ส.อ.ท.เผยผลศึกษาผลกระทบค่าแรง 300 บาทต่อวันทั่วประเทศ 3 เดือนแรกธุรกิจเอสเอ็มอี 80% เริ่มขาดทุน 23.3% ขาดสภาพคล่อง 10.42% อยู่ระหว่างพิจารณาปิดกิจการ หากรัฐไม่มีมาตรการช่วยเหลือ 42% จะลดคนงานก่อน รับ 3 เดือนแรกยังไม่สามารถระบุการปิดกิจการได้ชัดคงต้องรอเวลาอีกระยะ
นายธนิต โสรัตน์ เลขาธิการและรักษาการประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยเปิดเผยผลสำรวจผลกระทบค่าจ้าง 300 บาทในช่วงไตรมาสแรกของปี 56 (ม.ค.-มี.ค. 56) ว่า ขณะนี้มีธุรกิจเอสเอ็มอีจำนวน 80% ประสบปัญหาการขาดทุน รองลงมาขาดสภาพคล่อง 23.33% และอยู่ระหว่างการพิจารณาการปิดกิจการ 10.42%
ทั้งนี้ หากรัฐบาลไม่มีมาตรการช่วยเหลือที่เป็นรูปธรรมผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากค่าจ้าง 300 บาทต่อวัน ตอบแบบสอบถามกลับมาว่า 42.02% จะมีการลดจำนวนคนงาน, ลดกำลังการผลิต 20.28% และเลิกจ้างงาน 15.94% นอกจากนี้ ผู้ประกอบการที่บอกว่าอาจต้องเลิกกิจการหรือย้ายฐานการผลิต 13.04%
สำหรับค่าแรงที่ปรับขึ้นพบว่า ผู้ประกอบการ 54% มีต้นทุนรวมสูงขึ้นมากเกินกว่า 15% ส่วน 24% ได้รับผลกระทบปานกลางคือต้นทุนเพิ่ม 7-10% และผู้ประกอบการ 18% ที่ได้รับผลกระทบน้อยโดยมีต้นทุนรวมสูงขึ้นระหว่าง 3-5% และผู้ที่ไม่ได้รับผลกระทบต่อการปรับค่าจ้างครั้งนี้มีเพียง 4%
ขณะเดียวกันยังพบว่า ในไตรมาสแรกของปีมีผู้ประกอบการที่สามารถปรับราคาสินค้าได้ 52.94% และไม่สามารถปรับราคาสินค้าได้ 47% อย่างไรก็ตามผู้ที่ปรับราคาได้ส่วนใหญ่เป็นการปรับขึ้นราคาสินค้าได้ในปริมาณน้อยมาก
“ครบ 3 เดือนแล้วที่มีการขึ้นค่าแรง 300 บาทต่อวันทั่วประเทศ ซึ่งระยะนี้ปัญหาการว่างงานและการปิดกิจการคงไม่เห็นภาพชัดเจนต้องรอสักระยะหนึ่งก่อน โดยเฉพาะแรงงานที่สามารถเคลื่อนย้ายไปโรงงานขนาดใหญ่หรือกิจการของต่างชาติที่กำลังเข้ามาลงทุนในไทย”
นอกจากนี้ยังพบว่า ผู้ประกอบเอสเอ็มอีที่ได้รับผลกระทบค่าจ้าง 58% ยังสามารถประคองธุรกิจได้ เนื่องจากแต่ละรายมีมาตรการในการปรับตัวของภาคเอกชน เช่น การลดจำนวนพนักงาน, ลดการทำงานล่วงเวลาและลดสวัสดิการ ขณะเดียวกันก็เพิ่มประสิทธิภาพแรงงานและปรับปรุงกระบวนการผลิต รวมถึงการลดขั้นตอนการผลิตและการนำเครื่องจักรมาทดแทนแรงงาน เป็นต้น
ส่วนมาตรการช่วยเหลือของรัฐฯ พบว่า ผู้ประกอบการส่วนใหญ่กว่า 50% แจ้งว่าไม่ได้ประโยชน์จากมาตรการช่วยเหลือของภาครัฐ มีเพียง 28% ที่เห็นว่ามาตรการของรัฐฯพอช่วยได้บ้างแต่น้อยมาก ซึ่งผู้ประกอบการส่วนใหญ่เห็นว่ามาตรการที่รัฐฯช่วยได้มากที่สุดคือ การชดเชยส่วนต่างของค่าจ้างที่เพิ่มขึ้น รวมทั้งการช่วยเหลือสภาพคล่องด้วยสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