บ่ายวันหนึ่งในร้านกาแฟ บทสนทนาเริ่มต้นขึ้นหลังจากได้ฟังเพลง “สงขลาส่องแสง” ที่ริมทะเลสาบสงขลา...
“เติมความรักให้คนได้กลับมาฝึกฝนชีวิตดีงาม ให้เมืองได้กลับมางดมางามแบบสงขลา
ปลุกสำนึกในคนว่าอย่าอยู่เฉยจนเมืองมืดมน จงจุดศรัทธา และส่องแสงตนออกมา
แม้เป็นแสงเล็กๆ แต่ยังจะมีความหวังยิ่งใหญ่
แม้เป็นคนเล็กๆ หนึ่งคน แต่จะไม่ยอมเป็นคนไม่สาไหร
บอกสงขลาให้กล้าส่องแสงออกไป ปลุกพลังพลเมืองรุ่นใหม่...”

“เอก - พจนาถ พจนาพิทักษ์” คือชื่อของชายหนุ่มตรงหน้า เขาเป็นกวี นักร้อง และนักแต่งเพลงเลือดปักษ์ใต้ หลายคนรู้จักชื่อนี้จากเพลงประกอบรายการ “คนค้นฅน” สารคดีโทรทัศน์ที่บอกเล่าเรื่องราวชีวิตของผู้คนในสังคม หรือไม่ก็เพลง “ฝากใจไปบ้าน” เพลงประกอบละครในทำนองตารีกีปัส (Tarikipas) หรือการระบำพัด (ตารี = ระบำ, กีปัส = พัด) ซึ่งเป็นนาฏศิลป์ของผู้คนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ และเพลงนี้ก็ทำให้คนไกลบ้านบางคนน้ำตาไหลแบบไม่รู้ตัวมาแล้ว
แต่ทว่าเพลงที่จุดประกายให้ได้นั่งจับเข่าคุยกันกลับเป็นเพลง “ปากบารา” เพลงที่กล่าวถึงการรุกคืบของ “วาทกรรมการพัฒนา” ที่กำลังจะเกิดขึ้นริมชายฝั่งอันดามันในเขตพื้นที่ อ.ละงู จ.สตูล ซึ่งถูกกำหนดให้เป็นพื้นที่ยุทธศาสตร์ก่อสร้าง “ท่าเรือน้ำลึกปากบารา” หนึ่งในแผนเมกะโปรเจกต์ภาคใต้ และเป็นจิ๊กซอว์ตัวสำคัญที่จะเชื่อมร้อยกับ “ท่าเรือน้ำลึกสงขลา 2” แล้วก่อให้เกิดนิคมอุตสาหกรรม รวมทั้งอุตสาหกรรมปิโตรเคมีตามมาในพื้นที่ ซึ่งย้อนแย้งกับวิถีชีวิตผู้คนท้องถิ่นที่ใช้ทะเลเพื่อทำการประมง ธุรกิจ และอาชีพเกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยวทางทะเล
ท่ามกลางการคัดค้านอย่างเข้มข้น “เพลงปากบารา” ของกวีหนุ่มผู้รักในการร้องเพลงคนนี้ ก็เป็นอีกหนึ่งแรงขับเคลื่อนที่แสดงออกว่า “ไม่ต้องการท่าเรือน้ำลึกปากบารา” อย่างจริงจัง
เพลงมีส่วนร่วมขับเคลื่อนสังคมได้อย่างไรบ้าง?
ชายหนุ่มครุ่นคิดแล้วตอบด้วยน้ำเสียงสบายๆ แต่มุ่งมั่นว่า... เขาไม่รู้ว่าเพลงที่ทำจะมีพลังไปต่อต้าน หรือต่อสู้กับสิ่งที่ไม่เห็นด้วยหรือไม่ แต่สิ่งที่เขากำลังทำอยู่ตอนนี้คือ บทบาทของชีวิต ทั้งการเขียนบทกวี และเขียนเพลง ร้องเพลง เล่นดนตรี ซึ่งจุดมุ่งหมายของการทำงานของเขามี 2 อย่าง คือ ทำเพราะตัวเองอยากทำ นั่นคือทำเพื่อตัวเอง ทำเพราะชอบ และมีความสุข และทำเพราะเชื่อว่าสิ่งที่กำลังทำมีคุณค่าต่อผู้อื่น มีคุณค่าต่อสังคม มีคุณค่าต่อโลก ดังนั้น เวลาทำเพลงที่เกี่ยวกับประเด็นต่างๆ ในสังคม เขาก็ทำด้วยความรู้สึกมีความสุข และอยากทำอะไรที่เป็นประโยชน์แก่ส่วนรวมแบบนี้
“คนที่ทำงานเพื่อสิ่งแวดล้อม ภาคประชาสังคม หรือองค์กรพัฒนาเอกชน เขาทำงานตามบทบาทของเขาอยู่แล้ว เพราะฉะนั้น เราจึงเหมือนแนวร่วมที่ช่วยเหลือเขาอีกแรง ส่วนมันจะมีผลให้สังคมเปลี่ยนแปลงหรือไม่ อันนี้ยังไม่รู้ แต่ก็แอบหวังว่ามันจะส่งผลอะไรบางอย่างไปยังคนที่คิดเหมือนเราว่ายังมีคนคิดแบบเดียวกันนี้อยู่ เมื่อฟังเพลงของเราเขาก็จะมีกำลังใจ
ส่วนคนที่คิดอยู่กลางๆ ไม่รู้ว่าท่าเรือน้ำลึกปากบาราคืออะไร เมื่อฟังเพลงนี้ เขาก็เหมือนจะได้รับข้อมูลที่สะดวก เข้าใจง่ายขึ้น เพราะถ้าเป็นข้อมูลหนักๆ ผ่านข่าว ผ่านการต่อสู้ของ NGO คนที่ยังเฉยๆ อยู่เขาจะเปิดรับข้อมูลยากหน่อย แต่ถ้าเป็นเพลง เมื่อเขาได้ยินผ่านหู แล้วเขาก็จะเข้าถึงได้ง่ายขึ้น”
ท่อนหนึ่งในเพลงนั้นของเขาร้องว่า....
