xs
xsm
sm
md
lg

การทำ ‘ฮาราคีรี’ ด้วยเรื่อง ‘ท่าเรือปากบารา’ ต่อหน้าคนนับพันของ “ส.ส.สตูล”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


 
ไม่น่าเชื่อว่า “ธานินทร์ ใจสมุทร” ส.ส.สตูล จะคิดทำ “ฮาราคีรี” ตัวเองต่อหน้าต่อตาประชาชนนับพัน บนเวที “แนวทางการพัฒนาจังหวัดสตูลภายใต้บริบทการเปลี่ยนแปลง” ที่ผู้ว่าฯ อาสาจัดขึ้น ภายหลังถูก “สมัชชาคนสตูล” ยกกรณีปมปัญหาการก่อสร้าง “ท่าเรือน้ำลึกปากบารา” โครงสร้างพื้นฐานอันเป็นส่วนหนึ่งของเมกะโปรเจกต์ “แลนด์บริดจ์” เปลี่ยนอนาคตภาคใต้มาบอกเล่า และชี้ว่าจะต้องตามมาด้วยอุตสาหกรรมหนัก และอุตสาหกรรมปิโตรเคมีอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

 
หลังจากเสร็จสิ้นงานสมัชชาคนสตูล ครั้งที่ 2 ไปแบบหมาดๆ เมื่อวันที่ 22-23 เม.ย.ที่ผ่านมา วันนี้ (24 เม.ย.) ที่อาคารเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา ศาลากลางจังหวัดสตูล นายเหนือชาย จิระอภิรักษ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดสตูล เป็นเจ้าภาพจัดงานประชุมเสวนา โดยใช้ชื่องานว่า “แนวทางการพัฒนาจังหวัดสตูลภายใต้บริบทการเปลี่ยนแปลง” ซึ่งนัยหนึ่งเป็นที่เข้าใจตรงกันว่า คือเวทีประจันหน้าพูดคุยเกี่ยวกับประเด็นการก่อสร้าง “โครงการท่าเรือน้ำลึกปากบารา” โดยมีประชาชนชาวสตูลเข้าร่วมกว่า 1,000 คน นอกจากนี้ ยังมีประชาชนจากพื้นที่อื่นๆ เช่น จ.ชุมพร จ.สุราษฎร์ธานี และ จ.สงขลา ซึ่งจะได้รับผลกระทบจากโครงการเมกะโปรเจกต์ของภาคใต้เข้าร่วมรับฟังด้วย

 
ผู้ร่วมอภิปรายบนเวทีทั้ง 5 คนนั่งเรียงเป็นแถวเดียวกัน แต่นำเสนอข้อมูลแยกออกเป็น 2 ฝ่ายอย่างเห็นได้ชัด ฝ่ายแรกคือ “ผู้สนับสนุนให้เกิดท่าเรือน้ำลึกปากบารา” ได้แก่ นายธานินทร์ ใจสมุทร สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดสตูล นายสัมฤทธิ์ เลียงประสิทธิ์ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) สตูล นายสมชาย ตันติ์ศรีกุล กรรมการหอการค้าไทย และอดีตประธานหอการค้าจังหวัดสตูล ส่วนตัวแทนภาคประชาชนซึ่งนำเสนอข้อมูลว่าเหตุใดจึง “คัดค้านท่าเทียบเรือน้ำลึกปากบารา” ได้แก่ นายสมบูรณ์ คำแหง ตัวแทนสมัชชาคนสตูล และนายวิโชคศักดิ์ รณรงค์ไพรี ตัวแทนเครือข่ายประชาชนติดตามแผนพัฒนา จ.สตูล โดยมีนายวิชาญ นาคบรรพต จากสถานีวิทยุ อสมท สตูล เป็นผู้ดำเนินรายการ ส่วนนายเหนือชาย จิระอภิรักษ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดสตูล ก็ร่วมนั่งรับฟังอยู่บนเวทีด้วย

