xs
xsm
sm
md
lg

ค่าปิดปากปีละ 400 ล้านบาท / บรรจง นะแส

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


  
คอลัมน์ : ฝ่าเกลียวคลื่น
โดย...บรรจง  นะแส
 
มีคำถามเกิดขึ้นมาว่า ข่าวคราวที่ชาวประมงชายฝั่งในพื้นที่จังหวัดสงขลา ที่ได้รับผลกระทบจากการขุดเจาะน้ำมันนอกฝั่งจังหวัดสงขลาของบริษัท นิวคอสตอล (ประเทศไทย) จำกัด (ปัจจุบันได้เปลี่ยนชื่อเป็นบริษัท ซี.อี.ซี.อินเตอร์เนชั่นแนล ลิมิเต็ด สาขาประเทศไทย) ซึ่งได้รับสัมปทานแปลงสำรวจในทะเลอ่าวไทยหมายเลข จี 5/43 จากกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ กระทรวงพลังงาน ในสมัยที่ นพ.พรหมมินทร์ เลิศสุริย์เดช เป็นรัฐมนตรีว่าการฯ และมีอดีตนายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม 2546 นั้น
 
10 ปีผ่านไป อาชีพประมงชายฝั่งของจังหวัดสงขลากำลังล่มสลาย แต่ไม่มีหน่วยงานไหน กลไกทางการเมือง ไม่ว่า ส.อบต. ส.อบจ. ส.ส. ต่างสงบปากสงบคำ หน่วยงานราชการต่างๆ ที่เกี่ยวข้องก็เงียบเหมือนเป่าสาก คำตอบที่เจอในวันนี้ก็พบว่า บริษัทขุดเจาะน้ำมันได้จ่ายค่าปิดปากให้แก่บุคคล หน่วยงาน และกลไกต่างๆ ของรัฐไม่ต่ำกว่าปีละ 400 ล้านบาท
 
จากปี 2546 ถึงปัจจุบัน 10 ปีที่ผ่านมา ผลพวงจากการขุดเจาะน้ำมันในพื้นที่ชายฝั่งของจังหวัดสงขลา ที่มีหลุมขุดเจาะที่ชื่อว่า แหล่งบัวบาน A-D ได้ส่งผลต่ออาชีพการทำประมงของชุมชนประมงชายฝั่งลงอย่างย่อยยับ หาคนรับผิดชอบต่อความสูญเสียที่เกิดขึ้นไม่ได้ บริษัทได้ใช้งบประมาณปิดปาก และลดการเคลื่อนไหวของชาวประมง ด้วยการจ่ายค่าชดเชยในการสูญเสียอาชีพครอบครัวละไม่ถึง 2,000 บาท/เดือน
 
ในขณะเดียวกัน ก็ใช้เงื่อนไขลดแรงกดดันจากองค์กรปกครองท้องถิ่นในพื้นที่ติดชายฝั่ง ตั้งแต่อำเภอระโนดจดอำเภอเทพารวม 28 องค์กร ด้วยการจัดสรรงบประมาณให้แต่ละองค์กร ซึ่งในปีที่ผ่านมา แต่ละองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นได้รับผลประโยชน์ไปเฉลี่ยองค์กรละ 15 ล้านบาท ในส่วนขององค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลาก็รับไปกว่า 400 ล้านบาท
 
ตัวแทนของประชาชนในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทั้ง อบต. อบจ. จึงสงบเสงี่ยมไม่มีปากเสียงต่อความเดือดร้อนของพี่น้องในพื้นที่ โดยเฉพาะชาวประมงพื้นบ้านอาชีพดั้งเดิมที่อยู่คู่กับเมืองสงขลามานับร้อยๆ ปีที่กำลังล่มสลาย      
 
ชาวประมงพื้นบ้านหลายร้อยครอบครัวต้องเปลี่ยนอาชีพ บ้างก็อพยพย้ายถิ่นไปทำการประมงในพื้นที่ต่างจังหวัด ปลายปีที่ผ่านมา ผมและอาจารย์ประสาท มีแต้ม ไปประชุมที่สตูล ไปพบชาวประมงที่เคยทำการประมงอยู่แถบคาบสมุทรสทิงพระ จังหวัดสงขลา จำต้องนำเรือขึ้นรถบรรทุกไปทำการประมงในฝั่งอันดามันที่จังหวัดสตูล เขาได้เล่าให้เราฟังว่า
 
“ที่สทิงพระไม่มีปลาให้จับมานานแล้ว หลังจากมีการขุดน้ำมันในทะเลได้สัก 1-2 ปี เพราะพื้นดินที่ท้องทะเลเต็มไปด้วยโคลนมีลักษณะเหนียว มีกลิ่นเหม็น หนาประมาณตาตุ่ม ทำให้ปลาอยู่ไม่ได้ อวนที่วางเมื่อก่อนล้างน้ำแล้วสะบัดสิ่งสกปรกจะหลุดจากตาอวน แต่เดียวนี้ไม่เป็นเช่นนั้น สะบัดไม่หลุด คล้ายไขมันเกาะที่อวน”
 
