่ 6 ตัว ต่อ 1 กิโลกรัม และกิโลกรัมละ 200 บาท ชาวประมงจะมีรายได้จากปูม้าที่เพิ่มขึ้นนี้ประมาณ 30 - 240 ล้านบาทต่อปี”

แหล่งอาหารโปรตีนในธรรมชาติของสังคมไทยถูกรุกรานให้เหลือพื้นที่น้อยลงทุกวันๆ จนอยู่ในขั้นวิกฤต ผู้คนในสังคมต้องอาศัยและขึ้นต่ออาหารโปรตีนจากบริษัทเอกชน ที่รุกคืบเข้ายึดกุมอาหารซึ่งเป็นปัจจัยที่สำคัญที่สุดของชีวิตของผู้คน ทั้งๆ ที่ประเทศของเรามีพื้นที่ที่เป็นแม่น้ำ แหล่งน้ำลำคลองอยู่ในพื้นที่ทุกภาคของประเทศ มีทะเลสาบ มีทะเลทั้งสองฝั่ง ที่มีข้อมูลยืนยันตรงกันทั่วโลกว่า “แหล่งของอาหารที่สำคัญที่สุดของโลกก็คือทะเลและมหาสมุทร” การเริ่มต้นจาก “ธนาคารปูม้า” ของชุมชนเล็กๆ ตามชายฝั่งได้ตอกย้ำความเชื่อมั่นว่า ถ้าชุมชนร่วมมือกันดูแลรักษา อนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรในชุมชนของเขา ความอุดมสมบูรณ์ของแหล่งอาหารก็จะกลับคืนมาสู่ชุมชนของเขาได้

ผมเลยมีความเชื่อมั่นว่าถ้าผู้คนในสังคมไทยเห็นความสำคัญของแหล่งน้ำ ทะเล มองแหล่งน้ำที่มากไปกว่าน้ำ มองทะเลให้เห็นถึงสิ่งที่อยู่ในทะเลที่มากไปกว่าน้ำเค็มหรือชายหาดสวยๆ เราก็จะพบว่าแหล่งน้ำหรือทะเล คือแหล่งอาหารที่สำคัญที่ไม่มีบริษัทไหนๆ จะผลิตอาหารที่ดีที่สุดให้กับเราได้ดีเท่ากับทะเล.
และแล้ว...ปูก็กลับมา...(ไม่เกี่ยวกับปูยิ่งลักษณ์) / บรรจง นะแส
และแล้ว...ปูก็กลับมา...(ไม่เกี่ยวกับปูยิ่งลักษณ์) / บรรจง นะแส
การเริ่มต้นจาก “ธนาคารปูม้า” ของชุมชนเล็กๆ ตามชายฝั่งได้ตอกย้ำความเชื่อมั่นว่า ถ้าชุมชนร่วมมือกันดูแลรักษา อนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรในชุมชนของเขา ความอุดมสมบูรณ์ของแหล่งอาหารก็จะกลับคืนมาสู่ชุมชนของเขาได้ ผมเลยมีความเชื่อมั่นว่า ถ้าผู้คนในสังคมไทยเห็นความสำคัญของแหล่งน้ำ ทะเล มองแหล่งน้ำที่มากไปกว่าน้ำ มองทะเลให้เห็นถึงสิ่งที่อยู่ในทะเลที่มากไปกว่าน้ำเค็ม หรือชายหาดสวยๆ เราก็จะพบว่า แหล่งน้ำ หรือทะเล คือ แหล่งอาหารที่สำคัญที่ไม่มีบริษัทไหนๆ จะผลิตอาหารที่ดีที่สุดให้แก่เราได้ดีเท่ากับทะเล
กำลังโหลดความคิดเห็น