บทสรุปเวที “เกาะติดกระแสความรุนแรงใต้พรม : จากปาตานีสู่กัวลาบารา” ที่จัดขึ้นริมชายหาดปากบารา สถานที่ก่อสร้างท่าเรือน้ำลึก ส่วนหนึ่งของเมกะโปรเจกต์ “แลนด์บริดจ์” เชื่อมอ่าวไทย-อันดามัน ความคิดเห็นแกนนำ และประชาชนของทั้ง 2 พื้นที่ได้ข้อสรุปตรงกันว่า ความรุนแรงทั้งที่ “ปัตตานี” และ “ปากบารา” ล้วนเกิดจากผลงานที่รัฐจัดให้
เมื่อเวลาประมาณ 16.00 น. วันนี้ (21 เม.ย.) ปาตานีฟอรัม ร่วมกับสถานีวิทยุร่วมด้วยช่วยกันสลาตัน จัดเวทีสาธารณะเสวนาหัวข้อ “เกาะติดกระแสความรุนแรงใต้พรม : จากปาตานีสู่กัวลาบารา” ขึ้นที่แสนดีรีสอร์ต ริมชายหาดปากบารา อ.ละงู จ.สตูล โดยมีนายสมบูรณ์ คำแหง เครือข่ายประชาชนติดตามแผนพัฒนา จ.สตูล นายแวหามะ แวกือจิ สมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดปัตตานี (ส.จ.) และอาจารย์เอกรินทร์ ต่วนศิริ ผู้อำนวยการปาตานีฟอรัม ดำเนินรายการ ทั้งนี้ มีชาวบ้านในพื้นที่ปากบารา และชาวปัตตานี เข้าร่วมฟังการเสวนากว่า 50 คน และถ่ายทอดสดไปยัง 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ผ่านทางสถานีวิทยุร่วมด้วยช่วยกันสลาตันด้วย
นายสมบูรณ์ คำแหง เครือข่ายประชาชนติดตามแผนพัฒนา จ.สตูล กล่าวว่า สถานการณ์ภาพรวมของ จ.สตูล ในขณะนี้ มีประชากรประมาณ 3 แสนคน มีวิถีชีวิตและอัตลักษณ์ที่ค่อนข้างชัดเจน ประชากรส่วนใหญ่เป็นมุสลิม แต่ก็มีชาวไทยพุทธ ชาวจีน และผู้ที่นับถือศาสนาคริสต์รวมอยู่ด้วย ทั้งนี้ ผู้คนส่วนใหญ่จะรู้จัก จ.สตูล จากด้านการท่องเที่ยว ทั้งทางบกและทางทะเล แต่ก็มีอาชีพเกษตรกรรมเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจของจังหวัดด้วย เช่น สวนยางพารา สวนปาล์ม ทำนา และสวนผลไม้ต่างๆ ขณะเดียวกัน ก็มีอาชีพประมงในบริเวณ 4 อำเภอที่ติดชายฝั่งทะเลด้วย เป็นความหลากหลายทั้งทางด้านการดำรงชีวิต และทรัพยากร
สำหรับประเด็นร้อนของ จ.สตูล ซึ่งจะมีโครงการขนาดใหญ่เล็งสร้างสิ่งต่างๆ ขึ้นที่นี่นั้น ไม่ได้เกิดมาจากความต้องการของคนใน จ.สตูล ที่มาบตาพุด ซึ่งมีนิคมอุตสาหกรรมเยอะมาก ขยายเพิ่มอีกไม่ได้แล้ว จึงมีการขยับแผนพัฒนาลงมาที่ชายฝั่งทะเลภาคใต้ โดยอ้างว่าเพื่อใช้เป็นเส้นทางการขนส่งสินค้า ทั้งๆ ที่ไม่รู้ว่าสร้างไปแล้วจะมีนักลงทุนใช้เส้นทางนี้ขนส่งสินค้าจนคุ้มค่าต่อการสร้างหรือเปล่า