กรมประมง กรมควบคุมมลพิษ หน่วยงานราชการต่างๆ ที่รับผิดชอบต่อความอยู่ดีกินดีของประชาชน หรือที่เกี่ยวข้องกับปัญหามลภาวะ มลพิษต่างๆ ทั้งในส่วนกลาง และในส่วนภูมิภาค ซึ่งส่วนใหญ่ก็ตั้งสำนักงานอยู่ในพื้นที่จังหวัดสงขลา หาได้ให้ความสนใจต่อปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างจริงๆ จังๆ สื่อมวลชนกระทุ้งทีก็กระโดดออกมาปกป้องหน่วยงานของตัวเองที หาได้เกาะติดปัญหาอย่างใกล้ชิด และจริงจัง
 
กรณีคราบน้ำมันเกลื่อนชายหาดที่สทิงพระก่อนวันสงกรานต์ที่ผ่านมา คือตัวชี้วัดประสิทธิภาพของกลไก และหน่วยงานของรัฐได้เป็นอย่างดีว่า ล้มเหลวโดยสิ้นเชิงในการทำหน้าที่ที่กฎหมายมอบอำนาจให้ และรับเงินเดือนจากภาษีของเจ้าของประเทศอย่างเราๆ
 
เมื่อวันศุกร์ที่ 17 พฤษภาคม 2556 ที่ผ่านมา กรรมาธิการวิสามัญสภาผู้แทนราษฎรได้ลงพื้นที่เพื่อตรวจสอบรายรับ/รายจ่ายขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในจังหวัดสงขลา ที่ได้รับงบประมาณจากค่าภาคหลวงปิโตรเลียมที่บริษัทขุดเจาะน้ำมันจ่ายให้แก่จังหวัดสงขลา ก็พบว่า ทางบริษัทได้จ่ายค่าภาคหลวงให้แก่รัฐบาล และรัฐบาลได้จ่ายค่าภาคหลวงดังกล่าวมาให้แก่จังหวัดสงขลา โดยแบ่งออกเป็น 4 งวด/ปี
 
มีการจ่ายมาให้ครั้งแรกในปี 2553 เริ่มจากจ่ายปีละ 84,915,886 บาท และในปี 2556 ที่ผ่านมา จ่ายมา 322,515,663 บาท ซึ่งในปี 2556 จ่ายมาแล้ว 2 งวด จำนวนเงิน 206,046.106 บาท คาดว่าอีก 2 งวดในปี 2556 จะทำให้องค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลา ได้รับงบประมาณจากค่าภาคหลวงจากการขุดเจาะน้ำมันในจังหวัดสงขลาไม่ต่ำกว่า 400 ล้านบาท/ปี (จากเอกสารงบประมาณรายรับ-รายจ่ายขององค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลา ประกอบการประชุมของกรรมาธิการวิสามัญสภาผู้แทนราษฎร ณ อาคารศรีเกียรติพัฒน์ องค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลา ในวันศุกร์ที่ 17 พฤษภาคม 2556)
 
ม.ล.กรกสิวัฒน์ เกษมศรี ได้พูดถึงแหล่งน้ำมันที่กำลังขุดเจาะในพื้นที่ใกล้ชายฝั่งของจังหวัดสงขลา ว่า มีปริมาณมากถึง 289 ล้านบาร์เรล มีมูลค่า 9.5 แสนล้านบาท ปัจจุบันขุดได้วันละวันละ 27,000 บาร์เรล ประมาณการว่าจะใช้เวลากว่า 30 ปีถึงจะหมด
 
ทรัพยากรน้ำมันในจังหวัดสงขลา ที่มีมูลค่าเป็นแสนๆ ล้าน การใช้เศษเงินเพียงปีละ 4-500 ล้านบาท/ปี ในการปิดปากนักการเมือง และหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องไม่ให้ออกมาทำหน้าที่ในการปกป้องคุ้มครองอาชีพของประชาชนและสิ่งแวดล้อม จึงเป็นเรื่องจิ๊บๆ สำหรับบริษัทต่างชาติเหล่านี้ คนเล็กคนน้อยอย่างชาวประมง หรือประชาชนคนตาดำๆ ที่ได้รับผลกระทบโดยตรง หรือผู้คนทั่วไปที่ใช้ชายหาดในการพักผ่อน คนกินปลาที่ต้องอาศัยชาวประมงจะพึ่งใครได้ล่ะ ในเมื่อเงินแค่ 4-500 ล้านบาท/ปี ก็สามารถปิดปากพวกท่านได้อย่างสนิทเช่นนี้
 

กำลังโหลดความคิดเห็น