ปากบารา ได้ยินไหมหนา ฉันกลับมาหา ฉันกลับมาถึง ชายหาดแห่งนี้ความหลังมากมีเกินคำรำพึง อยู่มาดีๆ ไม่นึกวันหนึ่งจะถูกรุกราน
เมืองที่ฉันชอบบอกกับใครด้วยความภูมิใจ บ้านเราไม่ใหญ่ก็จริง แต่เราไม่เลอะ ไม่เทอะ ไม่ทำลายสรรพสิ่ง สตูลชื่นชมของจริง ทั้งใจคนและทะเล
ปากบารา วันนี้กลับมาเพราะได้ข่าวว่าสายลมหักเห มีคนใจร้ายจ้องทำลายทำร้ายทะเล ว่าโอ้ว่าเห่ แล้วพี่น้องฉันจะอยู่กันอย่างไร ว่าโอ้ว่าเห่ ช่วยให้บาราอยู่รอดปลอดภัย

“แล้วในช่วงเวลาแบบนี้เพลงทำหน้าที่อะไรได้บ้าง?” เรายังคงรุกเร้าถามต่อ
กวีหนุ่มฉายแวววาววับในดวงตา รู้ได้ทันทีว่าเขากำลังพูดถึงบางสิ่งที่เกี่ยวเนื่องกับความสุข “ในกระบวนการของคนที่กำลังต่อสู้ในเรื่องนี้ มันน่าจะส่งเสริมกำลังใจ คือหน้าที่ของเพลงนั้น แม้มันไม่ได้เป็นเพลงที่พูดถึงการต่อสู้ทางสังคม แต่มันก็ทำหน้าที่ในเชิงสุนทรียะ เป็นศิลปะ ช่วยกล่อมเกลาจิตใจให้นุ่มนวลงดงาม อย่างน้อยก็ช่วยลดความแข็งกระด้างทางความคิด และลดความรุนแรงลงได้บ้าง เพราะพี่เชื่อในสันติวิธี เชื่อในพลังของมัน พี่เชื่อว่าเพลงมีพลัง ถ้าเรารวมกันมันก็จะเป็นพลังขึ้นมานั่นคือส่วนที่หนึ่ง ส่วนที่สองเป็นเรื่องของคนฟัง คือความเพลิดเพลิน เมื่อเรานึกถึงเพลง เราคิดถึงความบันเทิง เพราะฉะนั้น โดยรูปแบบของเพลงมันเป็นแบบที่รับสารได้ง่าย เพลงก็น่าจะทำหน้าที่ตรงนี้ได้ดี”
“คนเขียนเพลงต้องสนใจความเป็นไปของสังคมด้วยหรือเปล่า?” ที่มาของคำถามคือ การพบเห็นเพลงรักที่พูดถึงฉัน - เธอ- เขา - เรา - อกหักรักคุด ดาษดื่นล้นเกลื่อน
“มันอยู่ที่ว่าเขาสนใจสังคมแบบไหน เพราะว่าเพลงก็เหมือนสังคม” ถ้อยคำของเขาอธิบายภาพรวมของอาชีพคนเขียนเพลง หรือนักแต่งเพลงได้แจ่มชัด ก่อนจะลงลึกถึงรายละเอียดว่า อาชีพนี้มีความหลากหลาย มีหลายกลุ่มหลายประเภท เพราะฉะนั้นถ้าคนทำเพลงรักก็คงสนใจสังคมเกี่ยวกับการค้าการขาย เพราะเพลงรักมันตอบสนองความต้องการของคนส่วนใหญ่ในสังคมอยู่แล้ว แต่ไม่ใช่ว่าคนที่ทำเพลงรักจะไม่สนใจสังคมเลย
“เพราะเท่าที่พี่รู้มาคนที่เขียนเพลงแนวตลาด อีกส่วนหนึ่งเขาก็สนใจสังคม แต่โดยอาชีพเขาอาจจะไม่เอื้อ แต่ถามว่าเขาจำเป็นต้องสนใจไหมอันนี้พี่คงตอบแทนไม่ได้ เพราะมันขึ้นอยู่กับแต่ละคนมากกว่า แต่ถ้าเป็นตัวพี่เอง บังเอิญว่าตัวตนของพี่มันสนใจสังคมตั้งแต่แรกอยู่แล้ว พี่เป็นคนที่อยากให้สังคมมันดีกว่าที่เป็นอยู่ ทำอย่างไรจึงจะให้สังคมมันดีกว่าที่เป็นอยู่ พี่คิดแบบนั้น”
ทำไมเราต้องสนใจสังคม และทำไมสังคมน่าจะต้องดีขึ้นกว่าที่เป็นอยู่?
“ถามว่าทำไมต้องสนใจ... มันเกิดขึ้นหลังจากที่เข้าไปในโลกของศิลปะ ศิลปะน่าจะมีส่วนอย่างสูง” ศิลปินหนุ่มหมายถึงการเข้าเรียนที่วิทยาลัยศิลปหัตถกรรมนครศรีธรรมราช หลังจากจบชั้น ม.3 จากโรงเรียนมัธยมใน จ.สตูล
“โลกของศิลปะช่วยให้มองโลกในหลายมิติมากขึ้น เพิ่มความหลากหลาย ลุ่มลึกมากขึ้น จากเดิมที่มองแบบแบนๆ ราบๆ กว้างๆ อะไรก็ได้ แต่คนอื่นที่เขาไม่ได้เรียนศิลปะเขาก็สนใจสังคมเหมือนกัน เพียงแต่มีที่มา และเหตุผลต่างกัน
พี่ค้นพบความลุ่มลึก ความซับซ้อนทางสังคม และรู้สึกว่าเราสนใจแบบนี้มาตั้งแต่ตอนที่เรียนศิลปะ นอกจากนี้ โลกของบทกวีก็เป็นส่วนสำคัญที่นำพาเราไปพบกับวรรณกรรมดีๆ และตัวบทกวีเองก็นำเสนอเรื่องสังคมด้วย”
บทกวีแรกที่จุดประกายให้ “พจนาถ พจนาพิทักษ์” สนใจสังคมเป็นพิเศษคือ บทกวีที่เขาพบเจอในนิตยสารทางการเมืองเมื่อ พ.ศ.2528 เด็กหนุ่มจากสตูลซึ่งขณะนั้นร่ำเรียนอยู่ในรั้วที่ว่าด้วยเรื่องของศิลปะ อ่านแล้วกระทบใจเป็นพิเศษ จากเดิมที่เคยชินกับบทกวีว่าด้วยความงามทางสุนทรียะจากแบบเรียนในวิชาภาษาไทย หรือวรรณคดีต่างๆ ก็ได้รู้ว่าบทกวีนั้นสามารถนำมาต่อยอด และพูดถึงความซับซ้อนและเหลื่อมล้ำทางสังคมได้ด้วย
แล้วจริงๆ ชอบแต่งเพลง หรือเขียนบทกวีเพื่อสังคมมั้ย?
“ชอบนะ” ศิลปินหนุ่มยืนยัน และร่ายยาวต่อไปว่า ช่วงหลังๆ มานี้เขาเขียนงานแนวนี้เป็นส่วนใหญ่ เพราะพบเห็นแง่มุมทางสังคม วิกฤตทางสังคม และสิ่งสะท้อนทางสังคมที่ทำให้ค้นพบโลกใบใหม่ทางการเขียน
“ตอนแรกน้ำหนักจะเอนเอียงไปทางสุนทรียะ ความงามทางภาษา เรื่องความงามเชิงโรแมนติก ส่วนใหญ่จะเป็นแบบนี้ สายลม แสงแดด แต่เป็นบทกวีสมัยใหม่นะ นำคลื่น หาดทราย โยงสัญลักษณ์เข้ากับจิตใจของเรา พูดอีกอย่างหนึ่งคือ งานในช่วงแรกเป็นบันเทิงปัจเจกค่อนข้างสูง แต่ว่าถ้าบังเอิญบันเทิงปัจเจกของพี่มีความรู้สึกทางสังคมอยู่เรื่องใดเรื่องหนึ่งอยู่ด้วย พี่ก็จะได้เขียนเรื่องทางสังคมในเวลานั้น นี่คือช่วงแรกที่เป็นวัยหนุ่ม ซึ่งมีความทะเยอทะยานทางการเขียน
แต่พอผ่านมาหลายๆ ปี ด้วยอายุที่เพิ่มขึ้น และความโรแมนติกแบบนั้นเริ่มน้อยลง ความสนใจทางสังคม การเมือง สิ่งแวดล้อมมาอยู่ที่การรับรู้มากขึ้น มันก็เริ่มถ่ายเทเข้ามาผสมกับความโรแมนติกแบบเดิม แล้วตอนนี้อาจจะสามารถพูดได้ว่าสิ่งที่อยากจะเขียนอยากจะเล่าน่าจะเป็นเชิงสังคมมากกว่าช่วงแรก งานของพี่จึงค่อยๆ เปลี่ยนไป”
อาจจะเป็นเพราะเราเจอ เราเห็นอะไรมาเยอะรึเปล่า?
