xs
xsm
sm
md
lg

จากท่อก๊าซไทยมาเลย์-ท่าเรือน้ำลึกปากบารา ฤารัฐไทยจะผลิตซ้ำ “ทหาร+ตำรวจ-ชาวบ้าน”?

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


 
โดย...ปรัชญเกียรติ ว่าโร๊ะ สถาบันพัฒนานักข่าวภาคใต้
 
19 มีนาฯ ครม.มีมติเห็นชอบร่าง พ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้าน 21 มีนาฯ ม็อบท่าเรือน้ำลึกปากบารายื่นหน้งสือถึงนายกฯ ผ่านผู้ว่าฯ สตูลคัดค้าน ประกาศชุมนุมที่ละงู 27 มีนาฯ ก่อนร่าง พ.ร.บ.เข้าสภาฯ 22 มีนาฯ ตำรวจตบเท้าฝึกควบคุมฝูงชนเสมือนมีนัย ทว่า ผู้กำกับการสตูลแจงแค่ฝึกซ้อมทบทวนปกติ แกนนำย้ำชุมนุมตามสิทธิรัฐธรรมนูญ
 
19 มีนาคม 2556 คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติ  (พ.ร.บ.) ให้อำนาจกระทรวงการคลังเพื่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของประเทศ พ.ศ. ... (พ.ร.บ.กู้เงินฯ) ซึ่งกำหนดกรอบการกู้เงิน 2 ล้านล้านบาท กรอบยุทธศาสตร์การเบิกใช้เงิน พร้อมทั้งหลักเกณฑ์การชำระหนี้ให้หมดสิ้นภายใน 50 ปี
 
บัญชีท้ายร่างพระราชบัญญัติฯ ระบุถึงยุทธศาสตร์ปรับเปลี่ยนรูปแบบการขนส่งสินค้าทางถนนสู่การขนส่งที่มีต้นทุนต่ำกว่า วงเงิน 354,560.73 ล้านบาท แผนงานพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อสนับสนุนการขนส่งสินค้าทางลำน้ำ และชายฝั่ง เพื่อประโยชน์แก่การขนส่งสินค้าทั้งภายใน และระหว่างประเทศ
 
ในแผนงานดังกล่าว ระบุถึงโครงการสะพานเศรษฐกิจ (แลนด์บริดจ์) สงขลา-สตูล อันประกอบด้วย 3 โครงการย่อย คือ ท่าเรือน้ำลึกปากบารา ตำบลปากน้ำ อำเภอละงู จังหวัดสตูล ระยะที่ 1 วงเงิน 11,786.76 ล้านบาท ท่าเรือน้ำลึกสงขลา 2 ตำบลนาทับ อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา วงเงิน 3613.87 ล้านบาท ซึ่งกรมเจ้าท่า กระทรวงคมนาคม รับผิดชอบดำเนินการ และโครงการก่อสร้างก่อสร้างทางรถไฟเชื่อมระหว่างท่าเรือน้ำลึกสงขลา 2 กับท่าเรือน้ำลึกปากบารา ระยะที่ 1 วงเงิน 46,963.27 ล้านบาท ซึ่งสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร กระทรวงคมนาคม (สนข.) และการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) เป็นหน่วยงานดำเนินการ
 
โดยร่างพระราชบัญญัติให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของประเทศ พ.ศ. ... (พ.ร.บ.กู้เงินฯ) จะนำเข้าสู่การประชุมนัดพิเศษของสภาผู้แทนผู้แทนราษฎร ในวันที่ 28 มีนาคม 2556 เพื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัติฯ ตามที่คณะรัฐมนตรีเสนอ
 


