xs
xsm
sm
md
lg

ค่าปิดปากปีละ 400 ล้านบาท

เผยแพร่:   โดย: บรรจง นะแส


มีคำถามเกิดขึ้นมาว่าข่าวคราวที่ชาวประมงชายฝั่งในพื้นที่จังหวัดสงขลา ที่ได้รับผลกระทบจากการขุดเจาะน้ำมันนอกฝั่งจังหวัดสงขลา ของบริษัทนิวคอสตอล (ประเทศไทย) จำกัด (ปัจจุบันได้เปลี่ยนชื่อเป็นบริษัท ซี.อี.ซี.อินเตอร์เนชั่นแนล ลิมิเต็ด (สาขาประเทศไทย) ซึ่งได้รับสัมปทานแปลงสำรวจในทะเลอ่าวไทยหมายเลข จี5 /43 จากกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ กระทรวงพลังงาน ในสมัยที่ นพ.พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดชเป็นรัฐมนตรีว่าการฯ และมีอดีตนายกรัฐมนตรี ทักษิณ ชินวัตรเป็นนายกรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม 2546 นั้น 10 ปีผ่านไป อาชีพประมงชายฝั่งของจังหวัดสงขลากำลังล่มสลาย แต่ไม่มีหน่วยงานไหน กลไกทางการเมืองไม่ว่าสมาชิกองค์การบริหารส่วนตำบล ส.จ. ส.ส.ต่างสงบปากสงบคำ หน่วยงานราชการต่างๆ ที่เกี่ยวข้องก็เงียบเหมือนเป่าสาก คำตอบที่เจอในวันนี้ก็พบว่าบริษัทขุดเจาะน้ำมันได้จ่ายค่าปิดปากให้กับบุคคล หน่วยงานและกลไกต่างๆ ของรัฐไม่ต่ำกว่าปีละ 400 ล้านบาท

จากปี 2546 ถึงปัจจุบัน 10 ปีที่ผ่านมา ผลพวงจากการขุดเจาะน้ำมันในพื้นที่ชายฝั่งของจังหวัดสงขลา ที่มีหลุมขุดเจาะที่ชื่อว่าแหล่งบัวบาน A-D ได้ส่งผลต่ออาชีพการทำประมงของชุมชนประมงชายฝั่งลงอย่างย่อยยับ หาคนรับผิดชอบต่อความสูญเสีย ความเสียหายที่เกิดขึ้นไม่ได้ บริษัทได้ใช้งบประมาณปิดปากและลดการเคลื่อนไหวของชาวประมงด้วยการจ่ายค่าชดเชยในการสูญเสียอาชีพครอบครัวละไม่ถึง 2,000 บาท/เดือน ในขณะเดียวกันก็ใช้เงื่อนไขลดแรงกดดันจากองค์กรปกครองท้องถิ่นในพื้นที่ติดชายฝั่ง ตั้งแต่อำเภอระโนดจรดอำเภอเทพารวม 28 องค์กรด้วยการจัดสรรงบประมาณให้แต่ละองค์กร ซึ่งในปีที่ผ่านมาแต่ละองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นได้รับผลประโยชน์ไปเฉลี่ยองค์กรละ 15 ล้านบาท ในส่วนขององค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลาก็รับไปกว่า 400 ล้านบาท ตัวแทนของประชาชนในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทั้ง อบต. อบจ. จึงสงบเสงี่ยมไม่มีปากเสียงต่อความเดือดร้อนของพี่น้องในพื้นที่ โดยเฉพาะชาวประมงพื้นบ้านอาชีพดั้งเดิมที่อยู่คู่กับเมืองสงขลามานับร้อยๆ ปีที่กำลังล่มสลาย      

ชาวประมงพื้นบ้านหลายร้อยครอบครัวต้องเปลี่ยนอาชีพ บ้างก็อพยพย้ายถิ่นไปทำการประมงในพื้นที่ต่างจังหวัด ปลายปีที่ผ่านมาผมและอาจารย์ประสาท มีแต้ม ไปประชุมที่สตูล ไปพบชาวประมงที่เคยทำการประมงอยู่แถบคาบสมุทรสทิงพระ จังหวัดสงขลา จำต้องนำเรือขึ้นรถบรรทุกไปทำการประมงในฝั่งอันดามันที่จังหวัดสตูล เขาได้เล่าให้เราฟังว่า “ที่สทิงพระไม่มีปลาให้จับมานานแล้ว หลังจากมีการขุดน้ำมันในทะเลได้สัก 1-2 ปี เพราะพื้นดินที่ท้องทะเลเต็มไปด้วยโคลนมีลักษณะเหนียว มีกลิ่นเหม็น หนาประมาณตาตุ่ม ทำให้ปลาอยู่ไม่ได้ อวนที่วางเมื่อก่อนล้างน้ำแล้วสะบัดสิ่งสกปรกจะหลุดจากตาอวน แต่เดี๋ยวนี้ไม่เป็นเช่นนั้น สะบัดไม่หลุดคล้ายไขมันเกาะที่อวน”