“ประสบการณ์ชีวิตก็มีส่วน แต่ว่าถ้าเราเติบโตมาทางสายนี้ แล้วเราไม่เป็นคนที่เฉยเมย เฉยชา หรือปลงกับสิ่งที่เกิดขึ้น พี่คิดว่าทุกคนต้องรู้สึกนั่นแหละ ดูอย่างบ้านเมืองของเราตอนนี้สิ ดูการแบ่งฝักแบ่งฝ่ายสิ ดูความแตกแยกความขัดแย้งสิ ดูปัญหาทางทรัพยากรสิ ซึ่งไม่ใช่แค่บ้านเราแต่มันเป็นทั้งโลก
ถ้าเราไม่มองเป็นความเฉยชา หรือปลง แต่เราเห็นว่าเป็นเรื่องดี มันก็ดีแล้วนี่ เราจะอยู่กันแบบโบร่ำโบราณไปทำไม มีทะเล มีชายหาดไปทำไม อยากได้ความเจริญในรูปแบบอื่นๆ เราก็ต้องรู้สึกแล้วว่า เฮ้ย! เราจะอยู่กันอย่างนี้หรือ เราจะปล่อยให้เป็นอย่างนี้หรือ เราชอบกันแบบนี้จริงๆ หรือ???
อย่างเกาะหลีเป๊ะที่มีโรงแรมที่พักขึ้นเต็มไปหมด หรือปากบาราที่กำลังจะมีท่าเรือน้ำลึก นี่พูดถึงบ้านตัวเองนะ ทุกคนน่าจะรู้สึกนะ โดยเฉพาะคนทำงานสายสร้างสรรค์ แต่คนที่ทำงานสายสร้างสรรค์ก็มีหลายคน หลายกลุ่มก้อน บางกลุ่มเขาอาจไม่สนใจเรื่องสิ่งแวดล้อมเลย สนใจแต่เรื่องวรรณกรรม สนใจเรื่องเชิงโรแมนติก เรื่องเชิงปรัชญา จะพูดเรื่องชายหาดก็ไม่พูด พูดเป็นปรัชญาไปเลยอะไรอย่างนี้ แต่ตัวพี่เองของสนใจเรื่องกระทบตากระทบใจ และอยากสร้างผลงานที่ออกไปกระทบใจผู้คน ณ เวลานี้ด้วย”
เพลงแบบนี้สามารถใช้เป็นอาวุธได้หรือเปล่า?
“ก็เป็นอาวุธทางความคิดนะ เพลงสามารถเป็นอาวุธได้อยู่แล้ว ไม่งั้นคงไม่มีเพลงอย่าง แสงดาวแห่งศรัทธา หรือ คนกับควาย นี่เป็นอาวุธแต่ไม่เป็นรูปธรรม ทว่าเนื้อหามันสามารถทิ่มแทง สามารถเอาไปต่อสู้กับคนที่คิดต่างกันได้ เมื่อคนเหล่านั้นฟังแล้วรู้สึกทิ่มแทงใจ เช่น เพลงคนกับควาย เป็นการเสียดสีที่ทำให้รู้สึกเจ็บปวด พร้อมกับการได้เห็นแง่มุมจริงๆ ของชีวิต
เชื่อในพลังของเพลงหรือเปล่า?
“เพลงมันน่าจะมีพลัง แต่ก็ไม่เชื่อว่าทุกเพลงจะมีพลัง ขึ้นอยู่กับจังหวะ และประสบการณ์ของเรา และของผู้ฟังด้วยว่าประสบการณ์ใกล้เคียงกันไหม ถ้าใกล้เคียงกันมันจะมีพลังมาก แต่ถ้าไม่ใกล้เคียงกัน เพลงก็ไม่น่าจะมีพลังกับเขามาก เช่น เพลงปากบารา ถ้านำไปให้คนแม่ฮ่องสอนฟัง เขาก็ไม่รู้เรื่อง คนที่ไม่เคยเห็นทะเลเขาก็อาจจะไม่รู้จักระบบนิเวศ หรือความหมายของสิ่งแวดล้อมแบบทะเล”
แล้วส่วนตัวอยากให้มีท่าเรือปากบารามั้ย?
“ไม่อยากให้มีอยู่แล้ว แต่ก็เข้าใจชาวบ้านที่เขาไม่มีข้อมูล เข้าใจชาวบ้านที่รู้สึกว่าถ้ามีท่าเรือคงจะดี นี่เราไม่พูดถึงคนที่อยากสร้าง คนที่อยากให้มี กลุ่มคนเหล่านั้นเป็นคนไม่กี่คนในจำนวนน้อยมาก แล้วก็เป็นกลุ่มคนที่ได้ประโยชน์เต็มเม็ดเต็มหน่วยกับสิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้น ไม่เกี่ยวอะไรเลยกับชาวบ้าน แล้วมีการบอกชาวบ้าน หรือโฆษณาชวนเชื่อว่าถ้ามีแล้วมันจะดีอย่างโน้นอย่างนี้ ก็เข้าใจนะว่าจะมีบางส่วนที่คล้อยตาม เพราะชีวิตที่เป็นอยู่ก็ไม่ได้ดีอะไรมากมาย
ถ้าเราสามารถอธิบายคนได้ว่า การมีท่าเรือน้ำลึกปากบารา การได้ผลประโยชน์ของคนไม่กี่คน ตระกูลบางตระกูล ที่เหลือชาวบ้านไม่ได้เห็นธรรมชาติเดิมๆ สวยๆ มันไม่ใช่แค่สวยไง มันมีผลทางระบบนิเวศ ในแง่ของชาวบ้านเองไม่ได้อยากรู้ เพราะพวกเขารับรู้ในองค์ความรู้เกี่ยวกับชีวิตของพวกเขาอยู่แล้ว เอาเป็นว่าทุกคนที่เห็นชายหาดเป็นปกติก็น่าจะดีกว่าไปสร้างอะไรแบบนั้น ถ้ามองให้ไกลกว่านี้นะ ลูกหลานข้างที่เกิดมาข้างหน้าต้องลำบากแน่บนพื้นฐานของการได้เงินทองของคนไม่กี่คนจากโครงการท่าเรือน้ำลึกปากบารา”

จริงๆ แล้ว “พจนาถ” เป็นคนโลกสวยไหม?
“พี่เอกโลกไม่ค่อยสวยนะ” ประโยคของศิลปินหนุ่มก่อแววฉงนในดวงตาคนถาม เขาพูดต่อ... “จริงๆ แล้วมองว่าโลกมันเหวี่ยงไปเหวี่ยงมา ระหว่างการมองโลกแง่ร้าย กับการมองโลกในแง่ดี เหวี่ยงไปเหวี่ยงมาเสมอ มองโลกในแง่จริงตรงกลางเนี่ยจะมีแค่เป็นบางช่วง
ถ้าระหว่างมองโลกในแง่ร้าย และการมองโลกในแง่ดี พี่คงมองโลกในแง่ร้ายมากกว่า แต่ไม่ใช่ว่าอะไรๆ ก็ร้ายไปหมดจนทำให้เราดูเป็นคนเครียดๆ นะ ไม่ใช่แบบนั้น แต่มันเกิดจากความไม่ไว้เนื้อเชื่อใจต่อสิ่งที่เขาบอกว่าดี”
ทำไมจึงเป็นแบบนั้น?
