xs
xsm
sm
md
lg

ค่าแรง 300 บ.เข้าขั้นวิกฤต สัญญาณชัดเดือดร้อนถ้วนหน้า

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายธนิต โสรัตน์ เลขาธิการ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.)
ส.อ.ท.เผยผู้ประกอบการเอสเอ็มอีจำนวนมากกระทบค่าแรง 300 บาท ชี้พบมากกว่าที่ผู้ประกอบการแสดงตน เหตุเพราะยังไม่ส่งสัญญาณชัดเจน ส่งผลแบงก์ไม่ปล่อยกู้ ขาดเงินทุนผลิตสินค้า อุตฯ เครื่องนุ่งห่ม, อาหาร, อิเล็กทรอนิกส์, เซรามิก, เครื่องหนัง กระทบหนักสุด

นายธนิต โสรัตน์ เลขาธิการ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ขณะนี้มีผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม หรือเอสเอ็มอีจำนวนมากในระดับหลักแสนรายที่ประสบปัญหาความเดือดร้อนจากนโยบายค่าจ้างขั้นต่ำวันละ 300 บาททั่วประเทศ ไม่ใช่แค่ 204 ราย ตามที่คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) สำรวจ เนื่องจากการสำรวจข้อมูลของผู้ที่เกี่ยวข้องไม่สามารถลงพื้นที่ หรือประชาสัมพันธ์ให้สมาชิกได้รับทราบทั่วถึง ทำให้มีผู้แสดงตนในสัดส่วนที่น้อย

ทั้งนี้ สาเหตุที่ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีไม่กล้าที่จะแสดงตนถึงความเดือดร้อนอย่างชัดเจน เพราะหากตอบว่าธุรกิจกำลังย่ำแย่ก็จะส่งผลกระทบต่อการดำเนินกิจการในอนาคต เช่น อาจทำให้สถาบันการเงินไม่กล้าปล่อยสินเชื่อ หรือลูกค้าไม่กล้าสั่งคำสั่งซื้อ (ออเดอร์) เพราะเกรงว่ากิจการดังกล่าวไม่สามารถผลิตสินค้าได้ตามกำหนด หรือคู่ค้าไม่กล้าขายวัตถุดิบในกรณีที่ใช้เครดิต เป็นต้น

“ผลกระทบจากค่าจ้าง 300 บาทต่อวันนั้น ส่วนใหญ่จะเห็นผลในช่วงเดือนมิถุนายน-กรกฎาคม 2556 โดยจะเริ่มจากปัญหาสภาพคล่องก่อน หากผู้ประกอบการไม่สามารถหาเงินทุนมาหมุนเวียนได้มีแนวโน้มสูงที่จะปิดกิจการ แต่หากมีเงินมาเพิ่มสภาพคล่องได้ทันน่าจะประคองกิจการต่อไปได้ในระดับหนึ่ง” นายธนิตกล่าว

ทั้งนี้ แนวทางการสำรวจต้องการผู้ที่เกี่ยวข้องของ สอท.เข้าไปสุ่มประเมินในทุกจังหวัด แต่จะไม่มีการบอกรายชื่อเพื่อเป็นความลับของผู้ประกอบการเอสเอ็มอีในต่างจังหวัด ซึ่งจะทำให้ได้ข้อมูลการสำรวจและเหตุผลที่แท้จริง

สำหรับข้อมูลจากภาครัฐบาลที่ประกาศว่ามีผู้ประกอบการที่ปิดกิจการในอัตราที่น้อยนั้นแสดงว่าภาครัฐยังไม่เข้าใจการทำธุรกิจแบบเชิงลึกมากนัก โดยปกติแล้วหากบริษัทที่ขาดทุนแล้วปิดกิจการส่วนใหญ่มักจะไม่มีการแจ้งต่อกระทรวงพาณิชย์ เพราะไม่เช่นนั้นก็จะถูกกรมสรรพากร ตรวจสอบภาษีย้อนหลัง 10 ปี ก็จะยิ่งเดือดร้อนและเกิดความวุ่นวายอีก ดังนั้น ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีมักจะปล่อยไว้แล้วสิ้นปีก็จ้างบัญชีครั้งละ 5,000-10,000 บาท เพื่อแจ้งว่าไม่มีรายได้

ขณะเดียวกัน ในช่วงที่ผ่านมาทางกลุ่มได้เข้าไปสุ่มสำรวจผลกระทบจากการปรับค่าจ้าง 300 บาททั่วประเทศ ส่วนใหญ่ต้นทุนการผลิตสูงขึ้น 10-12% โดยกลุ่มอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด เช่น เครื่องนุ่งห่ม, อาหาร, อิเล็กทรอนิกส์, เซรามิก, เครื่องหนัง เป็นต้น ซึ่งพบว่าสัดส่วนของเอสเอ็มอีที่ได้รับผลกระทบส่วนใหญ่จะเป็นภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคเหนือ ได้รับผลกระทบมากถึง 96-98% ของโรงงานทั้งหมด

“ผู้ประกอบการที่มีโอกาสจะปิดกิจการ หรือปิดโรงงานจะมีประมาณ 24.44% ส่วนกิจการที่ได้รับผลกระทบแต่ยังสามารถประคองธุรกิจได้ 64.44% และที่เหลือยังไม่แน่ใจ 11.11% อย่างไรก็ตาม แม้เอสเอ็มอีจะได้รับผลกระทบมากแต่ส่วนใหญ่ 81.82% ยังไม่มีนโยบายในการย้ายฐานการผลิต เนื่องจากการย้ายฐานไม่ใช่เป็นทำกันได้ง่ายๆ ส่วนกลุ่มที่จะย้ายฐานมี 18.18%” นายธนิตกล่าว

ก่อนหน้านี้ที่ กกร.แจ้งว่ามีผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่ได้รับผลกระทบจากนโยบายค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาทต่อวัน และมาแจ้งต่อ สอท. และหอการค้าไทย มีจำนวน 204 ราย แบ่งเป็นสมาชิก สอท.170 ราย และสมาชิกหอการค้า 34 ราย

* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า “SME ผู้จัดการออนไลน์” รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด และร่วมสนุกกับกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมายคลิกที่นี่เลย!! * * *
กำลังโหลดความคิดเห็น