xs
xsm
sm
md
lg

เวทีประชาพิจารณ์ขุดน้ำมันกลางอ่าวไทยที่นครฯ ล้มไม่เป็นท่า (ชมคลิป)

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


นครศรีธรรมราช - ชาวประมงชายฝั่งนครศรีธรรมราช บุกไล่ต้อนเวทีรับฟังความคิดเห็นผลิตปิโตรเลียมของบริษัทเอกชน พร้อมแสดงป้ายผ้าประท้วงแน่นห้องประชุม ท้ายสุดพลังงานจังหวัดต้องประกาศยุติเวที ยืนยันการรับฟังความเห็นเป็นโมฆะเนื่องจากไม่สมบูรณ์

เมื่อเวลา 09.30 น. วันนี้ (28 พ.ค.) ที่ห้องประชุมโรงแรมเมืองลิกอร์ อ.เมือง จ.นครศรีธรรมราช บริษัทเอ็มพีจี 1 (ประเทศไทย) จำกัด ในเครือมูบาดาลาปิโตรเลียม โดยบริษัทอีอาร์เอ็ม-สยาม จำกัด ในฐานะบริษัทที่ปรึกษา ได้จัดกิจกรรมการมีส่วนร่วมของประชาชน ในโครงการผลิตปิโตรเลียมในแหล่งวาสนา ภายในแปลงสัมปทานหมายเลข G10/48 โดยมีนายอุทัย ภูริพงศธร พลังงานจังหวัดนครศรีธรรมราช เป็นประธาน และมีนายอัตพงศ์ อ่างคำ ตัวแทนจากกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ ได้นำเสนอความเป็นมาของกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ หลังจากนั้น นายอภินันท์ บุญบัณฑิต ตัวแทนของมูบาดาลาปิโตรเลียม ได้แนะนำความเป็นมาของบริษัทเอ็มพีจี 1 (ประเทศไทย) ท่ามกลางประชาชาชนที่มีอาชีพประมงชายฝั่งจาก อ.หัวไทร อ.ท่าศาลา อ.ปากพนัง เข้ามาร่วมด้วยจำนวนมาก

นายอุทัย ภูริพงศธร พลังงานจังหวัดนครศรีธรรมราช ในฐานะตัวแทนผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช กล่าวว่า กิจกรรมนี้ถือเป็นส่วนหนึ่งของการจัดกิจกรรมการมีส่วนร่วมของประชาชน เพื่อการจัดรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมในแหล่งวาสนา ในแปลงสัมปทาน G10/48 ทั้งนี้ เพื่อนำเสนอข้อมูลเบื้องต้นของโครงการ และร่างขอบเขตการศึกษาถึงผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมเข้าสู่กระบวนการพิจารณาของ สผ.

“โครงการนี้อยู่ห่างจากชายฝั่งของอำเภอหัวไทรไปทางทิศตะวันออกราว 109 กิโลเมตร โดยมีองค์ประกอบที่สำคัญของโครงการ คือ แท่นผลิต เรือกักเก็บปิโตรเลียม ระบบท่อขนส่งใต้ทะเล โดยคาดการณ์ว่าจะเริ่มผลิตใด้ในปี 2558 หลังจากนั้น จะย้ายไปยังแหล่งมยุรา และแหล่งนิรมัย ตามลำดับ และโครงการจะดำเนินการต่อเนื่องไปตลอดอายุสัมปทาน”

ขณะที่นายอภินันท์ บุญบัณฑิต ตัวแทนของมูบาดาลาปิโตรเลียม ได้กล่าวถึงความเป็นมาของบริษัท รวมทั้งการเข้าซื้อกิจการของบริษัทเพิร์ลออย จำกัด หลังจากนั้นได้มาเปลี่ยนชื่อเมื่อเดือนพฤษภาคม 2556 ที่ผ่านมา และระบุว่า การดำเนินกิจการของบริษัทนั้นได้ดำเนินอยู่ในหลายประเทศ เช่น เวียดนาม ไทย มาเลเซีย สิงคโปร์ และประเทศในแถบตะวันออกกลาง เป็นต้น

“แม้ว่าพื้นที่สัมปทานจะกว้างขวางมาก บริษัทไม่สามารถขุดเจาะตรงไหนก็ได้จะต้องดำเนินการตามขั้นตอน เบื้องต้นนั้นได้ดำเนินการใน 3 แหล่ง แต่ละแหล่งต้องศึกษาถึงผลกระทบจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกด้าน เพื่อนำไปสู่การจัดทำรายงานอีไอเอ” ตัวแทนบริษัทรายนี้กล่าว