บรรยากาศการอภิปรายข้อมูลใช้กติกาเดียวกันกับการโต้วาที คือ ให้สิทธิแต่ละคนพูดในเวลาเท่ากัน ทว่า ฝ่ายเสนอนั้นมีสมาชิกมากกว่าเป็นอัตรา 3 : 1 โดยในรอบแรกทุกคนได้สิทธิพูดคนละ 12 นาที จากนั้นจะมีการซักถาม หรือแสดงความคิดเห็นจากผู้เข้าร่วมรับฟัง และให้ตัวแทนแต่ละฝ่ายพูดสรุป ฝ่ายละ 2 คน คนละ 5 นาที
นายธานินทร์ ใจสมุทร ส.ส.จังหวัดสตูล
 
นายธานินทร์ ใจสมุทร ส.ส.สตูล จากพรรคชาติไทยพัฒนา กล่าวเป็นคนแรก โดยสรุปภาพรวมว่า น่าจะผลักดัน จ.สตูล ให้เป็นเมืองแห่งการศึกษา ซึ่งตอนนี้มีมหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลามาเปิดวิทยาเขตสตูลแล้ว ส่วนปัญหาอื่นๆ ของ จ.สตูล ก็ต้องแก้ให้ตรงจุด โดยใช้หลักศาสนามาเป็นกลไกขับเคลื่อน และในส่วนของนโยบายอื่นๆ อะไรที่เป็นประโยชน์ และเพิ่มรายได้ให้แก่ประชาชนในพื้นที่ ตนก็จะทำ

ส่วนการพัฒนาโครงการใหญ่ๆ ที่จะมีการพัฒนาถนนสตูล-เปอร์ลิส เพื่อสร้างเส้นทางเชื่อมต่อไปยังประเทศมาเลเซีย และท่าเรือน้ำลึกปากบารา ที่จะมีขึ้นที่ อ.ละงู จ.สตูล นั้น ตนก็เห็นชอบที่จะมีโครงการแบบนี้เกิดขึ้นในพื้นที่ สำหรับกรณีท่าเรือน้ำลึกปากบารา นายธานินทร์ กล่าวอย่างเต็มปากเต็มคำว่า “ผมเอาท่าเรือน้ำลึกปากบารา แต่ไม่เอาอุตสาหกรรมหนัก”

“ผมสนับสนุนโครงการที่รัฐบาลได้นำมาให้ จ.สตูล ทุกครั้งที่เป็น ส.ส. ผมจะไม่ไปนั่งเป็นฝ่ายค้าน เพราะการเป็นฝ่ายค้านมันทำอะไรไม่ได้ แต่การนั่งฝ่ายรัฐบาลจะสามารถเข้ามาแก้ปัญหา และทำตามสิ่งที่ประชาชนเรียกร้องได้ ทั้งนี้ ต้องฟังเสียงส่วนใหญ่ และยึดเสียงส่วนใหญ่เป็นหลักในการทำงาน”
นายสัมฤทธิ์ เลียงประสิทธิ์ นายก อบจ. สตูล
 
ฝ่ายสนับสนุนท่าเรือน้ำลึกปากบาราคนที่ 2 คือ นายสัมฤทธิ์ เลียงประสิทธิ์ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) สตูล ยังกล่าวยืนยันเช่นเดียวกับที่กล่าวบนเวทีสมัชชาคนสตูล ครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 22 เม.ย.ที่ผ่านมา ว่า ทิศทางการพัฒนา จ.สตูล ควรยึดตามวิสัยทัศน์ของจังหวัด คือ “การท่องเที่ยวเชิงนิเวศ เกษตรได้มาตรฐาน สวรรค์ชายแดนใต้” ทั้งนี้ การท่องเที่ยวเชิงนิเวศเหมาะกับศักยภาพของ จ.สตูล ที่มีอยู่จริงในปัจจุบัน ทั้งแหล่งท่องเที่ยวทางทะเลซึ่งเป็นที่นิยมติดอันดับโลก และทางท่องเที่ยวทางบก ถ้ำต่างๆ ก็สวยงามเป็นที่สนใจของนักท่องเที่ยว แต่ปัญหาที่พบคือ สตูลยังไม่มีของฝากที่โดดเด่นประเภทว่าถ้ามาสตูลแล้วต้องซื้อสิ่งนี้ พร้อมทั้งยังขาดแลนด์มาร์ก (Land mark) หรือสัญลักษณ์ของเมือง ให้นักท่องเที่ยวได้ถ่ายรูปว่ามาเยือนที่นี่แล้ว” นายก อบจ.สตูล กล่าว

