อุบลราชธานี-นักสิทธิชุมชน นักกฎหมาย ร่วมกับสื่อสร้างสุข จังหวัดอุบลราชธานี จัดสนทนาธรณีนี่นี้...ใครครอง หลังชาวบ้านในตำบลหนองกินเพลและบุ่งหวาย อ.วารินชำราบ ต้องสู้กับนายทุนที่มายึดที่ดินกว่า 6,000 ไร่ เมื่อกว่า 40 ปีก่อน ล่าสุดมีข่าวดีเมื่อดีเอสไอสั่งให้กรมที่ดินเพิกถอนการออกโฉนดที่ดินที่ทับที่ทำกินชาวบ้าน แต่อธิบดีที่ดินยังเฉยกับปัญหาที่เกิดขึ้น
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ศาลากลางบ้านคูสว่าง ต.หนองกินเพล อ.วารินชำราบ จ.อุบลราชธานี สื่อสร้างสุขจังหวัดอุบลราชธานี ร่วมกับชาวบ้านในตำบลหนองกินเพล และตำบลบุ่งหวาย อ.วารินชำราบ ซึ่งมีปัญหานายทุนออกโฉนดทับซ้อนที่ดินทำกินเนื้อที่กว่า 6,000 ไร่ ตั้งวงถกข้อกฎหมายและระเบียบปฏิบัติของเจ้าหน้าที่สำนักงานที่ดินจังหวัดอุบลราชธานี
โดยเชิญตัวแทนนักกฎหมาย นักสิทธิชุมชน นายกองค์การปกครองส่วนตำบลร่วมหารือหาทางออกและการช่วยเหลือประชาชนที่ต้องต่อสู้เพื่อครอบครองที่ดินของตนเองอย่างถูกต้องตามกฎหมาย มีนายกมล หอมกลิ่น เป็นผู้ดำเนินรายการสนทนา
นางหนูเดือน แก้วบัวขาว กล่าวถึงที่มาของข้อพิพาทที่เกิดระหว่างนายทุนกับชาวบ้านใน 2 ตำบล เกิดขึ้นเมื่อราวปี 2511 โดยขณะนั้นมีการรับสมัครสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และนายเสรี สุชาตะประคัลภ์ ได้รับเลือก จึงมาให้ชาวบ้านในสองตำบลที่มีเอกสารที่ดินเป็นใบจองและต้องการออกเป็นโฉนดลงลายมือชื่อไว้กับผู้ใหญ่บ้านของแต่ละหมู่บ้าน
จนเวลาผ่านไปราว 1 ปี นายเสรีและพวกได้มาขออซื้อที่ดินที่ชาวบ้านลงลายมือชื่อไว้ทั้งหมด โดยชาวบ้านส่วนมากไม่ยอมขาย เพราะต้องการเก็บที่ดินไว้ทำกิน
ส่วนรายที่ยอมขาย นายเสรีได้จ่ายเงินมัดจำให้รายละ 500 บาท พร้อมออกเช็คสั่งจ่ายเงินให้ตามจำนวนที่ดินที่มีอยู่ แต่ไม่สามารถนำเช็คไปขึ้นเงินกับธนาคาร เนื่องจากผู้สั่งจ่ายเช็คไม่มีเงินในบัญชี
ตรงกันข้าม ในปีเดียวกันสำนักงานที่ดินจังหวัดมีการออกโฉนดที่ดิน ทั้งในกลุ่มชาวบ้านที่ยิมยอมขายและไม่ยินยอมขายในชื่อของนายเสรี ครอบคลุมพื้นที่กว่า 6,000 ไร่ และต่อมามีการฟ้องร้องขับไล่ชาวบ้านที่อยู่อาศัยในที่ดินทำกินของตนเองติดต่อยาวนานมากว่า 30 ปี
เมื่อคดีขึ้นสู่ศาล ชาวบ้านเป็นฝ่ายแพ้มาโดยตลอด เพราะนายทุนใช้เอกสารโฉนดที่ออกโดยราชการเป็นหลักฐาน แต่ถึงปัจจุบันชาวบ้านใน 2 ตำบลยังไม่ยอมออกจากที่ดินที่ถูกฟ้องขับไล่ เพราะถือเป็นที่ดินที่ได้ครอบครองมาอย่างถูกต้องตามกฎหมาย แม้บางรายสู้ถึงชั้นศาลฎีกา และถูกศาลพิพากษาให้ติดคุกก็ตาม
ในกรณีข้อพิพาทที่เกิดขึ้น นายนิกร วีสเพ็ญ ตัวแทนนักกฏหมายให้ความเห็นว่า เรื่องดังกล่าวมีความจริงคือ บางคนขายจริง แต่ไม่ได้เงิน แต่ส่วนใหญ่ต้องการโฉนด ไม่มียินยอมขาย เมื่อมีการใช้กลอุบายยึดเอาที่ดินของชาวบ้านไป จึงมีการฟ้องร้องขับไล่ชาวบ้าน 2 ตำบลนับพันราย เพื่อต้องการรวบรวมที่ดินให้เป็นผืนใหญ่ เพราะสามารถทำเป็นนิคมอุตสาหกรรม หรือแบ่งล็อคขาย เพราะที่ดินใน 2 ตำบลมีทำเลฝั่งหนึ่งติดทางคมนาคมขนาดใหญ่ อีกฝั่งติดแม่น้ำมูล จึงเป็นที่ดินทำเลทองที่นายทุนอยากนำไปพัฒนา
เมื่อชาวบ้านไม่ยอมจึงเกิดการต่อสู้ฟ้องร้องกัน แต่ทนายความของชาวบ้านดำเนินเรื่องผิดประเด็นมาตั้งแต่ต้น เพราะไปฟ้องร้องขอครอบครองปรปักษ์ ซึ่งความเห็นทางกฎหมายประเด็นนี้คือ ชาวบ้านเข้าไปครอบครองที่ดินของผู้อื่น จึงไปฟ้องร้องขอครอบครองปรปักษ์ แต่ประเด็นของชาวบ้าน 2 ตำบลที่เกิดขึ้นคือ ชาวบ้านเป็นเจ้าของที่ดินจริง แต่ถูกฉ้อฉลเอาไปโดยอาศัยช่องว่างของระเบียบและกฏหมายที่ดินจึงต้องต่อสู้เรื่องการออกโฉนดทับที่ดินทำกิน
