xs
xsm
sm
md
lg

ผอ.เขตพื้นที่ฯ แจงโรงเรียนในสังกัดทรุดโทรม ต้องทำเรื่องขอซ่อมตามขั้นตอน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายสุเทพ มโนภักดี
 
ยะลา - รักษาการ ผอ.สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษายะลาเขต 2 ชี้แจงกรณีอาคารเรียนของโรงเรียนนิคมสร้างตนเองพัฒนาภาคใต้ 1 ทรุดโทรม ทางโรงเรียนต้องทำเรื่องร้องขอการซ่อมแซมตามขั้นตอน เตรียมลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริง
 
จากกรณีที่ได้มีการนำเสนอข่าวพบอาคารเรียนของโรงเรียนนิคมสร้างตนเองพัฒนาภาคใต้ 1 ซึ่งตั้งอยู่ที่บ้านตลาดนิคม ม.6 ต.ตลิ่งชัน อ.บันนังสตา จ.ยะลา มีสภาพอาคารเรียนที่เก่าแก่ ทรุดโทรม และครูเกรงว่าจะพังถล่มใส่นักเรียนขณะทำการเรียนการสอน ตามที่ได้มีการนำเสนอข่าวไปแล้วนั้น
 
ล่าสุด วันนี้ (5 มิ.ย.) ผู้สื่อข่าวได้เดินทางไปยังสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษายะลา เขต 2 เพื่อสอบถามข้อเท็จจริง และการให้ความช่วยเหลือแก่โรงเรียนดังกล่าว ซึ่งนายสุเทพ มโนภักดี รักษาราชการแทนผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาและประถมศึกษาเขต 2 ได้เปิดเผยว่า จากกรณีดังกล่าวในเบื้องต้นต้องชี้แจงให้ทราบว่า โดยปกติจะมีงบในการซ่อมแซมอาคารเรียน โดยจะให้ทางโรงเรียนที่ต้องการจะซ่อมแซมทำเรื่องตามขั้นตอนส่งมายังสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาในสังกัดในแต่ละปีงบประมาณ ซึ่งจะมีคณะกรรมการเขตพื้นที่การศึกษาเข้ามาหารือ และร่วมกันพิจารณาเป็นรายๆ
 
นายสุเทพ กล่าวว่า ทางสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาและประถมศึกษายะลา เขต 2 มีโรงเรียนในสังกัดทั้งสิ้น 68 แห่ง ที่จะต้องดูแล และจัดสรรงบประมาณการซ่อมแซม ซ่อมบำรุงสถานศึกษาในแต่ละปี จำนวน 1,200,000 บาท และงบสร้างอาคารเรียนประมาณ 5 ล้านบาท ซึ่งในส่วนของงบซ่อมแซมนั้นจะดูแลโรงเรียนที่มีปัญหามีความเร่งด่วนในการซ่อมแซม
 
“สำหรับโรงเรียนนิคมสร้างตนเองพัฒนาภาคใต้ 1 ซึ่งอยู่ในสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาและประถมศึกษาเขต 2 ที่ผ่านมาเคยได้รับการสนับสนุนงบประมาณในการซ่อมแซม และให้การช่วยเหลือมาตลอด ซึ่งจากข่าวที่เผยแพร่ออกไปนั้นทางโรงเรียนเองอาจจะมีความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนในการร้องของบประมาณ และนำกลับไปซ่อมแซม เช่น อาจจะนำงบประมาณไปซ่อมแซมในส่วนอื่นที่ไม่ได้ตรงตามวัตถุประสงค์ ฉะนั้น การหากโรงเรียนดำเนินการให้ถูกต้องในการปรับรื้ออาคาร หรือซ่อมแซมอาคารที่มีอายุเกิน 30 ปี ซึ่งต้องเป็นไปตามกฎเกณฑ์ที่กำหนด และทางสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาฯ จะได้พิจารณา และจัดสรรงบประมาณให้อย่างถูกต้อง”
 
ขณะเดียวกัน ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า จากข้อมูลของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษายะลา เขต 2 มีโรงเรียนที่อยู่ในความรับผิดชอบดูแล 68 แห่ง และเกือบทุกแห่งมีอาคารเรียนที่ชำรุดทรุดโทรม และมีสภาพเก่าเนื่องจากก่อสร้างมานานหลายสิบปี อีกทั้งบางแห่งอยู่ในพื้นที่ทุรกันดาร และที่ผ่านมา ก็มีการจัดสรรงบประมาณเท่าที่ได้รับกระจายสู่โรงเรียนต่างๆ ตามลำดับการร้องขอในการซ่อมแซมอาคารเรียน แต่ก็เป็นเพียงการซ่อมแซมให้สามารถใช้งานต่อไปได้ ซึ่งความต้องการจริงๆ แล้วโรงเรียนในพื้นที่ต้องการที่จะได้อาคารเรียนใหม่เพื่อเป็นการพัฒนาระบบการศึกษาของเด็กนักเรียนในพื้นที่ให้ได้มาตรฐานยิ่งขึ้น




 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น