นายสัมฤทธิ์ เลียงประสิทธิ์ ยังกล่าวอีกว่า สิ่งที่ตนอยากให้เกิดขึ้นใน จ.สตูล เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวให้อยู่ที่สตูล และนอนที่สตูลนานขึ้น คือ ตลาดกึ่งดิวตี้ฟรี (Duty free) หรือกึ่งปลอดภาษี ลักษณะเดียวกับตลาดกิมหยง เพื่อให้นักท่องเที่ยวได้จับจ่ายซื้อของ ทั้งนี้ ตลาดวังประจันที่มีอยู่แล้วตรงชายแดนไทย-มาเลย์ ในพื้นที่ อ.ควนโดน สินค้ามีความหลากหลายจริง แต่ต้องจัดระเบียบ ซึ่งขณะนี้ อบจ.สตูล กำลังดำเนินการ

ส่วนประเด็นเกี่ยวกับท่าเรือน้ำลึกปากบารานั้น นายก อบจ.สตูล แสดงความคิดเห็นยืนยันเช่นเดิมเหมือนที่พูดในเวทีสมัชชาคนสตูล ครั้งที่ 2 ว่า ตนเห็นด้วยกับโครงการดังกล่าว แต่ก็ไม่อยากให้มีนิมคมอุตสาหกรรม และปิโตรเคมีในพื้นที่
นายสมบูรณ์ คำแหง เครือข่ายประชาชนติดตามแผนพัฒนาจังหวัดสตูล
 
ถัดมา นายสมบูรณ์ คำแหง ตัวแทนสมัชชาคนสตูล ปล่อยหมัดเด็ดแบบไม่อ้อมค้อม พูดถึงท่าเรือน้ำลึกปากบาราทันทีแบบตรงไปตรงมาว่า สำหรับโครงการพัฒนาสะพานเชื่อมเศรษฐกิจชายฝั่งทะเลอันดามัน-อ่าวไทย ซึ่งจะส่งผลให้เกิดท่าเรือน้ำลึกปากบาราขึ้นที่ ต.ปากน้ำ อ.ละงู จ.สตูล มีหลายฝ่ายรวมทั้งนายสัมฤทธิ์ เลียงประสิทธิ์ นายก อบจ.สตูล พูดว่า “ผมเอาท่าเรือน้ำลึกปากบารา แต่ไม่เอานิคมอุตสาหกรรม และปิโตรเคมี” ตนขอชี้แจงให้ทราบว่า ท่าเรือน้ำลึกเป็นจุดเริ่มต้นของปิโตรเคมี และนิคมอุตสาหกรรม และตอนนี้คนสตูลกำลังหลงประเด็น สิ่งที่จะเกิดขึ้นใน จ.สตูล ไม่ใช่เพียงแค่ท่าเรือเท่านั้น ท่าเรือเป็นเพียงการเริ่มต้นของโครงการอื่นๆ ที่จะตามมาอีก

