xs
xsm
sm
md
lg

เคาะประตูมาเลเซีย... ชม “เคดาห์” ด้วยตานก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

จากจุดชมวิว “อะลอร์สตาร์ ทาวเวอร์”
 
“เที่ยวท่องล่องใต้” ครั้งนี้เคาะประตูประเทศมาเลเซีย เกาะกระแส “ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน” หรือ AEC ด้วยการเที่ยวชม “รัฐเคดาห์” รัฐที่อยู่เหนือสุดของประเทศมาเลเซีย ซึ่งมีพรมแดนติดกับ จ.สงขลา เพื่อเรียนรู้ความเหมือนและต่างในฐานะเมืองที่อยู่ในเส้นละติจูดเดียวกัน
 
“อะลอร์สตาร์ ทาวเวอร์ (Alor Setar Tower)” หอคอยที่สูงเป็นอันดับ 2 ของประเทศมาเลเซีย
 
“อะลอร์สตาร์ ทาวเวอร์” มองโลกด้วยตานก

นั่งรถข้ามด่านพรมแดนไทย-มาเลเซียที่บ้านด่านนอก อ.สะเดา จ.สงขลา แล้วผ่านพิธีการตรวจคนเข้าเมือง ทะลุไปยังบูกิตกายูฮีตำ ชายแดนฝั่งประเทศมาเลเซีย จุดแรกแวะชมภาพรวมของรัฐเคดาห์ที่ “อะลอร์สตาร์ ทาวเวอร์ (Alor Setar Tower)” หอคอยที่สูงเป็นอันดับ 2 ของประเทศมาเลเซีย และสูงเป็นอันดับที่ 19 ของโลก ด้วยความสูง 165.5 เมตรเหนือระดับน้ำทะเล จึงเป็นทั้งสถานที่สำคัญและจุดชมวิวที่นักท่องเที่ยวไม่ควรพลาด
 
 
จากอะลอร์สตาร์ ทาวเวอร์ จะมองเห็นทิวทัศน์รอบเมืองได้ชัดเจน ที่นี่มีกล้องส่องทางไกลไว้บริการนักท่องเที่ยวด้วย ความน่าตื่นตาตื่นใจของหอคอยแห่งนี้คือการเฝ้าสังเกตความเป็นไปของเมืองแบบ Bird’s eye view หรือมองสิ่งแวดล้อมรอบตัวด้วยมุมเดียวกันกับสายตาของนก
 

ทอดสายตามองภูเขา Kariang อีกหนึ่งสถานที่สำคัญของเมืองอะลอร์สตาร์
 
ถ้าสังเกตดีๆ จะเห็นว่ารอบๆ เมืองอะลอร์สตาร์นั้นล้อมรอบไปด้วยทุ่งนาเขียวขจี เพราะรัฐเคดาห์ได้ชื่อว่าเป็นอู่ข้าวอู่น้ำของประเทศมาเลเซีย คนที่นี่ภาคภูมิใจในความเป็นชาวนา ถึงขั้นมี “พิพิธภัณฑ์ข้าว” ไว้เล่าเรื่องราวเหล่านี้ด้วย
 
 
นอกจากนี้ ที่ความสูง 88 เมตรเหนือระดับน้ำทะเลซึ่งจัดไว้ให้เป็นจุดชมวิวโดยเฉพาะ ความช่างสังเกตซึ่งเป็นคุณสมบัติเฉพาะตัวของแต่ละบุคคลจะทำให้ค้นพบอาคารสวยๆ วัดไทย วัดฮินดู มัสยิด หอนาฬิกา ภูเขา Keriang แม่น้ำ และการสัญจรไปมาบนถนน ซึ่งให้ความรู้สึกอิสระจนเข้าใจคำว่า “เสรีภาพในการมองเห็น”
 
 
สำหรับ “อะลอร์สตาร์ ทาวเวอร์” เปิดให้เข้าชมทุกวัน ตั้งแต่เวลา 9 โมงเช้าถึง 4 ทุ่ม
ค่าเข้าชมสำหรับชาวต่างชาติ ผู้ใหญ่ 12 ริงกิต (ประมาณ 120 บาท) เด็กอายุ 6 - 12 ปี 6 ริงกิต (ประมาณ 60 บาท)
 
