xs
xsm
sm
md
lg

ชสยท. ปิดตลาดประมูล แก้ปัญหาราคายางตก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ - ชุมนุมสหกรณ์ชาวสวนยางแห่งประเทศไทยจำกัด (ชสยท.) มีมติแก้ปัญหาราคายางพาราตกต่ำ ให้เกษตรกรพึ่งตนเอง ลดกำลังการผลิตลงครึ่งหนึ่ง เลื่อนการเปิดกรีดในฤดูกาลนี้ ปิดตลาดประมูลยางของสำนักงานกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง (สกย.) กว่า 200 แห่งทั่วประเทศ และหยุดส่งยางเข้าประมูลในตลาดกลางยางพารา 5 ตลาดทั่วประเทศ

วันนี้ (8 พ.ค.) เมื่อเวลา 13.00 น. ที่สำนักงานชุมนุมสหกรณ์ชาวสวนยางแห่งประเทศไทย จำกัด (ชสยท.) อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา นายเพิก เลิศวังพง ประธานชุมนุมสหกรณ์ชาวสวนยางแห่งประเทศไทย (ชสยท.) พร้อมตัวแทนชาวสวนยางในภาคใต้ และภาคตะวันออก ได้ร่วมประชุมเพื่อหาแนวทางแก้ไขปัญหาราคายางพาราตกต่ำ และยังคงมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง ขณะที่ในรอบปีที่ผ่านมา มาตรการต่างๆ ของรัฐไม่สามารถทำให้ราคายางสูงขึ้นได้

โดยที่ประชุมมีมติที่จะฝ่าวิกฤตราคายางพาราตกต่ำ โดยใช้มาตรการพึ่งตนเองเป็นหลักและใช้รัฐเป็นรอง โดยมีมาตรการทั้งในส่วนของภาคเกษตรกร และภาครัฐร่วมกัน โดยในส่วนของเกษตรกรจะดำเนิน 4 มาตรการ คือ 1.ลดปริมาณการผลิตยางพาราธรรมชาติลง 50 เปอร์เซ็นต์ ในครึ่งปีหลัง ตั้งแต่ 1 กรกฎาคม-31 ธันวาคม 56 เป็นปริมาณจำนวน 2.07 ล้านตัน 2.เลื่อนการเปิดกรีดในฤดูกาลนี้ไปเป็นเริ่มกรีดพร้อมกันทั่วประเทศ ในวันที่ 1 กรกฎาคม 56 ซึ่งจะทำให้ปริมาณยางหายไปจากประเทศไทยราว 2.5 แสนตัน 3.ให้ตลาดประมูลยางของสำนักงานกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง (สกย.) ที่อยู่ภายใต้การดำเนินงานของเกษตกรและสถาบันเกษตรกรทั่วประเทศกว่า 200 ตลาด ปิดตลาดทั้งหมด และเริ่มเปิดดำเนินการตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 56 เป็นต้นไป เพื่อลดปริมาณยางออกสู่ตลาด และ 4.ให้สถาบันเกษตรกรที่ส่งยางเข้าประมูลในตลาดยางพาราทั่วประเทศ 5 ตลาด ทั้งตลาดกลางสงขลา นครศรีธรรมราช สุราษฎร์ธานี หนองคาย และบุรีรัมย์ หยุดส่งยางเข้าประมูล และเริ่มส่งอีกครั้งในวันที่ 1 กรกฎาคม เป็นต้นไป

ส่วนมาตรการที่ทางชุมนุมสหกรณ์ชาวสวนยางแห่งประเทศไทยจำกัด (ชสยท.) ต้องการให้รัฐสนับสนุนมี 3 ข้อ คือ 1.ให้รัฐหยุดนโยบายแทรกแซงราคา เพราะ 1 ปีที่ผ่านมาแสดงให้เห็นว่า ขบวนการนี้ล้มเหลว แต่ให้ดำเนินการช่วยเหลือเกษตรกรที่ลดปริมาณการผลิตยางธรรมชาติ โดยการปล่อยเงินกู้ปลอดดอกเบี้ยให้เกษตกรผ่านสถาบันเกษตรกร เพื่อใช้ในการดำรงชีวิต โดยมีระยะเวลาจนกว่าวิกฤติราคายางจะได้ตามเป้าหมาย 2.ให้รัฐสนับสนุนสถาบันเกษตรกรที่มีความพร้อมในการก่อสร้างโรงงานแปรรูปและเงินทุนหมุนเวียนในการดำเนินการ และ 3.ให้รัฐจัดให้มีการสร้างโรงงานแปรรูปผลิตภัณฑ์เพื่อรองรับการใช้ยางธรรมชาติของเกษตกรในราคาถูก โดยให้มีการผลิตยางล้อแห่งชาติทันทีในเบื้องต้น

นายเพิก เลิศวังพง ประธานชุมนุมสหกรณ์ชาวสวนยางแห่งประเทศไทย (ชสยท.) กล่าวว่า มติที่ออกมาจะดำเนินการในภาพรวมของเกษตรกรทั่วประเทศทั้งภาคใต้ ภาคตะวันออก ภาคเหนือ และภาคอีสาน เพื่อลดปริมาณยางที่ออกสู่ตลาดให้น้อยลงและเป็นการแข่งขันกับผู้ซื้อในตลาดโลกโดยตรง ทั้งนี้ ในส่วนของชุมนุมสหกรณ์ชาวสวนยางแห่งประเทศไทย (ชสยท.) จะไม่ใช้มาตรการชุมนุมประท้วงเพราะไม่ใช่ทางออกของปัญหา แต่จะใช้วิธีรวมตัวของชาวสวนยางทั่วประเทศลดกำลังการผลิตลงแทน และจะเข้ายื่นหนังสือข้อเรียกร้องในส่วนที่ต้องการขอรับความช่วยเหลือจากภาครัฐกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป




กำลังโหลดความคิดเห็น