คลิกที่นี่ เพื่อฟังสรุปข่าวฯ
1. รัฐบาล เดินหน้าลาก “สภาผัวเมีย” ผ่านรัฐสภาวาระ 3 แล้ว เมิน ปชป.- ส.ว.สรรหาวอล์กเอาต์ ด้าน “อภิสิทธิ์” จี้ นายกฯ ชะลอทูลเกล้าฯ !
ความคืบหน้ากรณีที่ประชุมรัฐสภาได้ผ่านวาระ 2 ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญว่าด้วยที่มา ส.ว. พร้อมกำหนดให้มีการลงมติในวาระ 3 ภายใน 15 วัน คือวันที่ 28 ก.ย. ขณะที่พรรคประชาธิปัตย์ ประกาศว่าจะยื่นศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับนี้ขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ เนื่องจากมีหลายประเด็นไม่เป็นไปรัฐธรรมนูญ เช่น ประธานรัฐสภาใช้อำนาจเกินขอบเขตในการตัดสิทธิผู้สงวนคำแปรญัตติ ,กรรมาธิการเสียงข้างมากมีการเพิ่มเติมเนื้อหามากกว่าหลักการในวาระ 1 โดยให้ครอบครัว ส.ส. สามีภรรยา และบุตร สามารถลงสมัครเลือกตั้ง ส.ว.ได้ ซึ่งเข้าข่ายผลประโยชน์ขัดกัน ดังนั้นอาจส่งผลให้กระบวนการพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับนี้เป็นโมฆะได้
ปรากฏว่า เมื่อวันที่ 24 ก.ย. นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ ประธานกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน(วิปฝ่ายค้าน) ได้นำทีม ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ แถลงว่า หลังจากที่พรรคได้ยื่นเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยและคุ้มครองชั่วคราวด้วยการสั่งระงับการลงมติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญว่าด้วยที่มา ส.ว.ในวาระ 3 ไว้ก่อน ล่าสุด พรรคมีคลิปภาพหลักฐานใหม่ที่จะยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญเพิ่มเติม โดยเป็นกรณีที่ ส.ส.ฝ่ายรัฐบาลเสียบบัตรแทนกันระหว่างการพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญดังกล่าวในมาตรา 9 เมื่อวันที่ 10 ก.ย.เวลา 17.33น. ช่วงการลงมติ และมาตรา 10 วันที่ 11 ก.ย. เวลา 16.43น. ช่วงลงมติปิดอภิปรายและลงมติเห็นชอบร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฯ ซึ่งถือว่าการกระทำดังกล่าวผิดรัฐธรรมนูญ มาตรา 122 ที่บัญญัติว่า สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา ต้องปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต และมาตรา 126 ที่บัญญัติว่า สมาชิกมีสิทธิลงมติหนึ่งคนต่อหนึ่งเสียงและจะต้องมีสมาชิกเกินกึ่งหนึ่งในการลงมติ ดังนั้นการเสียบบัตรแทนกัน ทำให้เจตนารมณ์รัฐธรรมนูญถูกละเมิด
สำหรับการแถลงข่าวครั้งนี้ พรรคประชาธิปัตย์ได้นำคลิปวิดีโอมาเปิดให้สื่อมวลชนดู 3 คลิป โดยภายในคลิป มีภาพ ส.ส.คนหนึ่งนำบัตรแสดงตนของสมาชิกมาให้กับ ส.ส.คนหนึ่งที่นั่งอยู่ พร้อมใช้บัตรที่รับมาสลับกันเสียบเข้าไปยังเครื่องลงคะแนน นับได้ประมาณ 4 ใบ
เป็นที่น่าสังเกตว่า หลังพรรคประชาธิปัตย์ออกมาแฉเรื่องดังกล่าว ปรากฏว่า นายยุทธพงศ์ จรัสเสถียร ส.ส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย ได้ออกมายอมรับว่า เป็น ส.ส.ที่อยู่ในคลิปวิดีโอจริง แต่อ้างว่า ไม่ได้มีการเสียบบัตรแทนกัน ตนเพียงแค่เสียบบัตรคาไว้ในที่นั่ง แต่มี ส.ส.อีกคนเข้ามานั่งแทน ตนจึงเข้าไปเอาบัตรและย้ายที่นั่ง ทั้งนี้ พรรคประชาธิปัตย์ได้จี้ให้นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานรัฐสภา สอบเรื่อง ส.ส.เสียบบัตรแทนกัน แต่นายสมศักดิ์บ่ายเบี่ยง โดยอ้างว่า ให้รอฟังคำสั่งศาลรัฐธรรมนูญเลยทีเดียว
ด้านศาลรัฐธรรมนูญ ได้มีมติ 5 ต่อ 2 รับคำร้องของ พล.อ.สมเจตน์ บุญถนอม ส.ว.สรรหา และนายวิรัตน์ กัลยาศิริ ส.ส.สงขลา พรรคประชาธิปัตย์ ที่ขอให้ศาลวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 68 ว่านายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ กับพวกรวม 310 คน กระทำการเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งไม่เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญหรือไม่ รวมทั้งวินิจฉัยว่านายนิคม ไวยรัชพานิช ประธานวุฒิสภา ผู้ถูกร้องที่ 2 กับพวกรวม 309 คน ได้ร่วมกันเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับที่มา ส.ว.ต่อนายสมศักดิ์ โดยไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 68 วรรคหนึ่งหรือไม่ โดยตุลาการเสียงข้างมากมีมติรับคำร้องดังกล่าวไว้วินิจฉัย เนื่องจากเห็นว่าคดีมีมูล แต่ไม่ได้มีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวตามที่ขอ
เป็นที่น่าสังเกตว่า หลังศาลรัฐธรรมนูญรับคำร้องเรื่องร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญว่าด้วยที่มา ส.ว.ไว้วินิจฉัย พรรคประชาธิปัตย์จึงได้เรียกร้องให้รัฐบาลเลื่อนการลงมติวาระ 3 ในวันที่ 28 ก.ย.ออกไป เพื่อรอคำวินิจฉัยของศาลก่อน แต่ทั้งรัฐบาลและนายนิคม ไวยรัชพานิช ประธานวุฒิสภา ไม่สน ยืนยันลงมติตามกำหนดเดิม ขณะที่นายสุรนันทน์ เวชชาชีวะ เลขาธิการนายกรัฐมนตรี ได้ออกมาสำทับว่า เมื่อร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญว่าด้วยที่มา ส.ว.ผ่านวาระ 3 ในวันที่ 28 ก.ย.แล้ว นายกฯ ต้องปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญด้วยการนำร่างดังกล่าวทูลเกล้าฯ ภายใน 20 วัน ไม่จำเป็นต้องรอคำวินิจฉัยของศาล เพราะต้องแยกส่วนกัน
ทั้งนี้ เมื่อถึงกำหนดวันประชุมลงมติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญว่าด้วยที่มา ส.ว.ในวาระ 3 (28 ก.ย.) ปรากฏว่า วิปฝ่ายค้านและ ส.ว.สรรหา ได้ขอให้ที่ประชุมเลื่อนการลงมติ เพื่อรอคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญก่อน แต่ ส.ส.พรรคเพื่อไทยไม่พอใจ จึงประท้วงอยู่ตลอดเวลา สุดท้าย นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานรัฐสภาตัดสินใจให้เดินหน้าลงมติวาระ 3 ทันที ท่ามกลางเสียงทักท้วงของฝ่ายค้าน
และทันทีที่เลขาธิการรัฐสภาขานชื่อสมาชิกทีละคนเพื่อลงมติ ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์และ ส.ว.สรรหา ได้ประท้วงด้วยการวอล์กเอาต์จากห้องประชุมทันที ขณะที่นายอรรถพร พลบุตร ส.ส.เพชรบุรี พรรคประชาธิปัตย์ ได้นำพวงหรีดมีข้อความว่า “สภาทาส” ไปให้นายสมศักดิ์ที่หน้าบัลลังก์ แต่นายสมศักดิ์ได้สั่งให้เจ้าหน้าที่นำพวงหรีดดังกล่าวออกไป
เป็นที่น่าสังเกตว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้เข้าประชุมเพื่อลงมติในครั้งนี้ด้วย โดยที่ประชุมมีมติเห็นชอบร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญว่าด้วยที่มา ส.ว.ในวาระ 3 ด้วยคะแนน 258 เสียง ไม่เห็นด้วย 2 เสียง งดออกเสียง 30 เสียง เมื่อคะแนนเห็นชอบเกินกึ่งหนึ่ง จึงถือว่าร่างฯ ดังกล่าวผ่านความเห็นชอบของรัฐสภาแล้ว
ด้านนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ ประธานวิปฝ่ายค้าน รีบยื่นหนังสือพร้อมรายชื่อ ส.ส.143 คน ต่อนายนิคม ไวยรัชพานิช ประธานวุฒิสภา เพื่อขอให้ส่งเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 154 ว่าร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฯ ที่ผ่านความเห็นชอบจากรัฐสภาฉบับนี้มีข้อความที่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ หรือตราขึ้นโดยไม่ถูกต้องหรือไม่ ซึ่งมาตรา 154 ระบุว่า เมื่อสมาชิกรัฐสภามีการยื่นเรื่องตามมาตราดังกล่าวแล้ว นายกรัฐมนตรีจะต้องระงับการทูลเกล้าฯ ร่างกฎหมายฉบับนั้นไว้ก่อน อย่างไรก็ตาม ยังไม่ชัดเจนว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์จะเดินหน้าหรือชะลอการทูลเกล้าฯ ร่างดังกล่าว
ด้านนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ได้ออกมาเตือน น.ส.ยิ่งลักษณ์ ก่อนหน้านี้ว่า ไม่ควรรีบนำร่างดังกล่าวทูลเกล้าฯ เพราะนายกฯ มีเวลา 20 วัน ควรรอให้ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยก่อน ซึ่งหวังว่าศาลจะมีข้อยุติภายใน 20 วัน หากนายกฯ รีบทูลเกล้าฯ ทั้งที่รู้อยู่แล้วว่าจะเกิดอะไรขึ้น นายกฯ ต้องรับผิดชอบ
2. ช่อง 9 ปิดหูปิดตา ปชช. แบน “คนค้นฅน” ตอนศศินเดินเท้าค้านเขื่อนแม่วงก์ ด้านสมาคมต้านโลกร้อน ซัด เชลียร์ผู้มีอำนาจ ขู่ฟ้องศาลปกครอง!