 
21 มีนาคม 2556   ที่ศาลากลางจังหวัดสตูล ชาวบ้านในครือข่ายประชาชนติดตามแผนพัฒนาจังหวัดสตูล จากอำเภอละงู จังหวัดสตูล รวมถึงชาวบ้านจากอำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา ประมาณ 50 คน ได้ยื่นหนังสือคัดค้านโครงการสะพานเศรษฐกิจ (แลนด์บริดจ์) สงขลา-สตูล ในร่างพระราชบัญญัติให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่งของประเทศ พ.ศ. ...  ถึง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ผ่านนายเหนือชาย จิระอภิรักษ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดสตูล
 
หลังจากนั้น ได้เปิดแถลงข่าวถึงแนวทางเคลื่อนไหวว่า วันที่ 27 มีนาคม 2556 เครือข่ายภาคประชาชนภาคใต้ จะประชุมหารือกำหนดแนวทางการเคลื่อนไหวกรณีที่เมกะโปรเจกต์ในภาคใต้ถูกบรรจุในร่างพระราชบัญญัติให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่งของประเทศ พ.ศ. ... จำนวน 2 ล้านล้านบาทของรัฐบาล ที่จังหวัดสงขลา ขณะที่ในวันเดียวกันนั้น จะมีการเคลื่อนไหวในอำเภอละงู จังหวัดสตูล เพื่อต้องการส่งสัญญาณถึงรัฐบาลก่อนมีการนำร่างพระราชบัญญัติฯ เข้าสู่สภาผู้แทนราษฎร ในวันที่ 28 มีนาคม 2556
 
ปลายเดือนเมษายน 2556 นี้ จะมีการระดมพลเครือข่ายภาคประชาชนในจังหวัดสตูล และภาคใต้ เพื่อชุมนุมใหญ่คัดค้านแลนด์บริดจ์สงขลา-สตูล กันที่จังหวัดสตูล
 
ที่มาภาพ: Songtai News เว็บไซต์สำนักข่าวท้องถิ่น ‘ส่องใต้(สตูล)’
ที่มาภาพ: Songtai News เว็บไซต์สำนักข่าวท้องถิ่น ‘ส่องใต้(สตูล)’
ที่มาภาพ: Songtai News เว็บไซต์สำนักข่าวท้องถิ่น ‘ส่องใต้(สตูล)’
 
22 มีนาคม 2556 เวลา 19.51 น. มีข่าวพาดหัว ‘ตร.ต้านม็อบท่าเรือฯ หนึ่งในแผนควบคุมเหตุชุมนุม’ โดยมีคำโปรยว่า ‘ตำรวจชุดปราบจลาจลต้านม็อบท่าเรือฯ หนึ่งในแผนควบคุมเหตุชุมนุม’ ปรากฏที่เว็บไซต์สำนักข่าวท้องถิ่น ‘ส่องใต้ (สตูล)’
 
ต่อมา เวลา 22:44 น. ที่เว็บไซต์สำนักข่าวผู้จัดการ มีพาดหัวข่าว ‘ตร.สตูล งัด “ชุดปราบจลาจลต้านม็อบท่าเรือปากบารา” แสดงศักยภาพคุมเหตุ’ ตามด้วยคำโปรย ‘ตร.สตูล จำลองเหตุการณ์สลายกลุ่มผู้ชุมนุมคัดค้านโครงการก่อสร้างท่าเทียบเรือน้ำลึกปากบารา ซึ่งเป็นประเด็นร้อนของจังหวัด โดยใช้ยุทธวิธีจากเบาไปหาหนัก ด้าน ผบก.ภ.จว.สตูล เผยเตรียมส่งเข้าประกวดในระดับภาค 9 เพื่อแสดงถึงความจริงจังในทุกขั้นตอนของการใช้ยุทธวิธี’
 