“เพราะถ้าเราคิดดีๆ ทุกเรื่องมักจะมี 2 ด้าน ทุกอย่างอาจจะมีข้อดี แต่มันก็มีที่ไม่ดีรวมอยู่ด้วย ต้องพูดให้หมดนะ พี่มองแบบนี้มากกว่า พี่เชื่อว่าไม่มีอะไรจะดีไปหมด ซึ่งความจริงของชีวิต และโลกมันก็เป็นอย่างนั้น มันมี 2 ด้านเสมอ
ถ้าเป็นกวีต้องมองว่าโลกสวยไหม? พี่ว่าไม่จำเป็นนะ มันสวยตอนที่เขียนมากกว่า เห็นทะเล ทุ่งหญ้า เห็นนกบิน เป็นความสวยที่ไม่มาเชื่อมโยงกับมนุษย์ คือ นกมันก็สวยเพราะมันเป็นนก บางทีเราก็คิดเชิงปรัชญา แต่ว่าถ้าเขียนเรื่องสังคมโลกไม่ค่อยสวย พี่จะแยกส่วน ยกเว้นนกตัวนั้นบินเข้ามาหาสังคม นกตัวนั้นก็จะไม่สวยแล้ว แต่ก็เช่นกัน... การเขียนเชิงสวยๆ ที่ว่า ก็ไม่ใช่ว่าจะเป็นพวกโลกสวย แต่เพื่อให้เห็นความงามบ้าง”
เพลงส่วนมากของพี่จะเป็นเพลงจรรโลงใจ?
“ใช่! ส่วนมากเพลงของพี่จะเป็นเพลงจรรโลงใจ จริงๆ พี่เขียนเพื่อให้เห็นความงาม เพราะบางทีคนมองไม่เห็นความงาม ซึ่งเราเชื่อว่าความงามมันมีอยู่ในสังคมที่มันเครียด และวุ่นวาย”
คิดว่าต้องเติมสิ่งเหล่านี้เข้าไปในสังคมมั้ย?
“พี่ไม่ได้คิดว่าตั้งใจจะเติม แต่มันเป็นความชอบ มันเป็นรสนิยมของเรา แต่ไม่ได้มีเป้าหมายว่าบทเพลงจะมีพลัง หรือเป็นอาวุธทางความคิด หรือเขียนเพื่อเติมเต็มในสิ่งที่สังคมมันขาด มันไม่ใช่แบบนั้น
พี่คิดว่าเราแค่ทำงานของเรา ส่วนงานของเราจะสร้างแง่มุมไหนได้บ้าง โดยเฉพาะแง่มุมที่มันดี ตรงนั้นเราก็ดีใจ สมมติว่าใครอ่านแล้วรู้สึกว่า โอ้โห!! เพลงพี่มันทำให้ผมเข้าใจ มันเติมอะไรบางอย่างให้ชีวิตผม ตรงนี้พี่จะรู้สึกดีใจ แต่ถามว่าตอนที่พี่เขียนเพลง หรือบทกวี ต้องการจะเติมเต็มอะไรมั้ย ก็ไม่ใช่ เพราะพี่เขียนตามที่พี่คิด”
พูดได้ไหมว่าสิ่งที่เราเขียนคือความคิดของเรา?
“พูดได้ว่าบทเพลง บทกวีเป็นเนื้อเดียวกับพี่เอก... แต่ว่าบางครั้งต้องเข้าใจอย่างหนึ่ง ในตัวตนของคนเรามันไม่มีสิ่งเดียวนะ ที่เห็นเขียนสวยๆ งามๆ ก็จะนึกว่าพี่เป็นคนน่ารัก บางทีไปเจอพี่เอกหน้าบูดหน้าเบี้ยว พูดเสียงดังขึ้นมา ก็จะเกิดคำถามว่าทำไมพี่เอกไม่เห็นจะโรแมนติกอะไรเลย ต้องเข้าใจว่าสิ่งที่อยู่ในบทเพลง บทกวี มันคือโหมดหนึ่งของตัวตนคนคนนั้น
และต้องไม่ลืมว่าพี่เอกมีหลายโหมด ในเพลง หรือบทกวี นี่แค่โหมดหนึ่ง พี่ไม่ได้หลอกใคร ไม่ได้เสแสร้ง แต่ช่วงนั้นความรู้สึกมันมาทางนี้พอดี
อ้าวแล้วอย่างนั้นเป็นแบบไหนกันแน่? ก็ต้องบอกว่าก็เป็นทุกแบบ เพียงแต่ว่าเมื่อเราทำงานด้านที่สวยงาม ด้านดี หรือด้านน่ารักได้ เราก็คงเป็นคนน่ารักนั่นแหละ เพียงแต่เราไม่ได้เป็นคนน่ารักตลอดเวลา
ที่สำคัญบางทีงานเหล่านั้นกลับมาสอนเรา ทำให้เราเกิดความคิด ความรู้สึก ว่าทำไมเราแต่งได้ดีขนาดนั้น เราเขียนคำได้สวยขนาดนั้น หรือเกิดความคิดว่าเราแทบนึกไม่ถึงว่าเราคิดได้ บางทีมันกลับมาสอนเราว่าเราคิดได้ดีขนาดนั้น ชีวิตของเรามันก็ควรเท่าเทียมกับสิ่งที่เราคิดได้ เราควรจะดีให้เท่ากับที่เขียนในเพลง ให้สมกับความชื่นชมที่เราได้มา
เพลง และบทกวีมันมีความหมายต่อคนเขียนด้วย ไม่ได้มีความหมายเฉพาะคนฟัง และคนอ่านอย่างเดียว คนได้ฟังแล้ว ได้อ่านแล้ว ตัวคนทำก็ได้ด้วย เราคิดได้อย่างนี้เลย หรืองานก็กลับมาสอนเราได้”
อยากฝากอะไรถึงคนที่ใฝ่ฝันจะเป็นนักแต่งเพลง ใครที่เห็นเราเป็น “ไอดอล” หรือเด็กๆ ที่คิดจะเดินตามเส้นทางนี้บ้าง?
“ถ้าใครอยากทำงานอะไรก็ตาม ไม่ใช่เฉพาะการเขียนเพลง เขาต้องรู้ทักษะของสิ่งนั้นพอสมควร อาจจะไม่ถึงกับรู้ทุกอย่างเกี่ยวกับทฤษฎี บางทีพี่ก็พี่ใช้ประสบการณ์เรียนรู้เอา และก็ไม่ใช่ทั้งหมดที่คนในเส้นทางสายนี้เขารู้ทุกอย่าง แต่พี่ถือว่าเราก็เติมๆ ให้แก่กันได้
ถ้าอยากให้เพลงเรามีมิติ ไม่จำเป็นว่าเราต้องมาเขียนเพลงเพื่อสังคมนะ เขียนเพลงรักก็ได้ แต่ถ้ารู้จักมิติทางสังคม มิติของชีวิตด้วย เพลงรักของเขาก็จะลึกซึ้ง และมีความหมาย แต่ถามว่ามีความหมายและลึกซึ้งไปเพื่ออะไรกัน ก็ต้องถามต่อว่าอยากให้เพลงของเธอเป็นอมตะไหม อยากให้ร้องต่อๆ กันไปหลายๆ ปีไหม
ถ้าอยาก... ก็จำเป็นที่ต้องรู้มิติของชีวิต และมิติของสังคมด้วย เพราะสิ่งเหล่านี้มันอยู่ทุกยุคทุกสมัย มันไม่ฉาบฉวย”
“เติมความรักให้คนได้กลับมาฝึกฝนชีวิตดีงาม ให้เมืองได้กลับมางดมางามแบบสงขลา
ปลุกสำนึกในคนว่าอย่าอยู่เฉยจนเมืองมืดมน จงจุดศรัทธา และส่องแสงตนออกมา
แม้เป็นแสงเล็กๆ แต่ยังจะมีความหวังยิ่งใหญ่
แม้เป็นคนเล็กๆ หนึ่งคน แต่จะไม่ยอมเป็นคนไม่สาไหร
บอกสงขลาให้กล้าส่องแสงออกไป ปลุกพลังพลเมืองรุ่นใหม่...”