จากกรณีที่นายศศิน เฉลิมลาภ เลขาธิการมูลนิธิสืบ นาคะเสถียร และกลุ่มนักอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติจำนวนหนึ่ง ได้เดินเท้าจาก อ.แม่วงก์ จ.นครสวรรค์ มายัง กทม. ตั้งแต่วันที่ 10 ก.ย.-22 ก.ย. ที่ผ่านมา รวมระยะทาง 388 กิโลเมตร เพื่อคัดค้านรายงานการวิเคราะห์สิ่งแวดล้อมและสุขภาพ(EHIA) โครงการสร้างเขื่อนแม่วงก์ ซึ่งเป็น 1 ในโครงการกู้เงิน 3.5 แสนล้านบาทเพื่อแก้ไขปัญหาน้ำท่วมของรัฐบาลนั้น
ปรากฏว่า ทันทีที่นายศศินและผู้ร่วมเดินเท้ามาถึง กทม. ได้มีประชาชนไปให้การต้อนรับและร่วมคัดค้านเขื่อนแม่วงก์อย่างล้นหลาม ทั้งนี้ นายศศิน ขึ้นเวทีปราศรัยว่า พื้นที่สร้างเขื่อนแม่วงก์เป็นป่าที่อุดมสมบูรณ์ มีสัตว์ป่าใหญ่ เช่น เสือ อาศัยอยู่จำนวนมาก แต่ในอีเอชไอเอไม่ได้บอกว่าเป็นป่าที่อุดมสมบูรณ์ “พวกเรามองว่าสิ่งที่จะเสียไปไม่คุ้มค่ากับการก่อสร้าง เพราะหากเปรียบกับปริมาณน้ำท่วมในปี 2554 จะสามารถรับน้ำได้เพียงร้อยละ 1 เท่านั้น รวมทั้งสามารถส่งน้ำไปพื้นที่บริการได้เพียง 1 แสนไร่เท่านั้น ไม่ใช่ 3 แสนไร่ อย่างที่บอกกับชาวบ้านในพื้นที่” ทั้งนี้ นางรตยา จันทรเทียร ประธานมูลนิธิสืบ นาคะเสถียร ได้เป็นตัวแทนยื่นหนังสือคัดค้านอีเอชไอเอต่อรัฐบาลผ่านนายอุดม ไกรวัตนุสรณ์ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
ด้าน น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี พูดถึงกระแสคัดค้านการสร้างเขื่อนแม่วงก์ว่า คงต้องประเมินว่าประชาชนต้องการธรรมชาติที่อาจจะให้ความสวยงาม หรือต้องการเขื่อนที่จะทำให้ประเทศเจริญ และสามารถเก็บน้ำเพื่อการชลประทานได้ ซึ่งคงต้องหารือกัน รัฐบาลพร้อมรับฟังความคิดเห็นต่างๆ ก่อน
ขณะที่นายปลอดประสพ สุรัสวดี รองนายกรัฐมนตรี ได้ออกมายืนยันว่า จะสร้างเขื่อนแม่วงก์แน่นอน เพราะผืนป่าจะอยู่เหนือความปลอดภัยของประชาชนทั้งประเทศไม่ได้ และต่อให้การสร้างเขื่อนดังกล่าวช่วยลดปัญหาน้ำท่วมได้แค่ 1% ก็ต้องสร้าง และว่า รัฐบาลมีแผนสู้กับน้ำท่วม 9 เรื่อง การสร้างเขื่อนเป็น 1 ในนั้น โดยจะสร้างเขื่อนเล็กและใหญ่รวม 21 เขื่อน
ทั้งนี้ กระแสคัดค้านการสร้างเขื่อนแม่วงก์ได้ขยายวงกว้างขึ้นเรื่อยๆ โดยมีดารานักแสดงหลายคนออกมาร่วมคัดค้านเช่นกัน เช่น “นก” ฉัตรชัย เปล่งพานิช ได้โพสต์ข้อความคัดค้านการสร้างเขื่อนแม่วงก์ลงในอินสตาแกรมว่า “ถ้ามึงจะทำร้ายผืนป่า ทำร้ายธรรมชาติ สัตว์นรกจะมารอรับมึงแน่ แต่มึงคงไม่ตกใจ เพราะมึงเห็นในกระจกอยู่ทุกวัน คิดทำสิ่งสร้างสรรค์บ้างได้มั้ย”
เป็นที่น่าสังเกตว่า ขณะที่รัฐบาล โดยเฉพาะนายกฯ บอกว่าพร้อมรับฟังความคิดเห็นของประชาชนเรื่องเขื่อนแม่วงก์ แต่ในทางปฏิบัติกลับมีความพยายามปิดหูปิดตาประชาชนไม่ให้รับรู้ข้อมูลจากผู้ที่คัดค้านการสร้างเขื่อนแม่วงก์ เช่นกรณีที่โมเดิร์นไนน์ทีวี(ช่อง 9) ระงับการออกอากาศรายการ “คนค้นฅน” ตอน “ศศิน เฉลิมลาภ 388 KM จากแม่วงก์สู่ กทม.” ซึ่งมีกำหนดออกอากาศเมื่อช่วงบ่ายวันที่ 28 ก.ย. ส่งผลให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์การกระทำดังกล่าวเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะทางโซเชียลมีเดีย บางคนถึงกับระบุว่า “รัฐนี้เป็นรัฐแห่งอวิชชา เพราะไม่ยอมให้คนในชาติได้รับความจริงแท้ ...แปลตรงๆ ว่า สิ่งที่รัฐนำเสนอย่อมปลอมปนด้วยสิ่งมอมเมาเขลาโง่”
ทั้งนี้ ผู้สื่อข่าวได้ขอสัมภาษณ์นายสุทธิพงษ์ ธรรมวุฒิ หรือเช็ค ผู้ดำเนินรายการคนค้นฅน และผู้บริหารบริษัททีวีบูรพา ซึ่งเจ้าตัวพร้อมให้สัมภาษณ์ แต่ไม่ได้ให้สัมภาษณ์ด้วยคำพูด แต่แสดงออกเชิงสัญลักษณ์ด้วยการนำเทปกาวสีดำชิ้นแรกมาปิดปาก ชิ้นที่ 2 ปิดตาทั้งสองข้าง ชิ้นที่ 3 ปิดหูขวา และชิ้นที่ 4 ปิดหูซ้าย ซึ่งสะท้อนว่ามีการแทรกแซงและพยายามหยุดการสื่อสารเรื่องแม่วงก์ออกสู่สาธารณะ
ด้านนายธีรัตน์ รัตนเสวี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี รีบออกมาปฏิเสธว่า รัฐบาลไม่ได้สั่งแบนรายการคนค้นฅนดังกล่าว และว่า ทราบจากทาง อสมท ว่า เป็นการตัดสินใจของหน่วยงานเซ็นเซอร์ของทางช่อง 9 เอง เพราะรายการให้ข้อมูลไม่รอบด้าน
ขณะที่นางกมลาสิริ อิศรางกูร ณ อยุธยา รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ฝ่ายดูแลสายงานโทรทัศน์ สถานีโทรทัศน์ช่อง 9 ยอมรับว่า มีการระงับการออกอากาศรายการคนค้นฅนตอนดังกล่าวจริง เพราะนำเสนอข้อมูลไม่รอบด้าน และว่า อสมท เป็นกลาง เวลาออกข่าว ต้องออกให้สมดุลรอบด้าน จึงได้ให้เจ้าหน้าที่ติดต่อทางรายการให้ไปสัมภาษณ์อีกฝ่ายหนึ่งเพื่อแก้ต่าง แต่ทางรายการไม่ทำ และทำไม่ได้ จึงบอกไปว่า ถ้าพร้อมทำเมื่อไหร่ จะออกอากาศให้ นางกมลาสิริ ยังย้ำด้วยว่า การระงับรายการดังกล่าว ไม่มีการเมืองแทรกแน่นอน
ด้านรายการคนค้นฅนได้เผยแพร่คำชี้แจงทางโซเชียลมีเดียว่า หลังฝ่ายพิจารณาเทปออกอากาศแจ้งว่า อยากให้ปรับแก้เนื้อหาให้สมดุลทั้ง 2 ฝ่าย คือฝ่ายสนับสนุนการสร้างเขื่อนและฝ่ายคัดค้าน รวมทั้งตัดทอนเนื้อหาที่ทางสถานีฯ เห็นว่าจะทำให้เกิดการยั่วยุ ขัดแย้งออก ทางรายการก็ได้ปรับแก้ตามที่ทางสถานีฯ ห่วงใย บนพื้นฐานที่ไม่ให้เสียจุดยืนและรูปแบบของรายการ ที่เป็นสารคดีชีวิต ไม่ใช่สารคดีเชิงข่าว นอกจากนี้ทางรายการยังเพิ่มเติมเนื้อหาว่า พร้อมจะนำเสนอข้อมูลของฝ่ายที่สนับสนุนการสร้างเขื่อนในโอกาสต่อไป แต่ก็ไม่ได้รับการพิจารณาให้ออกอากาศแต่อย่างใด ทางรายการฯ จึงได้นำเทปรายการตอนดังกล่าว มาเผยแพร่ผ่านสังคมออนไลน์ เพื่อให้สังคมได้ร่วมพิจารณาและหาทางออกอย่างสันติและเป็นธรรม
ทั้งนี้ หลังช่อง 9 แบนรายการคนค้นฅนตอนดังกล่าว ปรากฏว่า นายศรีสุวรรณ จรรยา นายกสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน ได้ออกแถลงการณ์ประณามการกระทำของช่อง 9 ว่าเข้าข่ายเลือกปฏิบัติ ซึ่งเป็นสิ่งต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ 2550 มาตรา 30 พร้อมตั้งข้อสังเกตว่า ก่อนหน้านี้ มีรายการของรัฐบาลทางช่อง 9 ที่โฆษณาชวนเชื่อและเสนอข้อมูลเพียงด้านเดียวออกมามากมาย แต่ช่อง 9 ก็ไม่ได้สั่งห้ามเผยแพร่แต่อย่างใด พฤติกรรมของช่อง 9 จึงเป็นการเชลียร์ผู้มีอำนาจอย่างออกหน้าออกตา “ปิดหูปิดตาประชาชน” ที่มีสิทธิจะรับรู้ความจริงอีกด้าน ทั้งๆ ที่ช่อง 9 เป็นบริษัทมหาชน ที่มาจากเงินภาษีประชาชน ไม่ใช่เงินของรัฐมนตรีหรือนักการเมืองคนใด ทางสมาคมฯ จึงขอให้ช่อง 9 ทบทวนพฤติกรรม พร้อมเรียกร้องให้ กสทช.สั่งการให้ช่อง 9 นำเทปรายการคนค้นฅนตอนตอนดังกล่าวมาออกอากาศโดยเร็ว หากช่อง 9 ยังเพิกเฉย สมาคมฯ จำเป็นต้องร่วมกับผู้ชมและนักอนุรักษ์พึ่งอำนาจศาลปกครองโดยเร็วแน่นอน
3. รัฐบาล “ยิ่งลักษณ์” เพิ่งได้ฤกษ์แถลงผลงาน 1 ปี ด้าน ปชป.ซัด รัฐบาลล้มเหลว-ถังแตก-เพิ่มหนี้ให้ประชาชน!