นางเจ๊นะ รัตนพันธ์ ชาวบ้านในพื้นที่ กล่าวว่า ถ้าพูดถึงการพัฒนา จ.สตูล ในฐานะคนในพื้นที่อยากให้รัฐบาลพัฒนาไปในทางเศรษฐกิจ 3 ขา คือ การท่องเที่ยว การเกษตร และการประมง แต่ปัจจุบัน รัฐบาลไม่ได้มุ่งเน้นและไม่ได้ให้ความรู้ในเรื่องเหล่านี้แก่ประชาชน รัฐบาลกลับมุ่งที่จะสร้างท่าเรือน้ำลึกปากบารา และสร้างรถไฟรางคู่ ซึ่งเป็นโครงการใหญ่ที่ใช้เงินทุนเยอะ ถ้าเป็นโครงการใหญ่ขนาดนี้ ทำไมจึงไม่ประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนทราบข้อเท็จจริง โดยเฉพาะที่เกี่ยวกับที่อยู่อาศัย ซึ่งถ้าโครงการเกิดขึ้นจริงๆ นั้นจะมีผลกระทบต่อชาวบ้านในพื้นที่อย่างแน่นอน
“รัฐบาลควรชี้แจงว่า ประชาชนในพื้นที่จะได้ประโยชน์อะไรจากโครงการนี้บ้าง ทุกวันนี้ชาวบ้านต้องหาข้อมูลเอง ต้องศึกษาเรียนรู้เองทั้งหมด ประชาชน 3 หมู่บ้านที่จะกลายเป็นพื้นที่หลังท่าเรือน้ำลึกปากบารา จะได้อะไร จะเวนคืนราคาเท่าไหร่ จะได้อะไรจากโครงการนี้บ้าง ตอนนี้ชาวบ้านไม่รู้เลยว่าอนาคตหลังจากมีท่าเรือน้ำลึกปากบาราแล้วจะเป็นอย่างไรบ้าง
ทุกวันนี้ชาวบ้านเครียดที่ถูกรัฐบุกรุกพื้นที่ ถ้ามีรถไฟรางคู่เกิดขึ้นก็มีข้อกังขาว่าจะใช้ชีวิตร่วมกับรถไฟรางคู่นี้อย่างไร เราไม่รู้จักรถไฟรางคู่ที่จะใช้ขนส่งสินค้า เรารู้จักแต่รถไฟที่ขนส่งผู้โดยสาร อยากให้รัฐเคารพสิทธิชุมชนซึ่งระบุอยู่ในรัฐธรรมนูญ ถ้าเราเคารพสิ่งที่ระบุอยู่ในรัฐธรรมนูญทุกข้อ ความรุนแรง และความวุ่นวายจะไม่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นที่สตูล หรือปัตตานี”
นายสมพร เหมรา นักวิชาการในท้องถิ่นให้ความเห็นว่า ประเด็นเรื่องท่าเรือน้ำลึกปากบารานี้ แบ่งการรับรู้ของชาวบ้านเป็น 3 กลุ่ม คือ กลุ่มที่สนใจและศึกษา กลุ่มที่รู้กลางๆ และกลุ่มที่ไม่สนใจเลย ถ้ามีการสื่อสาร และการทำประชาพิจารณ์ที่ชัดเจน ก็จะทำให้ประชาชนเข้าใจโครงการมากขึ้น แต่การพัฒนาของประเทศไทยไม่ได้มุ่งเน้นให้ประชาชนอยู่ดีกินดี กลับมุ่งไปที่ผลประโยชน์ของนายทุนเป็นหลัก ข้อมูลต่างๆ จึงมีการบิดเบือน เช่น การทำรายงานศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมที่บอกว่า ทะเลที่นี่มีเรือประมงแค่ไม่กี่ลำ ซึ่งขัดกับความเป็นจริงอย่างยิ่ง ถามว่าถ้ามีท่าเรือน้ำลึกปากบาราจริง ชาวบ้านกี่คนที่จะได้ประโยชน์จากตรงนั้น นอกจากอาชีพยาม แล้วยังมีอาชีพอะไรที่เอื้อให้ชาวบ้านในพื้นที่ได้ทำอีกบ้าง