“เอก - พจนาถ พจนาพิทักษ์” คือชื่อของชายหนุ่มตรงหน้า เขาเป็นกวี นักร้อง และนักแต่งเพลงเลือดปักษ์ใต้ หลายคนรู้จักชื่อนี้จากเพลงประกอบรายการ “คนค้นฅน” สารคดีโทรทัศน์ที่บอกเล่าเรื่องราวชีวิตของผู้คนในสังคม หรือไม่ก็เพลง “ฝากใจไปบ้าน” เพลงประกอบละครในทำนองตารีกีปัส (Tarikipas) หรือการระบำพัด (ตารี = ระบำ, กีปัส = พัด) ซึ่งเป็นนาฏศิลป์ของผู้คนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ และเพลงนี้ก็ทำให้คนไกลบ้านบางคนน้ำตาไหลแบบไม่รู้ตัวมาแล้ว
แต่ทว่าเพลงที่จุดประกายให้ได้นั่งจับเข่าคุยกันกลับเป็นเพลง “ปากบารา” เพลงที่กล่าวถึงการรุกคืบของ “วาทกรรมการพัฒนา” ที่กำลังจะเกิดขึ้นริมชายฝั่งอันดามันในเขตพื้นที่ อ.ละงู จ.สตูล ซึ่งถูกกำหนดให้เป็นพื้นที่ยุทธศาสตร์ก่อสร้าง “ท่าเรือน้ำลึกปากบารา” หนึ่งในแผนเมกะโปรเจกต์ภาคใต้ และเป็นจิ๊กซอว์ตัวสำคัญที่จะเชื่อมร้อยกับ “ท่าเรือน้ำลึกสงขลา 2” แล้วก่อให้เกิดนิคมอุตสาหกรรม รวมทั้งอุตสาหกรรมปิโตรเคมีตามมาในพื้นที่ ซึ่งย้อนแย้งกับวิถีชีวิตผู้คนท้องถิ่นที่ใช้ทะเลเพื่อทำการประมง ธุรกิจ และอาชีพเกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยวทางทะเล
ท่ามกลางการคัดค้านอย่างเข้มข้น “เพลงปากบารา” ของกวีหนุ่มผู้รักในการร้องเพลงคนนี้ ก็เป็นอีกหนึ่งแรงขับเคลื่อนที่แสดงออกว่า “ไม่ต้องการท่าเรือน้ำลึกปากบารา” อย่างจริงจัง
เพลงมีส่วนร่วมขับเคลื่อนสังคมได้อย่างไรบ้าง?
ชายหนุ่มครุ่นคิดแล้วตอบด้วยน้ำเสียงสบายๆ แต่มุ่งมั่นว่า... เขาไม่รู้ว่าเพลงที่ทำจะมีพลังไปต่อต้าน หรือต่อสู้กับสิ่งที่ไม่เห็นด้วยหรือไม่ แต่สิ่งที่เขากำลังทำอยู่ตอนนี้คือ บทบาทของชีวิต ทั้งการเขียนบทกวี และเขียนเพลง ร้องเพลง เล่นดนตรี ซึ่งจุดมุ่งหมายของการทำงานของเขามี 2 อย่าง คือ ทำเพราะตัวเองอยากทำ นั่นคือทำเพื่อตัวเอง ทำเพราะชอบ และมีความสุข และทำเพราะเชื่อว่าสิ่งที่กำลังทำมีคุณค่าต่อผู้อื่น มีคุณค่าต่อสังคม มีคุณค่าต่อโลก ดังนั้น เวลาทำเพลงที่เกี่ยวกับประเด็นต่างๆ ในสังคม เขาก็ทำด้วยความรู้สึกมีความสุข และอยากทำอะไรที่เป็นประโยชน์แก่ส่วนรวมแบบนี้
“คนที่ทำงานเพื่อสิ่งแวดล้อม ภาคประชาสังคม หรือองค์กรพัฒนาเอกชน เขาทำงานตามบทบาทของเขาอยู่แล้ว เพราะฉะนั้น เราจึงเหมือนแนวร่วมที่ช่วยเหลือเขาอีกแรง ส่วนมันจะมีผลให้สังคมเปลี่ยนแปลงหรือไม่ อันนี้ยังไม่รู้ แต่ก็แอบหวังว่ามันจะส่งผลอะไรบางอย่างไปยังคนที่คิดเหมือนเราว่ายังมีคนคิดแบบเดียวกันนี้อยู่ เมื่อฟังเพลงของเราเขาก็จะมีกำลังใจ
ส่วนคนที่คิดอยู่กลางๆ ไม่รู้ว่าท่าเรือน้ำลึกปากบาราคืออะไร เมื่อฟังเพลงนี้ เขาก็เหมือนจะได้รับข้อมูลที่สะดวก เข้าใจง่ายขึ้น เพราะถ้าเป็นข้อมูลหนักๆ ผ่านข่าว ผ่านการต่อสู้ของ NGO คนที่ยังเฉยๆ อยู่เขาจะเปิดรับข้อมูลยากหน่อย แต่ถ้าเป็นเพลง เมื่อเขาได้ยินผ่านหู แล้วเขาก็จะเข้าถึงได้ง่ายขึ้น”
ท่อนหนึ่งในเพลงนั้นของเขาร้องว่า....