เมื่อวันที่ 24-25 ก.ย. ได้มีการประชุมสภาผู้แทนราษฎรนัดพิเศษ เพื่อรับทราบรายงานแสดงผลการดำเนินการของคณะรัฐมนตรีตามแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ ครบรอบ 1 ปี(23 ส.ค.2554-23 ส.ค.2555) ของการบริหารราชการของรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร สำหรับการแถลงผลงาน 1 ปีของรัฐบาลครั้งนี้ ถือว่าช้ากว่ากำหนดมาก เพราะขณะนี้รัฐบาลบริหารประเทศมากว่า 2 ปีแล้ว และการแถลงผลงานครั้งนี้ก็มีขึ้นหลังจากนายวสันต์ สร้อยพิสุทธิ์ อดีตประธานตุลาการศาลรัฐธรรมนูญออกมาเตือนว่า รัฐบาลกำลังทำผิดรัฐธรรมนูญ เพราะไม่ยอมแถลงผลงานหลังครบ 1 ปี
ทั้งนี้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ แถลงภาพรวมผลงาน 1 ปีของรัฐบาลว่า รัฐบาลเข้ามาบริหารประเทศท่ามกลางบรรยากาศความขัดแย้งทางการเมืองที่ยังคงมีอยู่ และประสบปัญหาอุทกภัยครั้งใหญ่สุดในประวัติศาสตร์ไทยในปี 2554 รัฐบาลจึงต้องตัดงบปกติจากทุกกระทรวงเป็นเงิน 1.2 แสนล้านบาทในการป้องกันอุทกภัย และยังเสนอให้ออก พ.ร.ก.กู้เงิน 3.5 แสนล้าน เพื่อแก้ปัญหาอุทกภัยอย่างยั่งยืน และว่า รัฐบาลได้แถลงนโยบายต่อรัฐสภาไว้โดยยึดจุดมุ่งหมาย 3 ประการ คือ 1.การสร้างเศรษฐกิจสมดุล 2.การสร้างความเชื่อมั่น และ 3.การเตรียมพร้อมเข้าสู่ประชาคมอาเซียน
ขณะที่นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกฯ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า ภารกิจด้านเศรษฐกิจของรัฐบาล ได้ดำเนินแนวนโยบายที่ครอบคลุมถึง 14 ด้าน เช่น เพิ่มรายได้ ,ลดรายจ่าย ,ขยายโอกาส ,สร้างรากฐานอนาคต และที่สำคัญ รัฐบาลกำลังลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมในหลายเส้นทาง
ด้านนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ผู้นำฝ่ายค้านในสภาฯ และหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์(ปชป.) อภิปรายว่า คำมั่นสัญญาต่างๆ รัฐบาลไม่สามารถทำได้ตามที่หาเสียงไว้ ไม่เท่านั้นรัฐบาลยังซ้ำเติมประชาชนในแง่ค่าครองชีพ และราคาน้ำมัน ขณะที่เกษตรกรภาคใต้ชุมนุมมีปัญหาราคายางพาราตกต่ำ โดยปี 2554 ราคาอยู่ที่ กก.ละ 125 บาท แต่วันนี้อยู่ที่ กก.ละ 74 บาท ส่วนการบริหารราชการแผ่นดิน รัฐบาลพูดเรื่องปรองดอง แต่กลับผลักดันกฎหมายนิรโทษกรรม ซึ่งเป็นการปรองดองที่เลือกปฏิบัติ
ขณะที่นายอรรถวิชช์ สุวรรณภักดี ส.ส.กทม.พรรคประชาธิปัตย์ อภิปรายว่า พรรคเพื่อไทยเคยขึ้นป้ายหาเสียงว่า ล้างหนี้ประเทศไทย สร้างรายได้ประชาชน เอาความสุขที่เคยได้รับคืนมา แต่กลับล้มเหลว นอกจากทำไม่ได้ตามสัญญาแล้ว รัฐบาลยังทำให้อัตราส่วนหนี้ครัวเรือนสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ถึง 188,774 บาท เพิ่มขึ้นกว่า 30,000 บาทจากปี 2554 และว่า สาเหตุที่ทำให้รัฐบาลถังแตก เพราะความล้มเหลวในโครงการรถยนต์คันแรกที่รัฐบาลใช้งบบานปลาย จาก 30,000 ล้านเป็น 90,000 ล้านบาท
ขณะที่นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล รองนายกฯ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวถึงภาพรวมผลงานของกระทรวงการต่างประเทศว่า ก่อนที่รัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์จะเข้ามาบริหารประเทศ ความสัมพันธ์กับประเทศเพื่อนบ้านไม่ดีนัก เมื่อเข้ามาบริหาร จึงเน้นนโยบายด้านการต่างประเทศด้วยการเดินทางเยือนประเทศต่างๆ เพื่อเพิ่มความสัมพันธ์ แต่ฝ่ายค้านพยายามกล่าวหาว่า นายกฯ เดินทางไปเยอะและไม่ประสบผลสำเร็จอะไร นายสุรพงษ์ ยังเย้ยด้วยว่า สมัยรัฐบาลนายอภิสิทธิ์บริหารประเทศ 2 ปี 8 เดือน ไปเยือนต่างประเทศแค่ 20 ประเทศ ขณะที่มีผู้นำต่างประเทศมาเยือนไทยแค่ 8 คนเท่านั้น แต่สมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ มีผู้นำต่างประเทศมาเยือนถึง 22 คน เพราะรัฐบาลยิ่งลักษณ์เป็นรัฐมนตรีที่ต่างชาติและสังคมโลกให้การยอมรับนั่นเอง
ด้านนายอภิสิทธิ์ สวนกลับนายสุรพงษ์ว่า เหตุที่ตนตัดสินใจไม่ไปเยือนหลายประเทศ เพราะเห็นว่าปัญหาในประเทศหนักกว่า ส่วนที่นายสุรพงษ์อ้างว่า มีผู้นำต่างประเทศมาเยือนไทยน้อยในสมัยรัฐบาลตนนั้น เป็นการกล่าวหาที่ใช้ไม่ได้ เพราะหลังจากเสื้อแดงบุกที่ประชุมอาเซียนที่พัทยา ทำให้รัฐบาลตนลำบากใจเพราะไม่รู้ว่าหากเชิญผู้นำต่างประเทศมา แล้วจะเจอปัญหาอะไรบ้าง
ขณะที่นายจุฤทธิ์ ลักษณวิศิษฏ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ อภิปรายถึงการทำงานในสภาของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ว่า มีการลงมติกฎหมายสำคัญในสภา 55 ครั้ง แต่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ มาเซ็นชื่อแค่ 9 ครั้ง โดยไม่ยอมร่วมลงมติเลยแม้แต่ครั้งเดียว ทั้งที่บอกว่ามีอะไรให้มาพูดกันในสภา แต่นายกฯ กลับไม่ให้ความร่วมมือกับที่ประชุมสภา
เป็นที่น่าสังเกตว่า หลังการแถลงและการอภิปรายผลงานรัฐบาลดำเนินมาถึงช่วงบ่ายวันที่สอง(25 ก.ย.) ปรากฏว่า สถานีโทรทัศน์ช่อง 11 ได้ยุติการถ่ายทอดสด โดยเปลี่ยนเป็นการถ่ายทอดสดภารกิจของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ที่ไปเป็นประธานพิธีมอบรางวัลผู้ประกอบธุรกิจดีเด่น ที่ศูนย์ประชุมไบเทคแทน ทำให้ ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ไม่พอใจ เพราะไม่เป็นไปตามที่ตกลงกันไว้ จึงเสนอให้ประธานสั่งพักการประชุมจนกว่าช่อง 11 จะสามารถถ่ายทอดการประชุมได้ ทั้งนี้ บรรยากาศค่อนข้างตึงเครียด นายวิสุทธิ์ ไชยณรุณ รองประธานสภาฯ คนที่ 2 ในฐานะประธานที่ประชุม จึงขออภัยและขอรับผิดชอบแต่เพียงผู้เดียว จากนั้นได้มีการอภิปรายต่อ กระทั่งหมดจำนวนผู้อภิปรายในช่วงเย็น เป็นอันเสร็จสิ้นการแถลงผลงาน 1 ปีของรัฐบาล
4. ศาลปกครอง พิพากษาให้ “อสมท” คืนเงินส่วนลดโฆษณาให้ “ไร่ส้ม” 55 ล้าน ด้าน อสมท เล็งอุทธรณ์ ชี้ ไร่ส้มทุจริต ไม่มีสิทธิ์ได้ส่วนลด!
