xs
xsm
sm
md
lg

ชาวสวนยางสุราษฎร์ฯ เดือดร้อนมีเอกสารสิทธิที่ดินแต่ยังถูกจับหลังตัดต้นยางหมดอายุ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สุราษฎร์ธานี - เกษตรกรชาวสวนยางพาราในพื้นที่ทับซ้อนการประกาศเขตอุทยานแห่งชาติใต้ร่มเย็นจังหวัดสุราษฎร์ธานีทับที่ดินทำกินยังวุ่นไม่เลิก ล่าสุด ชาวสวนยางในพื้นที่อำเภอบ้านนาสาร ตัดโค่นต้นยางพาราที่หมดสภาพอายุกว่า 30 ปี ในพื้นที่มีเอกสารสิทธิโฉนดที่ดินถูกต้องตามกฎหมาย แต่ยังไม่วายถูกเจ้าหน้าที่จับกุมดำเนินคดีส่งผลเดือดร้อนอย่างหนัก

วันนี้ (8 พ.ค.) นายมานพ อาชาไนย อายุ 61 ปี และนางทิพา อายุ 60 ปี สองสามีภรรยา พร้อมด้วย น.ส.ธิรวรรณพงษ์ อาชาไนย อายุ 26 ปี ลูกสาว อยู่บ้านเลขที่ 6/19 ถ.คลองหา 1 ต.นาสาร อ.บ้านนาสาร จ.สุราษฎร์ธานี ได้เข้าร้องเรียนขอความเป็นธรรมผ่านสื่อมวลชน กรณีเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติใต้ร่มเย็น บุกจับกุมการตัดโค่นต้นยางพาราที่มีอายุกว่า 30 ปี พร้อมแจ้งความดำเนินคดีในข้อหาบุกรุกเปลี่ยนแปลงสภาพพื้นที่อุทยาน ทั้งที่มีโฉนดครอบครองที่ดินถูกต้องตามกฎหมาย

โดยนายมานพ นางทิพา และ นส.ธิรวรรณพงษ์ ได้นำสื่อมวลชลลงตรวจสอบพื้นที่เกิดเหตุ พร้อมระบุว่า เมื่อเวลาประมาณ 10.00 น. ของวันที่ 2 พ.ค.2556 เจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติใต้ร่มเย็น จำนวน 9 นาย นำโดยนายประคอง มีแก้ว หัวหน้าชุดได้บุกเข้าจับกุม นายสุราษฎร์ สร้างทองดี อายุ 48 ปี ผู้รับจ้างขณะดำเนินการตัดโค่นต้นยางพาราที่หมดสภาพอายุกว่า 30 ปี ในพื้นที่ จำนวน 12 ไร่เศษของตนเอง เพื่อดำเนินการปลูกต้นยางพาราใหม่ทดแทนของเดิมที่ไม่สามารถกรีดน้ำยางได้อีกต่อไป พร้อมยึดรถยนต์กระบะบรรทุก และไม้ยางพารา จำนวน 37 ท่อน และเครื่องเลื่อยยนต์ จำนวน 2 เครื่องไปเป็นของกลาง

นอกจากนั้น ครอบครัวผู้เสียหายได้นำเอกสารเป็นโฉนดที่แปลงดังกล่าวมายืนยันถึงสิทธิการครอบครองที่ถูกต้องตามกฎหมาย โดยระบุว่า ตนมีที่ดินแปลงดังกล่าว จำนวน 20 ไร่เศษ ในพื้นที่ หมู่ที่ 1 ต.เพิ่มพูนทรัพย์ อ.บ้านนาสาร โดยพื้นที่เป็นพื้นที่ราบไม่ได้อยู่บนไหล่เขาหรือพื้นที่สูงชัน ซึ่งตนเอง และครอบครัวได้แบ่งพื้นที่ทำการเกษตร โดยปลูกต้นทุเรียน จำนวน 8 ไร่ ปลูกยางพารา จำนวน 12 ไร่เศษ ซึ่งพื้นที่ดังกล่าวได้มีการออกเอกสารสิทธิเป็น น.ส.3 เมื่อวันที่ 18 มกราคม 2505

ต่อมา พนักงานที่ดินจังหวัดสุราษฎร์ธานี ได้ออกสำรวจ และออกเอกสารสิทธิครอบครองที่ดิน เป็นโฉนดที่ดิน เลขที่ 19431 เลขที่ดิน 51 หน้าสำรวจ 960 เมื่อวันที่ 28 สิงหาคม 2546 พร้อมกับชาวบ้านในบริเวณดังกล่าวจำนวนหลาย 10 ราย ต่อมา อุทยานแห่งชาติใต้ร่มเย็น ได้ประกาศเขตทับที่ดินเมื่อปี 2534 ทางชาวบ้านได้ต่อสู้ตลอดกว่า 20 ปี แต่ยังไม่มีความคืบหน้าเท่าที่ควร ทำให้ได้รับผลกระทบในการทำมาหากินอย่างหนัก ผู้เสียหายได้ระบุว่า การกระทำของเจ้าหน้าที่ครั้งนี้เป็นการกระทำเกินกว่าเหตุ ทั้งๆ ที่พื้นที่เกิดเหตุเป็นพื้นที่ทับซ้อนอยู่ในระหว่างการพิสูจน์สิทธิในจำนวน 28,000 กว่าไร่ ใน 3 อำเภอ