“ที่นี่เป็นชุมชนมุสลิมที่มีการช่วยเหลือเกื้อกูลกัน แต่ถ้ามีนิคมอุตสาหกรรมเกิดขึ้นที่นี่ เชื่อว่าจะเป็นการพัฒนาแบบก้าวกระโดด จะต้องเกิดความวุ่นวาย และผู้ที่ได้รับผลประโยชน์ไม่ใช่คนในพื้นที่อย่างแน่นอน”
สำหรับความเชื่อมโยงของ จ.สตูล และ จ.ปัตตานี นายแวหามะ แวกือจิ สมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดปัตตานี กล่าวว่า สิ่งที่เหมือนกันคือ การพัฒนาต่างๆ ที่เกิดขึ้นในทั้ง 2 จังหวัดนั้นตอบโจทย์ความต้องการของคนในพื้นที่จริงๆ หรือไม่ การพูดคุยหาทางออกคือวิธีที่ดีที่สุด ไม่มีความขัดแย้งใดยุติได้ด้วยความรุนแรง สิ่งที่พี่น้องสตูลเดินหน้าพูดคุยกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเป็นเรื่องดี แต่ต้องใจเย็น ทำสิ่งต่างๆ ด้วยเหตุผล และการพัฒนาต่างๆ ก็ควรตอบโจทย์ความต้องการของชาวบ้านในพื้นที่ด้วย
ส่วนทางออกของปัญหานี้นั้น นายสมบูรณ์ คำแหง เครือข่ายประชาชนติดตามแผนพัฒนา จ.สตูล ให้ความเห็นว่า การที่จะยอมให้โครงการใหญ่ๆ เกิดขึ้นในพื้นที่นั้น ชาวบ้านที่นี่คงยอมไม่ได้อย่างแน่นอน แต่ทุกกระบวนการต้องเป็นไปโดยปราศจากความรุนแรง จึงเป็นเรื่องดีที่ทางผู้ว่าราชการจังหวัดเปิดเวทีสาธารณะพูดคุยเรื่องทิศทางการพัฒนา จ.สตูล ที่ศาลากลางจังหวัดในวันที่ 24 เม.ย.นี้ โดยประเด็นหลักที่จะพูดคุยทำความเข้าใจกันคือ เรื่องท่าเรือน้ำลึกปากบารา
วันนี้ เงินกู้ 2.2 ล้านล้านบาทมาแน่ และท่าเรือน้ำลึกปากบาราก็บรรจุอยู่ในนั้นด้วย จริงๆ แล้วเงินกู้ 2.2 ล้านล้านบาทไม่ใช่แค่ท่าเรือน้ำลึกปากบาราเท่านั้น แต่ยังมีโครงการอื่นๆ ตามมาอีกมาก และสุดท้ายแล้วสิ่งที่จะเกิดขึ้น คือ นิคมอุตสาหกรรม ซึ่งระบุไว้ชัดเจนแล้วว่าจะใช้ตำบลไหน มีการตั้งคลังน้ำมัน สร้างเขื่อน หาแหล่งพลังงานสร้างโรงไฟฟ้า สร้างรถไฟรางคู่ เชื่อมโยงเป็นโครงการ “แลนด์บริดจ์สงขลา-สตูล”
คนสตูลต้องยอมรับว่า ถ้ามีท่าเรือน้ำลึกปากบาราเกิดขึ้น จ.สตูล จะกลายเป็นนิคมอุตสาหกรรมแน่นอน เพราะตอนนี้ที่มาบตาพุดขยายพื้นที่อุตสาหกรรมไม่ได้แล้ว ส่วนในภาคกลางก็เสี่ยงต่อภาวะน้ำท่วมจนไม่มีใครอยากไปลงทุน
