xs
xsm
sm
md
lg

ชีวิตที่ต้องดิ้นรน... ของ “คนใต้เมฆ”

เผยแพร่:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม

การต่อสู้ดิ้นรน... เพื่อให้ได้มาซึ่งสิทธิในที่ดินนั้น เป็นเรื่องที่เราพบเห็นกันอยู่เสมอ เพราะที่ดินเป็นปัจจัยสำคัญในการดำรงชีวิตของมนุษย์ทั้งเป็นที่อยู่อาศัยและใช้ในการประกอบอาชีพ... เมื่อไม่นานมานี้ ผมก็ได้ยินข่าวกรณีชาวบ้านบัว จ.บุรีรัมย์ ร้องต่อสู้เพื่อขอให้รัฐออกโฉนดในที่ดินทำกินซึ่งถูกประกาศให้เป็นพื้นที่สาธารณะ โดยต่อสู้กันมายาวนานถึง 33 ปีแล้ว และก็ยังไม่มีทีท่าว่าจะได้ข้อยุติ ...

ประเด็นการต่อสู้เพื่อขอให้รัฐออกโฉนดในที่ดินนั้น ได้มีผู้ใช้สิทธินำคดีมาฟ้องต่อศาลปกครองอยู่ไม่น้อย เช่น กรณีฟ้องว่าคำสั่งไม่ออกโฉนดที่ดินของเจ้าหน้าที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งเป็นประเด็นที่น่าสนใจ โดยในการออกโฉนดที่ดินตามประมวลกฎหมายที่ดินนั้น มีหลักเกณฑ์ในการพิจารณาอยู่ 2 ประการ ดังนี้

ประการแรก ผู้ขอออกโฉนดที่ดินต้องเป็นบุคคลซึ่งพนักงานเจ้าหน้าที่อาจออกโฉนดที่ดินให้ได้ตามมาตรา 58 ทวิแห่งประมวลกฎหมายที่ดิน (ผู้ขอออกโฉนดเป็นผู้ซึ่งครอบครองที่ดินภายหลังวันที่ประมวลกฎหมายที่ดินใช้บังคับ และไม่มีใบจอง ใบเหยียบย่ำ หรือไม่มีหลักฐานว่าเป็นผู้มีสิทธิตามกฎหมายว่าด้วยการจัดที่ดินเพื่อการครองชีพ และต้องเป็นที่ดินที่ผู้มีสิทธิในที่ดินได้ครอบครองและทำประโยชน์แล้ว) มาตรา 59 (ผู้ขอออกโฉนดเป็นผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินและให้หมายความรวมถึงผู้ซึ่งได้ครอบครองและทำประโยชน์ในที่ดินต่อเนื่องมาจากผู้ซึ่งมีหลักฐานแจ้งการครอบครองที่ดินด้วย) หรือมาตรา 59 ทวิ (ผู้ขอออกโฉนดเป็นผู้ซึ่งครอบครองและทำประโยชน์ในที่ดินอยู่ก่อนวันที่ประมวลกฎหมายที่ดินใช้บังคับโดยไม่มีหนังสือสำคัญแสดงกรรมสิทธิ์ที่ดินและมิได้แจ้งการครอบครอง)

ประการที่สอง ที่ดินที่ขอออกโฉนดนั้น ต้องไม่มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 56 แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน ประกอบกับข้อ 5 และข้อ 14 ของกฎกระทรวง ฉบับที่ 43 (พ.ศ.2537)ฯ เช่น ไม่เป็นที่ดินที่ราษฎรใช้ประโยชน์ร่วมกัน หรือไม่เป็นที่ดินที่คณะรัฐมนตรีสงวนไว้เพื่อรักษาทรัพยากรธรรมชาติหรือเพื่อประโยชน์สาธารณะอย่างอื่น

ลองมาดูเรื่องราวการต่อสู้คดีในชีวิตจริงเทียบเคียงกันเลยดีกว่าครับ...

ลุงหน่วงผู้มีอาชีพปลูกไม้ฟืนขายได้ซื้อที่ดินสองแปลงมาจากเจ้าของเดียวกัน โดยแปลงแรกมีหลักฐานที่มาของหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3) ว่าเจ้าของเดิมได้แจ้งการครอบครองที่ดินเพื่อทำประโยชน์แล้วก่อนวันที่ประมวลกฎหมายที่ดินใช้บังคับ คือก่อนวันที่ 1 ธันวาคม 2497 แต่แปลงที่สองไม่มีหลักฐานแจ้งการครอบครองแต่อย่างใด ...