ทั้งนี้ หากย้อนกลับไปดูระวางการออกโฉนดทำด้วยความชอบหรือเปล่า พบว่ามีการออกโฉนด โดยไม่ผ่านขั้นตอนของสำนักงานที่ดินคือ ชาวบ้านยังมีใบจองและไม่ยินยอม แต่สำนักงานที่ดินกลับออกโฉนด โดยไม่สามารถยืนยันขั้นตอนการได้มาของที่ดินแต่ละแปลง จึงเป็นการออกโฉนดทับที่ดินทำกินของเจ้าของที่ดินเดิม จึงได้ยกหลักฐานนี้ขึ้นต่อสู้กับศาลปกครอง
ขณะนี้ศาลได้รับคำร้องและเรียกเอกสารที่เกี่ยวข้องไปพิสูจน์ แต่สำนักงานที่ดินไม่ยอมส่งเอกสารตามที่ศาลสั่งมา
ตัวแทนนักกฎหมายกล่าวต่อว่า ขณะเดียวกันชาวบ้านรวมตัวทำหนังสือให้ดีเอสไอเข้าตรวจสอบ พบการอออกโฉนดทำโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย นายทุนจึงครอบครองที่ดินโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ทางเดียวที่สำนักงานที่ดินจังหวัดอุบลราชธานีทำได้ ขณะนี้คือ ทำหนังสือถึงอธิบดีกรมที่ดินให้สั่งเพิกถอนโฉนดที่ออกทับที่ดินทำกินชาวบ้านทั้ง 2 ตำบลทันที แต่ปัจจุบันยังไม่มีการดำเนินการใดๆ
ขณะที่นายจำนงค์ จิตนิรันดร์ ตัวแทนสิทธิชุมชนและที่ปรึกษาเครือข่ายปฏิรูปสังคมและการเมืองกล่าวถึงปัญหาที่เกิดขึ้นกับชาวบ้านในอำเภอวารินชำราบ เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นทั่วประเทศ ทั้งภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคใต้ มีปัญหานายทุน หรือราชการออกเอกสารทับที่ดินทำกินของชาวบ้าน เช่น กรณีนางไฮ ขันจันทา ชาวบ้านอำเภอนาตาล ต้องต่อสู้เรียกร้องขอสิทธิในที่ดินทำกินของตนเองติดต่อยาวนานเกือบ 30 ปี กระทั่งต่อมาเมื่อพิสูจน์สิทธิ์พบราชการมายึดเอาที่ดินของนางไฮ ไปโดยไม่ชอบด้วยกฏหมาย ก็ต้องคืนที่ดินให้นางไฮและเพื่อนบ้าน กรณีชาวบ้านตำบลหนองกินเพลและตำบลบุ่งหวาย เป็นการเข้ามาบุกเบิกจนมีความเจริญเกิดขึ้น แล้วนายทุนก็อาศัยเล่ห์กลมายึดเอาไป
เมื่อมีข้อพิสูจน์จากดีเอสไอพบความผิดปกติของกฎหมาย โดยนายทุนเข้าครอบครองโดยไม่ชอบ และสำนักงานที่ดินออกเอกสารโดยไม่ชอบ
“ทางที่จะยุติปัญหาคือ คืนความเป็นธรรมให้กับชาวบ้าน โดยเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดต้องใช้ความกล้าคือ เสนอความเห็นที่เป็นจริงไปยังอธิบดีให้สั่งเพิกถอนการออกโฉนดที่ดินที่ไม่ชอบด้วยกฏหมาย ความขัดแย้งเรื่องที่ดินที่ดำเนินมาเกือบ 40 ปี ก็จะยุติลง ช่วยประหยัดเวลาให้ประเทศชาติและลดความเสียหายที่เกิดขึ้นกับชาวบ้าน”
ด้าน นายธนพงค์ นิลวันดี นายกองค์การบริหารส่วนตำบลหนองกินเพลระบุว่า สำหรับปัญหาข้อพิพาทของชาวบ้านกับนายทุนรับรู้มาตั้งแต่ต้น ในฐานะเป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทำได้เพียงแนะนำให้ชาวบ้านต่อสู้ด้านกฎหมาย พร้อมมีความเห็นว่าการหลอกใช้ชาวบ้านหลงเชื่อลงลายมือชื่อจะออกโฉนดให้ แต่มายึดเอาไป จึงไม่เป็นธรรมกับชาวบ้าน พร้อมจะร่วมกับชาวบ้านต่อสู้เรียกร้องสิทธิในที่ดินทำกินคืนมาให้ได้ทุกแปลงด้วย
สำหรับการสนทนาเกี่ยวกับการต่อสู้ของชาวบ้านตำบลหนองกินเพลและบุ่งหวายสามารถรับชมได้ ทางสถานีเคเบิลทีวีท้องถิ่น ทั้งโสภณเคเบิลทีวี ราชธานีเคเบิล วีเคเบิลทีวี รวมทั้งเว็บไซต์ www.sangsook.net