โดย น.ส.ธิรวรรณพงษ์ ลูกสาวของผู้เสียหาย กล่าวว่า อยากให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ช่วยแก้ไขปัญหาเรื่องดังกล่าวโดยด่วน เนื่องจากขณะนี้ทางครอบครัวได้รับเดือดร้อนอย่างหนัก

ด้านนายสุราษฎร์ สร้างทองดี 1 ในผู้ต้องหากล่าวว่า ตัวเองมีอาชีพรับจ้างตัดต้นยางพาราทั่วไป และมีความระมัดระวังในการรับจ้างเสมอมาเพื่อไม่ให้ผิดกฎหมาย เมื่อเห็นว่าพื้นที่ดังกล่าวมีเอกสารสิทธิที่ถูกต้องตามกฎหมายไม่ใช่พื้นที่บุกรุก จึงตัดสินใจรับจ้างเข้าดำเนินการตัดโค่นต้นยางพารา แต่เมื่อเข้าไปดำเนินการก็ถูกเจ้าหน้าที่เข้าจับกุม โดยไม่มีการตักเตือนแต่อย่างใด เมื่อตนตกเป็นผู้ต้องหาเครื่องมือทำมาหากินถูกยึด จึงไม่มีรายได้มาจุนเจือครอบครัว ลูกชาย 2 คน กำลังจะเปิดเรียนก็ยังไม่รู้จะหาเงินที่ไหนมาจ่าย ส่งผลให้ครอบครัวได้รับความเดือดร้อนอย่างหนักทั้งที่ตั้งใจทำงานอย่างสุจริตตลอดมา

ในขณะเดียวกัน นายนิคม ดำกุล ประธานเครือข่ายประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากการประกาศเขตอุทยานแห่งชาติใต้ร่มเย็น พร้อมกรรมการเครือข่าย ได้เข้าช่วยเหลือผู้ได้รับความเสียหาย โดยเข้ายื่นหนังสือต่อ นายพิเชษฐ์ ชัยสวัสดิ์ หัวหน้าอุทยานแห่งชาติใต้ร่มเย็น เพื่อเรียกร้องขอให้ทางเจ้าหน้าที่ดำเนินการนำเครื่องเลื่อยยนต์ จำนวน 2 เครื่อง ที่มีใบอนุญาตการครอบครองอย่างถูกต้อง ไม้ยางพารา จำนวน 37 ท่อน พร้อมรถยนต์กระบะ ส่งมอบคืนให้แก่ผู้เสียหายภายใน 5 วัน โดยอ้างว่าการกระทำของเจ้าที่อุทยานมิชอบด้วยกฎหมาย หากพ้นกำหนดทางเจ้าหน้าที่ไม่ดำเนินให้ตามขอเรียกร้อง เครือข่ายฯพร้อมตัวแทนสภาทนายความจะดำเนินการฟ้องร้องเอาผิดต่อเจ้าหน้าที่ทั้งหมดตามกฎหมาย

โดยนายพิเชษฐ์ ชัยสวัสดิ์ หัวหน้าอุทยานแห่งชาติใต้ร่มเย็น ได้กล่าวยืนยันว่า การดำเนินการของเจ้าหน้าที่เป็นไปตามกฎหมายของอุทยานฯ พร้อมระบุว่า ในวันที่ 14 พฤษภาคมนี้ ทางเจ้าหน้าที่จะประชุมตรวจสอบการออกเอกสารสิทธิที่ดินของนายมานพ ว่า เป็นการออกโฉนดมาอย่างถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่

ขณะที่ นายนิคม ดำกุล ประธานเครือข่ายประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากการประกาศเขตอุทยานแห่งชาติใต้ร่มเย็น กล่าวภายหลังยื่นหนังสือว่า เตรียมนำเรื่องเสนอขอความเป็นธรรมต่อผู้ว่าราชการจังหวัดให้แก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนที่ถูกอุทยานฯ ประกาศเขตทับที่ดินทับที่ดินทำกินของราษฎร 3 อำเภอ 10 ตำบล 58 หมู่บ้าน พื้นที่ประมาณ 28,770 ไร่ โดยขอให้ราษฎรในพื้นที่ทับซ้อนมีการตัดโค่นต้นยางพาราที่หมดสภาพได้ ขอให้ระงับการตัดฟันทำลายผลอาสินของราษฎรในพื้นที่ทับซ้อนโดยด่วน และการแก้ไขระยะยาว ขอให้มีการเพิกถอนเขตอุทยานฯ ทับซ้อนที่ดินทำกินของราษฎรตามมติประชุมคณะกรรมการอุทยานแห่งชาติ ครั้งที่ 1/2546 ที่มีมติให้เพิกถอนพื้นที่ทับซ้อนที่ดินทำกินของราษฎรประมาณ 28,770 ไร่





 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น