ต่อมาลุงหน่วงได้มายื่นคำขอออกโฉนดที่ดิน โดยเจ้าพนักงานที่ดินบอกกับลุงหน่วงว่าสามารถออกโฉนดให้ได้เฉพาะแปลงที่มีหลักฐาน น.ส.3 แต่แปลงที่ไม่มีหลักฐาน น.ส.3 ให้ลุงหน่วงไปยื่นคำขอออกโฉนดตามมาตรา 59 ทวิ ซึ่งจะต้องมีการสำรวจรังวัดและตรวจสอบสภาพที่ดินก่อน

หลังจากได้โฉนดใบแรกแล้ว ลุงหน่วงจึงไปยื่นคำขอออกโฉนดที่ดินแปลงที่สองตามมาตรา 59 ทวิดังกล่าว ซึ่งเจ้าพนักงานที่ดินได้ทำการรังวัดและเจ้าของที่ดินข้างเคียงได้ลงชื่อรับรองแนวเขตครบทุกด้าน รวมทั้งคณะกรรมการซึ่งแต่งตั้งจากจังหวัดก็ได้เข้าตรวจสอบสภาพที่ดินแล้ว เห็นว่าเป็นที่ดินซึ่งอยู่ในหลักเกณฑ์ที่จะออกโฉนดให้ได้

แต่แล้วก็เหมือนมีใครเอาเข็มมาจิ้มหัวใจที่พองโตของลุงหน่วงให้แตกดังเป๊าะ ! เมื่ออธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งได้ให้เจ้าพนักงานที่ดินระบุตำแหน่งที่ดินถ่ายทอดลงในแผนที่ของกรมแผนที่ทหารให้ถูกต้องและตรวจสอบการทำประโยชน์กับภาพถ่ายทางอากาศด้วย โดยผลการตรวจสอบกลับพบว่า ที่ดินแปลงดังกล่าวไม่มีร่องรอยการทำประโยชน์และมีสภาพเป็นป่าชายเลนอยู่ประมาณร้อยละ 47 ของพื้นที่ อันมีลักษณะของป่าที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติมากกว่าป่าที่จะมีผู้ใดปลูกขึ้น โดยหากลุงหน่วงมีอาชีพปลูกไม้ฟืนขายตามที่อ้างจริงก็น่าจะปลูกไม้เต็มพื้นที่ ไม่ควรปล่อยให้เป็นพื้นที่ว่างเปล่าถึงร้อยละ 53

อีกทั้งจากการตรวจสอบรูปแผนที่ภูมิประเทศแล้วปรากฏว่าที่ดินแปลงนี้อยู่ในเขตพื้นที่ป่าชายเลนตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2530 กรณีจึงเป็นที่ดินที่ต้องห้ามออกโฉนด เว้นแต่จะมีหลักฐานแสดงการครอบครองและทำประโยชน์ในที่ดินที่ชอบด้วยกฎหมายอยู่ก่อนวันที่คณะรัฐมนตรีจะมีมติ ซึ่งลุงหน่วงก็ไม่มีหลักฐานดังกล่าวมาแสดง เจ้าพนักงานที่ดินจึงมีคำสั่งยกเลิกคำขอออกโฉนดที่ดินแปลงดังกล่าวของลุงหน่วง

งานนี้ลุงหน่วงสู้ต่อโดยอุทธรณ์โต้แย้งว่า... ที่ดินของตนไม่ใช่ที่ป่าชายเลนเพราะน้ำท่วมไม่ถึง ส่วนใหญ่เป็นดงไม้ปรง มีโกงกางและแสมเล็กน้อย ต้นไม้ที่ปรากฏในแผนที่เป็นต้นไม้ที่ปลูกขึ้นเพื่อใช้สอยและเอาไว้ขาย ต้นไม้ที่ขึ้นในที่ดินร้อยละ 47 นั้น ปลูกขึ้นติดกับแพรกและอาศัยน้ำจากแพรก ส่วนพื้นที่อีกร้อยละ 53 น้ำจากแพรกซึมไม่ถึงจึงไม่ได้ปลูกต้นไม้ แต่ต่อมาได้ถูกยกอุทธรณ์ ลุงหน่วงจึงนำเรื่องมาขอให้ศาลปกครองช่วยชี้ขาด...

คดีมีประเด็นที่ต้องพิจารณาว่า การที่เจ้าพนักงานที่ดินมีคำสั่งยกเลิกคำขอออกโฉนดที่ดินของลุงหน่วง เนื่องจากที่ดินแปลงดังกล่าวไม่ได้มีการทำประโยชน์ก่อนวันที่ประมวลกฎหมายที่ดินมีผลใช้บังคับ และเป็นที่ดินป่าชายเลนนั้น ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ?