หากมองจากลำดับปรากฏการณ์เหมือนมีนัยเพื่อส่งสัญญาณอะไรบางอย่างแก่ม็อบท่าเรือน้ำลึกปากบาราที่กำลังคุกรุ่นด้วยการตกอยู่ภายใต้แรงบีบจากพระราชบัญญัติเงินกู้ 2 ล้านล้านบาท อีกทั้งข่าวทั้ง 2 ข่าว ระบุว่า จำลองสถานการณ์ปะทะกับม็อบท่าเรือน้ำลึกปากบาราที่มีพฤติกรรมแข็งกร้าว โดยการนำถุงน้ำแดง และสิ่งของขว้างปาใส่เจ้าหน้าที่ที่เข้าควบคุมเหตุ ก่อนที่จะมีการปะทะกัน โดยเจ้าหน้าที่ชุดปราบจลาจลได้ใช้โล่มาเป็นกำบัง จากนั้นเพิ่มความเข้มข้นโดยการใช้น้ำฉีดควบคุมเหตุ และแก๊สน้ำตา ซึ่งเป็นยุทธวิธีจากเบาไปหาหนักในการสลายม็อบที่มีพฤติกรรมรุนแรงขึ้น
 
ภาพจึงออกมาในบริบทการเขียนเสือให้วัวกลัว เพื่อแสดงว่า กองกำลังพร้อมแล้วที่จะรับมือกับม็อบ จนเป็นกระแสของคนที่สนใจด้านสิทธิชุมชน สิทธิมนุษยชน ในโลกสังคมออนไลน์ (เฟซบุ๊ก) วิพากษ์วิจารณ์ตำรวจในด้านลบ
 
ขณะที่ก่อนหน้านั้น เมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2556  ‘ตร.ใต้ตบเท้าฝึกทบทวนการควบคุมฝูงชน’ พาดหัวข่าวของเว็บไซต์สำนักข่าวท้องถิ่น ‘ส่องใต้ (สตูล)’ ระบุว่า ตำรวจภูธรภาค 9 เรียกกำลังพลจากตำรวจภูธรจังหวัด สงขลา สตูล พัทลุง ตรัง รวม 4 กองร้อย เข้าร่วมกันฝึกควบคุมฝูงชนปราบจลาจลที่สนามสระบัว ตำรวจภูธรจังหวัดสงขลา เพื่อซักซ้อมกำลังพลให้อยู่ในความพร้อมตลอดเวลา หากจะต้องมีการเผชิญเหตุ หรืออยู่ในสถานการณ์ที่บ้านเมืองกำลังวุ่นวาย หรือสงบ กำลังชุดควบคุมฝูงชนจะต้องพร้อม ณ ที่ตั้ง ทั้งบุคลากร และอาวุธ หลังมีการฝึกควบคุมฝูงชนรวมกันจะให้ตำรวจภูธรชุดปราบจลาจล และควบคุมฝูงชนแต่ละจังหวัดกลับมาฝึกฝน และทบทวนการเผชิญเหตุ โดยการจำลองเหตุการณ์ขึ้นในจังหวัดของตนอีกครั้ง
 
“เป็นแค่แผนการฝึกซ้อมการปราบจลาจลที่มีการฝึกกันทุกจังหวัดทั่วประเทศ ตามโครงการฝึกอบรมทบทวนกองร้อยควบคุมฝูงชนของ พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ”
 
พล.ต.ต.สมควร คัมภีระ ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดสตูล ซึ่งเป็นประธานในการฝึกซ้อมชุดปราบจลาจล 1 กองร้อย จำนวน 200 นาย ระหว่างวันที่ 21-22 มีนาคม 2556 ที่วิทยาลัยการเกษตรและเทคโนโลยีจังหวัดสตูล ชี้แจง
 
พล.ต.ต.สมควร อธิบายว่า เมื่อมีโครงการฝึกอบรมทบทวนกองร้อยควบคุมฝูงชนทุกจังหวัดทั่วประเทศ  ต่อมา จึงได้เกิดแนวคิดการแข่งขันในโครงการผู้บังคับการตำรวจเข้มแข็ง ซึ่งจังหวัดสตูลส่งเข้าประกวดในระดับภาค 9 ด้วย ส่วนการฝึกซ้อมชุดปราบจลาจลนั้น ได้ฝึกตามกระบวนการ และขั้นตอนปกติ สำหรับการฝึกซ้อมชุดปราบจลาจลนั้น ตำรวจทุกจังหวัดมีการฝึกทบทวนปีหนึ่ง 2-3 ครั้ง ฝึกให้ตำรวจมีความเข้มแข็ง มีความเป็นมืออาชีพ อำนวยความเป็นธรรมให้แก่ประชาชนเพื่อให้ประชาชนรัก
 