นายสมบูรณ์อ้างอิงเอกสาร “โครงการสำรวจออกแบบเพื่อการก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกปากบารา จังหวัดสตูล โดยกรมขนส่งทางน้ำ และพาณิชยนาวี (กรมเจ้าท่า) ฉบับปรับปรุงแก้ไขล่าสุดเมื่อปี 2552” ว่า จริงๆ แล้วเรื่องท่าเรือน้ำลึกปากบารา พูดว่าเป็นแค่เรื่องของคนสตูลไม่ได้ เพราะเป็นโครงการที่เกี่ยวเนื่องกัน 2 จังหวัด คือ จ.สตูล และ จ.สงขลา ถ้าท่าเรือปากบาราสร้างเสร็จ ก็จะสร้างท่าเรือน้ำลึกสงขลาแห่งที่ 2 ที่บ้านสวนกง ต.นาทับ อ.จะนะ จ.สงขลา ตามมา ต่อด้วยสร้างรถไฟรางคู่เพื่อเชื่อมต่อการขนส่งระหว่างท่าเรือทั้ง 2 แห่งนี้

องค์ประกอบของแลนด์บริดจ์สงขลา-สตูล ได้แก่
1.ท่าเรือน้ำลึกปากบารา ตั้งอยู่ที่ ต.ปากน้ำ อ.ละงู จ.สตูล
2.โครงการถนนสายสตูล-เปอร์ลิส
3.โครงการถไฟรางคู่ ปากบารา-จะนะ ระยะทาง 142 กม. จาก จ.สตูล ถึง จ.สงขลา
4. ท่อ และคลังขนส่งน้ำมัน
5.นิคมอุตสาหกรรม 150,000 ไร่ ในพื้นที่ อ.ละงู และ อ.มะนัง จ.สตูล
6.เขื่อนคลองช้าง ซึ่งจะสร้างขึ้นที่ อ.ทุ่งนุ้ย จ.สตูล เพื่อเป็นแหล่งน้ำรองรับนิคมอุตสาหกรรม

ตัวแทนสมัชชาคนสตูลยังตั้งคำถามให้ขบคิดด้วยว่า “จะใช้อะไรเป็นหลักประกันว่า สร้างท่าเรือปากบาราแล้ว สตูลจะไม่เป็นเหมือนมาบตาพุด” ในเมื่อท่าเรือน้ำลึกปากบาราเป็นเรื่องของทุนนิยมข้ามชาติที่จะเข้ามาหาผลประโยชน์เกี่ยวกับน้ำมันในประเทศไทย และตอนนี้ก็มีการสำรวจแล้วว่าสตูลเองก็มีแหล่งน้ำมันอยู่ในทะเล

เรื่องโครงการพัฒนา จ.สตูล ไม่ใช่เรื่องของผู้ว่าฯ ส.ส. หรือนายก อบจ. เพียงคนเดียว แต่เป็นเรื่องที่สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ ได้จัดวางไว้แล้วอย่างเป็นระบบ ว่าจะเล็งสร้างอะไรที่พื้นที่ไหนบ้าง และเนื่องจากที่มาบตาพุดไม่สามารถขยายพื้นที่อุตสาหกรรมปิโตรเคมีต่อได้แล้ว ใครก็ตามที่เป็นรัฐบาลก็ต้องสรรหาสถานที่สำหรับสร้างนิคมอุตสาหกรรม ซึ่งวันนี้ สตูล และสงขลาก็ถูกเลือกให้เป็นพื้นที่นั้น และถ้ามีท่าเรือน้ำลึกจริง สิ่งที่ได้จะคุ้มเสียหรือไม่
นายสมขาย ตันติ์ศรีสกุล กรรมการหอการค้าไทยและอดีตประธานหอการค้าจังหวัดสตูล
 
ด้านนายสมชาย ตันติศรีสกุล กรรมการหอการค้า และอดีตประธานหอการค้าจังหวัดสตูล กล่าวว่า ทิศทางการพัฒนาที่จะเกิดขึ้นจะต้องคำนึงถึงผลประโยชน์ในภาพรวม ไม่ใช่เจาะจงเฉพาะจุดเล็กจุดใดจุดหนึ่ง ประกอบกับปัจจุบันสังคมเปลี่ยนไปมาก วิถีชีวิตของประชาชนก็ต้องปรับเปลี่ยนตามไปด้วย เราไม่ได้อยู่สตูล และทำโครงการเพื่อชาวสตูล แต่มองกว้างไปถึงกลุ่มประเทศอาเซียน ซึ่งไทยจะเข้าร่วมประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ด้วย