หอนาฬิกาตระหง่านอยู่ทางขวา และบาลายโนบัตโดดเด่นอยู่ทางซ้าย
 
“บาลายโนบัต” หอดุริยางค์ใจกลางเมือง

ไม่ไกลจาก “อะลอร์สตาร์ ทาวเวอร์” ก็จะพบหอคอยอีกแห่งหนึ่ง โดดเด่นด้วยสีเหลืองสะดุดตา กับรูปลักษณ์ที่ผสมผสานเข้ากันระหว่างสถาปัตยกรรมพื้นเมืองและสถาปัตยกรรมยุโรป เรียกที่นี่ว่า “บาลายโนบัต (Balai Nobat)” หรือหอเก็บเครื่องดนตรีที่ใช้สำหรับพระราชพิธีของรัฐเคดาห์ แม้ว่าหอคอยนี้จะไม่สูงมากเมื่อเทียบกับ “อะลอร์สตาร์ ทาวเวอร์” แต่ความสวยงามของอาคาร และบันไดวนที่ทำเอาคนกลัวความสูงเกือบหัวใจวายนั้นก็เรียกได้ว่าน่าตื่นเต้นไม่แพ้ที่ใดเช่นกัน
 
สีสันของบาลายโนบัตดึงดูดใจให้เหล่านักท่องเที่ยวแวะถ่ายภาพ
 
บนบาลายโนบัตสามารถมองเห็นวิวทิวทัศน์ใจกลางเมืองอะลอร์สตาร์ได้กว้างในระดับหนึ่ง โดยเฉพาะมัสยิดซาฮีด (Masjid Zahir) ซึ่งตั้งอยู่เยื้องๆ กันเพียงแค่ถนนคั่น
 
มัสยิดซาฮีด ซึ่งมีอายุเก่าแก่ที่สุดในประเทศมาเลเซีย
 
“มัสยิดซาฮีด” สถาปัตยกรรมแห่งความศรัทธา

ข้ามถนนจากบาลายโนบัตมายัง “มัสยิดซาฮีด (Masjid Zahir)” สถานที่สำคัญอีกแห่งหนึ่งในเมืองอะลอร์สตาร์ ด้วยโดมสีดำโดดเด่น รายรอบด้วยโดมเล็กสีเดียวกันอีก 5 ลูก ตัดกับตัวอาคารสีขาว ดึงดูดตาให้ยกกล้องถ่ายรูปขึ้นมากดชัตเตอร์รัวๆ
 
“บาจูกูรง” การแต่งกายแบบดั้งเดิมของชาวมาเลเซีย
 
มัสยิดแห่งนี้สร้างขึ้นในปี 1912 โดยสุลต่านรัฐเคดาห์ในสัมยนั้น ซึ่งได้รับแรงบันดาลใจมาจากมัสยิดแห่งหนึ่งในตอนเหนือของเกาะสุมาตรา ประเทศอินโดนีเซีย มัสยิซาฮีดตั้งอยู่ใจกลางเมืองอะลอร์สตาร์ และถือได้ว่าเป็นมัสยิดที่เก่าแก่ที่สุดในมาเลเซีย นอกจากนี้ ยังสวยงามติดอันดับโลกอีกด้วย
 
ตลาดเปอกันราบู ประหนึ่งฝาแฝดของตลาดกิมหยง
 
“เปอกันราบู” ตลาดกิมหยงแห่งเมืองอะลอร์สตาร์

ชมเมืองอะลอร์สตาร์กันพอหอมปากหอมคอแล้วก็ต้องแวะหาของกินสักหน่อย ถ้าคุณเคยชอปปิ้งที่ตลาดกิมหยง อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา ทันทีที่คุณเห็นตลาด “เปอกันราบู อะลอร์สตาร์” คุณจะสัมผัสได้ถึงความเป็นฝาแฝดของกันและกัน เพียงแต่ที่นี่สื่อสารด้วยภาษาอังกฤษ และภาษามาเลย์เป็นหลัก ไม่มีภาษาจีนให้ได้ยินบ่อยเท่าตลาดกิมหยงเท่านั้นเอง และแม่ค้าบางคนก็พูดภาษาไทยได้ ต่อราคาสินค้ากันเป็นภาษาไทยสนุกสนานเลยทีเดียว
 



