xs
xsm
sm
md
lg

กนอ.เกาะติดนิคมฯ บางชันเสี่ยงไฟตก กฟผ.การันตีเอาอยู่!

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“กนอ.” โล่ง หลัง “กฟผ.” การันตีจะฝ่าวิกฤตไฟฟ้าดับให้ได้แต่ก็ยังกังวลนิคมฯบางชันที่เสี่ยงไฟตกมากสุดเหตุอยู่ใกล้จุดเสี่ยงไฟตก เตรียมเกาะติดรับมือใกล้ชิด ขณะที่ กฟผ.ถกไอพีพี เอสพีพี วันนี้เตรียมหาแผนผลิตไฟให้พร้อมก่อนถกใหญ่ 3 การไฟฟ้าวันที่ 5 มี.ค.เพื่อวางแผนรับมือร่วมกันให้ชัด

นายวีรพงศ์ ไชยเพิ่ม ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เปิดเผยหลังการนำผู้ประกอบการในนิคมอุตสาหกรรม 300 คนมารับฟังการชี้แจงจากนายธนา พุฒรังษี รองผู้ว่าการระบบส่ง การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เกี่ยวกับมาตรการรองรับการหยุดจ่ายก๊าซธรรมชาติจากพม่าระหว่าง 5-14 เม.ย.ซึ่งจะกระทบต่อการผลิตไฟ 4,100 เมกะวัตต์ว่า จากการรับฟังบรรยายมีความเป็นห่วงเพียงนิคมอุตสาหกรรมบางชันที่มีความเสี่ยงมากสุดต่อไฟฟ้าตกเพราะอยู่ใกล้บริเวณพื้นที่เสี่ยงไฟตก 3 จุดของเขต กทม.(ลาดพร้าว รัชดาฯ บางกะปิ) ดังนั้น กนอ.จึงจะติดตามอย่างใกล้ชิดเป็นพิเศษเพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อโรงงานที่ขณะนี้ดำเนินกิจการอยู่ 81 แห่งและส่วนใหญ่เป็นอุตสาหกรรมอาหาร

“กนอ.มีนิคมฯ อยู่ 47 แห่ง แต่ที่ดำเนินการแล้วมี 37 แห่ง เฉลี่ยแต่ละแห่งจะใช้ไฟ 80-150 เมกะวัตต์ต่อวัน หรือเฉลี่ย 37 นิคมฯเป็น 3,700 เมกะวัตต์ หรือคิดเป็นสัดส่วน 15% ของการใช้ไฟทั้งหมดทั่วประเทศที่ระดับ 2.6 หมื่นเมกะวัตต์ ดังนั้นไฟฟ้าจึงมีผลโดยตรงต่อภาคการผลิต” นายวีรพงศ์กล่าว

ทั้งนี้ กนอ.จะได้ประสานไปยังนิคมฯต่างๆ ที่จะให้ช่วยวางแผนในการลดการใช้ไฟในวันที่ 5 เม.ย. เช่น ลดกำลังการผลิตหรือเลื่อนการผลิตช่วงความต้องการใช้ไฟสูงสุด (พีก) ที่จะอยู่ช่วงบ่าย หรือการหยุดทำงานวันดังกล่าวแล้วไปชดเชยวันอื่นเพื่อให้สำรองไฟฟ้าที่ต่ำสูงขึ้น ซึ่งแผนทั้งหมดจะนำมาบูรณาการเป็นแผนใหญ่ร่วมกับส่วนอื่นๆ ที่จะสรุปเป็นภาพที่ชัดเจนวันที่ 14 มี.ค.นี้ พร้อมกันนี้ กนอ.จะได้ตั้ง War room ที่สำนักงานใหญ่ กนอ.วันที่ 18 มี.ค.เพื่อติดตามและแก้ไขปัญหาที่จะเกิดขึ้น

นายธนา พุฒรังษี รองผู้ว่าการระบบส่ง กฟผ.กล่าวว่า ไทยเกิดไฟดับครั้งใหญ่ในปี 2523 หลังจากนั้นก็จะไม่เกิดอีกและครั้งนี้ 3 การไฟฟ้าได้ประสานความร่วมมือที่จะพาประเทศชาติผ่านวิกฤตไปได้ เพราะได้มีแผนรองรับไว้ตั้งแต่ขั้นต่ำสุดจนกรณีเลวร้ายสุด โดยวันนี้ (27 ก.พ.) จะหารือร่วมกับผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนอิสระรายใหญ่ (ไอพีพี) และรายเล็ก (เอสพีพี) เพื่อมาดูว่าจะมีไฟฟ้าเหลือในการขายเพิ่ม รวมถึงแผนการผลิตให้พร้อมในการรับมือ และวันที่ 5 มี.ค.จะหารือร่วมกับ 3 การไฟฟ้าเพื่อพิจารณาถึงแผนต่างๆ ในรายละเอียดอีกครั้ง

“เราจำเป็นต้องเตรียมพร้อม เพราะข้อเท็จจริงคือวันที่ 5 เม.ย. เรามีกำลังการผลิตไฟทั้งหมด 3.3 หมื่นเมกะวัตต์แต่มีกำลังการผลิตที่ลดลง (Derate) 1,890 เมกะวัตต์ เมื่อรวมมกรณีก๊าซนพม่ากระทบการผลิต 4,100 เมกะวัตต์ จึงเหลือการผลิตจริง 2.7 หมื่นเมกะวัตต์ เราคาดการณ์ว่าวันนั้นไฟจะใช้ 2.6 กว่าหมื่นเมกะวัตต์จึงเหลือสำรองพร้อมใช้เพียง 767 เมกะวัตต์ ซึ่งหากวันนั้นการใช้สูงหรือเกิดพีคมากกว่าปกติเราจึงเสี่ยงไฟดับจึงเป็นที่มาว่าทำไมเราต้องออกมาส่งสัญญาณให้ประชาชนช่วยประหยัด” นายธนากล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น