“ผมเป็นคนหนึ่งที่ต่อต้านอุตสาหกรรมปิโตรเคมี แต่สนับสนุนให้เกิดท่าเรือน้ำลึกปากบารา ต้องทำความเข้าใจว่า ท่าเรือน้ำลึกปากบารานั้นจะเกิดขึ้นเพื่อขนส่งสินค้า ท่าเรือน้ำลึกปากบาราจะไม่สร้างก็ได้ แต่จะพัฒนาคนในพื้นที่อย่างไร ถ้ามีท่าเรือน้ำลึกปากบาราเกิดขึ้น ผมวางกรอบไว้ว่า ต้องส่งลูกหลานของคนปากบาราไปเรียนเรื่องการท่าเรือ ให้เรียนฟรีด้วย มีโรงพยาบาล มีโรงเรียน รายได้ส่วนหนึ่งต้องกลับเข้าสู่ท้องถิ่น คนในพื้นที่ต้องได้ทำงานเกี่ยวกับท่าเรือน้ำลึกปากบาราประมาณ 80%” อดีตประธานหอการค้าจังหวัดสตูล กล่าวถึงกรอบความคิดขายฝัน
นายวิโชคศักดิ์ รณรงค์ไพรี ตัวแทนเครือข่ายประชาชนติดตามแผนพัฒนาจังหวัดสตูล
 
ปิดท้ายอภิปรายรอบแรก ด้วยนายวิโชคศักดิ์ รณรงค์ไพรี ตัวแทนประชาชนติดตามแผนพัฒนา จ.สตูล ซึ่งกล่าวว่า สำหรับคำถามว่าสตูลจะพัฒนาไปในทิศทางไหน นายก อบจ.สตูล และผู้ว่าราชการจังหวัดสตูล พูดตรงกันว่าต้องสนับสนุนการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ ขณะเดียวกัน ส.ส.ก็เป็นห่วงเรื่องการศึกษา ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าส่งเสริม และตนคิดว่าเหมาะสมกับศักยภาพของ จ.สตูล เช่นกัน

ส่วนท่าเรือน้ำลึกปากบารา ในเอกสาร พ.รบ.เงินกู้ 2.2 ล้านล้านบาท มีเอกสารแนบท้ายบัญชี พ.ร.บ. ระบุว่า มีการจัดสรรเงินจำนวนหนึ่งมาสร้างรถไฟรางคู่เชื่อมสตูล-สงขลา สถานีต้นทางที่ จ.สตูล อยู่กลางทะเล ห่างจากชายฝั่ง 4 กม. โดยระเบิดภูเขามาถมทะเลให้กลายเป็นแผ่นดินยื่นลงไป

ทั้งนี้ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ พูดในสมัยที่เป็นนายกรัฐมนตรี ว่า พี่น้องในพื้นที่ต้องตัดสินใจร่วมกับรัฐบาลว่าจะให้มีอุตสาหกรรมเกิดขึ้นในพื้นที่หรือไม่ ถ้ามีจะกระทบด้านการท่องเที่ยวหรือไม่ เนื่องจากหากมีท่าเรือเพียงอย่างเดียวจะไม่คุ้มค่าทางเศรษฐกิจ ซึ่งสอดคล้องกับที่ผู้บริหารธุรกิจเดินเรือรายใหญ่ระบุว่า ท่าเรือปากบาราไม่คุ้มค่าที่จะสร้าง และไม่คุ้มค่าแก่การขนส่งสินค้า เพราะการขนส่งซับซ้อน เนื่องจากต้องจ้างเรือขนส่งสินค้ามาถึงท่า ยกสินค้าจากเรือมาขึ้นบก จ่ายค่ารถไฟขนสินค้าจากสตูลไปสงขลา และยกสินค้าจากรถไฟไปลงเรืออีกรอบ