ศาลปกครองสูงสุดวินิจฉัยว่า... จากรายงานผลการตรวจสอบและการวิเคราะห์ภาพถ่ายทางอากาศของกรมป่าไม้ซึ่งสรุปว่าที่ดินดังกล่าวอยู่ในเขตป่าชายเลนนั้น ได้วิเคราะห์โดยเจ้าหน้าที่ผู้มีความเชี่ยวชาญ อีกทั้งได้มีการลงไปตรวจสอบพื้นที่จริงอันแสดงถึงความรอบคอบในการดำเนินงานเจ้าหน้าที่ ประกอบกับหากที่ดินแปลงที่พิพาทได้มีการทำประโยชน์จริง เจ้าของเดิมก็น่าจะแจ้งการครอบครองต่อเจ้าหน้าที่ในคราวเดียวกันกับที่ดินแปลงแรกเพื่อให้ได้มาซึ่ง น.ส.3 เช่นเดียวกัน นอกจากนี้เมื่อพิจารณาคำให้การของพยานบุคคลต่างก็ไม่มีน้ำหนักเพียงพอแก่การรับฟังเพราะเป็นพยานที่มีภูมิลำเนาอยู่ต่างท้องที่กับที่ดินที่พิพาท หรือเป็นผู้ที่เพิ่งเข้ามาครอบครองที่ดินข้างเคียงกับลุงหน่วง ซึ่งไม่น่าจะทราบได้ว่าเจ้าของเดิมที่ลุงหน่วงซื้อต่อมานั้นได้ทำประโยชน์ในที่ดินดังกล่าวก่อนวันที่ประมวลกฎหมายที่ดินใช้บังคับจริงหรือไม่

กรณีจึงน่าเชื่อว่าที่ดินแปลงพิพาทนี้ไม่มีผู้ใดครอบครองและทำประโยชน์มาก่อนวันที่ประมวลกฎหมายที่ดินจะมีผลใช้บังคับ ดังนั้นลุงหน่วงผู้ซึ่งรับมอบการครอบครองต่อมาจากเจ้าของเดิมซึ่งมิได้มีการทำประโยชน์ในที่ดิน จึงไม่มีสิทธิขอออกโฉนดที่ดินแปลงนี้ได้ คำสั่งยกเลิกคำขอออกโฉนดที่ดินของเจ้าพนักงานที่ดิน จึงชอบด้วยกฎหมายแล้ว (คดีหมายเลขแดงที่ อ.206/2552)

คดีต่อมา... เป็นเรื่องราวการสู้ชีวิตของตาหลิวและยายซู ซึ่งได้ครอบครองที่ดิน 2 แปลง โดยซื้อต่อมาจากเจ้าของเดิมและมีหลักฐานเป็นใบ ส.ค.1 เมื่อกระทรวงมหาดไทยมีประกาศทำการสำรวจรังวัดทำแผนที่เพื่อออกโฉนดที่ดินในบริเวณท้องที่ดังกล่าว ตาหลิวกับยายซูจึงได้พากันไปยื่นคำขอออกโฉนดตามมาตรา 59 กรณีครอบครองและทำประโยชน์ในที่ดินต่อเนื่องมาจากผู้ซึ่งมีหลักฐานแจ้งการครอบครองที่ดิน โดยเจ้าหน้าที่ได้ตรวจสอบแล้วเห็นว่าผ่านตามหลักเกณฑ์และกำลังจะออกโฉนดให้ แต่ก็เกิดมีผู้ร้องเรียนขึ้นมาเสียก่อนว่าที่ดินทั้งสองแปลงตั้งอยู่ในที่สาธารณประโยชน์ เป็นเหตุให้ผู้ว่าราชการจังหวัดต้องสั่งให้มีการตรวจสอบซ้ำ และผลการตรวจสอบในครั้งนี้กลับสรุปว่าที่ดินทั้งสองแปลงเป็นที่ดินสาธารณประโยชน์ซึ่งใช้เลี้ยงสัตว์ประจำหมู่บ้าน เจ้าพนักงานที่ดินจึงมีคำสั่งไม่ออกโฉนดที่ดินให้ตามคำขอ ตาหลิวและยายซูไม่ยอมแพ้จึงจูงมือกันมาขอความเป็นธรรมจากศาลปกครอง

คดีนี้มีประเด็นที่ศาลต้องพิจารณาว่า การที่เจ้าพนักงานที่ดินมีคำสั่งไม่ออกโฉนดที่ดินให้แก่ตาหลิวและยายซู โดยอ้างว่าทับที่สาธารณประโยชน์นั้น ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ?