เมื่อวันที่ 25 ก.ย. ศาลปกครองกลาง ได้พิพากษาคดีที่บริษัท ไร่ส้ม จำกัด ซึ่งมีนายสรยุทธ สุทัศนะจินดา ผู้ดำเนินรายการโทรทัศน์ชื่อดังเป็นประธานกรรมการ ยื่นฟ้องบริษัท อสมท จำกัด(มหาชน) คู่สัญญาผลิตรายการโทรทัศน์ “คุยคุ้ยข่าว” ออกอากาศทางช่อง 9 อสมท หรือโมเดิร์นไนน์ทีวี กรณีเรียกเก็บค่าโฆษณาส่วนเกิน โดยไม่ให้ส่วนลดทางการค้า 30% ตามสัญญา และค่าโฆษณาที่ อสมท โฆษณาเกินส่วนแบ่งตามเวลาที่ตกลงไว้
ทั้งนี้ ตุลาการเสียงข้างมากพิพากษาให้ อสมท คืนเงินค่าโฆษณาส่วนเกินที่หักส่วนลด 30% ตามสัญญา ในช่วงเดือน ม.ค.-มิ.ย. 2548 และวันที่ 14 ก.ค.2549 ให้บริษัทไร่ส้ม รวมเป็นเงิน 55,523,763.38 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี นอกจากนี้ยังให้ อสมท ชดใช้กรณีที่ได้โฆษณาล้ำไปในเวลาโฆษณาของบริษัทไร่ส้มอีก 4 วัน ตั้งแต่วันที่ 18-21 ธ.ค.2549 รวมเวลา 1.15 วินาที เป็นเงิน 253,255.76 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องคดีเมื่อวันที่ 24 ก.ค.2551 จนกว่าจะชำระเสร็จ โดยให้ชำระเงินทั้งหมดภายใน 90 วัน หลังจากคดีถึงที่สุด
องค์คณะตุลาการยังพิจารณาด้วยว่า กรณีที่บริษัทไร่ส้มโฆษณาเกินเวลา ทาง อสมท ก็ไม่ได้โต้แย้งหรือทักท้วงว่าบริษัททำไม่ถูกต้อง อีกทั้งการจัดคิวและควบคุมเวลาโฆษณาก็เป็นเจ้าหน้าที่ของ อสมท ทั้งหมดที่ควบคุมไม่ให้มีการโฆษณาเกินเวลา ดังนั้นจึงยากที่บริษัทไร่ส้มจะปกปิดคิวโฆษณาที่เกินไปโดยไม่ยื่นใบคิวแจ้งล่วงหน้าตามที่ อสมท กล่าวอ้าง และว่า การที่บริษัทไร่ส้มโฆษณาเกินส่วนแบ่งเวลาไปมาก คิดเป็นเงินกว่า 100 ล้านบาท เป็นเวลาปีเศษ ตั้งแต่เดือน เม.ย.2548-ก.ค.2549 โดย อสมท ยังไม่มีการเรียกเก็บเงิน ก็เป็นเรื่องผิดปกติทางการค้าอย่างมาก จึงถือเป็นความบกพร่องของเจ้าหน้าที่ทั้งหมดและระบบงานของ อสมท เองที่ไม่ควบคุมตรวจสอบและเรียกเก็บเงินจากบริษัทไร่ส้มภายในกำหนดเวลาตามระเบียบของ อสมท
อีกทั้งเมื่อบริษัทไร่ส้มได้รับแจ้งจาก อสมท ให้ชำระเงิน ทางบริษัทก็ได้รีบนำเงินไปชำระเพื่อป้องกันข้อครหาและไม่ให้เกิดความคลางแคลงใจต่อสังคม จึงยังไม่อาจฟังได้ว่า การที่บริษัทไร่ส้มจ่ายเงินให้ อสมท เป็นการชำระหนี้ตามอำเภอใจหรือฝ่าฝืนข้อห้ามตามกฎหมายหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ส่วนกรณีที่ อสมท อ้างว่า คณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงพบเหตุการณ์ทุจริตการโฆษณาเกินเวลาของบริษัทไร่ส้ม โดยพบว่านางพิชชาภา เอี่ยมสะอาด พนักงานธุรการ อสมท ที่มีหน้าที่จัดทำใบคิวและคิวโฆษณาได้รับเงินค่าจ้างจากบริษัทไร่ส้มเพื่อลงคิวโฆษณาส่วนเกินโดยไม่ต้องแจ้งซื้อโฆษณานั้น องค์คณะตุลาการเห็นว่า เรื่องดังกล่าวเป็นการสอบภายใน อสมท เอง แม้จะมีส่วนน่าสงสัย แต่ก็ยังไม่อาจรับฟังได้ จึงพิพากษาให้ อสมท คืนเงินค่าโฆษณาส่วนเกินที่หักส่วนลด 30% ให้บริษัทไร่ส้มเป็นเงินกว่า 55 ล้านบาทดังกล่าว
ขณะที่ตุลาการเสียงข้างน้อยเห็นว่า เมื่อปรากฏหลักฐานว่า บริษัทไร่ส้มโฆษณาเกินเวลาเป็นจำนวนมากคิดเป็นเงินกว่า 100 ล้านบาท แต่บริษัทไร่ส้มกลับไม่แสดงความจำนงที่จะชำระเงิน แต่รอจนกระทั่งปีเศษ เมื่อ อสมท มีหนังสือทวงถาม บริษัทไร่ส้มจึงนำเงินมาชำระ การกระทำดังกล่าวจึงถือไม่ได้ว่าเป็นการปฏิบัติทางการค้าระหว่างคู่สัญญาในเรื่องโฆษณาส่วนเกินและการรับส่วนลด อย่างไรก็ตาม คดีนี้ยังไม่ถึงที่สุด โดยคู่ความยังสามารถยื่นอุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุดได้ภายใน 30 วัน นับจากวันที่ศาลปกครองกลางมีคำพิพากษา
ทั้งนี้ นายมนต์อนันต์ เรืองจรัส ทนายความบริษัทไร่ส้ม เผยว่า คำพิพากษาเป็นไปตามคำฟ้องที่ขอให้ อสมท คืนเงินส่วนลดทางการค้า แต่ในส่วนที่ศาลพิพากษาให้ อสมท คืนเงินค่าโฆษณาส่วนที่ล้ำไปในเวลาของบริษัทไร่ส้มนั้น เห็นว่า ศาลไม่ได้พิจารณาในหลักการแบบไทม์แชร์ริ่ง ซึ่งทางบริษัทได้ฟ้องโดยเรียกค่าเสียหายเต็มจำนวนเวลารวมแล้วกว่า 100 ล้านบาท ดังนั้นจะกลับไปพิจารณาร่วมกับบริษัทไร่ส้มอีกครั้งว่าจะยื่นอุทธรณ์หรือไม่
ขณะที่ทางผู้บริหาร อสมท ยืนยันแล้วว่าจะยื่นอุทธรณ์คดีนี้ เพราะมองต่างจากศาลปกครอง โดยนายธนะชัย วงศ์ทองศรี รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท อสมท เผยว่า เพื่อความเข้าใจที่ตรงกัน ต้องแยกคดีระหว่าง อสมท กับบริษัทไร่ส้ม ออกเป็น 2 ประเด็น เพราะมี 2 คดี คดีแรก ป.ป.ช.ชี้มูลความผิดบริษัทไร่ส้ม กรณีทุจริตโฆษณาเกินเวลาของ อสมท ซึ่งเป็นคดีอาญา ส่วนคดีนี้ บริษัทไร่ส้มฟ้องต่อศาลปกครอง กรณีที่บริษัทไร่ส้มจ่ายค่าโฆษณาเกินเวลาแก่ อสมท แล้ว ซึ่ง อสมท เรียกเก็บเต็มจำนวน แต่บริษัทไร่ส้มเรียกร้องส่วนลด ซึ่ง อสมท มองว่าบริษัทไร่ส้มไม่ซื่อตรงต่อคู่สัญญา จึงไม่ควรได้รับส่วนลด
สำหรับความคืบหน้าคดีที่ ป.ป.ช.ชี้มูลความผิดบริษัทไร่ส้มทุจริตยักยอกค่าโฆษณา อสมท ซึ่ง ป.ป.ช.ได้ส่งเรื่องให้อัยการสูงสุดเพื่อพิจารณาสั่งฟ้องบริษัทไร่ส้มนั้น มีรายงานข่าวจากสำนักงานอัยการสูงสุดเมื่อวันที่ 30 ส.ค.ว่า อัยการเห็นว่าคดีนี้ยังไม่สมบูรณ์ในบางประเด็น ซึ่งตามขั้นตอน เมื่ออัยการเห็นว่ายังไม่สมบูรณ์ จะส่งเรื่องกลับไปให้ ป.ป.ช. เพื่อตั้งคณะกรรมการพิจารณาร่วมกัน แต่หากยังหาข้อยุติร่วมกันไม่ได้ ทาง ป.ป.ช.จะเป็นผู้ส่งฟ้องคดีต่อศาลเอง
1. รัฐบาล เดินหน้าลาก “สภาผัวเมีย” ผ่านรัฐสภาวาระ 3 แล้ว เมิน ปชป.- ส.ว.สรรหาวอล์กเอาต์ ด้าน “อภิสิทธิ์” จี้ นายกฯ ชะลอทูลเกล้าฯ !