“การควบคุมฝูงชนเป็นหน้าที่ของตำรวจเพื่อไม่ให้เกิดความวุ่นวาย เดือดร้อนผู้อื่น เช่นการปิดตายถนนตำรวจก็ต้องเข้าไปเจรจาให้เปิดทาง ชาวบ้านมีสิทธิชุมนุมโดยสงบได้ตามสิทธิแห่งรัฐธรรมนูญ ตำรวจใช่จะไล่ทุบตีชาวบ้านโดยไม่มีเหตุผล ตำรวจปฏิบัติหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญ แต่หากเกิดความวุ่นวายขึ้นมาเป็นธรรมดาในการระดมกำลังตำรวจจากจังหวัดใกล้เคียงมาปฏิบัติหน้าที่ในการควบคุมม็อบ อย่างตอนกรณีท่อก๊าซไทย-มาเลย์ ตำรวจสตูลก็ไปช่วย”
 
พล.ต.ต.สมควร บอกถึงหลักการในการปฏิบัติหน้าที่ของตำรวจ พร้อมทิ้งท้ายว่า ถ้าหากมีเวลาอยากจะคุยกับกลุ่มคัดค้านท่าเรือน้ำลึกปากบาราว่า ประท้วงไม่ให้สร้างกันด้วยเหตุผลอะไร เดือดร้อนอย่างไร อะไรคือปัญหา
 
ขณะที่ นายวิโชคศักดิ์ รณรงค์ไพรี คณะทำงานเครือข่ายประชาชนติดตามแผนพัฒนาจังหวัดสตูล ซึ่งมีภูมิลำเนาอยู่ในอำเภอทุ่งหว้า จังหวัดสตูล หนึ่งในแกนนำคัดค้านท่าเรือน้ำลึกปากบารา ในโครงการแลนด์บริดจ์สงขลา-สตูล ได้ชื่นชมการเตรียมความพร้อมของตำรวจจังหวัดสตูล ในการฝึกอบรมทบทวนกองร้อยควบคุมฝูงชน เพื่อส่งเข้าประกวดในโครงการผู้บังคับการตำรวจเข้มแข็ง ในระดับภาค 9 ซึ่งเป็นการฝึกซ้อมตามปกติของตำรวจสตูล และไม่ได้กังวลตำรวจชุดปราบจลาจลเนื่องจากการคัดค้านท่าเรือน้ำลึกปากบารา และโครงการที่เกี่ยวข้องยืนตามหลักสิทธิตามรัฐธรรมนูญ
 
นายวิโชคศักดิ์ ค่อนข้างกังวลถึงข่าว ‘ตำรวจสตูลงัดชุดปราบจลาจลต้านม็อบท่าเรือปากบาราแสดงศักยภาพคุมเหตุ’ ว่า อาจมีผู้สนับสนุนท่าเรือน้ำลึกปากบาราหยิบนำเอากระแสข่าวไปเสี้ยมให้ชาวบ้านเคียดแค้นตำรวจเพื่อให้เกิดการปะทะ ซึ่งอาจนำไปสู่เหตุการณ์บานปลาย รวมถึงการนำข่าวไปจับแพะชนแกะแอบอ้างเพื่อให้ชาวบ้านเข้าใจว่า ท่าเรือน้ำลึกปากบาราได้รับการอนุมัติจากคณะรัฐมนตรีให้ก่อสร้างได้แล้ว ทั้งที่โครงการฯ ต้องเริ่มนับหนึ่งใหม่ตั้งแต่ขั้นตอนแรกในการศึกษารายงานการวิเคราะห์ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม สังคม และสุขภาพ (EHIA)
 