หลังจากนั้น ตัวแทนจากบริษัทอีอาร์เอ็ม-สยามจำกัด ในฐานะที่ปรึกษาและผู้จัดทำรายงานได้กล่าวถึงภาพรวมของโครงการ ที่ตั้งโครงการในอ่าวไทย กำหนดการที่จะดำเนินการในขั้นตอนต่างๆ และเมื่อมาถึงช่วงที่จะมีการชี้แจงถึงขอบเขตการศึกษา ปรากฏว่า นายประเสริฐ คงสงค์ อาสาสมัครพิทักษ์ ได้เริ่มสอบถามถึงความไม่ชอบมาพากลในการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นในครั้งนี้ สืบเนื่องจากมีการเชิญแค่หัวหน้าส่วนราชการ แต่ไม่แจ้งข้อมูลข่าวสารไปยังผู้ที่มีส่วนได้เสียอย่างแท้จริง โดยเฉพาะกลุ่มประมง ต่างทราบ และเดินทางมากันเอง และยืนยันว่า ไม่มีบริษัทเอกชน หรือทางการแจ้งเรื่องนี้ให้ทราบเลย พร้อมกันนั้น ยังพบว่าเวลาที่เปิดโอกาสให้มีการซักถามนั้นตามหลักการต้องครึ่งหนึ่งของการจัดเวลาทั้งหมด แต่ปรากฎว่า ครั้งนี้มีการจัดเพียง 30 นาทีเท่านั้น ถือว่าไม่ชอบธรรม หลังจากนั้นปรากฏว่าชาวบ้านที่มาร่วมในเวทีต่างนำแผ่นป้ายการแสดงการคัดค้านออกมาแสดงกันจนเต็มพื้นที่ห้องประชุมอย่างเรียบร้อย ท่ามกลางความตกตะลึงของตัวแทนบริษัทผู้รับสัมปทาน และบริษัทที่ปรึกษา

ขณะที่ นายประยุทธ วรรณพรหม ตัวแทนเครือข่ายองค์กรชุมชนนครศรีธรรมราช ระบุว่าเพิ่งทราบข่าวการจัดเวทีนี้เมื่อคืนที่ผ่านมา ประชาชนที่เดินทางมาต่างมากันเอง การเปิดเวทีรับฟังความเห็นครั้งนี้ต้องเป็นโมฆะไป เนื่องจากไม่มีการเปิดโอกาสให้ความรู้ความเข้าใจแก่ประชาชนโดยแท้จริง ไม่แจ้งให้ประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนจริงๆ ให้ทราบ แจ้งแค่หัวหน้าส่วนราชการมาเท่านั้น ดังนั้น เวทีนี้ต้องเลิกเพราะไม่ชอบด้วยกฎหมาย และความชอบธรรมมาตั้งแต่ต้น ประธานต้องสั่งให้เวทีนี้ยุติ และเป็นโมฆะ

ขณะที่นายประยุทธ ฐานะวัฒนา กำนันตำบลแหลมตะลุมพุก ในฐานประธานเครือข่ายประมงปากพนัง หัวไทร แสดงความเห็นต่อว่าเวทีนี้ไม่ชอบมาตั้งแต่ต้น ไม่ได้แจ้งให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียรับทราบ หากจัดเวทีลักษณะเช่นนี้ต่อไป ไม่ว่าจะเป็นที่ไหนต้องประสบความล้มเหลวต่อไป เพราะชาวบ้าน ชาวประมงไม่ยอมแน่นอน ต้องล้มไปทุกครั้ง ดังนั้นทางผู้จัดต้องดำเนินการเสียใหม่

ผู้สื่อข่าวรายงานอีกว่า โดยตลอดที่มีการแสดงความเห็นนั้น เจ้าหน้าที่ของบริษัทที่ปรึกษา รวมทั้งนายอุทัย ภูริพงศธร ไม่สามารถควบคุมสถานการณ์ และตอบคำถามในเรื่องของความชอบธรรมในการประสานงานจัดเวทีได้ แต่ได้พยายามอธิบายเพียงว่าเป็นการจัดเวทีเฉพาะเท่านั้น และทางผู้จัดเวทีจะมีการจัดไปเป็นกลุ่มๆ อย่างต่อเนื่อง ซึ่งทางชาวประมงที่เข้าร่วมได้แสดงป้ายข้อความต่างกดดัน และแสดงความเห็นให้ยุติการจัดเวทีรับฟังพร้อมกันให้ประกาศเป็นโมฆะ โดยนายอุทัย พยายามเลี่ยงที่จะพูดถึงการเป็นโมฆะ พยายามใช้คำว่ายังไม่สมบูรณ์แทน แต่ในที่สุด หลังจากถูกกดดัน นายอุทัย จึงยอมประกาศให้การจัดเวทีครั้งนี้กลายเป็นโมฆะไปในที่สุด และหัวหน้าส่วนราชการต่างๆ ได้ทยอยกลับออกไปจนหมด เป็นการปิดเวทีอย่างสมบูรณ์



 
 




กำลังโหลดความคิดเห็น