“ผังเมืองสตูลถูกแต้มสีม่วง และวางระบบทุกอย่างไว้หมดแล้ว เปลี่ยนผังเมืองเป็นสีม่วงแล้ว แต่มาบอกชาวบ้านว่าให้ใจเย็นๆ เขายังไม่สร้างตอนนี้ ที่บ้านปากบาง อ.ละงู ถูกกำหนดให้เป็นคลังน้ำมันของ จ.สตูล”

 
ก่อนหมดเวลาอภิปรายรอบแรก นายวิโชคศักดิ์ เสนอประเด็นให้ขบคิดไว้อย่างน่าสนใจว่า ถ้าไม่สร้างท่าเรือน้ำลึกปากบาราแล้วจะนำเงินในจำนวนเท่ากันไป “พัฒนา จ.สตูล” อย่างไรได้บ้าง โดยเสนอว่า แหล่งหินที่เก่าแก่ที่สุดในเอเชียอาคเนย์อยู่ที่สตูล เงินที่จะเอามาสร้างท่าเรือน้ำลึกปากบารา ก็จะแบ่งไปให้นายสัมฤทธิ์ เลียงประสิทธิ์ นายก อบจ.สตูล นำไปสนับสนุนส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ เอาไปสนับสนุนการเกษตรอย่างยั่งยืน และแบ่งไปสนับสนุนด้านการศึกษาอย่างที่ ส.ส.ธานินทร์ อยากให้สตูลเป็นเมืองแห่งการศึกษา ไม่ดีกว่าหรือ?

 
ขณะเดียวกัน ผู้เข้าร่วมงานก็เสนอความคิดเห็นว่า อยากฝากให้ดูแลเรื่องปากท้องพี่น้อง ราคายาง ราคาปล์ม ให้ ส.ส.ได้พูดในสภาอันทรงเกียรติว่ารัฐบาลจะแก้ปัญหาอย่างไร และสำหรับผู้ว่าราชการจังหวัดนั้น ก็อยากให้ผู้ว่าฯ กลับมาทบทวนว่าท่านอยากทำอะไรเพื่อ จ.สตูล บ้าง ไม่ต้องพูดถึงอีก 100 ปี แต่ให้ตระหนักว่าพรุ่งนี้คนสตูลจะได้อะไรบ้าง ทั้งนี้ การท่องเที่ยวกับการพัฒนานั้น ควรจะบูรณาการให้ไปด้วยกันได้

ส่วนตัวแทนชาวบ้านจาก ต.นาทอน อ.ทุ่งหว้า จ.สตูล กล่าวว่า งานในวันนี้เป็นเรื่องดีที่พี่น้องประชาชนมีโอกาสมาแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับวิถีชีวิต และกำหนดทิศทางการพัฒนาพื้นที่ของตนเอง แต่ขอตั้งคำถามเมกะโปรเจกต์ที่จะเกิดขึ้นนี้เป็นการฉีกวิสัยทัศน์ของจังหวัดหรือไม่ วิสัยทัศน์ของจังหวัดสะท้อนมาจากการที่พี่น้องในพื้นที่ต้องการให้คงไว้ซึ่งระบบนิเวศ และการท่องเที่ยวเชิงสิ่งแวดล้อม พื้นที่ 150,000 ไร่ ครอบคลุมพื้นที่กว้างเหลือเกิน ถ้าเกิดขึ้นจริงๆ แล้ว พี่น้องปากบาราจะอยู่อย่างไร จึงอยากให้ถามกลับไปที่สภาพัฒน์ ว่าให้พี่น้องในพื้นที่กำหนดอนาคตของตัวเองได้หรือไม่ ไม่ใช่เขาโยนอะไรให้ก็ต้องรับหมด วิธีการที่ยอมรับส่วนหนึ่ง และไม่ยอมรับอีกส่วนหนึ่งของเมะโปรเจกต์ทำได้หรือไม่ การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพียงอย่างเดียวอาจจะได้เม็ดเงินเข้ามามากมาย แต่ถ้ามันต้องทำให้ประชาชนลำบาก ทั้งเรื่องสุขภาพ และสิ่งอยู่อาศัย จะคุ้มค่าหรือไม่ คนที่ได้ประโยชน์วันหนึ่งก็จะจากสตูลไป แต่ความทุกข์จะอยู่กับคนในพื้นที่ตลอด อยากฝากให้คิดเรื่องนี้ด้วย
นางเจ๊ะนะ รัตนพันธ์ ชาวบ้านในพื้นที่
 