ปากบารา ได้ยินไหมหนา ฉันกลับมาหา ฉันกลับมาถึง ชายหาดแห่งนี้ความหลังมากมีเกินคำรำพึง อยู่มาดีๆ ไม่นึกวันหนึ่งจะถูกรุกราน
เมืองที่ฉันชอบบอกกับใครด้วยความภูมิใจ บ้านเราไม่ใหญ่ก็จริง แต่เราไม่เลอะ ไม่เทอะ ไม่ทำลายสรรพสิ่ง สตูลชื่นชมของจริง ทั้งใจคนและทะเล
ปากบารา วันนี้กลับมาเพราะได้ข่าวว่าสายลมหักเห มีคนใจร้ายจ้องทำลายทำร้ายทะเล ว่าโอ้ว่าเห่ แล้วพี่น้องฉันจะอยู่กันอย่างไร ว่าโอ้ว่าเห่ ช่วยให้บาราอยู่รอดปลอดภัย
“แล้วในช่วงเวลาแบบนี้เพลงทำหน้าที่อะไรได้บ้าง?” เรายังคงรุกเร้าถามต่อ
กวีหนุ่มฉายแวววาววับในดวงตา รู้ได้ทันทีว่าเขากำลังพูดถึงบางสิ่งที่เกี่ยวเนื่องกับความสุข “ในกระบวนการของคนที่กำลังต่อสู้ในเรื่องนี้ มันน่าจะส่งเสริมกำลังใจ คือหน้าที่ของเพลงนั้น แม้มันไม่ได้เป็นเพลงที่พูดถึงการต่อสู้ทางสังคม แต่มันก็ทำหน้าที่ในเชิงสุนทรียะ เป็นศิลปะ ช่วยกล่อมเกลาจิตใจให้นุ่มนวลงดงาม อย่างน้อยก็ช่วยลดความแข็งกระด้างทางความคิด และลดความรุนแรงลงได้บ้าง เพราะพี่เชื่อในสันติวิธี เชื่อในพลังของมัน พี่เชื่อว่าเพลงมีพลัง ถ้าเรารวมกันมันก็จะเป็นพลังขึ้นมานั่นคือส่วนที่หนึ่ง ส่วนที่สองเป็นเรื่องของคนฟัง คือความเพลิดเพลิน เมื่อเรานึกถึงเพลง เราคิดถึงความบันเทิง เพราะฉะนั้น โดยรูปแบบของเพลงมันเป็นแบบที่รับสารได้ง่าย เพลงก็น่าจะทำหน้าที่ตรงนี้ได้ดี”
“คนเขียนเพลงต้องสนใจความเป็นไปของสังคมด้วยหรือเปล่า?” ที่มาของคำถามคือ การพบเห็นเพลงรักที่พูดถึงฉัน - เธอ- เขา - เรา - อกหักรักคุด ดาษดื่นล้นเกลื่อน
“มันอยู่ที่ว่าเขาสนใจสังคมแบบไหน เพราะว่าเพลงก็เหมือนสังคม” ถ้อยคำของเขาอธิบายภาพรวมของอาชีพคนเขียนเพลง หรือนักแต่งเพลงได้แจ่มชัด ก่อนจะลงลึกถึงรายละเอียดว่า อาชีพนี้มีความหลากหลาย มีหลายกลุ่มหลายประเภท เพราะฉะนั้นถ้าคนทำเพลงรักก็คงสนใจสังคมเกี่ยวกับการค้าการขาย เพราะเพลงรักมันตอบสนองความต้องการของคนส่วนใหญ่ในสังคมอยู่แล้ว แต่ไม่ใช่ว่าคนที่ทำเพลงรักจะไม่สนใจสังคมเลย
“เพราะเท่าที่พี่รู้มาคนที่เขียนเพลงแนวตลาด อีกส่วนหนึ่งเขาก็สนใจสังคม แต่โดยอาชีพเขาอาจจะไม่เอื้อ แต่ถามว่าเขาจำเป็นต้องสนใจไหมอันนี้พี่คงตอบแทนไม่ได้ เพราะมันขึ้นอยู่กับแต่ละคนมากกว่า แต่ถ้าเป็นตัวพี่เอง บังเอิญว่าตัวตนของพี่มันสนใจสังคมตั้งแต่แรกอยู่แล้ว พี่เป็นคนที่อยากให้สังคมมันดีกว่าที่เป็นอยู่ ทำอย่างไรจึงจะให้สังคมมันดีกว่าที่เป็นอยู่ พี่คิดแบบนั้น”
ทำไมเราต้องสนใจสังคม และทำไมสังคมน่าจะต้องดีขึ้นกว่าที่เป็นอยู่?
“ถามว่าทำไมต้องสนใจ... มันเกิดขึ้นหลังจากที่เข้าไปในโลกของศิลปะ ศิลปะน่าจะมีส่วนอย่างสูง” ศิลปินหนุ่มหมายถึงการเข้าเรียนที่วิทยาลัยศิลปหัตถกรรมนครศรีธรรมราช หลังจากจบชั้น ม.3 จากโรงเรียนมัธยมใน จ.สตูล
“โลกของศิลปะช่วยให้มองโลกในหลายมิติมากขึ้น เพิ่มความหลากหลาย ลุ่มลึกมากขึ้น จากเดิมที่มองแบบแบนๆ ราบๆ กว้างๆ อะไรก็ได้ แต่คนอื่นที่เขาไม่ได้เรียนศิลปะเขาก็สนใจสังคมเหมือนกัน เพียงแต่มีที่มา และเหตุผลต่างกัน
พี่ค้นพบความลุ่มลึก ความซับซ้อนทางสังคม และรู้สึกว่าเราสนใจแบบนี้มาตั้งแต่ตอนที่เรียนศิลปะ นอกจากนี้ โลกของบทกวีก็เป็นส่วนสำคัญที่นำพาเราไปพบกับวรรณกรรมดีๆ และตัวบทกวีเองก็นำเสนอเรื่องสังคมด้วย”
บทกวีแรกที่จุดประกายให้ “พจนาถ พจนาพิทักษ์” สนใจสังคมเป็นพิเศษคือ บทกวีที่เขาพบเจอในนิตยสารทางการเมืองเมื่อ พ.ศ.2528 เด็กหนุ่มจากสตูลซึ่งขณะนั้นร่ำเรียนอยู่ในรั้วที่ว่าด้วยเรื่องของศิลปะ อ่านแล้วกระทบใจเป็นพิเศษ จากเดิมที่เคยชินกับบทกวีว่าด้วยความงามทางสุนทรียะจากแบบเรียนในวิชาภาษาไทย หรือวรรณคดีต่างๆ ก็ได้รู้ว่าบทกวีนั้นสามารถนำมาต่อยอด และพูดถึงความซับซ้อนและเหลื่อมล้ำทางสังคมได้ด้วย
แล้วจริงๆ ชอบแต่งเพลง หรือเขียนบทกวีเพื่อสังคมมั้ย?
“ชอบนะ” ศิลปินหนุ่มยืนยัน และร่ายยาวต่อไปว่า ช่วงหลังๆ มานี้เขาเขียนงานแนวนี้เป็นส่วนใหญ่ เพราะพบเห็นแง่มุมทางสังคม วิกฤตทางสังคม และสิ่งสะท้อนทางสังคมที่ทำให้ค้นพบโลกใบใหม่ทางการเขียน
“ตอนแรกน้ำหนักจะเอนเอียงไปทางสุนทรียะ ความงามทางภาษา เรื่องความงามเชิงโรแมนติก ส่วนใหญ่จะเป็นแบบนี้ สายลม แสงแดด แต่เป็นบทกวีสมัยใหม่นะ นำคลื่น หาดทราย โยงสัญลักษณ์เข้ากับจิตใจของเรา พูดอีกอย่างหนึ่งคือ งานในช่วงแรกเป็นบันเทิงปัจเจกค่อนข้างสูง แต่ว่าถ้าบังเอิญบันเทิงปัจเจกของพี่มีความรู้สึกทางสังคมอยู่เรื่องใดเรื่องหนึ่งอยู่ด้วย พี่ก็จะได้เขียนเรื่องทางสังคมในเวลานั้น นี่คือช่วงแรกที่เป็นวัยหนุ่ม ซึ่งมีความทะเยอทะยานทางการเขียน
แต่พอผ่านมาหลายๆ ปี ด้วยอายุที่เพิ่มขึ้น และความโรแมนติกแบบนั้นเริ่มน้อยลง ความสนใจทางสังคม การเมือง สิ่งแวดล้อมมาอยู่ที่การรับรู้มากขึ้น มันก็เริ่มถ่ายเทเข้ามาผสมกับความโรแมนติกแบบเดิม แล้วตอนนี้อาจจะสามารถพูดได้ว่าสิ่งที่อยากจะเขียนอยากจะเล่าน่าจะเป็นเชิงสังคมมากกว่าช่วงแรก งานของพี่จึงค่อยๆ เปลี่ยนไป”
อาจจะเป็นเพราะเราเจอ เราเห็นอะไรมาเยอะรึเปล่า?