ความคืบหน้ากรณีที่ประชุมรัฐสภาได้ผ่านวาระ 2 ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญว่าด้วยที่มา ส.ว. พร้อมกำหนดให้มีการลงมติในวาระ 3 ภายใน 15 วัน คือวันที่ 28 ก.ย. ขณะที่พรรคประชาธิปัตย์ ประกาศว่าจะยื่นศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับนี้ขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ เนื่องจากมีหลายประเด็นไม่เป็นไปรัฐธรรมนูญ เช่น ประธานรัฐสภาใช้อำนาจเกินขอบเขตในการตัดสิทธิผู้สงวนคำแปรญัตติ ,กรรมาธิการเสียงข้างมากมีการเพิ่มเติมเนื้อหามากกว่าหลักการในวาระ 1 โดยให้ครอบครัว ส.ส. สามีภรรยา และบุตร สามารถลงสมัครเลือกตั้ง ส.ว.ได้ ซึ่งเข้าข่ายผลประโยชน์ขัดกัน ดังนั้นอาจส่งผลให้กระบวนการพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับนี้เป็นโมฆะได้
ปรากฏว่า เมื่อวันที่ 24 ก.ย. นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ ประธานกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน(วิปฝ่ายค้าน) ได้นำทีม ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ แถลงว่า หลังจากที่พรรคได้ยื่นเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยและคุ้มครองชั่วคราวด้วยการสั่งระงับการลงมติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญว่าด้วยที่มา ส.ว.ในวาระ 3 ไว้ก่อน ล่าสุด พรรคมีคลิปภาพหลักฐานใหม่ที่จะยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญเพิ่มเติม โดยเป็นกรณีที่ ส.ส.ฝ่ายรัฐบาลเสียบบัตรแทนกันระหว่างการพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญดังกล่าวในมาตรา 9 เมื่อวันที่ 10 ก.ย.เวลา 17.33น. ช่วงการลงมติ และมาตรา 10 วันที่ 11 ก.ย. เวลา 16.43น. ช่วงลงมติปิดอภิปรายและลงมติเห็นชอบร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฯ ซึ่งถือว่าการกระทำดังกล่าวผิดรัฐธรรมนูญ มาตรา 122 ที่บัญญัติว่า สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา ต้องปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต และมาตรา 126 ที่บัญญัติว่า สมาชิกมีสิทธิลงมติหนึ่งคนต่อหนึ่งเสียงและจะต้องมีสมาชิกเกินกึ่งหนึ่งในการลงมติ ดังนั้นการเสียบบัตรแทนกัน ทำให้เจตนารมณ์รัฐธรรมนูญถูกละเมิด
สำหรับการแถลงข่าวครั้งนี้ พรรคประชาธิปัตย์ได้นำคลิปวิดีโอมาเปิดให้สื่อมวลชนดู 3 คลิป โดยภายในคลิป มีภาพ ส.ส.คนหนึ่งนำบัตรแสดงตนของสมาชิกมาให้กับ ส.ส.คนหนึ่งที่นั่งอยู่ พร้อมใช้บัตรที่รับมาสลับกันเสียบเข้าไปยังเครื่องลงคะแนน นับได้ประมาณ 4 ใบ
เป็นที่น่าสังเกตว่า หลังพรรคประชาธิปัตย์ออกมาแฉเรื่องดังกล่าว ปรากฏว่า นายยุทธพงศ์ จรัสเสถียร ส.ส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย ได้ออกมายอมรับว่า เป็น ส.ส.ที่อยู่ในคลิปวิดีโอจริง แต่อ้างว่า ไม่ได้มีการเสียบบัตรแทนกัน ตนเพียงแค่เสียบบัตรคาไว้ในที่นั่ง แต่มี ส.ส.อีกคนเข้ามานั่งแทน ตนจึงเข้าไปเอาบัตรและย้ายที่นั่ง ทั้งนี้ พรรคประชาธิปัตย์ได้จี้ให้นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานรัฐสภา สอบเรื่อง ส.ส.เสียบบัตรแทนกัน แต่นายสมศักดิ์บ่ายเบี่ยง โดยอ้างว่า ให้รอฟังคำสั่งศาลรัฐธรรมนูญเลยทีเดียว
ด้านศาลรัฐธรรมนูญ ได้มีมติ 5 ต่อ 2 รับคำร้องของ พล.อ.สมเจตน์ บุญถนอม ส.ว.สรรหา และนายวิรัตน์ กัลยาศิริ ส.ส.สงขลา พรรคประชาธิปัตย์ ที่ขอให้ศาลวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 68 ว่านายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ กับพวกรวม 310 คน กระทำการเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งไม่เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญหรือไม่ รวมทั้งวินิจฉัยว่านายนิคม ไวยรัชพานิช ประธานวุฒิสภา ผู้ถูกร้องที่ 2 กับพวกรวม 309 คน ได้ร่วมกันเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับที่มา ส.ว.ต่อนายสมศักดิ์ โดยไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 68 วรรคหนึ่งหรือไม่ โดยตุลาการเสียงข้างมากมีมติรับคำร้องดังกล่าวไว้วินิจฉัย เนื่องจากเห็นว่าคดีมีมูล แต่ไม่ได้มีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวตามที่ขอ
เป็นที่น่าสังเกตว่า หลังศาลรัฐธรรมนูญรับคำร้องเรื่องร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญว่าด้วยที่มา ส.ว.ไว้วินิจฉัย พรรคประชาธิปัตย์จึงได้เรียกร้องให้รัฐบาลเลื่อนการลงมติวาระ 3 ในวันที่ 28 ก.ย.ออกไป เพื่อรอคำวินิจฉัยของศาลก่อน แต่ทั้งรัฐบาลและนายนิคม ไวยรัชพานิช ประธานวุฒิสภา ไม่สน ยืนยันลงมติตามกำหนดเดิม ขณะที่นายสุรนันทน์ เวชชาชีวะ เลขาธิการนายกรัฐมนตรี ได้ออกมาสำทับว่า เมื่อร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญว่าด้วยที่มา ส.ว.ผ่านวาระ 3 ในวันที่ 28 ก.ย.แล้ว นายกฯ ต้องปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญด้วยการนำร่างดังกล่าวทูลเกล้าฯ ภายใน 20 วัน ไม่จำเป็นต้องรอคำวินิจฉัยของศาล เพราะต้องแยกส่วนกัน
ทั้งนี้ เมื่อถึงกำหนดวันประชุมลงมติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญว่าด้วยที่มา ส.ว.ในวาระ 3 (28 ก.ย.) ปรากฏว่า วิปฝ่ายค้านและ ส.ว.สรรหา ได้ขอให้ที่ประชุมเลื่อนการลงมติ เพื่อรอคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญก่อน แต่ ส.ส.พรรคเพื่อไทยไม่พอใจ จึงประท้วงอยู่ตลอดเวลา สุดท้าย นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานรัฐสภาตัดสินใจให้เดินหน้าลงมติวาระ 3 ทันที ท่ามกลางเสียงทักท้วงของฝ่ายค้าน
และทันทีที่เลขาธิการรัฐสภาขานชื่อสมาชิกทีละคนเพื่อลงมติ ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์และ ส.ว.สรรหา ได้ประท้วงด้วยการวอล์กเอาต์จากห้องประชุมทันที ขณะที่นายอรรถพร พลบุตร ส.ส.เพชรบุรี พรรคประชาธิปัตย์ ได้นำพวงหรีดมีข้อความว่า “สภาทาส” ไปให้นายสมศักดิ์ที่หน้าบัลลังก์ แต่นายสมศักดิ์ได้สั่งให้เจ้าหน้าที่นำพวงหรีดดังกล่าวออกไป
เป็นที่น่าสังเกตว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้เข้าประชุมเพื่อลงมติในครั้งนี้ด้วย โดยที่ประชุมมีมติเห็นชอบร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญว่าด้วยที่มา ส.ว.ในวาระ 3 ด้วยคะแนน 258 เสียง ไม่เห็นด้วย 2 เสียง งดออกเสียง 30 เสียง เมื่อคะแนนเห็นชอบเกินกึ่งหนึ่ง จึงถือว่าร่างฯ ดังกล่าวผ่านความเห็นชอบของรัฐสภาแล้ว
ด้านนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ ประธานวิปฝ่ายค้าน รีบยื่นหนังสือพร้อมรายชื่อ ส.ส.143 คน ต่อนายนิคม ไวยรัชพานิช ประธานวุฒิสภา เพื่อขอให้ส่งเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 154 ว่าร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฯ ที่ผ่านความเห็นชอบจากรัฐสภาฉบับนี้มีข้อความที่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ หรือตราขึ้นโดยไม่ถูกต้องหรือไม่ ซึ่งมาตรา 154 ระบุว่า เมื่อสมาชิกรัฐสภามีการยื่นเรื่องตามมาตราดังกล่าวแล้ว นายกรัฐมนตรีจะต้องระงับการทูลเกล้าฯ ร่างกฎหมายฉบับนั้นไว้ก่อน อย่างไรก็ตาม ยังไม่ชัดเจนว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์จะเดินหน้าหรือชะลอการทูลเกล้าฯ ร่างดังกล่าว
ด้านนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ได้ออกมาเตือน น.ส.ยิ่งลักษณ์ ก่อนหน้านี้ว่า ไม่ควรรีบนำร่างดังกล่าวทูลเกล้าฯ เพราะนายกฯ มีเวลา 20 วัน ควรรอให้ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยก่อน ซึ่งหวังว่าศาลจะมีข้อยุติภายใน 20 วัน หากนายกฯ รีบทูลเกล้าฯ ทั้งที่รู้อยู่แล้วว่าจะเกิดอะไรขึ้น นายกฯ ต้องรับผิดชอบ
2. ช่อง 9 ปิดหูปิดตา ปชช. แบน “คนค้นฅน” ตอนศศินเดินเท้าค้านเขื่อนแม่วงก์ ด้านสมาคมต้านโลกร้อน ซัด เชลียร์ผู้มีอำนาจ ขู่ฟ้องศาลปกครอง!