กรมประมง กรมควบคุมมลพิษ หน่วยงานราชการต่างๆ ที่รับผิดชอบต่อความอยู่ดีกินดีของประชาชนหรือที่เกี่ยวข้องกับปัญหามลภาวะ มลพิษต่างๆ ทั้งในส่วนกลางและในส่วนภูมิภาคซึ่งส่วนใหญ่ก็ตั้งสำนักงานอยู่ในพื้นที่จังหวัดสงขลา หาได้ให้ความสนใจต่อปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างจริงๆ จังๆ สื่อมวลชนกระทุ้งทีก็กระโดดออกมาปกป้องหน่วยงานของตัวเองที หาได้เกาะติดปัญหาอย่างใกล้ชิดและจริงจัง กรณีคราบน้ำมันเกลื่อนชายหาดที่สทิงพระก่อนวันสงกรานต์ที่ผ่านมา คือตัวชี้วัดประสิทธิภาพของกลไกและหน่วยงานของรัฐได้เป็นอย่างดี ว่าล้มเหลวโดยสิ้นเชิงในการทำหน้าที่ที่กฎหมายมอบอำนาจให้และรับเงินเดือนจากภาษีของเจ้าของประเทศอย่างเราๆ

เมื่อวันศุกร์ที่ 17 พฤษภาคม 2556 ที่ผ่านมา กรรมาธิการวิสามัญสภาผู้แทนราษฎรได้ลงพื้นที่เพื่อตรวจสอบรายรับ/รายจ่าย ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในจังหวัดสงขลาที่ได้รับงบประมาณจากค่าภาคหลวงปิโตรเลียมที่บริษัทขุดเจาะน้ำมันจ่ายให้แก่จังหวัดสงขลา ก็พบว่า ทางบริษัทได้จ่ายค่าภาคหลวงให้กับรัฐบาลและรัฐบาลได้จ่ายค่าภาคหลวงดังกล่าวมาให้แก่จังหวัดสงขลา โดยแบ่งออกเป็น 4 งวด/ปี มีการจ่ายมาให้ครั้งแรกในปี 2553 เริ่มจากจ่ายปีละ 84,915,886 บาท และในปี 2556 ที่ผ่านมาจ่ายมา 322,515,663 บาท ซึ่งในปี 2556 จ่ายมาแล้ว 2 งวดจำนวนเงิน 206,046.106 บาท คาดว่าอีก 2 งวดในปี 2556 จะทำให้องค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลาได้รับงบประมาณจากค่าภาคหลวงจากการขุดเจาะน้ำมันในจังหวัดสงขลาไม่ต่ำกว่า 400 ล้านบาท/ปี (จากเอกสารงบประมาณรายรับ-รายจ่าย ขององค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลา ประกอบการประชุมของกรรมาธิการวิสามัญสภาผู้แทนราษฎร ณ อาคารศรีเกียรติพัฒน์ องค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลา ในวันศุกร์ที่ 17 พฤษภาคม 2556)

  ม.ล.กรกสิวัฒน์ เกษมศรี ได้พูดถึงแหล่งน้ำมันที่กำลังขุดเจาะในพื้นที่ใกล้ชายฝั่งของจังหวัดสงขลาว่า มีปริมาณมากถึง 289 ล้านบาร์เรล มีมูลค่า 9.5 แสนล้านบาท ปัจจุบันขุดได้วันละ 27,000 บาร์เรล ประมาณการว่าจะใช้เวลากว่า 30 ปีถึงจะหมด ทรัพยากรน้ำมันในจังหวัดสงขลาที่มีมูลค่าเป็นแสนๆ ล้าน การใช้เศษเงินเพียงปีละ 400-500 ล้านบาท/ปี ในการปิดปากหน่วยงานราชการ นักการเมืองและหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องไม่ให้ออกมาทำหน้าที่ในการปกป้องคุ้มครองอาชีพของประชาชนและสิ่งแวดล้อมจึงเป็นเรื่องจิ๊บๆ สำหรับบริษัทต่างชาติเหล่านี้ คนเล็กคนน้อยอย่างชาวประมงหรือประชาชนคนตาดำๆ ที่ได้รับผลกระทบโดยตรง หรือผู้คนทั่วไปที่ใช้ชายหาดในการพักผ่อน คนกินปลาที่ต้องอาศัยชาวประมงจะพึ่งใครได้ล่ะ ในเมื่อเงินแค่ 400-500 ล้านบาท/ปี ก็สามารถปิดปากพวกท่านได้อย่างสนิทเช่นนี้.
กำลังโหลดความคิดเห็น