ด้านนางเจ๊ะนะ รัตนพันธ์ ตัวแทนชาวบ้าน ต.ปากน้ำ อ.ละงู ชูรัฐธรรมนูญและกล่าวว่า ในรัฐธรรมมาตรา 67 วรรค 2 ให้สิทธิชุมชนในการมีส่วนร่วมตัดสินใจเกี่ยวกับโครงการต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นในพื้นที่ของตนเอง ที่ตนต้องศึกษาข้อมูล และออกมาพูดเพราะท่าเรือน้ำลึกจะตั้งอยู่หน้าบ้าน รถไฟรางคู่จะตัดผ่านบ้าน ที่อยู่อาศัยจะต้องถูกบุกรุก จึงต้องใช้สิทธิของประชาชนตามที่ระบุไว้ในรัฐธรรมนูญ
รศ.ดร.เรณู เวชรัชต์พิมล
 
นอกจากนี้ รศ.ดร.เรณู เวชรัชต์พิมล อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร กล่าวว่า ตนในฐานะนักท่องเที่ยวต้องพูดว่ามีส่วนได้ส่วนเสียจากท่าเรือน้ำลึกปากบาราโดยตรง เนื่องจากการก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกปากบาราจะต้องมีคำสั่งให้เพิกถอนพื้นที่อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะเภตรา เพื่อดำเนินการก่อสร้างสิ่งต่างๆ ทั้งนี้ อุทยานแห่งชาติเป็นพื้นที่ที่ประกาศขึ้นให้เป็นของประชาชนทุกคนไม่ใช่แค่คนจังหวัดใดจังหวัดหนึ่ง และสำหรับในประเทศไทยนั้นโอกาสที่จะการประกาศพื้นที่อุทยานแห่งชาติเพิ่มเป็นไปได้ยากมาก

“ถ้าจะสร้างท่าเทียบเรือปากบาราไม่ต้องไปดูงานที่ไหน ให้ไปดูงานที่มาบตาพุด ตอนแรกที่มาบตาพุดก็สัญญาว่าจะไม่สร้างอะไรเพิ่ม แต่สัญญาที่ให้ไว้กับชาวบ้านไม่เคยมีผลทางกฎหมาย ท่านที่อยู่บนเวทีมีใครกล้ารับประกันบ้างว่าสตูลจะไม่กลายเป็นเหมือนมาบตาพุด ซึ่งมีมลพิษมากมาย ทั้งทางน้ำ ทางอากาศ และเกิดผลเสียต่อสุขภาพของคนในพื้นที่” รศ.ดร.เรณู กล่าว

 
ปิดท้ายการอภิปราย นายสมบูรณ์ คำแหง ตัวแทนสมัชชาคนสตูล กล่าวสรุปว่า “วันนี้เราควรเอาข้อเท็จจริงทั้งหมดมาเปิดข้อมูลให้ชาวบ้านรับรู้ทั้งหมด ซึ่งเอกสารที่มีอยู่ในวันนี้ล้วนชี้ชัดไปว่าจะเกิดผลเสีย ถ้ามีท่าเรือน้ำลึกแล้วไม่มีนิคมอุตสาหกรรมกับปิโตรเคมี ฟันธงได้ว่าไม่มีท่าเรือ เพราะท่าเรือสร้างมาเพื่อรองรับสิ่งเหล่านั้น สตูลมีสวนยางพารา มีนาข้าว มีสวนผลไม้ มีการท่องเที่ยว สตูลอยู่ได้ ทรัพยากรอยู่ได้ชั่วลูกชั่วหลาน เราควรพัฒนาศักยภาพที่มีอยู่แล้วให้ดียิ่งๆ ขึ้นไป ถ้าชาวบ้านบอกว่าจะเอาท่าเรือน้ำลึก ทุกคนต้องมีข้อมูลที่ชัดเจนก่อน”