“ถ้าใช้นิคมอุตสาหกรรมเป็นตัวชี้วัดความเจริญ ผมกล้าพูดว่าหากมีท่าเรือน้ำลึกปากบารา จ.สตูล เจริญแน่ แต่ชาวบ้านที่นี่จะมีชีวิตอยู่กันอย่างไร นี่คือเรื่องที่น่าเป็นห่วงอย่างยิ่ง”
ต่อข้อซักถามที่ว่าถ้าเราปฏิเสธการพัฒนาโดยเมกะโปรเจกต์ แล้วสตูลจะพัฒนาไปในทิศทางไหน อาจารย์สมพร เหมรา นักวิชาการในพื้นที่กล่าวว่า ชาวสตูลเป็นผู้มีจิตใจโอบอ้อมอารี โครงการก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกเสมือน “อีแอบ” ที่ไม่มาบอกกล่าวกันตรงๆ
ถ้าทุกคนเห็น GDP ของ จ.สตูล แล้วจะตกใจ รายได้ของ จ.สตูล ส่วนใหญ่มาจากการท่องเที่ยว โดยเฉาพะทางทะเล ซึ่งมีแหล่งท่องเที่ยวที่ดึงดูดผู้คนมากมายให้เข้ามาที่นี่ และมีเงินสะพัดในพื้นที่มากมาย สตูลมีศักยภาพสูงที่จะรองรับการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน คนสตูลพูดภาษามลายูกลางเช่นเดียวกับชาวมาเลเซีย พื้นที่ภูมิศาสตร์ก็อยู่ติดกับมาเลเซีย ปีที่ผ่านมา ชาวจีน ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย เข้ามาเที่ยวสตูลในช่วงโลว์ซีซัน ดังนั้น จ.สตูล ต้องพัฒนาคนให้มีศักยภาพด้านการศึกษา และส่งเสริมด้านธุรกิจท่องเที่ยว ผมคิดว่าคนไทยทั้งประเทศควรจะขอบคุณคนสตูลด้วยซ้ำที่กำลังปกป้องทรัพยากรไว้ให้ลูกหลาน ทะเลที่นี่อุดมสมบูรณ์มาก ถ้าใครเคยมาดำน้ำ มาเที่ยวทะเลที่นี่จะรู้ว่าสวยงามมากแค่ไหน
นายแวหามะ แวกือจิ สมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดปัตตานี กล่าวว่า ผมเห็นความเข้มแข็งของคนสตูล สิ่งที่เกิดขึ้นที่ปัตตานีในอดีตส่วนหนึ่งเกิดจากคนในพื้นที่ไม่ได้รวมตัวกันแบบนี้ การพัฒนาที่ปัตตานีลงมาจากส่วนกลางดิ่งตรงมาหาประชาชนเลย ประชาชนทำอะไรไม่ได้ต้องยอมรับอย่างเดียว การคิดต่างจากรัฐจะถูกตราหน้าทันทีว่าเป็นกบฏ เราต้องเข้าใจว่าคนที่เห็นด้วย และไม่เห็นด้วยนั้นยังมีอยู่ เราต้องคิดต่อว่าจะทำอย่างไรให้คนทั้ง 2 กลุ่มนี้มาคุยกันเพื่อหาทางออก สำหรับในปัตตานี สุดท้ายปัตตานีต้องมีการเปลี่ยนแปลง ถ้าทุกคนตระหนักร่วมกัน
ส่วนชาวบ้านที่ร่วมฟังการเสวนา แสดงความคิดเห็นแสดงถึงความรู้สึกที่ออกมาจากจิตใจจริง ดังนี้
นายดาดี ปากบารา ชาวบ้านหมู่ 6 ต.ปากน้ำ กล่าวว่า ถ้าท่าเรือน้ำลึกเกิดขึ้น ต่อไปชาวสตูลจะเป็นพม่ากับโรฮิงญาแน่นอน ความเจริญเข้ามาก็ทำลายสิ่งแวดล้อม ความทันสมัย ความเจริญจะนำความเสียหายมาให้ชาวสตูล การสร้างท่าเรือเป็นเรื่องเป็นราวระดับโลกที่เป็นปัญหา นายทุนจะซื้อพื้นที่ทั้งหมดและจะลงทุน ฉะนั้นสิ่งที่รัฐบาลต้องทำจริงๆ คือ การทำให้คนในพื้นที่ฉลาดกว่านี้