จากข้อเท็จจริงตาหลิวกับยายซูได้ครอบครองและทำประโยชน์ในที่ดินต่อเนื่องมาจากผู้ครอบครองเดิมโดยอาศัยหลักฐาน ส.ค.1 มาจนถึงปัจจุบัน จึงถือเป็นผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินตามมาตรา 59 แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน และเมื่อปรากฏผลในการรังวัดเป็นที่ชัดเจนแล้วว่าที่ดินแปลงดังกล่าวไม่เป็นที่สาธารณประโยชน์ รวมทั้งที่ประชุมสภาองค์การบริหารส่วนตำบลก็มีมติเป็นเอกฉันท์ว่าที่ดินทั้งสองแปลงไม่ใช่ที่สาธารณประโยชน์ แต่เมื่อมีการร้องเรียนเกิดขึ้นจนทำให้ต้องมีการตรวจสอบกันใหม่ โดยนายอำเภอได้แต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงและดำเนินการสอบสวนพยานบุคคลจำนวน 10 คน ซึ่งสรุปผลว่าที่ดินทั้งสองแปลงเป็นส่วนหนึ่งของที่ดินสาธารณประโยชน์แปลงที่ 5 คือเป็นที่เลี้ยงสัตว์ประจำหมู่บ้านนั้น

ศาลเห็นว่าการสอบสวนพยานทั้ง 10 คน ไม่มีความเป็นกลาง เนื่องจากพยาน 2 คน เคยมีกรณีพิพาทเกี่ยวกับการรับรองแนวเขตที่ดินกับตาหลิวและยายซูมาก่อน และพยานบางคนแม้จะเป็นผู้สูงอายุในพื้นที่ แต่ก็ไม่ใช่เป็นผู้ที่ทราบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับที่สาธารณประโยชน์ดังกล่าวดีกว่าพยานบุคคลที่องค์การบริหารส่วนตำบลได้เคยสอบสวนไปแล้ว อีกทั้งยังไม่ปรากฏว่าได้มีการนำผลการสอบสวนขององค์การบริหารส่วนตำบลในครั้งแรกมาใช้ประกอบในการพิจารณาด้วย การสอบสวนของคณะกรรมการในครั้งนี้ จึงดูมีพิรุธและมีน้ำหนักน่าเชื่อถือน้อย ประกอบกับที่ดินสาธารณสมบัติของแผ่นดิน แปลงที่ 5 ดังกล่าว ได้ถูกจัดให้มี น.ส.ล. เพื่อแสดงเขตไว้เป็นหลักฐานแล้ว ซึ่งเป็นที่ดินคนละแปลงกับที่ดินแปลงที่พิพาทและไม่ได้ทับซ้อนกัน

ดังนั้น การที่เจ้าพนักงานที่ดินมีคำสั่งไม่ดำเนินการออกโฉนดที่ดินให้แก่ตาหลิวและยายซูโดยอ้างว่าทับที่สาธารณประโยชน์ จึงเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ศาลปกครองสูงสุดพิพากษาให้เพิกถอนคำสั่งดังกล่าว และให้เจ้าหน้าที่ดำเนินการพิจารณาคำขอออกโฉนดที่ดินของตาหลิวและยายซูให้เป็นไปตามเงื่อนไขที่กฎหมายกำหนดต่อไป (คดีหมายเลขแดงที่ อ.420/2555)

แน่นอนครับว่า...ในการต่อสู้คดีนั้น ย่อมต้องมีผู้แพ้และผู้ชนะ ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับข้อเท็จจริง ข้อกฎหมาย และเหตุผลในการพิจารณาของศาล และตราบใดที่เรายังเป็นคนที่อยู่ใต้เมฆ ชีวิตก็ต้องต่อสู้ดิ้นรนกันต่อไป แต่ควรต้องเป็นการต่อสู้ในสิ่งที่ถูกต้องและสมเหตุสมผลนะครับ... และในอีกแง่มุมหนึ่งของการต่อสู้ สิ่งที่เราได้รับคือประสบการณ์ชีวิตที่ดี เพราะ “ถ้าไม่มีอุปสรรค เราคงไม่รู้จักความพยายาม และไม่เห็นคุณค่าความสำเร็จ”

ครองธรรม ธรรมรัฐ
กำลังโหลดความคิดเห็น