“EHIA ที่หลายฝ่ายบอกว่า เดี๋ยวเราจะมาศึกษากันต่อ หลายคนคิดว่าอีกหลายปีจะเกิด แต่จริงๆ มันจ่อจะเกิดอยู่แล้ว เขาเตรียมกู้เงินกันแล้ว ที่จะนะโดนมาแล้ว ที่มาบตาพุดก็โดนแบบนี้” นายวิโชคศักดิ์ ตัวแทนเครือข่ายประชาชนติดตามแผนพัฒนา จ.สตูล กล่าวสรุป

 
ด้าน ส.ส.ธานินทร์ ใจสมุทร ก็กล่าวยืนยันเสียงแข็งว่าเห็นด้วยกับโครงการก่อสร้างท่าเทียบเรือน้ำลึกปากบาราเต็มที่ โดยระบุว่า ตนเห็นด้วยอย่างยิ่งว่าทุกอย่างเราต้องรู้ข้อมูลก่อน อะไรที่มีผลกระทบก็ต้องว่ากันไป “ผมเป็น ส.ส.ของรัฐบาล ก็ต้องยกมือเห็นชอบกับโครงการต่างๆ ของรัฐบาล” ซึ่งประโยคดังกล่าวนี้สร้างความฮือฮอาจากผู้เข้าร่วมจำนวนมาก มีเสียงตะโกนสวนว่า ส.ส.เป็นตัวแทนของประชาชน จึงต้องทำหน้าที่เพื่อประชาชน้องฟังเสียงประชาชน ไม่ใช่ไปรับใช้รัฐบาล และเป็นที่มาของการชูป้ายประท้วงของผู้เข้าร่วมงาน โดยเขียนข้อความว่า “ส.ส. ต้องเป็นตัวแทนประชาชน” ซึ่งเรียกเสียงปรบมือจากผู้เข้าร่วมงานได้อย่างเกียวกราวลั่นห้อง โดยเฉพาะช่วงช่าวบ้านที่ถือป้ายไปมอบให้นายธานินทร์ถึงบนเวที
นายเหนือชาย จิระอภิรักษ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดสตูล
 
สุดท้าย นายเหนือชาย จิระอภิรักษ์ พ่อเมืองสตูล ในฐานะผู้เปิดเวทีให้มีการแลกเปลี่ยนข้อมูล กล่าวว่า ในฐานะผู้ว่าราชการจังหวัดต้องนั่งตรงกลาง นี่คือหน้าที่ของผู้ว่าฯ ผู้ว่าฯ ต้องนำนโยบายจากส่วนกลางมาปรับใช้ให้เหมาะกับกับบริบทของพื้นที่ ซึ่งวันนี้ตนรู้สึกดีใจที่เห็นบรรยากาศแบบนี้ รอบหน้าจะจัดเฉพาะเรื่องท่าเรือน้ำลึกล้วนๆ เชิญทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมา ทั้งกรมเจ้าท่า อุตสาหกรรมจังหวัด สภาพัฒน์ ชาวบ้านในพื้นที่ และคนทั้ง จ.สตูล มาพูดคุยกัน ท่าเรือมาจากกรมเจ้าท่า กรมเจ้าท่าต้องลงมาชี้แจงข้อมูลให้ชัด เรื่องเขื่อนก็เช่นเดียวกัน กรมชลประทานรับผิดชอบ ก็เชิญชลประทานมาชี้แจง ให้พี่น้องที่ได้รับผลกระทบสะท้อนว่าเกิดปัญหาอะไรบ้าง ซึ่งเวทีในลักษณะนี้จะต้องมีขึ้นอีก และจะแจ้งให้ผู้ที่เกี่ยวข้องทราบว่าจะจัดขึ้นเมื่อไหร่
 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น