xs
xsm
sm
md
lg

เกษตรกรเลี้ยงปลากระชังโวยประมงไม่สนใจดูแล-สารพัดข้ออ้าง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

 นายทันใจ นาคสุวรรณ ประมงอาสาประจำตำบลดอนมดแดงและหัวหน้ากลุ่มผู้เลี้ยงปลาในกระชัง
อุบลราชธานี - ชาวประมงผู้เลี้ยงปลาในกระชังสุดระทม! ปลาตายปีเดียว 3 รอบ เสียหายกว่า 25 ล้านบาท แต่เจ้าหน้าที่ประมงไม่สนใจมองเป็นเหตุปกติให้ชาวบ้านแก้ปัญหากันเอง

จากกรณีปลานิลเลี้ยงในกระชังในแม่น้ำมูลบริเวณบ้านดงบัง อ.ดอนมดแดง และบ้านแพง อ.สว่างวีระวงศ์ จ.อุบลราชธานี ซึ่งตั้งอยู่คนละฝั่งแม่น้ำตายแบบฉับพลันกว่า 100 กระชังรวมมูลค่าเสียหายเกือบ 9 ล้านบาท เพราะเป็นปลาโตเต็มที่ใกล้เก็บเกี่ยวผลผลิต และในรอบปีเกิดขึ้นถึง 3 ครั้งแล้วนั้น

ความคืบหน้าล่าสุดผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (13 มิ.ย.) กลุ่มพ่อค้าเร่นำรถมารับปลาที่เจ้าของกระชังทำการตัดครีบ ตัดหัว ตัดหาง และน็อกไว้ในน้ำแข็งออกไปขายตามหมู่บ้านในราคาถูกกิโลกรัมละ 30-40 บาท อีกส่วนเจ้าของนำไปทำเป็นปลาร้าและปลาตากแห้ง รวมทั้งทำปลาส้มส่งขายเข้าตลาดเพื่อลดความเสียหายที่เกิดขึ้น

นายทันใจ นาคสุวรรณ ประมงอาสาประจำตำบลดอนมดแดงและหัวหน้ากลุ่มผู้เลี้ยงปลาในกระชัง กล่าวถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นว่า ไม่มีเจ้าหน้าที่ประมงเข้ามาให้ความสนใจ แม้จะรายงานเหตุให้ทราบไปแล้วก็ยังไม่มีการประกาศเป็นเขตภัยพิบัติทางธรรมชาติเพื่อจ่ายเงินเยี่ยวยาให้ชาวประมงที่เลี้ยงปลารายละไม่เกิน 20,500 บาท ทั้งที่ความเสียหายแต่ละรายไม่น้อยกว่า 5 แสนบาท เกิดเหตุรวม 3 ครั้งสูญเสียเงินไปแล้วกว่า 25 ล้านบาท

“พวกผมเป็นคนสร้างเศรษฐกิจท้องถิ่น หารายได้เลี้ยงครอบครัวแต่ไม่ได้รับการเหลียวแลและไม่ใช่ไม่ได้ช่วยเหลือตัวเอง เมื่อเกิดเหตุการณ์ได้เอาเครื่องสร้างอากาศมาช่วยแต่ปลาก็ยังตาย ซึ่งสาเหตุน่าจะมาจากน้ำไม่มีการถ่ายเทเพราะเขื่อนปากมูลยังไม่เปิดประตูระบายน้ำ”

นายทันใจกล่าวอีกว่า ขณะนี้ชาวบ้านเริ่มทนไม่ได้กับพฤติกรรมของเจ้าหน้าที่ที่ไม่ใส่ใจความทุกข์ร้อนของพวกตน มีแต่ข้ออ้างสารพัดที่จะไม่ลงมาดูที่เกิดเหตุ ไม่ยอมมาช่วยเหลือชาวบ้านที่ประสบปัญหา

ขณะที่นายดรุณศักดิ์ ใจเกื้อ หัวหน้ากลุ่มบริหารจัดการด้านการประมง สำนักงานประมงจังหวัดอุบลราชธานี กล่าวถึงการช่วยเหลือราชการมีหลักเกณฑ์และต้องให้นักวิชาการเข้าตรวจสอบสาเหตุที่ปลาตายเกิดจากภัยพิบัติทางธรรมชาติหรือเกิดจากความประมาทของผู้เลี้ยงเอง

สำหรับปริมาณปลาที่ตายครั้งนี้หากเทียบกับสถิติผู้เลี้ยงปลาในกระชังตามแม่น้ำมูลซึ่งมีมากถึงกว่า 7,200 กระชัง ยังเป็นปริมาณที่น้อยไม่ถึง 5% ของปริมาณการเลี้ยงปลาทั้งหมด จึงถือเป็นเรื่องปกติที่จะต้องมีปลาตายเมื่ออากาศมีการเปลี่ยนแปลง และปลาที่ตายสามารถรับประทานได้เพราะไม่ได้ตายจากโรคระบาด

พร้อมทั้งฝากเตือนผู้เลี้ยงปลา นอกจากมีเครื่องสร้างออกซิเจนแล้วก็ควรมีปรอทวัดอุณหภูมิของน้ำจะได้ทราบถึงความเปลี่ยนแปลงของน้ำในแต่ละช่วง โดยเฉพาะช่วงกลางคืนต้องหมั่นดูแลเพราะเป็นช่วงที่ออกซิเจนในน้ำมีน้อยเพื่อลดการตายของปลาเลี้ยงลงได้


กำลังโหลดความคิดเห็น