xs
xsm
sm
md
lg

กรมเชื้อเพลิงฯ รุกแจงสื่อบุรีรัมย์ เข้าใจการสำรวจผลิตปิโตรเลียม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ จัดสัมมนาสื่อท้องถิ่นบุรีรัมย์ แจงข้อมูลสร้างความรู้ความเข้าใจด้านการสำรวจและผลิตปิโตรเลียม วันนี้ ( 7 พ.ค.)
บุรีรัมย์ - กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติรุกเดินสายจัดสัมมนาสื่อท้องถิ่นบุรีรัมย์ แจงข้อมูลสร้างความรู้ความเข้าใจด้านการสำรวจและผลิตปิโตรเลียม เน้นชูความมั่นคงด้านพลังงานคู่สังคม-สิ่งแวดล้อม เผยตัวเลขเก็บรายได้เข้ารัฐปีที่ผ่านมา 1.6 แสนล้าน กระจายเม็ดเงินกลับคืนพัฒนาท้องถิ่นกว่า 2.5 หมื่นล้าน

วันนี้ (7 พ.ค.) กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ กระทรวงพลังงาน จัดสัมมนาสื่อมวลชนทุกแขนงในพื้นที่จังหวัดบุรีรัมย์ ที่ห้องสัมมนา โรงแรมเทพนคร อ.เมือง จ.บุรีรัมย์ โดยมีนายอภินันท์ จันทรังษี ผู้ว่าราชการจังหวัดบุรีรัมย์ เป็นประธาน และ น.ส.วรรณาภรณ์ สวัสดิมงคล รองอธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ นำคณะผู้บริหารระดับสูงของกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ พร้อมทั้งสื่อมวลชนจังหวัดบุรีรัมย์ ร่วมในการสัมมนากว่า 100 คน

ทั้งนี้ เป็นการดำเนินการตามแผนงานการสร้างความรู้ความเข้าใจด้านปิโตรเลียมของกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ ภายใต้ชื่อโครงการ “เครือข่ายปิโตรเลียมประจำปี 2556” เพื่อให้ข้อมูล สร้างความรู้ความเข้าใจในด้านการดำเนินงานสำรวจและผลิตปิโตรเลียมในพื้นที่สัมปทานปิโตรเลียม ด้านกฎหมายปิโตรเลียมและผลประโยชน์ที่ได้รับจากการประกอบกิจการด้านปิโตรเลียม

น.ส.วรรณาภรณ์ สวัสดิมงคล รองอธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ กล่าวว่า การดำเนินงานด้านสำรวจและผลิตปิโตรเลียมจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องสร้างความรู้ความเข้าใจอย่างถูกต้องกับประชาชนในพื้นที่เพื่อการดำเนินงานด้านการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมเป็นไปอย่างโปร่งใสจะต้องดำเนินภายใต้ความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม และให้ความสำคัญต่อการอยู่ร่วมกันของชาวบ้านและภาคธุรกิจอื่นๆ โดยเน้นการสร้างความมั่นคงด้านพลังงานควบคู่กับการดูแลสังคมและสิ่งแวดล้อม

ส่วนสถานการณ์การใช้พลังงานของประเทศในปี 2555 ประเทศไทยมีการใช้พลังงานเชิงพาณิชย์เฉลี่ยวันละ 1.97 ล้านบาร์เรล เทียบเท่าน้ำมันดิบต่อวัน มีสัดส่วนชนิดเชื้อเพลิงเป็นก๊าซธรรมชาติ 44% น้ำมันดิบ 36% ถ่านหิน ลิกไนต์ 17% พลังน้ำ และอื่นๆ 3%

ขณะที่การจัดหาพลังงานภายในประเทศสามารถพึ่งพาตัวเองได้ประมาณ 43% โดยจัดหาก๊าซธรรมชาติได้ 3,680 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ก๊าซธรรมชาติเหลว 91,000 บาร์เรลต่อวัน น้ำมันดิบ 145,000 บาร์เรลต่อวัน