จากกรณีที่นายศศิน เฉลิมลาภ เลขาธิการมูลนิธิสืบ นาคะเสถียร และกลุ่มนักอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติจำนวนหนึ่ง ได้เดินเท้าจาก อ.แม่วงก์ จ.นครสวรรค์ มายัง กทม. ตั้งแต่วันที่ 10 ก.ย.-22 ก.ย. ที่ผ่านมา รวมระยะทาง 388 กิโลเมตร เพื่อคัดค้านรายงานการวิเคราะห์สิ่งแวดล้อมและสุขภาพ(EHIA) โครงการสร้างเขื่อนแม่วงก์ ซึ่งเป็น 1 ในโครงการกู้เงิน 3.5 แสนล้านบาทเพื่อแก้ไขปัญหาน้ำท่วมของรัฐบาลนั้น
ปรากฏว่า ทันทีที่นายศศินและผู้ร่วมเดินเท้ามาถึง กทม. ได้มีประชาชนไปให้การต้อนรับและร่วมคัดค้านเขื่อนแม่วงก์อย่างล้นหลาม ทั้งนี้ นายศศิน ขึ้นเวทีปราศรัยว่า พื้นที่สร้างเขื่อนแม่วงก์เป็นป่าที่อุดมสมบูรณ์ มีสัตว์ป่าใหญ่ เช่น เสือ อาศัยอยู่จำนวนมาก แต่ในอีเอชไอเอไม่ได้บอกว่าเป็นป่าที่อุดมสมบูรณ์ “พวกเรามองว่าสิ่งที่จะเสียไปไม่คุ้มค่ากับการก่อสร้าง เพราะหากเปรียบกับปริมาณน้ำท่วมในปี 2554 จะสามารถรับน้ำได้เพียงร้อยละ 1 เท่านั้น รวมทั้งสามารถส่งน้ำไปพื้นที่บริการได้เพียง 1 แสนไร่เท่านั้น ไม่ใช่ 3 แสนไร่ อย่างที่บอกกับชาวบ้านในพื้นที่” ทั้งนี้ นางรตยา จันทรเทียร ประธานมูลนิธิสืบ นาคะเสถียร ได้เป็นตัวแทนยื่นหนังสือคัดค้านอีเอชไอเอต่อรัฐบาลผ่านนายอุดม ไกรวัตนุสรณ์ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
ด้าน น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี พูดถึงกระแสคัดค้านการสร้างเขื่อนแม่วงก์ว่า คงต้องประเมินว่าประชาชนต้องการธรรมชาติที่อาจจะให้ความสวยงาม หรือต้องการเขื่อนที่จะทำให้ประเทศเจริญ และสามารถเก็บน้ำเพื่อการชลประทานได้ ซึ่งคงต้องหารือกัน รัฐบาลพร้อมรับฟังความคิดเห็นต่างๆ ก่อน
ขณะที่นายปลอดประสพ สุรัสวดี รองนายกรัฐมนตรี ได้ออกมายืนยันว่า จะสร้างเขื่อนแม่วงก์แน่นอน เพราะผืนป่าจะอยู่เหนือความปลอดภัยของประชาชนทั้งประเทศไม่ได้ และต่อให้การสร้างเขื่อนดังกล่าวช่วยลดปัญหาน้ำท่วมได้แค่ 1% ก็ต้องสร้าง และว่า รัฐบาลมีแผนสู้กับน้ำท่วม 9 เรื่อง การสร้างเขื่อนเป็น 1 ในนั้น โดยจะสร้างเขื่อนเล็กและใหญ่รวม 21 เขื่อน
ทั้งนี้ กระแสคัดค้านการสร้างเขื่อนแม่วงก์ได้ขยายวงกว้างขึ้นเรื่อยๆ โดยมีดารานักแสดงหลายคนออกมาร่วมคัดค้านเช่นกัน เช่น “นก” ฉัตรชัย เปล่งพานิช ได้โพสต์ข้อความคัดค้านการสร้างเขื่อนแม่วงก์ลงในอินสตาแกรมว่า “ถ้ามึงจะทำร้ายผืนป่า ทำร้ายธรรมชาติ สัตว์นรกจะมารอรับมึงแน่ แต่มึงคงไม่ตกใจ เพราะมึงเห็นในกระจกอยู่ทุกวัน คิดทำสิ่งสร้างสรรค์บ้างได้มั้ย”
เป็นที่น่าสังเกตว่า ขณะที่รัฐบาล โดยเฉพาะนายกฯ บอกว่าพร้อมรับฟังความคิดเห็นของประชาชนเรื่องเขื่อนแม่วงก์ แต่ในทางปฏิบัติกลับมีความพยายามปิดหูปิดตาประชาชนไม่ให้รับรู้ข้อมูลจากผู้ที่คัดค้านการสร้างเขื่อนแม่วงก์ เช่นกรณีที่โมเดิร์นไนน์ทีวี(ช่อง 9) ระงับการออกอากาศรายการ “คนค้นฅน” ตอน “ศศิน เฉลิมลาภ 388 KM จากแม่วงก์สู่ กทม.” ซึ่งมีกำหนดออกอากาศเมื่อช่วงบ่ายวันที่ 28 ก.ย. ส่งผลให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์การกระทำดังกล่าวเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะทางโซเชียลมีเดีย บางคนถึงกับระบุว่า “รัฐนี้เป็นรัฐแห่งอวิชชา เพราะไม่ยอมให้คนในชาติได้รับความจริงแท้ ...แปลตรงๆ ว่า สิ่งที่รัฐนำเสนอย่อมปลอมปนด้วยสิ่งมอมเมาเขลาโง่”
ทั้งนี้ ผู้สื่อข่าวได้ขอสัมภาษณ์นายสุทธิพงษ์ ธรรมวุฒิ หรือเช็ค ผู้ดำเนินรายการคนค้นฅน และผู้บริหารบริษัททีวีบูรพา ซึ่งเจ้าตัวพร้อมให้สัมภาษณ์ แต่ไม่ได้ให้สัมภาษณ์ด้วยคำพูด แต่แสดงออกเชิงสัญลักษณ์ด้วยการนำเทปกาวสีดำชิ้นแรกมาปิดปาก ชิ้นที่ 2 ปิดตาทั้งสองข้าง ชิ้นที่ 3 ปิดหูขวา และชิ้นที่ 4 ปิดหูซ้าย ซึ่งสะท้อนว่ามีการแทรกแซงและพยายามหยุดการสื่อสารเรื่องแม่วงก์ออกสู่สาธารณะ
ด้านนายธีรัตน์ รัตนเสวี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี รีบออกมาปฏิเสธว่า รัฐบาลไม่ได้สั่งแบนรายการคนค้นฅนดังกล่าว และว่า ทราบจากทาง อสมท ว่า เป็นการตัดสินใจของหน่วยงานเซ็นเซอร์ของทางช่อง 9 เอง เพราะรายการให้ข้อมูลไม่รอบด้าน
ขณะที่นางกมลาสิริ อิศรางกูร ณ อยุธยา รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ฝ่ายดูแลสายงานโทรทัศน์ สถานีโทรทัศน์ช่อง 9 ยอมรับว่า มีการระงับการออกอากาศรายการคนค้นฅนตอนดังกล่าวจริง เพราะนำเสนอข้อมูลไม่รอบด้าน และว่า อสมท เป็นกลาง เวลาออกข่าว ต้องออกให้สมดุลรอบด้าน จึงได้ให้เจ้าหน้าที่ติดต่อทางรายการให้ไปสัมภาษณ์อีกฝ่ายหนึ่งเพื่อแก้ต่าง แต่ทางรายการไม่ทำ และทำไม่ได้ จึงบอกไปว่า ถ้าพร้อมทำเมื่อไหร่ จะออกอากาศให้ นางกมลาสิริ ยังย้ำด้วยว่า การระงับรายการดังกล่าว ไม่มีการเมืองแทรกแน่นอน
ด้านรายการคนค้นฅนได้เผยแพร่คำชี้แจงทางโซเชียลมีเดียว่า หลังฝ่ายพิจารณาเทปออกอากาศแจ้งว่า อยากให้ปรับแก้เนื้อหาให้สมดุลทั้ง 2 ฝ่าย คือฝ่ายสนับสนุนการสร้างเขื่อนและฝ่ายคัดค้าน รวมทั้งตัดทอนเนื้อหาที่ทางสถานีฯ เห็นว่าจะทำให้เกิดการยั่วยุ ขัดแย้งออก ทางรายการก็ได้ปรับแก้ตามที่ทางสถานีฯ ห่วงใย บนพื้นฐานที่ไม่ให้เสียจุดยืนและรูปแบบของรายการ ที่เป็นสารคดีชีวิต ไม่ใช่สารคดีเชิงข่าว นอกจากนี้ทางรายการยังเพิ่มเติมเนื้อหาว่า พร้อมจะนำเสนอข้อมูลของฝ่ายที่สนับสนุนการสร้างเขื่อนในโอกาสต่อไป แต่ก็ไม่ได้รับการพิจารณาให้ออกอากาศแต่อย่างใด ทางรายการฯ จึงได้นำเทปรายการตอนดังกล่าว มาเผยแพร่ผ่านสังคมออนไลน์ เพื่อให้สังคมได้ร่วมพิจารณาและหาทางออกอย่างสันติและเป็นธรรม
ทั้งนี้ หลังช่อง 9 แบนรายการคนค้นฅนตอนดังกล่าว ปรากฏว่า นายศรีสุวรรณ จรรยา นายกสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน ได้ออกแถลงการณ์ประณามการกระทำของช่อง 9 ว่าเข้าข่ายเลือกปฏิบัติ ซึ่งเป็นสิ่งต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ 2550 มาตรา 30 พร้อมตั้งข้อสังเกตว่า ก่อนหน้านี้ มีรายการของรัฐบาลทางช่อง 9 ที่โฆษณาชวนเชื่อและเสนอข้อมูลเพียงด้านเดียวออกมามากมาย แต่ช่อง 9 ก็ไม่ได้สั่งห้ามเผยแพร่แต่อย่างใด พฤติกรรมของช่อง 9 จึงเป็นการเชลียร์ผู้มีอำนาจอย่างออกหน้าออกตา “ปิดหูปิดตาประชาชน” ที่มีสิทธิจะรับรู้ความจริงอีกด้าน ทั้งๆ ที่ช่อง 9 เป็นบริษัทมหาชน ที่มาจากเงินภาษีประชาชน ไม่ใช่เงินของรัฐมนตรีหรือนักการเมืองคนใด ทางสมาคมฯ จึงขอให้ช่อง 9 ทบทวนพฤติกรรม พร้อมเรียกร้องให้ กสทช.สั่งการให้ช่อง 9 นำเทปรายการคนค้นฅนตอนตอนดังกล่าวมาออกอากาศโดยเร็ว หากช่อง 9 ยังเพิกเฉย สมาคมฯ จำเป็นต้องร่วมกับผู้ชมและนักอนุรักษ์พึ่งอำนาจศาลปกครองโดยเร็วแน่นอน
3. รัฐบาล “ยิ่งลักษณ์” เพิ่งได้ฤกษ์แถลงผลงาน 1 ปี ด้าน ปชป.ซัด รัฐบาลล้มเหลว-ถังแตก-เพิ่มหนี้ให้ประชาชน!