“ประสบการณ์ชีวิตก็มีส่วน แต่ว่าถ้าเราเติบโตมาทางสายนี้ แล้วเราไม่เป็นคนที่เฉยเมย เฉยชา หรือปลงกับสิ่งที่เกิดขึ้น พี่คิดว่าทุกคนต้องรู้สึกนั่นแหละ ดูอย่างบ้านเมืองของเราตอนนี้สิ ดูการแบ่งฝักแบ่งฝ่ายสิ ดูความแตกแยกความขัดแย้งสิ ดูปัญหาทางทรัพยากรสิ ซึ่งไม่ใช่แค่บ้านเราแต่มันเป็นทั้งโลก
ถ้าเราไม่มองเป็นความเฉยชา หรือปลง แต่เราเห็นว่าเป็นเรื่องดี มันก็ดีแล้วนี่ เราจะอยู่กันแบบโบร่ำโบราณไปทำไม มีทะเล มีชายหาดไปทำไม อยากได้ความเจริญในรูปแบบอื่นๆ เราก็ต้องรู้สึกแล้วว่า เฮ้ย! เราจะอยู่กันอย่างนี้หรือ เราจะปล่อยให้เป็นอย่างนี้หรือ เราชอบกันแบบนี้จริงๆ หรือ???
อย่างเกาะหลีเป๊ะที่มีโรงแรมที่พักขึ้นเต็มไปหมด หรือปากบาราที่กำลังจะมีท่าเรือน้ำลึก นี่พูดถึงบ้านตัวเองนะ ทุกคนน่าจะรู้สึกนะ โดยเฉพาะคนทำงานสายสร้างสรรค์ แต่คนที่ทำงานสายสร้างสรรค์ก็มีหลายคน หลายกลุ่มก้อน บางกลุ่มเขาอาจไม่สนใจเรื่องสิ่งแวดล้อมเลย สนใจแต่เรื่องวรรณกรรม สนใจเรื่องเชิงโรแมนติก เรื่องเชิงปรัชญา จะพูดเรื่องชายหาดก็ไม่พูด พูดเป็นปรัชญาไปเลยอะไรอย่างนี้ แต่ตัวพี่เองของสนใจเรื่องกระทบตากระทบใจ และอยากสร้างผลงานที่ออกไปกระทบใจผู้คน ณ เวลานี้ด้วย”
เพลงแบบนี้สามารถใช้เป็นอาวุธได้หรือเปล่า?
“ก็เป็นอาวุธทางความคิดนะ เพลงสามารถเป็นอาวุธได้อยู่แล้ว ไม่งั้นคงไม่มีเพลงอย่าง แสงดาวแห่งศรัทธา หรือ คนกับควาย นี่เป็นอาวุธแต่ไม่เป็นรูปธรรม ทว่าเนื้อหามันสามารถทิ่มแทง สามารถเอาไปต่อสู้กับคนที่คิดต่างกันได้ เมื่อคนเหล่านั้นฟังแล้วรู้สึกทิ่มแทงใจ เช่น เพลงคนกับควาย เป็นการเสียดสีที่ทำให้รู้สึกเจ็บปวด พร้อมกับการได้เห็นแง่มุมจริงๆ ของชีวิต
เชื่อในพลังของเพลงหรือเปล่า?
“เพลงมันน่าจะมีพลัง แต่ก็ไม่เชื่อว่าทุกเพลงจะมีพลัง ขึ้นอยู่กับจังหวะ และประสบการณ์ของเรา และของผู้ฟังด้วยว่าประสบการณ์ใกล้เคียงกันไหม ถ้าใกล้เคียงกันมันจะมีพลังมาก แต่ถ้าไม่ใกล้เคียงกัน เพลงก็ไม่น่าจะมีพลังกับเขามาก เช่น เพลงปากบารา ถ้านำไปให้คนแม่ฮ่องสอนฟัง เขาก็ไม่รู้เรื่อง คนที่ไม่เคยเห็นทะเลเขาก็อาจจะไม่รู้จักระบบนิเวศ หรือความหมายของสิ่งแวดล้อมแบบทะเล”
แล้วส่วนตัวอยากให้มีท่าเรือปากบารามั้ย?
“ไม่อยากให้มีอยู่แล้ว แต่ก็เข้าใจชาวบ้านที่เขาไม่มีข้อมูล เข้าใจชาวบ้านที่รู้สึกว่าถ้ามีท่าเรือคงจะดี นี่เราไม่พูดถึงคนที่อยากสร้าง คนที่อยากให้มี กลุ่มคนเหล่านั้นเป็นคนไม่กี่คนในจำนวนน้อยมาก แล้วก็เป็นกลุ่มคนที่ได้ประโยชน์เต็มเม็ดเต็มหน่วยกับสิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้น ไม่เกี่ยวอะไรเลยกับชาวบ้าน แล้วมีการบอกชาวบ้าน หรือโฆษณาชวนเชื่อว่าถ้ามีแล้วมันจะดีอย่างโน้นอย่างนี้ ก็เข้าใจนะว่าจะมีบางส่วนที่คล้อยตาม เพราะชีวิตที่เป็นอยู่ก็ไม่ได้ดีอะไรมากมาย
ถ้าเราสามารถอธิบายคนได้ว่า การมีท่าเรือน้ำลึกปากบารา การได้ผลประโยชน์ของคนไม่กี่คน ตระกูลบางตระกูล ที่เหลือชาวบ้านไม่ได้เห็นธรรมชาติเดิมๆ สวยๆ มันไม่ใช่แค่สวยไง มันมีผลทางระบบนิเวศ ในแง่ของชาวบ้านเองไม่ได้อยากรู้ เพราะพวกเขารับรู้ในองค์ความรู้เกี่ยวกับชีวิตของพวกเขาอยู่แล้ว เอาเป็นว่าทุกคนที่เห็นชายหาดเป็นปกติก็น่าจะดีกว่าไปสร้างอะไรแบบนั้น ถ้ามองให้ไกลกว่านี้นะ ลูกหลานข้างที่เกิดมาข้างหน้าต้องลำบากแน่บนพื้นฐานของการได้เงินทองของคนไม่กี่คนจากโครงการท่าเรือน้ำลึกปากบารา”
จริงๆ แล้ว “พจนาถ” เป็นคนโลกสวยไหม?
“พี่เอกโลกไม่ค่อยสวยนะ” ประโยคของศิลปินหนุ่มก่อแววฉงนในดวงตาคนถาม เขาพูดต่อ... “จริงๆ แล้วมองว่าโลกมันเหวี่ยงไปเหวี่ยงมา ระหว่างการมองโลกแง่ร้าย กับการมองโลกในแง่ดี เหวี่ยงไปเหวี่ยงมาเสมอ มองโลกในแง่จริงตรงกลางเนี่ยจะมีแค่เป็นบางช่วง
ถ้าระหว่างมองโลกในแง่ร้าย และการมองโลกในแง่ดี พี่คงมองโลกในแง่ร้ายมากกว่า แต่ไม่ใช่ว่าอะไรๆ ก็ร้ายไปหมดจนทำให้เราดูเป็นคนเครียดๆ นะ ไม่ใช่แบบนั้น แต่มันเกิดจากความไม่ไว้เนื้อเชื่อใจต่อสิ่งที่เขาบอกว่าดี”
ทำไมจึงเป็นแบบนั้น?