 
ส่วนสินค้าในตลาดก็ไม่ได้แตกต่างจากตลาดกิมหยงสักเท่าไหร่นัก มีขนมหลอกเด็ก ของขบเคี้ยว ลูกเกด บ๊วย ถั่วต่างๆ เรื่อยไปจนถึง “โก๋แก่” และ “มะขามจี๊ดจ๊าด” นอกจากนี้ ก็มีเสื้อผ้าเครื่องแต่งกาย เครื่องเทศ เนื้อฝอย ปลาส้ม ให้เลือกจับจ่ายตามต้องการ ชั้นล่างสุดเป็นร้านอาหาร ถ้าหิวและอยากลิ้มรสอาหารสัญชาติมาเลเซีย ก็สามารถฝากท้องกันที่นี่ได้
 






 
โดยภาพรวม อะลอร์สตาร์เป็นเมืองที่อากาศดี รถราไม่เยอะเท่าหาดใหญ่ ถนนหนทางไปมาสะดวก ด้วยความที่เป็นเมืองศูนย์กลางของรัฐเคดาห์จึงคลาคล่ำไปด้วยร้านค้า ทั้งร้านอาหาร และร้านอื่นๆ และที่สำคัญคือผู้คนที่นี่มักจะพูดภาษาไทยได้บ้าง ซึ่งเป็นธรรมดาของผู้คนที่อาศัยอยู่ระหว่างรอยต่อประเทศ
 
 
ตลอด 2 ข้างทางประมาณ 40 กม. จากด่านพรมแดนไทย - มาเลเซีย ที่ อ.สะเดา จ.สงขลา มาจนถึงเมืองอะลอร์สตาร์ รัฐเคดาห์ นอกจากทุ่งนาเขียวขจีบ่งบอกความอุดมสมบูรณ์ของเมืองแล้ว ยังพบเห็นป้ายและข้อความ “Daulat Tuanku” หรือ “ทรงพระเจริญ” อยู่เกือบทุกๆ ที่ นี่คือความเหมือนอย่างหนึ่งที่ค้นพบได้
 
 
ความพิเศษคือ ปัจจุบันสุลต่าน “อับดุลฮาลิม” ของรัฐเคดาห์ขึ้นครองราชย์เป็นกษัตริย์องค์ที่ 14 ของมาเลเซีย และการครองราชย์ครั้งนี้ถือเป็นรอบที่ 2 ของพระองค์แล้ว ทั้งนี้ มาเลเซียมีทั้งหมด 13 รัฐ มีสุลต่าน 9 รัฐ อีก 4 รัฐ ไม่มีสุลต่าน และสุลต่านทั้ง 9 รัฐ ต้องหมุนเวียนกันเป็นกษัตริย์ หรือที่เรียกว่า “อากง” ในภาษามาเลย์ โดยอยู่ในตำแหน่งนาน 5 ปี
 
 
ส่วนความแตกต่างที่สังเกตและสัมผัสได้ชัดเจน นอกจากภาษามาเลย์ และปลั๊กไฟที่ต่างกันสุดขั้วแล้ว คือเรื่องรสชาติของอาหาร แม้ว่าอาหารหลายๆ อย่างจะหน้าตาคล้ายคลึงกันก็ตาม แต่ก็ไม่จัดจ้านเท่าอาหารไทย
 
 
ขนมและอาหารหลายชนิดคล้ายกันมาก จนอดคิดไม่ได้ว่านี่คือวัฒนธรรมการกินของภูมิประเทศแถบนี้หรือเปล่า และใครได้รับอิทธิพลจากใครกันแน่... แต่ท้ายที่สุดแล้วไม่ว่าใครเป็นต้นตำรับ อาหารหรือขนมเหล่านั้นก็จะถูกปรับเปลี่ยนจนเข้ากับรสนิยมและต่อมรับรสของผู้คนในแต่ละพื้นที่อยู่ดี
 
 
เมื่อความสนุกของการเดินทาง คือการเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ จึงต้องลองชิม ลองดู ลองทำ เข้าทำนองที่ว่า “เข้าเมืองตาหลิ่ว ต้องหลิ่วตาตาม”

แล้วคุณจะรู้ว่า... มาเลเซียมีเสน่ห์มากกว่าที่คิดจริงๆ
 

 
สำหรับข้อมูลเพิ่มเติม ติดต่อสอบถามได้ที่

การท่องเที่ยวมาเลเซีย (สำนักงานกรุงเทพฯ) โทร. 02 636 3380-3

การท่องเที่ยวมาเลเซีย (สำนักงานภูเก็ต) โทร. 076 22 0192-3

หรือเว็บไซต์ www.tourismmalaysia.gov.my

 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น