นายอับดุลเลาะ ชาวบ้านในพื้นที่ กล่าวว่า ถ้าพัฒนาการท่องเที่ยวจะดีกว่า เจ้าหน้าที่จะต้องตระหนักกว่านี้ ทำไมเราต้องเอาท่าเรือด้วย ทำไมไม่พัฒนาการท่องเที่ยว ถ้าจะเป็นท่าเรือน้ำลึก ทรัพยากรจะไม่ถูกนำมาใช้ ต้องคอยให้ทรัพยากรหมดก่อนแล้วจึงค่อยสร้างท่าเรือ ถ้าจะพัฒนา อาเซียนกำลังจะมา ทำไมไม่พัฒนาแหล่งท่องเที่ยวที่ชาวบ้านเขาเต็มใจ อีกเรื่องที่ภาครัฐควรเข้ามาชี้แจงให้ชาวบ้านเข้าใจคือว่าท่าเรือจะเข้ามายังไง เมื่อไหร่
ส่วนชาวบ้านคนอื่นๆ กล่าวว่า หลายๆ คนถามเกี่ยวกับโครงการท่าเรือน้ำลึกว่าทำไมคนสตูลไม่เอาท่าเรือ เหตุผลของชาวสตูลส่วนใหญ่ตอบเป็นเสียงเดียวกันว่า เพราะถ้ารัฐจะสร้างท่าเรืออย่างเดียวมันอยู่ไม่ได้อย่างแน่นอน มันต้องมีอุตสาหกรรมด้วย สิ่งนี้แหละที่ชาวบ้านรับไม่ได้ สิ่งที่ชาวบ้านต้องการคือ การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ทั้งนี้ “แลนด์บริดจ์” เมื่อก่อนจะสร้างที่กระบี่ แต่มีนักการเมืองใหญ่บางคนคัดค้านไม่ให้สร้างที่นั่น จึงหักเหมาสร้างอยู่ที่สตูลแทน
“ความเจริญที่ว่ามันถูกนิยามด้วยใครไม่รู้ ชาวบ้านต้องตื่นแต่หัวรุ่ง ต้องนอนตอนดึก เจอแต่ขอทาน รถก็ติด ถ้าความเจริญเข้ามาแล้วเป็นอย่างนี้พวกผมรับไม่ได้ นิยามของคำว่าเจริญผมว่ามีอีกหลายความหมาย สิ่งหนึ่งที่ต้องทำคือ รับฟังจากพวกเราบ้างหรือเปล่า ความเจริญของพวกเราหมายถึง คุณภาพที่ดี มีอาชีพที่ดี มีสุขภาพที่ดี ลูกๆ หลานๆ ไม่ต้องมาเป็นสาวโรงงาน ถ้าเราไปขวางมือขวางเท้าเขาเราจะเดือดร้อน ติดคดี มีความติดตัว พื้นดินที่เราอยู่อาจจะลุกเป็นไฟ อยากสะท้อนว่าเรายึดมั่นในวิถีทางคือการเอาสิทธิทางกฎหมายสู้ การต่อสู้มีหลากหลายรูปแบบ ทั้งเข้าพบ ชุมนุม ผู้เกี่ยวข้องทั้งหลายอย่าไปขัดขวางพวกที่ต่อสู้เลย ถ้าชาวบ้านต่อสู้อย่างสันติ ควรจะสนับสนุนเขามากกว่า แนวทางอื่นเราจะไม่เดินเด็ดขาด สิทธิชุมชนจะเป็นแนวทางที่พวกเราจะเดิน จนกว่าเราจะได้รับชัยชนะ ถ้าใครจะไปตีความว่าการชุมนุมของคนสตูลเป็นความรุนแรงคงต้องคิดใหม่ ถ้าเขายิ่งเก็บงำเมื่อนั้นแหละ เขาเป็นคนที่ส่งเสริมให้เกิดความรุนแรง” ชาวบ้านกล่าว