จากสถิติความต้องการใช้พลังงาน พบว่าจะเพิ่มสูงขึ้นเกือบทุกปีตามการเติบโตทางด้านเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ จึงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องมีการนำเข้าจากต่างประเทศ แต่เพื่อลดสัดส่วนการพึ่งพาพลังงานจากการนำเข้าให้ได้สูงสุด จึงจำเป็นต้องดำเนินการสำรวจและพัฒนาแหล่งปิโตรเลียมในประเทศเพิ่มมากขึ้น โดยปัจจุบันอยู่ระหว่างการเตรียมการเพื่อเปิดสัมปทานปิโตรเลียมรอบที่ 21 โดยมีพื้นที่ครอบคลุมทางภาคเหนือ กลาง และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ รวมถึงบริเวณอ่าวไทย

น.ส.วรรณาภรณ์กล่าวอีกว่า สำหรับการจัดเก็บรายได้จากการดำเนินงานด้านการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมในปีที่ผ่านมา รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 161,911 ล้านบาท ประกอบด้วย 1. ค่าภาคหลวงปิโตรเลียม 60,234 ล้านบาท 2. รายได้จากการดำเนินงานในพื้นที่พัฒนาร่วมไทย-มาเลเซีย (MTJA) 15,822 ล้านบาท 3. เงินผลประโยชน์ตอบแทนพิเศษ 4,077 ล้านบาท และ 4. ภาษีเงินได้ปิโตรเลียม มีมูลค่าสูงถึง 81,778 ล้านบาท ซึ่งรายได้ดังกล่าว นับว่ากรมเชื้อเพลิงธรรมชาติสามารถจัดเก็บรายได้เข้ารัฐมากเป็นอันดับต้นของประเทศ หากนับรวมรายได้จากการประกอบกิจการด้านปิโตรเลียมของกรมแล้วมีรายได้สะสมเข้ารัฐทั้งหมดกว่า 1.166 ล้านล้านบาท

โดยรายได้จากการจัดเก็บดังกล่าวได้มีการจัดสรรคืนกลับไปพัฒนาท้องถิ่นทั้งทางด้านเศรษฐกิจ สังคม และคุณภาพชีวิต มีวงเงินกว่า 25,511 ล้านบาท ซึ่งได้จัดสรรให้กับท้องถิ่น ทั้งทางตรงและทางอ้อม โดยกระจายผ่านไปยังองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทุกระดับ ทั้งองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) เทศบาล และองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) อีกทั้งได้นำรายได้ที่จัดเก็บได้ส่งกระทรวงการคลังเพื่อนำไปใช้เพื่อการพัฒนาประเทศต่อไป

ด้านนายอภินันท์ จันทรังษี ผู้ว่าราชการจังหวัดบุรีรัมย์ กล่าวว่า โครงการขุดเจาะสำรวจปิโตรเลียมที่ทางกระทรวงพลังงานกำลังดำเนินการในพื้นที่ จ.บุรีรัมย์ หากขุดเจาะพบก็จะเกิดประโยชน์หลายด้าน ทั้งสามารรถลดปริมาณการนำเข้าน้ำมัน และลดการพึ่งพาแหล่งผลิตกระแสไฟฟ้าจากต่างประเทศได้ ส่วนที่มีบางกลุ่มออกมาเคลื่อนไหวคัดค้านนั้น ก็เพราะยังไม่เข้าใจข้อมูลที่แท้จริงหรือประโยชน์ที่จะได้รับ

ดังนั้น การจัดสัมมนาสื่อมวลชนครั้งนี้เชื่อว่าจะนำข้อมูลไปเผยแพร่ถ่ายทอดให้ประชาชนในหมู่บ้าน ชุมชนต่างๆ ได้เข้าใจอย่างถูกต้องถึงวัตถุประสงค์ของการดำเนินโครงการดังกล่าว



น.ส.วรรณาภรณ์ สวัสดิมงคล รองอธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ
กำลังโหลดความคิดเห็น