“เป็นผลจากพลังชาวบ้านที่เข้มแข็ง ทำให้เมื่อวันที่ 20 กันยายน 2555 สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) ได้มีหนังสือถึงเครือข่ายประชาชนติดตามแผนพัฒนาจังหวัดสตูล และกรมเจ้าท่า เรื่องขอให้ยกเลิกรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) โครงการท่าเรือน้ำลึกปากบารา และให้ดำเนินการตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย 2550 มาตรา 67 วรรค 2 เนื่องจากเข้าข่าย 1 ใน 11 โครงการที่ส่งผลกระทบรุนแรง หากกรมเจ้าท่าจะดำเนินการโครงการท่าเรือน้ำลึกปากบาราต่อ จะต้องทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม และสุขภาพ (EHIA)”
 
นายวิโชคศักดิ์ บอกถึงขั้นตอน กระบวนการของท่าเรือน้ำลึกปากบาราที่ต้องเริ่มต้นนับหนึ่งใหม่ อีกทั้งกระบวนการเพิกถอนพื้นที่อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะเภตรา 4,734 กว่าไร่ เพื่อสร้างท่าเรือน้ำลึกปากบารา ซึ่งยังไม่ได้รับอนุญาตจากกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
 
ด้วยเหตุนี้ นายวิโชคศักดิ์ และชาวบ้านจึงกังวลว่า โครงการสะพานเศรษฐกิจ (แลนด์บริดจ์) สงขลา-สตูล ที่เป็นส่วนหนึ่งของร่างพระราชบัญญัติให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่งของประเทศ พ.ศ. ...  (พ.ร.บ.เงินกู้ 2 ล้านล้านบาท) ละเมิดรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 ทั้งการว่าด้วยสิทธิชุมชน ตามมาตรา 66 และ 67 วรรค 2 รวมถึงกระบวนการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน เพราะพระราชบัญญัติเงินกู้ 2 ล้านล้านบาท มีลักษณะอนุมัติเงินล่วงหน้า และชี้นำการศึกษารายงานการวิเคราะห์ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม และสุขภาพ (EHIA) อีกทั้งเป็นการบีบกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช เพิกถอนพื้นที่อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะเภตรา 4,734 กว่าไร่ เพื่อสร้างท่าเรือน้ำลึกปากบารา
 
ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 2553 ชาวบ้านในเครือข่ายประชาชนติดตามแผนพัฒนาจังหวัดสตูล ชมรมประมงพื้นบ้านจังหวัดสตูล ประมาณ 500 คน เดินทางไปยื่นหนังสือคัดค้านการก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกปากบารา และโครงการต่อเนื่อง ถึงนายอภิสิทธิ์ เวชอาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี ผ่านนายสุเมธ ชัยเลิศวณิชกุล อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดสตูล ต่อมา ได้มีการเคลื่อนไหวอย่างต่อเนื่อง
 





 
28 มีนาคม 2556 สภาผู้แทนผู้แทนราษฎร ประชุมนัดพิเศษเพื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัติให้อำนาจกระทรวงการคลังเพื่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของประเทศ พ.ศ. ... (พ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้านบาท) ตามที่คณะรัฐมนตรีเสนอ
 
27 มีนาคม 2556 ที่อำเภอละงู จังหวัดสตูล จะมีการเคลื่อนไหวเพื่อต้องการส่งสัญญาณถึงรัฐบาลสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ก่อนมีการนำร่างพระราชบัญญัติฯ เข้าสู่สภาผู้แทนราษฎร 1 วัน
 
ปลายเดือนเมษายน 2556 นี้ จะมีการระดมพลเครือข่ายภาคประชาชนในจังหวัดสตูล และภาคใต้ เพื่อชุมนุมใหญ่คัดค้านแลนด์บริดจ์สงขลา-สตูล กันที่จังหวัดสตูล
 
 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น