เมื่อวันที่ 24-25 ก.ย. ได้มีการประชุมสภาผู้แทนราษฎรนัดพิเศษ เพื่อรับทราบรายงานแสดงผลการดำเนินการของคณะรัฐมนตรีตามแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ ครบรอบ 1 ปี(23 ส.ค.2554-23 ส.ค.2555) ของการบริหารราชการของรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร สำหรับการแถลงผลงาน 1 ปีของรัฐบาลครั้งนี้ ถือว่าช้ากว่ากำหนดมาก เพราะขณะนี้รัฐบาลบริหารประเทศมากว่า 2 ปีแล้ว และการแถลงผลงานครั้งนี้ก็มีขึ้นหลังจากนายวสันต์ สร้อยพิสุทธิ์ อดีตประธานตุลาการศาลรัฐธรรมนูญออกมาเตือนว่า รัฐบาลกำลังทำผิดรัฐธรรมนูญ เพราะไม่ยอมแถลงผลงานหลังครบ 1 ปี
ทั้งนี้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ แถลงภาพรวมผลงาน 1 ปีของรัฐบาลว่า รัฐบาลเข้ามาบริหารประเทศท่ามกลางบรรยากาศความขัดแย้งทางการเมืองที่ยังคงมีอยู่ และประสบปัญหาอุทกภัยครั้งใหญ่สุดในประวัติศาสตร์ไทยในปี 2554 รัฐบาลจึงต้องตัดงบปกติจากทุกกระทรวงเป็นเงิน 1.2 แสนล้านบาทในการป้องกันอุทกภัย และยังเสนอให้ออก พ.ร.ก.กู้เงิน 3.5 แสนล้าน เพื่อแก้ปัญหาอุทกภัยอย่างยั่งยืน และว่า รัฐบาลได้แถลงนโยบายต่อรัฐสภาไว้โดยยึดจุดมุ่งหมาย 3 ประการ คือ 1.การสร้างเศรษฐกิจสมดุล 2.การสร้างความเชื่อมั่น และ 3.การเตรียมพร้อมเข้าสู่ประชาคมอาเซียน
ขณะที่นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกฯ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า ภารกิจด้านเศรษฐกิจของรัฐบาล ได้ดำเนินแนวนโยบายที่ครอบคลุมถึง 14 ด้าน เช่น เพิ่มรายได้ ,ลดรายจ่าย ,ขยายโอกาส ,สร้างรากฐานอนาคต และที่สำคัญ รัฐบาลกำลังลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมในหลายเส้นทาง
ด้านนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ผู้นำฝ่ายค้านในสภาฯ และหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์(ปชป.) อภิปรายว่า คำมั่นสัญญาต่างๆ รัฐบาลไม่สามารถทำได้ตามที่หาเสียงไว้ ไม่เท่านั้นรัฐบาลยังซ้ำเติมประชาชนในแง่ค่าครองชีพ และราคาน้ำมัน ขณะที่เกษตรกรภาคใต้ชุมนุมมีปัญหาราคายางพาราตกต่ำ โดยปี 2554 ราคาอยู่ที่ กก.ละ 125 บาท แต่วันนี้อยู่ที่ กก.ละ 74 บาท ส่วนการบริหารราชการแผ่นดิน รัฐบาลพูดเรื่องปรองดอง แต่กลับผลักดันกฎหมายนิรโทษกรรม ซึ่งเป็นการปรองดองที่เลือกปฏิบัติ
ขณะที่นายอรรถวิชช์ สุวรรณภักดี ส.ส.กทม.พรรคประชาธิปัตย์ อภิปรายว่า พรรคเพื่อไทยเคยขึ้นป้ายหาเสียงว่า ล้างหนี้ประเทศไทย สร้างรายได้ประชาชน เอาความสุขที่เคยได้รับคืนมา แต่กลับล้มเหลว นอกจากทำไม่ได้ตามสัญญาแล้ว รัฐบาลยังทำให้อัตราส่วนหนี้ครัวเรือนสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ถึง 188,774 บาท เพิ่มขึ้นกว่า 30,000 บาทจากปี 2554 และว่า สาเหตุที่ทำให้รัฐบาลถังแตก เพราะความล้มเหลวในโครงการรถยนต์คันแรกที่รัฐบาลใช้งบบานปลาย จาก 30,000 ล้านเป็น 90,000 ล้านบาท
ขณะที่นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล รองนายกฯ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวถึงภาพรวมผลงานของกระทรวงการต่างประเทศว่า ก่อนที่รัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์จะเข้ามาบริหารประเทศ ความสัมพันธ์กับประเทศเพื่อนบ้านไม่ดีนัก เมื่อเข้ามาบริหาร จึงเน้นนโยบายด้านการต่างประเทศด้วยการเดินทางเยือนประเทศต่างๆ เพื่อเพิ่มความสัมพันธ์ แต่ฝ่ายค้านพยายามกล่าวหาว่า นายกฯ เดินทางไปเยอะและไม่ประสบผลสำเร็จอะไร นายสุรพงษ์ ยังเย้ยด้วยว่า สมัยรัฐบาลนายอภิสิทธิ์บริหารประเทศ 2 ปี 8 เดือน ไปเยือนต่างประเทศแค่ 20 ประเทศ ขณะที่มีผู้นำต่างประเทศมาเยือนไทยแค่ 8 คนเท่านั้น แต่สมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ มีผู้นำต่างประเทศมาเยือนถึง 22 คน เพราะรัฐบาลยิ่งลักษณ์เป็นรัฐมนตรีที่ต่างชาติและสังคมโลกให้การยอมรับนั่นเอง
ด้านนายอภิสิทธิ์ สวนกลับนายสุรพงษ์ว่า เหตุที่ตนตัดสินใจไม่ไปเยือนหลายประเทศ เพราะเห็นว่าปัญหาในประเทศหนักกว่า ส่วนที่นายสุรพงษ์อ้างว่า มีผู้นำต่างประเทศมาเยือนไทยน้อยในสมัยรัฐบาลตนนั้น เป็นการกล่าวหาที่ใช้ไม่ได้ เพราะหลังจากเสื้อแดงบุกที่ประชุมอาเซียนที่พัทยา ทำให้รัฐบาลตนลำบากใจเพราะไม่รู้ว่าหากเชิญผู้นำต่างประเทศมา แล้วจะเจอปัญหาอะไรบ้าง
ขณะที่นายจุฤทธิ์ ลักษณวิศิษฏ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ อภิปรายถึงการทำงานในสภาของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ว่า มีการลงมติกฎหมายสำคัญในสภา 55 ครั้ง แต่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ มาเซ็นชื่อแค่ 9 ครั้ง โดยไม่ยอมร่วมลงมติเลยแม้แต่ครั้งเดียว ทั้งที่บอกว่ามีอะไรให้มาพูดกันในสภา แต่นายกฯ กลับไม่ให้ความร่วมมือกับที่ประชุมสภา
เป็นที่น่าสังเกตว่า หลังการแถลงและการอภิปรายผลงานรัฐบาลดำเนินมาถึงช่วงบ่ายวันที่สอง(25 ก.ย.) ปรากฏว่า สถานีโทรทัศน์ช่อง 11 ได้ยุติการถ่ายทอดสด โดยเปลี่ยนเป็นการถ่ายทอดสดภารกิจของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ที่ไปเป็นประธานพิธีมอบรางวัลผู้ประกอบธุรกิจดีเด่น ที่ศูนย์ประชุมไบเทคแทน ทำให้ ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ไม่พอใจ เพราะไม่เป็นไปตามที่ตกลงกันไว้ จึงเสนอให้ประธานสั่งพักการประชุมจนกว่าช่อง 11 จะสามารถถ่ายทอดการประชุมได้ ทั้งนี้ บรรยากาศค่อนข้างตึงเครียด นายวิสุทธิ์ ไชยณรุณ รองประธานสภาฯ คนที่ 2 ในฐานะประธานที่ประชุม จึงขออภัยและขอรับผิดชอบแต่เพียงผู้เดียว จากนั้นได้มีการอภิปรายต่อ กระทั่งหมดจำนวนผู้อภิปรายในช่วงเย็น เป็นอันเสร็จสิ้นการแถลงผลงาน 1 ปีของรัฐบาล
4. ศาลปกครอง พิพากษาให้ “อสมท” คืนเงินส่วนลดโฆษณาให้ “ไร่ส้ม” 55 ล้าน ด้าน อสมท เล็งอุทธรณ์ ชี้ ไร่ส้มทุจริต ไม่มีสิทธิ์ได้ส่วนลด!