“เพราะถ้าเราคิดดีๆ ทุกเรื่องมักจะมี 2 ด้าน ทุกอย่างอาจจะมีข้อดี แต่มันก็มีที่ไม่ดีรวมอยู่ด้วย ต้องพูดให้หมดนะ พี่มองแบบนี้มากกว่า พี่เชื่อว่าไม่มีอะไรจะดีไปหมด ซึ่งความจริงของชีวิต และโลกมันก็เป็นอย่างนั้น มันมี 2 ด้านเสมอ
ถ้าเป็นกวีต้องมองว่าโลกสวยไหม? พี่ว่าไม่จำเป็นนะ มันสวยตอนที่เขียนมากกว่า เห็นทะเล ทุ่งหญ้า เห็นนกบิน เป็นความสวยที่ไม่มาเชื่อมโยงกับมนุษย์ คือ นกมันก็สวยเพราะมันเป็นนก บางทีเราก็คิดเชิงปรัชญา แต่ว่าถ้าเขียนเรื่องสังคมโลกไม่ค่อยสวย พี่จะแยกส่วน ยกเว้นนกตัวนั้นบินเข้ามาหาสังคม นกตัวนั้นก็จะไม่สวยแล้ว แต่ก็เช่นกัน... การเขียนเชิงสวยๆ ที่ว่า ก็ไม่ใช่ว่าจะเป็นพวกโลกสวย แต่เพื่อให้เห็นความงามบ้าง”
เพลงส่วนมากของพี่จะเป็นเพลงจรรโลงใจ?
“ใช่! ส่วนมากเพลงของพี่จะเป็นเพลงจรรโลงใจ จริงๆ พี่เขียนเพื่อให้เห็นความงาม เพราะบางทีคนมองไม่เห็นความงาม ซึ่งเราเชื่อว่าความงามมันมีอยู่ในสังคมที่มันเครียด และวุ่นวาย”
คิดว่าต้องเติมสิ่งเหล่านี้เข้าไปในสังคมมั้ย?
“พี่ไม่ได้คิดว่าตั้งใจจะเติม แต่มันเป็นความชอบ มันเป็นรสนิยมของเรา แต่ไม่ได้มีเป้าหมายว่าบทเพลงจะมีพลัง หรือเป็นอาวุธทางความคิด หรือเขียนเพื่อเติมเต็มในสิ่งที่สังคมมันขาด มันไม่ใช่แบบนั้น
พี่คิดว่าเราแค่ทำงานของเรา ส่วนงานของเราจะสร้างแง่มุมไหนได้บ้าง โดยเฉพาะแง่มุมที่มันดี ตรงนั้นเราก็ดีใจ สมมติว่าใครอ่านแล้วรู้สึกว่า โอ้โห!! เพลงพี่มันทำให้ผมเข้าใจ มันเติมอะไรบางอย่างให้ชีวิตผม ตรงนี้พี่จะรู้สึกดีใจ แต่ถามว่าตอนที่พี่เขียนเพลง หรือบทกวี ต้องการจะเติมเต็มอะไรมั้ย ก็ไม่ใช่ เพราะพี่เขียนตามที่พี่คิด”
พูดได้ไหมว่าสิ่งที่เราเขียนคือความคิดของเรา?
“พูดได้ว่าบทเพลง บทกวีเป็นเนื้อเดียวกับพี่เอก... แต่ว่าบางครั้งต้องเข้าใจอย่างหนึ่ง ในตัวตนของคนเรามันไม่มีสิ่งเดียวนะ ที่เห็นเขียนสวยๆ งามๆ ก็จะนึกว่าพี่เป็นคนน่ารัก บางทีไปเจอพี่เอกหน้าบูดหน้าเบี้ยว พูดเสียงดังขึ้นมา ก็จะเกิดคำถามว่าทำไมพี่เอกไม่เห็นจะโรแมนติกอะไรเลย ต้องเข้าใจว่าสิ่งที่อยู่ในบทเพลง บทกวี มันคือโหมดหนึ่งของตัวตนคนคนนั้น
และต้องไม่ลืมว่าพี่เอกมีหลายโหมด ในเพลง หรือบทกวี นี่แค่โหมดหนึ่ง พี่ไม่ได้หลอกใคร ไม่ได้เสแสร้ง แต่ช่วงนั้นความรู้สึกมันมาทางนี้พอดี
อ้าวแล้วอย่างนั้นเป็นแบบไหนกันแน่? ก็ต้องบอกว่าก็เป็นทุกแบบ เพียงแต่ว่าเมื่อเราทำงานด้านที่สวยงาม ด้านดี หรือด้านน่ารักได้ เราก็คงเป็นคนน่ารักนั่นแหละ เพียงแต่เราไม่ได้เป็นคนน่ารักตลอดเวลา
ที่สำคัญบางทีงานเหล่านั้นกลับมาสอนเรา ทำให้เราเกิดความคิด ความรู้สึก ว่าทำไมเราแต่งได้ดีขนาดนั้น เราเขียนคำได้สวยขนาดนั้น หรือเกิดความคิดว่าเราแทบนึกไม่ถึงว่าเราคิดได้ บางทีมันกลับมาสอนเราว่าเราคิดได้ดีขนาดนั้น ชีวิตของเรามันก็ควรเท่าเทียมกับสิ่งที่เราคิดได้ เราควรจะดีให้เท่ากับที่เขียนในเพลง ให้สมกับความชื่นชมที่เราได้มา
เพลง และบทกวีมันมีความหมายต่อคนเขียนด้วย ไม่ได้มีความหมายเฉพาะคนฟัง และคนอ่านอย่างเดียว คนได้ฟังแล้ว ได้อ่านแล้ว ตัวคนทำก็ได้ด้วย เราคิดได้อย่างนี้เลย หรืองานก็กลับมาสอนเราได้”
อยากฝากอะไรถึงคนที่ใฝ่ฝันจะเป็นนักแต่งเพลง ใครที่เห็นเราเป็น “ไอดอล” หรือเด็กๆ ที่คิดจะเดินตามเส้นทางนี้บ้าง?
“ถ้าใครอยากทำงานอะไรก็ตาม ไม่ใช่เฉพาะการเขียนเพลง เขาต้องรู้ทักษะของสิ่งนั้นพอสมควร อาจจะไม่ถึงกับรู้ทุกอย่างเกี่ยวกับทฤษฎี บางทีพี่ก็พี่ใช้ประสบการณ์เรียนรู้เอา และก็ไม่ใช่ทั้งหมดที่คนในเส้นทางสายนี้เขารู้ทุกอย่าง แต่พี่ถือว่าเราก็เติมๆ ให้แก่กันได้
ถ้าอยากให้เพลงเรามีมิติ ไม่จำเป็นว่าเราต้องมาเขียนเพลงเพื่อสังคมนะ เขียนเพลงรักก็ได้ แต่ถ้ารู้จักมิติทางสังคม มิติของชีวิตด้วย เพลงรักของเขาก็จะลึกซึ้ง และมีความหมาย แต่ถามว่ามีความหมายและลึกซึ้งไปเพื่ออะไรกัน ก็ต้องถามต่อว่าอยากให้เพลงของเธอเป็นอมตะไหม อยากให้ร้องต่อๆ กันไปหลายๆ ปีไหม
ถ้าอยาก... ก็จำเป็นที่ต้องรู้มิติของชีวิต และมิติของสังคมด้วย เพราะสิ่งเหล่านี้มันอยู่ทุกยุคทุกสมัย มันไม่ฉาบฉวย”