เมื่อวันที่ 25 ก.ย. ศาลปกครองกลาง ได้พิพากษาคดีที่บริษัท ไร่ส้ม จำกัด ซึ่งมีนายสรยุทธ สุทัศนะจินดา ผู้ดำเนินรายการโทรทัศน์ชื่อดังเป็นประธานกรรมการ ยื่นฟ้องบริษัท อสมท จำกัด(มหาชน) คู่สัญญาผลิตรายการโทรทัศน์ “คุยคุ้ยข่าว” ออกอากาศทางช่อง 9 อสมท หรือโมเดิร์นไนน์ทีวี กรณีเรียกเก็บค่าโฆษณาส่วนเกิน โดยไม่ให้ส่วนลดทางการค้า 30% ตามสัญญา และค่าโฆษณาที่ อสมท โฆษณาเกินส่วนแบ่งตามเวลาที่ตกลงไว้
ทั้งนี้ ตุลาการเสียงข้างมากพิพากษาให้ อสมท คืนเงินค่าโฆษณาส่วนเกินที่หักส่วนลด 30% ตามสัญญา ในช่วงเดือน ม.ค.-มิ.ย. 2548 และวันที่ 14 ก.ค.2549 ให้บริษัทไร่ส้ม รวมเป็นเงิน 55,523,763.38 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี นอกจากนี้ยังให้ อสมท ชดใช้กรณีที่ได้โฆษณาล้ำไปในเวลาโฆษณาของบริษัทไร่ส้มอีก 4 วัน ตั้งแต่วันที่ 18-21 ธ.ค.2549 รวมเวลา 1.15 วินาที เป็นเงิน 253,255.76 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องคดีเมื่อวันที่ 24 ก.ค.2551 จนกว่าจะชำระเสร็จ โดยให้ชำระเงินทั้งหมดภายใน 90 วัน หลังจากคดีถึงที่สุด
องค์คณะตุลาการยังพิจารณาด้วยว่า กรณีที่บริษัทไร่ส้มโฆษณาเกินเวลา ทาง อสมท ก็ไม่ได้โต้แย้งหรือทักท้วงว่าบริษัททำไม่ถูกต้อง อีกทั้งการจัดคิวและควบคุมเวลาโฆษณาก็เป็นเจ้าหน้าที่ของ อสมท ทั้งหมดที่ควบคุมไม่ให้มีการโฆษณาเกินเวลา ดังนั้นจึงยากที่บริษัทไร่ส้มจะปกปิดคิวโฆษณาที่เกินไปโดยไม่ยื่นใบคิวแจ้งล่วงหน้าตามที่ อสมท กล่าวอ้าง และว่า การที่บริษัทไร่ส้มโฆษณาเกินส่วนแบ่งเวลาไปมาก คิดเป็นเงินกว่า 100 ล้านบาท เป็นเวลาปีเศษ ตั้งแต่เดือน เม.ย.2548-ก.ค.2549 โดย อสมท ยังไม่มีการเรียกเก็บเงิน ก็เป็นเรื่องผิดปกติทางการค้าอย่างมาก จึงถือเป็นความบกพร่องของเจ้าหน้าที่ทั้งหมดและระบบงานของ อสมท เองที่ไม่ควบคุมตรวจสอบและเรียกเก็บเงินจากบริษัทไร่ส้มภายในกำหนดเวลาตามระเบียบของ อสมท
อีกทั้งเมื่อบริษัทไร่ส้มได้รับแจ้งจาก อสมท ให้ชำระเงิน ทางบริษัทก็ได้รีบนำเงินไปชำระเพื่อป้องกันข้อครหาและไม่ให้เกิดความคลางแคลงใจต่อสังคม จึงยังไม่อาจฟังได้ว่า การที่บริษัทไร่ส้มจ่ายเงินให้ อสมท เป็นการชำระหนี้ตามอำเภอใจหรือฝ่าฝืนข้อห้ามตามกฎหมายหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ส่วนกรณีที่ อสมท อ้างว่า คณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงพบเหตุการณ์ทุจริตการโฆษณาเกินเวลาของบริษัทไร่ส้ม โดยพบว่านางพิชชาภา เอี่ยมสะอาด พนักงานธุรการ อสมท ที่มีหน้าที่จัดทำใบคิวและคิวโฆษณาได้รับเงินค่าจ้างจากบริษัทไร่ส้มเพื่อลงคิวโฆษณาส่วนเกินโดยไม่ต้องแจ้งซื้อโฆษณานั้น องค์คณะตุลาการเห็นว่า เรื่องดังกล่าวเป็นการสอบภายใน อสมท เอง แม้จะมีส่วนน่าสงสัย แต่ก็ยังไม่อาจรับฟังได้ จึงพิพากษาให้ อสมท คืนเงินค่าโฆษณาส่วนเกินที่หักส่วนลด 30% ให้บริษัทไร่ส้มเป็นเงินกว่า 55 ล้านบาทดังกล่าว
ขณะที่ตุลาการเสียงข้างน้อยเห็นว่า เมื่อปรากฏหลักฐานว่า บริษัทไร่ส้มโฆษณาเกินเวลาเป็นจำนวนมากคิดเป็นเงินกว่า 100 ล้านบาท แต่บริษัทไร่ส้มกลับไม่แสดงความจำนงที่จะชำระเงิน แต่รอจนกระทั่งปีเศษ เมื่อ อสมท มีหนังสือทวงถาม บริษัทไร่ส้มจึงนำเงินมาชำระ การกระทำดังกล่าวจึงถือไม่ได้ว่าเป็นการปฏิบัติทางการค้าระหว่างคู่สัญญาในเรื่องโฆษณาส่วนเกินและการรับส่วนลด อย่างไรก็ตาม คดีนี้ยังไม่ถึงที่สุด โดยคู่ความยังสามารถยื่นอุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุดได้ภายใน 30 วัน นับจากวันที่ศาลปกครองกลางมีคำพิพากษา
ทั้งนี้ นายมนต์อนันต์ เรืองจรัส ทนายความบริษัทไร่ส้ม เผยว่า คำพิพากษาเป็นไปตามคำฟ้องที่ขอให้ อสมท คืนเงินส่วนลดทางการค้า แต่ในส่วนที่ศาลพิพากษาให้ อสมท คืนเงินค่าโฆษณาส่วนที่ล้ำไปในเวลาของบริษัทไร่ส้มนั้น เห็นว่า ศาลไม่ได้พิจารณาในหลักการแบบไทม์แชร์ริ่ง ซึ่งทางบริษัทได้ฟ้องโดยเรียกค่าเสียหายเต็มจำนวนเวลารวมแล้วกว่า 100 ล้านบาท ดังนั้นจะกลับไปพิจารณาร่วมกับบริษัทไร่ส้มอีกครั้งว่าจะยื่นอุทธรณ์หรือไม่
ขณะที่ทางผู้บริหาร อสมท ยืนยันแล้วว่าจะยื่นอุทธรณ์คดีนี้ เพราะมองต่างจากศาลปกครอง โดยนายธนะชัย วงศ์ทองศรี รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท อสมท เผยว่า เพื่อความเข้าใจที่ตรงกัน ต้องแยกคดีระหว่าง อสมท กับบริษัทไร่ส้ม ออกเป็น 2 ประเด็น เพราะมี 2 คดี คดีแรก ป.ป.ช.ชี้มูลความผิดบริษัทไร่ส้ม กรณีทุจริตโฆษณาเกินเวลาของ อสมท ซึ่งเป็นคดีอาญา ส่วนคดีนี้ บริษัทไร่ส้มฟ้องต่อศาลปกครอง กรณีที่บริษัทไร่ส้มจ่ายค่าโฆษณาเกินเวลาแก่ อสมท แล้ว ซึ่ง อสมท เรียกเก็บเต็มจำนวน แต่บริษัทไร่ส้มเรียกร้องส่วนลด ซึ่ง อสมท มองว่าบริษัทไร่ส้มไม่ซื่อตรงต่อคู่สัญญา จึงไม่ควรได้รับส่วนลด
สำหรับความคืบหน้าคดีที่ ป.ป.ช.ชี้มูลความผิดบริษัทไร่ส้มทุจริตยักยอกค่าโฆษณา อสมท ซึ่ง ป.ป.ช.ได้ส่งเรื่องให้อัยการสูงสุดเพื่อพิจารณาสั่งฟ้องบริษัทไร่ส้มนั้น มีรายงานข่าวจากสำนักงานอัยการสูงสุดเมื่อวันที่ 30 ส.ค.ว่า อัยการเห็นว่าคดีนี้ยังไม่สมบูรณ์ในบางประเด็น ซึ่งตามขั้นตอน เมื่ออัยการเห็นว่ายังไม่สมบูรณ์ จะส่งเรื่องกลับไปให้ ป.ป.ช. เพื่อตั้งคณะกรรมการพิจารณาร่วมกัน แต่หากยังหาข้อยุติร่วมกันไม่ได้ ทาง ป.ป.ช.จะเป็นผู้ส่งฟ้องคดีต่อศาลเอง